ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 30 เม.ย. – 6 พ.ค. 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

ชื่อบทความพิเศษ ของสมชัย ศรีสุทธิยากร ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

น่าจะรวบยอดภาวะการระบาดของไวรัสโควิด รอบที่ 3 ในเมืองไทยได้ดีที่สุด

นั่นคือ

“วิกฤตในวิกฤต

คือการไม่รู้จัก

การบริหารวิกฤต”

ภายใต้คำอธิบายว่า

ประเทศ (ไทย) มิได้ขาดทรัพยากร

มิได้ขาดเครื่องมือทางกฎหมาย

บุคลากรทางการแพทย์ของเราเป็นที่รับรู้ในด้านความสามารถ

การบริการสาธารณสุขของเราไม่เป็นรองใครในโลก

เพียงแต่ความสามารถในการบริหารวิกฤตของนักการเมืองที่มีอำนาจในปัจจุบัน “อาจอยู่ในขั้นวิกฤต”

นั่นจึงทำให้ได้ยินเสียงเรียกร้องให้นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลาออก

ซึ่งจะมีผลหรือไม่ ไม่ทราบ

แต่ “วิกฤตโควิด-19” ทำให้เกิด “วิกฤตการเมือง” ติดตามมาอย่างระทึกใจ

 

ในท่ามกลาง “วิกฤต” อันชวนหดหู่

“ป๋วย อุ่นใจ” เจ้าขอคอลัมน์ “ทะลุกรอบ”

เล่าให้ฟังถึง “ซูเปอร์วัคซีนแพนโคโรนาไวรัส”

ที่แม้จะเพิ่งเริ่มต้น

แต่ก็เป็นความหวังของมนุษย์โลก ที่เราอาจมีวัคซีนที่สามารถรับมือไวรัสตระกูลโคโรนาได้ทุกชนิด

ถึงจะกลายพันธุ์ไปอย่างไร ก็อาจใช้ “ซูเปอร์วัคซีนแพนโคโรนาไวรัส” คุมอยู่

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ยังเป็นความหวังของมนุษยชาติอยู่เสมอ

 

นักวิทยาศาสตร์อย่างป๋วย อุ่นใจ ให้ข้อคิดในคอลัมน์ของเขาถึงวัคซีนป้องโควิด-19 ในวันนี้และวันข้างหน้าว่า

แม้จากรายงานการศึกษาทางคลินิก

วัคซีนส่วนใหญ่จะไม่ได้ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

แต่ฉีดเพื่อเกิดภูมิคุ้มกันป้องกันอาการของโรค

ชะลออาการจากหนักเป็นเบา

และเป็นไปได้ว่าระยะการรักษาโรคจะสั้น

ถ้าถามว่าป้องกันการติดเชื้อไม่ได้

แล้วควรจะฉีดหรือไม่?

“…คำตอบเดียวที่ผมจะแนะนำได้ก็คือ ถ้ามีโอกาสและไม่มีแนวโน้มว่าจะมีอาการแพ้ หรือข้อจำกัดอื่นในเรื่องสุขภาพ

อย่าทิ้งโอกาสฉีดไปเลยครับ

เพราะแม้ว่าประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจะดูต่ำต้อยกระจิริดเพียงไร

แต่ถ้าดูเรื่องเปอร์เซ็นต์ของความสามารถในการลดความหนักหนาสาหัสของอาการของโรค

ยังไงก็ยังคุ้มค่าที่จะฉีด

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าพลาดไปติดเชื้อขึ้นมาที ความเสี่ยงอาจจะถึงชีวิต กันไว้ยังไงก็ดีกว่าแก้”

คือข้อคิดของนักวิทยาศาสตร์ “ป๋วย อุ่นใจ”

 

ขณะที่มงคล วัชรางค์กุล ให้ข้อมูลและบทเรียน ผ่านรายงานพิเศษ “เมื่อวัคซีนไม่เพียงพอในเมืองไทย / แนะนำวิธีป้องกันตัว / จากประสบการณ์ในอเมริกา”

เป็นข้อมูลที่อาจมีประโยชน์ ในสถานการณ์ที่เมื่อวัคซีนในเมืองไทยตอบโจทย์หยุดยั้งการระบาดไม่ได้

ด้วยเพราะยังไม่มีวัคซีนในปริมาณที่มากพอ

แถมวัคซีนที่มีในมือก็ยังเป็นวัคซีนตัวที่ป้องกันการแพร่ระบาดได้ผลต่ำสุดของโลก

ดังนั้น การป้องกัน “ตัวเอง” จะดีที่สุด

ที่ผ่านมา เรามักจะได้ข้อมูลว่า อเมริกันชน ยึดติดความเป็นเสรีชน

จึงทำให้ภาวะการติดเชื้อและการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก

ซึ่งก็จริง แต่การฟันฝ่าเพื่อจะพ้นวิกฤตอันเลวร้ายนั้น

คนอเมริกันและผู้ที่พำนักในอเมริกา อย่างมงคล วัชรางค์กุล ต้องเข้มงวดกับตัวเองมากกว่าเราหลายเท่า

ซึ่งน่าสนใจมาก อาทิ

“…ลูกสาวเพื่อนอเมริกันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อายุ 38 ปี เธอต้องสอนหนังสือในคลาสเรียน พอกลับเข้าบ้านจอดรถในเบสเมนต์ปิดประตูโรงรถ ถอดเสื้อผ้าออกใส่ถุง ถอดรองเท้า เปลือยกายเข้าบ้านอาบน้ำ สระผมทันที ทุกครั้งไป”

“…คนที่อยู่คนเดียวในบ้านหรือในคอนโดฯ ให้หา ‘บัดดี้’ คู่หูไว้ เพื่อติดต่อทางโทรศัพท์หรือเทกซ์คุยกันทุกวัน ให้รหัสประตูบ้านไว้ ถ้าวันไหนเพื่อนไม่ตอบรับต้องรีบติดตามเข้าไปดู

ป้องกันการนอนตายขึ้นอืดในบ้านคนเดียว…”

 

นั่นคือตัวอย่างที่เหล่าอเมริกันชนทำ

ทำขณะที่คอลัมน์สิ่งแวดล้อม ของทวีศักดิ์ บุตรตัน ให้ข้อมูลว่า

คนอเมริกันได้วัคซีนครบโดสแล้ว 91 ล้านคน

และรัฐบาลนายโจ ไบเดน จัดหาวัคซีนนับตั้งแต่เข้ามาเป็นประธานาธิบดีได้ครบ 200 ล้านโดสตามคำสัญญา

แต่คนอเมริกันก็ยังต้องระวังตัวแจ

ส่วนคนไทยจะพึ่งรัฐบาลก็ยาก

ป้องกันตัวเองก็ลำบาก

แต่ทำอะไรที่ทำได้ เพื่อดูแลตัวเองก็ทำเถิด

–ขอให้โชคดี