สิ่งแวดล้อม : ‘โควิด’ ปรับวิถีธรรมชาติ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

 

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

‘โควิด’ ปรับวิถีธรรมชาติ

 

โลกกำลังจับตามองสถานการณ์โควิด-19 ในอินเดียที่มีความรุนแรงเลวร้ายอย่างที่สุด ตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวันพุ่งกว่า 3 แสนคน โรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนป่วย เตียง เครื่องมืออุปกรณ์รักษาขาดแคลน สถานการณ์ตกอยู่ในภาวะอลหม่าน

วันนี้มีชาวอินเดียติดเชื้อไปแล้วเกือบ 17 ล้านคน ยอดผู้เสียชีวิตสูงมากวันเดียวกว่า 2,700 คน มีทั้งเด็ก วัยรุ่น คนสูงวัย เฉลี่ยตายนาทีละคน เก็บไปฝังเผากันชุลมุน เตาเผาศพร้อนจัดเผาต่อไม่ได้ ต้องขนศพเอามาเผาหมู่กลางลานจอดรถ

เป็นสภาพที่เห็นแล้วอเนจอนาถ

 

ดูบ้านเรา ก็ใช่ว่าจะดูราบรื่นซะเมื่อไหร่ คนติดเชื้อโควิดพุ่งทะยาน จากหลักสิบเป็นหลักพันในเวลาไม่ถึงเดือน แต่ละวันมีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าห่วงว่า “เราจะเอาไม่อยู่” เป็นแน่ ในเมื่อรัฐบาลบริหารจัดการแก้โควิด-19 เงอะๆ งะๆ อย่างที่เห็นๆ

นาทีนี้การล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวด ตราบใดที่คนในพื้นที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

ส่วนการจัดหาบริการวัคซีนให้กับคนไทยนั้น รัฐบาลก็ทำกึกๆ กักๆ เหมือนมีอะไรซ่อนเร้นอยู่ เทียบกับทั่วโลก จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนบ้านเราจึงจัดอยู่อันดับโหล่ๆ รั้งท้ายแถว

ดูรัฐบาลอิสราเอลเป็นตัวอย่างของการจัดหาวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม ชาวอิสราเอลได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว 120 ล้านโดส หรือคิดเป็น 62% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

อังกฤษ คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 95%

คนอเมริกันได้วัคซีนครบโดสแล้ว 91 ล้านคน และรัฐบาลนายโจ ไบเดน จัดหาวัคซีนนับตั้งแต่เข้ามาเป็นประธานาธิบดีได้ครบ 200 ล้านโดสตามคำสัญญา

 

ส่วนคนไทยเพิ่งได้วัคซีนแค่ 1 ล้านกว่าโดส ถ้าจำแนกแยกย่อยลงไปอีกพบว่ามีแค่ 9 แสนกว่าคนที่ฉีดเข็มแรก ส่วนเข็มโดสที่ 2 นั้น มีเพียง 160,000 กว่าคน

รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า จะต้องฉีดวัคซีนให้กับคนไทยที่มีความเสี่ยงอันดับๆ แรก 19 ล้านคน นั่นหมายถึงการควานหาวัคซีนให้มาอยู่ในมืออย่างน้อยๆ 38 ล้านโดส

ถ้าจะฉีดให้เกินกว่า 60% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศโดยไม่ปรับรูปแบบการจัดการบริหารให้กระชับแน่นกว่าที่เป็นอยู่

ขอคาดการณ์ในทางร้ายเลยว่าสถานการณ์โควิด-19 ในเมืองไทยอาจจะถึงขั้น “เอาไม่อยู่” เหมือนอินเดียก็เป็นได้

 

กลับมาว่ากันด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่เปลี่ยนไปในยุคระบาดของโรคโควิด-19 กันดีกว่า

“เมดิคัล นิวส์ ทูเดย์” เว็บไซต์ว่าด้วยเรื่องราวของการแพทย์ทั่วโลก เผยแพร่บทความชื่อโควิด-19 เปลี่ยนโฉมธรรมชาติและสัตว์ป่าของโลกอย่างไรบ้าง มีประเด็นน่าสนใจจึงขอเรียบเรียงนำมาเผยแพร่ต่อ

อันดับแรกที่สัตว์ป่าได้รับประโยชน์จากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด นั่นคือคนไม่เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าในป่าเนื่องจากการล็อกดาวน์ การเดินทางไปไหนมาไหนไม่สะดวกเหมือนก่อน

เมื่อคนเดินทางน้อยลง จำนวนสัตว์ป่าที่คนไล่ล่าเอาไปเป็นอาหารหรือนำไปขายต่อในตลาดค้าสัตว์ป่าก็น้อยลงด้วย สัตว์ป่าที่รถยนต์ชนเจ็บตายระหว่างข้ามไป-มาในป่าก็น้อยลงไปด้วย

ผลการศึกษาของประเทศโปแลนด์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่า hedgehog หรือที่บ้านเราเรียกว่า “เม่นแคระ” สถิติรถชนตายลดลงกว่า 50% เมื่อเปรียบเทียบกับปีอื่นๆ ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด

เท่ากับว่าเม่นแคระนับหมื่นตัวในโปแลนด์มีชีวิตรอดปลอดภัยเพราะโควิดและมีผลให้ประชากรเม่นแคระขยายตัวเพิ่มขึ้น

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศสเปน เอสโทเนีย สาธารณรัฐเช็ก อิสราเอล และประเทศอื่นๆ รวม 11ประเทศพบว่าอัตราการตายของสัตว์ที่มาจากเหตุรถพุ่งชนนั้นลดลงกว่า 40% ในระหว่างเกิดโควิดระลอกแรก

 

การขนส่งโดยสารทางเรือทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วลดลงฮวบฮาบ ส่งผลดีกับสัตว์น้ำในทะเล มหาสมุทร สัตว์เหล่านั้นน่าจะมีความสุขขึ้นเพราะเสียงเครื่องยนต์เรือหรือใบพัดไปกวนใจน้อยลง แถมน้ำมันอันเหนียวเหนอะจากเรือไหลออกมาน้อยลง น้ำทะเลสดใสสะอาดขึ้นเพราะสารปนเปื้อนมลพิษลดลงเช่นกัน

มีรายงานหลังเกิดโรคระบาด รัฐบาลชิลีล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ปรากฏว่ามีสิงโตภูเขาเดินเพ่นพ่านกลางกรุงซานติอาโก

ที่อิตาลีนั้น มีฝูงโลมาโผล่ขึ้นมาเล่นน้ำบริเวณท่าเรือเทรียสตี ริมทะเลเอเดรียติก นับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่ผู้คนได้เห็นฝูงโลมาใกล้กับท่าเรือ

สำนักงานบริหารการบินของสหรัฐ หรือเอฟเอเอ ประมาณการว่า ระหว่างปี 2533-2562 เครื่องบินพลเรือนบินเข้ามาในสหรัฐพุ่งชนบรรดานกและสัตว์ป่าชนิดต่างๆ 227,005 ตัว

ส่วนเครื่องบินสหรัฐชนนกและสัตว์ป่ากว่า 4,200 ตัวระหว่างบินไปยังสนามบินในต่างประเทศและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุดังกล่าวจำนวน 327 คน

 

สําหรับการค้าสัตว์ป่าโลกมีจำนวนลดลงเนื่องจากประเทศอื่นๆ ให้ความสำคัญกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าหลังเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 และองค์การอนามัยโลกชี้ว่า ขบวนการค้าสัตว์ป่าโลกมีผลต่อการนำเชื้อไวรัสเข้าไปในจีน

การนำสัตว์ป่ามาทำเป็นอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการอุบัติของโรคใหม่ๆ

ผลการศึกษาจากทั่วโลกพบว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 17% นอกจากนี้ ก๊าซพิษตัวอื่นๆ เช่น ไนตริกออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศมีระดับลดลงอย่างน่าพิศวง คือลดลงตั้งแต่ 20-40% ทั้งในยุโรป สหรัฐ และจีน

เมืองต่างๆ ของจีน 44 แห่ง พบว่า เมื่อรัฐบาลจีนสั่งห้ามเดินทางช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด มีผลต่อการปล่อยก๊าซพิษลดลงอย่างเห็นได้ชัด

เช่นเดียวกับที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2563 จำนวนการเดินทางด้วยรถยนต์ลดลง 71% และการขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ลดลง 46% มีผลต่อการปล่อยก๊าซและฝุ่นพิษสู่ชั้นบรรยากาศลดลงระหว่าง 22-46%

การล็อกดาวน์ในเมืองเซา เปาโล ประเทศบราซิล ปริมาณก๊าซไนตริกออกไซด์ลดลง 77.3% ก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์ลดลง 64.8% เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยเมื่อ 5 ปีก่อนเกิดโควิด

 

กล่าวโดยสรุป วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ในมิติของสิ่งแวดล้อม ช่วยทำให้คุณภาพอากาศของทั่วโลกดีขึ้น การปล่อยก๊าซพิษที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศลดน้อยลง คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำทั้งทะเล มหาสมุทร หรือในแม่น้ำก็ดีขึ้นด้วย

โควิด-19 โหดร้ายกับคน แต่สำหรับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกลับเป็นมิตรที่ดีต่อกัน

หรือว่า “โควิด-19” คือสัญญาณเตือนภัยให้เรารักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเยอะๆ?