อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (10) ปรัชญาของร้านซ่อมรองเท้า

 

In Books We Trust (10)

ปรัชญาของร้านซ่อมรองเท้า

 

ร้านหนังสืออาจเป็นร้านค้าที่ไม่จำเป็นสำหรับใครหลายคน

ในบางพื้นที่ผู้คนอาจมองมันด้วยสายตางุนงงและสงสัย

ในบางพื้นที่มันคล้ายดังเป็นพื้นที่แปลกปลอม

และในบางพื้นที่มันกลายเป็นพื้นที่เฉพาะกลุ่มไม่ต่างจากโรงบิลเลียด บาร์เหล้าหรือบ่อนการพนัน

ร้านหนังสือจัดวางตนเองอย่างไรในพื้นที่เหล่านั้นนั่นล้วนแต่ต้องอาศัยเวลาเป็นคำตอบ

แต่น่าเสียดายที่หลายร้านหนังสือไม่มีเวลามากพอที่จะพิสูจน์ตนเอง มันจึงจากไปและหลงเหลือไว้เพียงร่องรอยบางอย่างในชุมชนเหล่านั้น

ใครบางคนที่เดินผ่านร้านหนังสือที่จากไปอาจคลับคล้ายคลับคลาว่ามีบางสิ่งเคยเกิดขึ้นที่นั่น

แต่ความทรงจำของพวกเขานั้นไม่ชัดแจ้ง

นั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่เคยเดินเข้าไปในมันจนถึงวันอำลา

 

ในหนังสือชื่อ Stand Alone, Die Alone ยืนลำพัง, ตายลำพัง แสงอัสดงของโรงหนังใบเลี้ยงเดี่ยว (จัดพิมพ์โดย Filmvirus) อันเป็นหนังสือที่รวบรวมบทความของผู้คนหลากหลายอาชีพต่อความทรงจำของพวกเขาในอดีตถึงเหล่าโรงหนังประเภท Stand Alone ที่ทยอยจากไป

มีหลากหลายความเห็นที่กล่าวว่าแม้พื้นที่ที่เคยเป็นโรงหนังจะจบสิ้นลง เปลี่ยนแปรไป มันอาจกลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขายอาหาร

หากแต่ทุกครั้งที่พวกเขากลับเข้าไปในพื้นที่เหล่านั้น พวกเขาจะจดจำมันได้ว่าครั้งหนึ่งมันเคยเป็นโรงหนังนั่นเอง

การมีอยู่และหายไปของหลายสิ่งไม่เคยแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด

โรงหนังที่จากไปแล้วทิ้งภาพยนตร์จำนวนมากไว้ในความทรงจำของผู้ชม

โรงหนังที่จากไปแล้วทิ้งกลิ่น ภาพ และเสียงไว้ในความทรงจำของผู้ชม ตั๋วภาพยนตร์สักใบอาจนำพาเรื่องราวในอดีตได้มากมาย

ร้านหนังสือก็เช่นกัน หลายคนเก็บหนังสือบางเล่มไว้เพียงเพื่อใช้ระลึกถึงร้านหนังสือที่เราเคยซื้อหาหนังสือเล่มนั้น

หลายคนเดินผ่านสถานที่แห่งนั้นเพียงเพื่อนึกถึงในวัยเยาว์ที่นั่งอ่านหนังสืออย่างจริงจังในมุมดังกล่าว

เราเก็บหนังสือเหล่านั้นไว้ไม่ต่างจากการเก็บตั๋วหนังที่คอยใช้บ่งบอกและเตือนใจเราว่าครั้งหนึ่งนั้นเคยมีโรงหนังตามชื่อที่ปรากฏอยู่บนตั๋วอยู่จริง

เราเก็บหนังสือเล่มนั้นไว้ไม่ต่างจากการเก็บบางสิ่งในทางโบราณคดี เพื่อขจัดปัญหาการโต้แย้งและถกเถียง

หนังสือบางเล่มคือหลักฐานชั้นต้นที่นำสืบไปสู่สิ่งต่างๆ ที่มีความหมายได้ในที่สุด

ในทางกลับกัน หากมีหนังสือที่นำเรากลับไปสู่ร้านหนังสือที่จากไปแล้ว เราก็มีร้านหนังสือที่นำเรากลับไปสู่หนังสือที่ไม่มีโอกาสจัดพิมพ์ได้อีกต่อไป ร้านหนังสือเก่าคือสถานที่แบบนั้น

นวนิยายบางเล่มที่เราอาจเพียงแต่เคยได้ยินชื่อของมัน วรรณกรรมบางชิ้นที่ภาพปกกลายเป็นงานศิลปะที่หลายคนเอ่ยถึง

บทสนทนากับคุณชาญ เจ้าของร้านหนังสือไม่มีชื่อในตอนนี้อธิบายถึงที่มาของหนังสือเหล่านั้น เขาหาพวกมันพบได้อย่างไร และโลกของหนังสือเก่านั้นจะยืนนานอีกเพียงไหน

 

“กิจวัตรประจำวันของคุณชาญในฐานะคนขายหนังสือเก่ามีอะไรบ้าง?”

“ชีวิตของผมจะเริ่มต้นตั้งแต่ตีห้า หลังตื่นนอน ทำธุระส่วนตัวเสร็จ ผมก็จะเริ่มต้นซ่อมหนังสือที่เราจะนำไปขายในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หนังสือบางเล่มแค่เพียงฉีกขาดเล็กน้อย เราก็ใช้เวลาซ่อมไม่นาน แต่บางเล่มหลุดลุ่ยแทบเป็นชิ้น เราก็ต้องรื้อออกมาทำความสะอาดทีละหน้า ก่อนจะประกอบเข้าไปใหม่ พอเสร็จงานซ่อม ก็จะเป็นงานกำหนดราคา ผมก็จะตรวจสอบราคาหนังสือโดยการเข้าดูในโลกออนไลน์ เขาซื้อหากันที่ราคาเท่าใด เราควรตั้งราคาตามเขาไหม ถูกหรือแพงกว่า ก็คิดถึงความยากง่ายในการตามหาหนังสือเล่มนั้นประกอบด้วย หลังจากนั้นก็จะพักกินข้าว ก่อนจะเข้าช่วงบ่ายที่เป็นงานออกไปตามหาหนังสือเก่า หนังสือมือสองตามที่ต่างๆ”

“ที่ต่างๆ นี่มีที่ไหนบ้าง พอให้รายชื่อได้ไหม?”

“หลายที่มาก แล้วแต่จังหวะเวลา วันเสาร์ผมไปที่ตลาดนัดของเก่าตรงกรมชลประทาน วันธรรมดาไปตลาด ก.ม.11 ไปตลาดรถไฟ ไปร้านหนังสือเก่าแถวหัวหมาก แถวเยาวราช แถวสำโรง พวกนี้ผมไปหมด แต่หมุนเวียนไปในแต่ละวัน”

“เวลาไปหาหนังสือตามสถานที่เหล่านี้เรากำหนดเป้าหมายไว้ในใจไหมว่าจะต้องได้เล่มนั้นเล่มนี้?”

“กำหนดได้ครับ แต่แบบกว้างๆ เราชี้เฉพาะเจาะจงไม่ได้ว่าจะเอาเล่มนั้นเล่มนี้ มันแล้วแต่โชคชะตา ดังนั้น ก็กำหนดไว้ตามคำถามหาของลูกค้าบ้าง ตามความต้องการของตลาดขณะนั้นบ้าง เช่น เราเคยได้ยินลูกค้ามาถามหาหนังสือบางเล่มแล้วเราไม่มี เราก็จดไว้ อย่างมีบางคนมาถามหาหนังสือเกี่ยวกับเรือนไทยเราก็จดไว้ มาถามหาหนังสือทางการเมืองยุคเก่าเราก็จดไว้ ได้มาไว้ที่ร้าน ถ้าลูกค้าคนนั้นมาเราจะได้มีนำเสนอเขา”

 

“นอกจากมาถามหาแบบกว้างๆ นี่เคยมีลูกค้ามาสั่งให้เราหาหนังสือแบบเฉพาะเจาะจงไหม?”

“มีครับ อย่างบางคนสั่งว่าขอให้เป็นหนังสือเก่ายุคก่อน 2500 เน้นไปที่ปก ต้องเป็นปกภาพวาดที่สวย ปกหนังสือสมัยก่อนจะวาดโดยจิตรกรชื่อดังอย่างเหม เวชกร เป็นต้น เราเจอเราก็เก็บเลย หรือบางคนไม่เน้นปก เน้นไปที่นักเขียนอย่างอยากได้งานของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เราเจอเราก็เก็บมา หรืองานของสันต์ เทวรักษ์ ก็มีคนสั่ง แบบนี้เราก็จะมีในใจ”

“แสดงว่ามีคนสะสมหนังสือเก่าไม่น้อยเลยในสังคม?”

“มากครับ”

“ถ้าเช่นนั้น ถ้าจะให้เทียบวงการสะสมหนังสือเก่ากับวงการสะสมของเก่า คิดว่าควรเทียบกับวงการอะไรดี?”

“ผมคิดว่าวงการหนังสือเก่าใกล้เคียงกับวงการพระเครื่องมาก เริ่มตั้งแต่คนสะสม แต่ละคนก็จะชอบคนละยุคต่างกันไป บางคนชอบก่อน 2500 บางคนชอบเล่มเล็กช่วงปี 2510 กว่าๆ ก็เหมือนคนชอบพระสุโขทัย อยุธยา หรืออย่างคนชอบหนังสือปกสวยก็เหมือนคนชอบพระตรงพุทธศิลป์ พระจะดังหรือไม่ดังไม่สำคัญ ขอให้ดูแล้วสบายใจ มีความงามให้ประทับใจเป็นใช้ได้ หรือบางคนชอบนักเขียน ก็เหมือนคนที่เล่นพระเฉพาะเจาะจงลงไปเลยว่าเก็บแต่วัดนั้นวัดนี้ จะเก่าใหม่ไหมไม่สนใจ”

“แต่วงการหนังสือเก่าไม่น่าดุเดือดเหมือนวงการพระเครื่อง?”

“ใช่ครับ วงการพระเครื่องนี่มีความยาก ตรงมีพระปลอม การปลอมพระนี่ทำกันง่าย อย่างพระเนื้อดิน จะปลอมก็หาดินที่มีความเก่าพอๆ กันมาทำขึ้นก็ได้ แต่หนังสือนี่ถ้าจะปลอมต้องถามว่าจะคุ้มไหม แค่การหาลักษณะกระดาษให้เหมือนของเดิม หาหมึก หาตัวอักษรให้เหมือน เพียงเท่านี้ก็ยากมากแล้ว”

“แต่พอเทียบกับวงการพระเครื่องก็ทำให้เห็นว่ามีประเด็นเรื่องของเหมือนกัน อย่างพระนี่ทำมาจำกัด หมดแล้วหมดเลย หนังสือเก่าก็เหมือนกัน หมดจากตลาดแล้วก็หมดเลย และถ้าหนังสือหมด ร้านหนังสือเก่าอย่างเราจะทำอย่างไรดี?”

“ผมว่ามันหมดยากครับ มีหนังสือออกมาเป็นตัวตายตัวแทนเสมอ เหมือนพระเหมือนกัน อย่างยุคนี้คนเล่นหนังสือก่อนปี 2500 พอหมด เขาก็หันมาเล่นยุคต่อมา เล่นช่วงปี 2500-2510 ถัดมาเรื่อยๆ อย่างตอนนี้ผมต้องเริ่มเก็บหนังสือช่วงปี 2520 แล้ว พวกหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเพราะเริ่มหายาก มันก็ไล่แบบนี้”

“และถ้าเทียบกับวงการพระเครื่อง มีไหมที่เกิดปรากฏการณ์แบบไม่คาดฝัน ที่หนังสือบางเล่มเป็นที่ต้องการขึ้นมาแบบแปลกๆ อย่างเหรียญจตุคามที่อยู่ๆ ก็ดังขึ้นมา”

“มีครับ อย่างช่วงที่ผ่านมา หนังสือของอาจารย์วินิตา ดิถียนต์ หรือ ว.วินิจฉัยกุล ก็มีคนตามหากันมาก ราคาขึ้นแบบพุ่งขึ้นมาเลยทีเดียว”

“ในกรณีแบบนี้ เราจะวิ่งตามเขาไหม?”

“ถ้าเรามี เราก็ขายนะครับ แต่ถ้าจะไปตามหามาเก็บไว้มากๆ ผมอาจไม่ทำ เพราะมันมีความผันผวน สู้เราเก็บหนังสือที่เรามีความมั่นใจดีกว่า การทำร้านหนังสือเก่านี่ต้นทุนจมได้ง่าย เวลาขายไม่ได้ติดต่อกันสักพัก ทุนเราก็ไปจมตรงนั้น ภรรยาผมเขาจะใช้วิธีเปรยๆ ว่าหนังสือล้นบ้านแล้วนะ เราก็จะรู้ว่าได้เวลาระบายของออกละ เลิกหาหนังสือสักพัก ขายของที่มีให้หมดเสียก่อน”

 

“เคยคิดจะเปิดร้านหนังสือในช่วงระหว่างสัปดาห์ไหม นอกเหนือจากวันเสาร์-อาทิตย์?”

“คิดครับ ใจผมอยากทำแบบร้านซ่อมรองเท้าหรือร้านรับเปลี่ยนทรงกางเกง เสื้อผ้า คือหาที่ในตรอกเล็กๆ เราก็รับงานซ่อมหนังสือไป นั่งซ่อมหนังสือและก็มีหนังสือที่เราซ่อมเสร็จแล้วมาวางขายด้วย คนไหนอยากเอาหนังสือมาซ่อมก็เอามา แล้วนัดวันกัน ระหว่างนั้นก็อาจมานั่งคุยกับเรา ดูหนังสือที่เราเตรียมไว้ได้”

“เป็นปรัชญาของช่างซ่อมรองเท้ามากๆ ดูแลลูกค้าแบบรายคนและก็ทำงานจบวันต่อวัน”

“ใช่ครับ ผมว่าปรัชญาช่างซ่อมรองเท้านี่เป็นปรัชญาที่ดี เราไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มาก มีแค่คนรักใคร่ชอบพอในสิ่งเดียวกัน ที่อยากเก็บสิ่งของที่เขารักให้มีอายุยืนนาน อย่างถ้าซ่อมหนังสือได้นั่งอยู่กับคนรักหนังสือด้วยกันก็พอแล้ว”