2503 สงครามลับ สงครามลาว (27)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (27)

 

“ราชาแห่งสนามรบ” จากไทย

กองร้อยทหารปืนใหญ่จากไทยเดินทางมาถึงเมื่อ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2507 “หัวหน้าวิน” (พ.อ.ธวัชชัย นาควานิช) จาก บก.333 ได้บันทึกไว้ดังนี้…

“เครื่องบินมาลงตอนประมาณบ่ายกี่โมงจำไม่ได้แล้ว มีทั้ง C-46 และ C-123 ทยอยลงมามีทั้งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ปะปนกันลงมาขวักไขว่สับสนไปหมด ฝนก็ตก กำลังส่วนแรกที่มาลงนี้เป็นส่วนล่วงหน้า หมวดระวังป้องกัน ผู้บังคับหมู่ปืน รวมแล้วก็ประมาณไม่เกิน 50 คน

ที่ตลกที่สุดก็คือแทบจะไม่รู้ว่าเป็นทหารชาติไหนเพราะแต่งตัวมาแปลกมาก สวมหมวกแก๊ปทรงอ่อนสีเขียว นุ่งกางเกงสีเขียว แต่ดันสวมเสื้อสีกากี รองเท้าไอ้โอ๊บ ทหารลาวก็ไม่ใช่ ทหารไทยก็ไม่เชิง เครื่องหมายก็ไม่มี กว่าจะหาตัวผู้บังคับกองร้อยพบก็เล่นเอาเหนื่อย

ทุกคนก็สนุกๆ กันดีเพราะยังใหม่อยู่แล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เขาเอาตัวมาลงไว้ที่เมืองไหนก็ไม่รู้ ความไม่รู้นี่ก็ดีไปอย่างคือไม่กลัว ผมแนะนำตัวว่าเป็นใคร มีหน้าที่อะไรที่นี่ ผู้บังคับกองร้อย ร้อยเอก ก็ทำท่างงๆ อ้าว…งงก็งงกัน ต่อมาเลยตั้งชื่อให้เสียใหม่เลยว่า ‘หัวหน้าศักดิ์’ (พ.ต.วิวัฒน์ โรจนะยานนท์ ผู้บังคับกองร้อย เอสอาร์ 1 ระหว่าง 4 กรกฎาคม 2507 – 1 มีนาคม 2508)

เมื่อรวบรวมข้าวของและผู้คนได้เรียบร้อยแล้ว ผมก็นำขบวนไปบ้านค่ายซึ่งจะเป็นที่พักของเราต่อไป

พอไปถึงผมก็จัดสรรแบ่งเขตพื้นที่ให้แต่ละพวก แต่ละหมู่ แต่ละเหล่า (เขียนเอาสนุกนะครับ) ฝนตกก็ไม่หาย เปียกปอนไปตลอดทั้งบ่าย พวกกางเต็นท์เล็กสำหรับนอน 2 คนก็ทำไป เย็นนี้ฝ่ายเป็นกลางเอาข้าวเหนียวหุงแล้วมาช่วยกันตายไป 1 มื้อ

ผมก็อพยพจากฝ่ายเป็นกลางที่หนองตั้ง หลังจากขอบคุณที่เขาเอื้อเฟื้อให้อยู่มาหลายคืนด้วยความทรมานทางใจ มาทรมานทางกายกับพวกเราที่บ้านค่ายดีกว่า มันไม่พร้อมไม่สมบูรณ์ก็ช่าง กลางคืนก็ใช้เทียนไขงึมงำกันไป ทหารก็นอนเต็นท์เล็กนอน 2 คน ผมก็ได้เต็นท์ใหญ่มีเตียงผ้าใบนอน ก็สบายไป คืนวันที่ 4 กรกฎาคม 2507 ผ่านไปด้วยความฉุกละหุกพิลึกดี”

“ธรรมชาติของทหารประการหนึ่ง คือการดัดแปลงภูมิประเทศอยู่ตลอดเวลา เมื่อผ่านคืนแห่งความฉุกละหุกไปได้แล้ว วันรุ่งขึ้นท่านก็เริ่มดัดแปลงภูมิประเทศกัน”

“ในระหว่างที่ตัวปืนใหญ่ยังไม่มา ก็ส่งกำลังพลหมู่ปืนไปเตรียมทำหลุมวางปืน บังเกอร์กระสุน ศูนย์อำนายการยิง ถากถางสิ่งจำเป็นที่กีดขวาง หมวดป้องกันก็ไปวางแนวป้องกัน ทิศทางยิง ที่ตั้งอาวุธกล อาวุธหนัก วางแผนทุกอย่างที่จะป้องกันที่ตั้งยิง”

 

บันทึกของเอสอาร์-1

กองร้อยทหารปืนใหญ่หน่วยแรกที่จะเข้าปฏิบัติการครั้งนี้ใช้ชื่อ “เอสอาร์-1” รองผู้บังคับกองร้อย ร.ท.เกรียงไกร นุชภักดี “สิงห์” ได้บันทึกความทรงจำไว้ ดังนี้

“เอสอาร์-1 เป็นหน่วยทหารปืนใหญ่หน่วยหนึ่ง เป็นหน่วยเฉพาะกิจถูกส่งไปปฏิบัติการรบในประเทศที่ 3 เมื่อปี 2507 ปฏิบัติการเป็นเวลา 7 เดือนก็เดินทางกลับประเทศไทย ดูอย่างผิวเผินก็ไม่มีอะไรโดดเด่นน่าติดตาม นอกจากการทำสงครามปืนใหญ่กับฝ่ายข้าศึก สามารถทำลายปืนใหญ่ข้าศึกได้จำนวน 18 กระบอก

ทหารในหน่วยนี้ไม่มีใครทราบว่า ‘SR’ คืออะไร ได้แต่พูดกันว่ามาจากคำว่า ‘ซันไรส์’ บ้างก็ว่ามาจากคำว่า ‘สีวะรา’

ดังกล่าวแล้วว่าการปฏิบัติการของหน่วยนี้ดูผิวเผินและไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ เมื่อปฏิบัติการครบ 7 เดือนก็กลับประเทศไทย หน่วยเหนือก็ส่งหน่วยเอสอาร์-2 ไปผลัดเปลี่ยนและมีการผลัดเปลี่ยนกันทุกปีจนถึงหน่วยสุดท้ายคือ เอสอาร์-9 ต่อไปก็เป็นชื่ออื่น

รอง ผบ.ร้อย ป.เอสอาร์-1 ชื่อว่า ‘สิงห์’ นายทหารทุกนายมีชื่ออุปโลกน์กันทุกคน เพราะเป็นการปฏิบัติการลับในประเทศที่ 3

‘สิงห์’ เป็นนายทหารเมื่อปี 2505 เมื่อสำเร็จแล้วก็ไปเข้ารับการศึกษาหลักสูตรผู้บังคับหมวดตามเหล่าที่ศูนย์การทหารเหล่าของตนแล้วก็มีการเลือกหน่วยที่จะไปรับราชการ ‘สิงห์’ เลือกไปรับราชการที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมาในตำแหน่ง ‘ผู้ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่’

‘สิงห์’ ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ฝึกทหารใหม่ ฝึกภาคกองร้อยและภาคกองพันทหารปืนใหญ่ ในตำแหน่งผู้ตรวจการหน้าปืนใหญ่จนผ่านการฝึกไปได้ 1-2 ครั้ง”

วันหนึ่งขณะที่ ‘สิงห์’ นั่งอยู่ที่กองร้อย (กองร้อยที่ 3) ได้เห็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ต่างเดินผ่านหน้ากองร้อยด้วยหน้าตาที่เคร่งเครียดเข้าไปพบผู้บังคับกองพัน ทราบภายหลังว่าได้เข้าพบแม่ทัพเพื่อขอให้จัดกำลังทหาร 1 กองร้อยปืนใหญ่ ปืนใหญ่ 6 กระบอกหรือ 6 หมู่โดยด่วนที่สุด ไปปฏิบัติการ ณ ประเทศที่ 3 เพราะประเทศที่ 3 กำลังเพลี่ยงพล้ำในการรบและจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างสำคัญต่อไป

ในตอนบ่ายวันเดียวกัน ผู้บังคับกองร้อยของ ‘สิงห์’ ได้มาบอกว่า ผู้บังคับกองพันได้ประชุมผู้บังคับกองร้อยทุกกองร้อยแล้วตกลงกันว่า จะสนธิกำลังจากทุกกองร้อยของกองพัน และบอกกับ ‘สิงห์’ ว่า “คุณเป็นรองผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์”

คืนวันนั้น ‘สิงห์’ นอนไม่ค่อยหลับ วาดภาพว่าจะไปรบกันอย่างไร เพราะยังใหม่เหลือเกิน ผ่านการฝึกภาคกองพันเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น

ทุกคนถูกกักบริเวณภายในกองพันไม่ให้ออกไปนอกกองพันหรือนอนที่บ้าน ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นผู้บังคับการกรมผสม ได้เรียกทหารที่จะเดินทางไปร่วมทุกคนประชุมที่ห้องอาหารของกรมผสม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่กลางห้อง ท่านได้แจ้งภารกิจอีกครั้ง และให้ทหารทุกคนพนมมือต่อหน้าพระพุทธรูปและให้กล่าวตามว่า

“การเดินทางไปรบครั้งนี้ถือว่าเป็นความลับสุดยอด หากข้าพเจ้าแพร่งพรายความลับให้ใครทราบไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่ พี่-น้อง หรือลูก-เมีย ขอให้ข้าพเจ้าเสียชีวิตในสนามไม่ได้กลับมาพบกันอีกเลย”

 

ในตอนเย็นมีการแจกจ่ายเสื้อผ้า อาวุธยุทโธปกรณ์ ผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ มอบหมายให้ ‘สิงห์’ ควบคุมการแจกจ่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ด้วยความที่ยังอ่อนหัดในเรื่องการบริหารงาน ‘สิงห์’ ก็ใช้กำลังพลเพียง 2-3 คนเท่านั้น เช่น จ่ากองร้อย เสมียนกองร้อย ช่วยจ่ายสิ่งของอุปกรณ์ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักมาก ถ้าหากบริหารงานเป็นก็สามารถให้กำลังพลคนอื่นอีกหลายคนช่วยกันได้

แต่อย่างไรก็ตาม การแจกจ่ายก็เสร็จสิ้นตอนรุ่งสว่างของคืนนั้น

ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น กองพันได้จัดรถบรรทุกทหารที่จะไปรบไปขึ้นเครื่องบินบรรทุกกำลังพลที่สนามบินของกองทัพอากาศที่จังหวัดนครราชสีมา ทุกคนพากันงงๆ ว่าจะไปรบที่ประเทศใด รบกับใคร เขาก็ไม่ตอบให้ทราบแต่อย่างใด

ตอนสายของวันนั้นเครื่องบินก็ถึงสนามบินของประเทศที่ 3 ‘สิงห์’ สั่งให้นายสิบจำนวนหนึ่งถืออาวุธประจำกายเข้าประจำพื้นที่เป็นวงรอบ เป็นการป้องกันรอบตัว ทันใดนั้นเองก็เห็นคนคนหนึ่งแต่งชุดพรางหนวดเฟิ้มเข้ามาและถามว่าใครเป็นหัวหน้าคุมมา แล้วบอกให้ทุกคนรีบขึ้นรถบรรทุกที่จะมารับ ‘สิงห์’ ปฏิเสธทันที ผมไม่ทราบว่าคุณเป็นใคร ผมให้ทหารไปกับคุณไม่ได้ หากคุณพาทหารไปฆ่า ผมจะทำอย่างไร

เขาก็สั่นศีรษะและขับรถกลับไป

หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงก็เห็นนายทหารติดต่อกองพันทหารปืนใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมาซึ่งไม่ทราบว่าเขาเดินทางล่วงหน้ามาเมื่อไหร่ได้มารับคณะของ ‘สิงห์’ เดินทางต่อไป