วิรัตน์ แสงทองคำ/กัลฟ์ (1) จุดเริ่มต้น และรอยต่อ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

กัลฟ์ (1) จุดเริ่มต้น และรอยต่อ

ว่าด้วยการปรับตัว ด้วยแรงปะทะ โดยพลังใหม่ๆ ทางธุรกิจ

หากไม่กล่าวถึงกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี (Gulf Energy) เสียบ้าง เหมือนจะเข้าไม่ถึงความเป็นไปของสังคมธุรกิจไทย

เรื่องราวไคลแมกซ์ เกิดขึ้นจากถ้อยแถลงบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (19 เมษายน 2564) อ้างถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (18 เมษายน 2564) มีสาระโดยสรุป

GULF ประกาศทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (tender offer) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ในราคา 65 บาทต่อหุ้น ซึ่งมีผลกระทบถึงบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC โดยเสนอซื้อในราคา 122.86 บาทต่อหุ้น “มีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ Chain Principle”

ทั้งนี้ ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า INTUCH ถือหุ้นใหญ่ที่สุดใน ADVANC ถึง 40.5% คาดกันว่าหากดีลทั้งยวงจบลงอย่างที่ว่า GULF จะต้องใช้เงินกว่า 5 แสนล้านบาท

นับเป็นแผนการที่น่าสนใจ เป็นดีลที่มีความเชื่อมโยงจากกิจการหนึ่งสู่อีกกิจการหนึ่งที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาอย่างคร่าวๆ ดัชนีทางการเงินที่สำคัญบางตัว โดยเฉพาะรายได้และกำไรล่าสุด (งบการเงินปี 2563) GULF (รายได้ 33,370 ล้านบาท / กำไร 4,282 ล้านบาท) INTUCH (4,572/11,047) และ ADVANC (173,720/27,434)

 

เรื่องราวที่มาและที่ไป ความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นในช่วงเวลาสังคมไทยกำลังโกลาหลกับวิกฤตการณ์ COVID-19 ระลอกแรก ช่วงเวลาดัชนีราคาตลาดหุ้นไทยตกต่ำลงค่อนข้างรุนแรง จนถึงปลายเดือนมิถุนายน (2563) GULF ได้ซื้อหุ้น INTUCH มีสัดส่วนเกือบ 5%

มาอีกช่วงในต้นปี 2564 GULF ได้เข้าถือหุ้นใน INTUCH มีสัดส่วนอย่างมีนัยยะสำคัญ ถึง 15% (อ้างจากกรณีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้รับแบบรายงานการได้มา หุ้นของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการได้มาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564) ขณะเวลาทำคำเสนอชื่อหุ้นข้างต้น GULF ให้ข้อมูลว่ามีหุ้นใน INTUCH มากขึ้นถึงราวๆ 19% แล้ว

เรื่องราวและแง่มุม มีความสัมพันธ์กันหลายมิติ ทั้งเชื่อมโยงไปถึงดีลใหญ่อันสั่นสะเทือนเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว จากสังคมธุรกิจไทยสู่การเมืองระดับประเทศ ไปจนเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งสิงคโปร์

“กรุงเทพฯ/23 มกราคม 2549 – บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (“เทมาเส็ก”) ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) และกลุ่มนักลงทุนไทยในนามของบริษัทกุหลาบแก้วได้บรรลุข้อตกลงกับตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์ในการซื้อหุ้นของทั้งสองตระกูลในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“ชิน”) จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น หรือ 49.6% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73.3 พันล้านบาท” หัวข้อข่าวในเวลานั้น

ปัจจุบัน INTUCH (คงไม่ลืมกันว่าชื่อเดิม-ชิน คอร์ปอเรชั่น) ยังคงมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเครือข่ายธุรกิจสื่อสารยักษ์ใหญ่แห่งสิงคโปร์ – Singtel (SINGTEL GLOBAL INVESTMENT PTE. LTD ถือหุ้นในสัดส่วน 21%) ขณะที่ ADVANC ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองก็เป็น Singtel เช่นเดียวกัน (SINGTEL STRATEGIC INVESTMENTS PTE LTD. ถือหุ้นในสัดส่วน 23.32%) ความซับซ้อนยอกย้อนข้างต้นมีนัยยะหนึ่งว่า ADVANC เป็นกิจการที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับ Singtel

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจปัจจุบันทันด่วนควรเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ GULF

 

เรื่องราวและบทสนทนากันเกี่ยวกับ GULF ปรากฏการณ์หนึ่ง สะท้อนความเป็นไปของยุคสมัยสังคม เศรษฐกิจและการเมืองไทยด้วย

GULF ผุดขึ้นมาในยุคสมัยหนึ่งซึ่งพลังขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ว่าไปแล้วมาช้าดีกว่ามาเร็ว

เริ่มต้นในภาวะพองตัวทางเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2530 ไม่ห่างจากยุคสื่อสารไทยที่เติบโตและทรงอิทธิพล เป็นไปอย่างรวดเร็วและยังคงอยู่ ไม่ห่างจากช่วงเวลาการเกิดขึ้นของ INTUCH (เข้าตลาดหุ้นปี 2533) และ ADVANC (เข้าตลาดหุ้นปี 2534) นัก

เปิดฉากขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญนั้นเช่นกัน เมื่อพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 (ขณะนั้นอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี) เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นที่มา และจุดตั้งต้นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่างกลุ่ม ปตท. หากรวบรวมการปฏิรูปกิจการผลิตไฟฟ้าครั้งใหญ่ ในสถานการณ์ซึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสำคัญ-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่อาจแบกรับภารกิจได้ตามลำพัง

ปีเดียวกัน (2535) กฟผ.ได้จัดทำระเบียบแล้วเสร็จและออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Small Power Producer (SPP) ตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ

และปี 2537 รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ให้เอกชนเข้ามาแข่งขันลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในรูปแบบที่เรียกว่า Independent Power Producer (IPP)

ตามโมเดลและความเป็นไป ว่าด้วยโอกาสและความมั่งคั่งใหม่ในสังคมไทย มักจะเริ่มต้นจากศูนย์กลาง ผู้ทรงอิทธิพล ผู้มีสายสัมพันธ์ เฉกเช่นเดียวกันกรณีที่ครึกโครมกว่า เคยว่าไว้ในยุคต้นๆ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ถืออยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่กรณีโรงไฟฟ้าเอกชน เป็นไปตามขั้นตอน ค่อนข้างเงียบๆ

 

กฟผ.ปรับตัวสู่ยุคที่แตกต่าง จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อระดมทุนจากตลาดหุ้น ยุคที่กำลังเฟื่องฟู เข้าสู่การแข่งขันใหม่กับโรงไฟฟ้าเอกชน ตั้งแต่ช่วงต้นๆ–บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (ก่อตั้งปี 2535 เข้าตลาดหุ้นปี 2538) และอีกช่วงที่ความเป็นไปอีกขั้น-บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RACH (ก่อตั้งและเข้าตลาดหุ้นปี 2543)

กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมของไทยผันตัวจากธุรกิจเก่าๆ หรือข้างเคียง สู่ธุรกิจใหม่ ในกรณีกลุ่มมิตรผล ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมน้ำตาล

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เริ่มต้นกิจการเหมืองแร่ตั้งแต่ปี 2526 ปรับตัวอย่างกระฉับกระเฉง สู่ช่วงเวลาใหม่อย่างทันท่วงทีในปี 2536 ทั้งร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจระดับโลก เข้าร่วมโครงการผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ารายย่อย (SPP) ในเวลาเดียวกับนำกิจการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น

มีอีกบางกรณีที่น่าสนใจ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRI ตัดสินใจเข้าร่วมวงในจังหวะแรกๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในฐานะเป็นเครือข่ายกิจการที่มีรากฐานในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รัชสมัย ร.5

“ในปี พ.ศ.2421 หรือ ค.ศ.1878 ชาวยุโรปสองท่าน …เภสัชกรชาวเยอรมันชื่อแบร์นฮาร์ด กริม …กับหุ้นส่วนชาวออสเตรียชื่อแอร์วิน มุลเลอร์ ได้เดินทางมายังประเทศไทยและก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ถนนโอเรียนเต็ล ห้างนี้ชื่อว่าสยามดิสเปนซารี่ ถือเป็นร้านยาในรูปแบบแพทย์สมัยใหม่แห่งแรกในประเทศไทย” (https://bgrimmgroup.com/th)

มาถึงจุดเปลี่ยนหนึ่ง “เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2536 โดยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนของประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนเราใช้ชื่อบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด และได้มีการก่อตั้งบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ในเวลาต่อมา” (https://www.bgrimmpower.com/th)

กิจการกำลังเป็นไปคึกคักพอสมควร หลังจากเข้าตลาดหุ้นเมื่อไม่นาน (ปี 2560) มีโครงการหนึ่งซึ่งสื่อเยอรมนีให้ความสนใจเป็นพิเศษ “โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ …พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ซึ่งถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย” (ข้อมูลจากสารประธานกรรมการ-ดร.ฮาราลด์ ลิงค์)

ว่าไปแล้ว GULF และผู้ก่อตั้ง ผู้นำคนสำคัญ-สารัชถ์ รัตนาวะดี เพิ่งปรากฏตัวขึ้นไม่นานเพียงทศวรรษเดียว

ในระยะแรกๆ อาจจะเรียกว่าเขาคือ “คนนอก” อีกคนหนึ่ง คนนอกที่มีโอกาสในจังหวะที่หาไม่ได้ง่ายนัก

เป็นภาพสมดุลบางอย่าง ทั้งว่าด้วยสายสัมพันธ์อันยืดหยุ่นกับความผันแปรของสังคมผู้มีอำนาจไทย

ภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องพัฒนามาถึงจังหวะเชื่อมต่อหลายมิติหลายแกน

ไปจนถึงมีบทเรียนที่มีค่าจากผู้มาก่อน