ครัวอยู่ที่ใจ : อวยยศให้ปลากระป๋อง / อุรุดา โควินท์

 

ทางรอดอยู่ในครัว

: อวยยศให้ปลากระป๋อง

 

หนึ่งปีเต็มๆ ที่เราต้องใส่หน้ากากออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงปาร์ตี้ ไม่ได้ดูคอนเสิร์ต ไม่ดูหนังในโรงหนัง ไม่ไปงานหนังสือ คล้ายกับว่าเราได้กลายเป็นมนุษย์ถ้ำยุคใหม่โดยสมบูรณ์

สงกรานต์ปีที่แล้ว ถนนหนทางเชียงรายเงียบมาก มาถึงปีนี้เงียบกว่าเดิม คนไม่อยากออกจากบ้าน เพราะกลัวโควิด

เชียงรายมีผู้ป่วยที่เดินทางกลับบ้านจำนวนหนึ่ง ไม่มากเท่าจังหวัดอื่น แต่ก็มากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาตลอดหนึ่งปี

ฉันไม่ได้หวังว่าสงกรานต์จะคึกคัก มันแทบเป็นไปไม่ได้ แต่พอเจอสถานการณ์แบบนี้ คนที่พอจะมีเงินอยู่บ้าง ก็ไม่อยากไปไหน

ไม่มีใครอยากป่วย ไม่มีใครอยากกักตัว ไม่มีใครอยากอยู่เฉยๆ ทุกคนมีหน้าที่ มีภาระให้รับผิดชอบ มีความฝันที่อยากทำให้เป็นจริง

 

หยิบปลากระป๋องออกจากลังกระดาษ มันตกค้างจากปีที่แล้ว ครั้งที่โควิดเริ่มระบาด

ฉันส่งปลากระป๋องให้เขา “หมดอายุหรือยัง ช่วยดูหน่อยสิ”

เขาหยิบไปพิจารณา ส่งกลับมา “เหลืออีกตั้งปี”

“ปีที่แล้ว เราตุนอาหารเยอะมาก ทั้งที่จำนวนคนป่วยน้อยกว่านี้ นี่นะ เหลือมาจากการตุนปีที่แล้ว”

เขาเลิกคิ้ว

“จริง มันหลบอยู่ในกล่อง พูเจอ เพราะพูอยากพับกล่องเก็บไว้ เตรียมตัวย้ายบ้านไง”

“ปีหนึ่งแล้วนะเนียะ” เขาว่า

หนึ่งปีซึ่งบรรจุสามร้อยกว่าวันเหมือนปีอื่น แต่มันแตกต่างจากปีอื่นในชีวิตเรา-โดยสิ้นเชิง เราไม่ได้ทุกข์ร้อน ไม่ได้กลัวจนประสาทเสีย แต่เราเกือบจะลืม ว่าก่อนหน้าที่เราจะซื้อปลากระป๋องนี้มา เราใช้ชีวิตอย่างไร

ก่อนหน้านี้ เราไปแม่สายเพื่อข้ามไปท่าขี้เหล็กบ่อยมาก แวะซื้อผักที่ร้านจันกะผัก และก่อนกลับ เรากินบะหมี่หรือขนมจีนข้ามสะพานที่ร้านเสี่ยวหลงเปา ใกล้ๆ กันมีร้านข้าวเหนียวมะม่วงอร่อยที่สุดในเชียงราย ฉันกินไม่ไหว เพราะอิ่มของคาว แต่จะซื้อกลับบ้านทุกครั้ง

“ไม่รู้เมื่อไรเราจะได้ไปพม่าอีก” ฉันพูด

ทุกครั้งที่ไปพม่า ฉันรู้สึกว่าฉันกำลังเชื่อมโยงกับยาย ฉันชอบเดินเล่นในตลาดท่าขี้เหล็ก กินข้าวซอยน้อย กินข้าวแลงฟืน

“อยากไปเหมือนกัน” เขาว่า

เขาคงคิดถึงร้านไวน์ และร้านเหล้าในท่าขี้เหล็ก ซึ่งควรใช้คำว่าโกดัง มันมากมาย ทั้งชนิด ยี่ห้อ และปริมาณ ที่สำคัญ ราคาถูกกว่าบ้านเรามาก

 

“พูจะอวยยศให้ปลากระป๋องนี้ มันอยู่ข้ามปีกับเรา สัญลักษณ์แห่งความอดทนของเรา”

เขาหัวเราะ “เอาสิ ชอบอยู่แล้ว ยำปลากระป๋อง”

แต่วันนี้ฉันจะทำแบบที่ต่างออกไป

เพื่ออวยยศแก่มหาปลากระป๋องที่อยู่สู้โควิด

ยำปลากระป๋องนั้นใครๆ ก็ทำได้ แต่จะให้อร่อย ก่อนอื่น เราต้องมียี่ห้อโปรด ถึงแม้สามสี่เดือนจะกินที เราก็จะหยิบยี่ห้อนี้

กับพริก ควรเป็นพริกขี้หนูสวน ซอยให้ละเอียดที่สุด

หอมไทยเท่านั้น ไม่ใช่หอมแขก ซอยให้ละเอียดเหมือนกัน

ความเปรี้ยว นิยมสุดคือมะนาว แต่ถ้าวันไหนมีมะม่วงเปรี้ยว ฉันเลือกมะม่วงสับ

วันนี้ไม่มีมะม่วง คงต้องมะนาวไปก่อน

ความพิเศษก็คือ ฉันตำหอมกับกระเทียมให้แหลก ตำรวมกัน แล้วเอามาเจียวให้หอม โดยใช้น้ำมันน้อยที่สุด

พอกระเทียมกับหัวหอมเริ่มเหลือง ค่อยใส่ปลากระป๋องลงไป เร่งไฟขึ้นมาหน่อย ใช้ตะหลิวกดปลากระป๋องให้เป็นชิ้นเล็กลง ผัดให้ร้อน

ตักใส่จานใบสวยรอไว้

วิธีนี้จะทำให้ปลากระป๋องรสนวลขึ้น ร้อนขึ้น มีกลิ่นหอม และสีสวยขึ้น

โรยพริกขี้หนู หอมแดง ตะไคร้ซอยละเอียด

ที่ขาดไม่ได้คือสะระแหน่ ยิ่งมากยิ่งดี สะระแหน่ทำให้จานนี้สดชื่น ช่วยทุเลาความร้อนของอากาศได้บ้าง

ตอนกินเราก็แค่บีบมะนาว เยาะน้ำปลานิดหน่อย แล้วคลุกทุกอย่างให้เข้ากัน

 

วางยำปลากระป๋องบนโต๊ะ ฉันคิด ต้องเป็นวันนี้ล่ะเหมาะที่สุด สะระแหน่อยู่ได้ไม่นาน เราซื้อมาสองวัน ควรรีบใช้ก่อนมันเหี่ยว

เวลาได้ยินคนพูดว่า ทำอาหารกินเองแพงกว่าซื้อ ในแง่มุมหนึ่ง ฉันก็เข้าใจ แต่ฉันคิดว่า ความแพงเกิดจากการใช้วัตถุดิบไม่หมดมากกว่า

อย่างอาหารจานนี้ ราคาไม่ถึงร้อยบาท และน่ากินมาก เป็นอาหารอร่อย ในวงเล็บว่า นานๆ กินที ไม่ควรบ่อย

ยายเคยบอก ต่อให้เรามีเงินมีใช้มากมาย เราก็ควรกินปลากระป๋องบ้าง จะได้ไม่ลืมว่าโลกนี้มีความจน

อืม… และยายก็ต้องรู้ ว่ายำปลากระป๋องแบบนี้ กินกับข้าวนึ่งเท่านั้น

ฉันจึงเอาฝาชีครอบจานไว้ แล้วเดินไปซื้อข้าวเหนียวหน้าปากซอยมากินด้วยกัน แค่นี้ก็ได้มื้อพิเศษแล้วเรา