สมาคมคณะชาติ : ‘The Conservative Party’ พรรคแรกแห่งสยาม/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

สมาคมคณะชาติ

: ‘The Conservative Party’ พรรคแรกแห่งสยาม

 

“ไม่ทรงโปรดให้มีคณะพรรคการเมืองและทรงให้เลิกคณะราษฎรในฐานะพรรคการเมืองเสีย”

(แถลงการณ์เรื่อง พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ, 2478, 41-42)

 

การต่อสู้ทางการเมืองภายหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงไหวชิงพริบ แม้นกลุ่มอนุรักษนิยมจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ตาม แต่หลังจากนั้น พวกเข้าพยามกอบกู้สถานการณ์กลับคืน

เมื่อคณะราษฎรจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” อันเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตนและเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองอย่างคึกคัก

กลุ่มอนุรักษนิยมย่อมมียุทธศาสตร์ในการต่อสู้ของตนเองเช่นกัน

นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวนิช)

คณะชาติ คือเหล่ารอยัลลิสต์

ความพยายามจัดตั้ง “สมาคมคณะชาติ” อันเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยมถูกเสนอจัดตั้งในช่วงเดือนมกราคม 2476 มีผู้ยื่นขอจดทะเบียน ประกอบด้วย พระยาโทณวณิกมนตรี พระยาศราภัยพิพัฒ หลุย คีรีวัต หลวงวิจิตรวาทการ และเจ้านายเชื้อพระวงศ์อีกหลายองค์

เนื่องมาจากพวกเขาเห็นว่า การมีพรรคคณะราษฎรพรรคเดียวไม่ใช่ประชาธิปไตย

เมื่อคณะราษฎรจัดตั้งสมาคมลักษณะเป็นพรรคการเมือง ประกาศรับสมัครสมาชิกได้ กลุ่มอนุรักษนิยมจึงประสงค์ตั้งคณะชาติขึ้นเพื่อเป็นสมาคมของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎร

ซึ่งสมาคมนี้ถูกเรียกว่า พรรคอนุรักษนิยม “The Conservative Party” (หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 2543, 93)

การเสนอจัดตั้งสมาคมคณะชาติ นำไปสู่การโต้เถียงกันบนหน้าหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฝ่าย

ฝ่ายนิยมคณะราษฎร เช่น 24 มิถุนา สัจจัง และกรรมกร กับฝ่ายนิยมคณะชาติ เช่น ไทยใหม่ ช่วยกรรมกร และกรุงเทพฯ เดลิเมล์ กลุ่มแรกวิจารณ์ว่า สมาคมคณะชาติเป็นกลุ่มการเมืองของชนชั้นสูง ผู้มีทรัพย์ซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก และเกลียดชังคณะราษฎร ดำเนินโนยบายต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎร และมีเจ้านายอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น ไม่สมควรให้จัดทะเบียนจัดตั้ง

ส่วนกลุ่มหลังเสนอว่า ต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (ธำรงศักดิ์, 2543, 274)

พลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์)

ก่อนที่กลุ่มอนุรักษนิยมจะขอจดทะเบียนสมาคมคณะชาตินั้น พวกเขาทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชานุญาตลงวันที่ 7 มกราคม 2476 ความว่า

“ประเทศที่ปกครองโดยถือเสียงราษฎรเป็นใหญ่ซึ่งเรียกว่า ดิโมคราซี หรือประชาธิปไตยนั้น จำเป็นจะต้องมีคณะการเมืองมากกว่าหนึ่งคณะ จึงถูกต้องตามประเพณีนิยม เพราะมีความเชื่อมั่นด้วยเกล้าฯ อยู่อย่างหนึ่งว่า ฐานะแห่งประเทศสยาม ถ้าดำเนินแบบคณาธิปไตย คือปกครองโดยคณะการเมืองคณะเดียวเท่านั้นแล้ว ก็อาจบังเกิดผลร้ายได้ง่ายอาจถึงกับทำให้เมืองไทยเสียอิสรภาพได้ เพราะมหาประเทศเพื่อบ้านทั้งสองคือ อังกฤษ และฝรั่งเศส ล้วนมีนโยบายที่ไม่ชอบคณาธิปไตย โดยเหตุฉะนี้ การที่มีคณะการเมืองหลายคณะ จึงเป็นการจำเป็นสำหรับความปลอดภัยสวัสดิภาพของสยามประเทศ และเป็นเครื่องค้ำจุนให้ประชาชนพลเมืองได้รับความเสรีภาพเต็มตามหน้าที่โดยบริบูรณ์” (ธำรงศักดิ์, 2543, 274-275)

ต่อมาหลวงวิจิตรวาทการ เลขาธิการคณะชาติเข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎรพร้อมชี้แจงถึงการจัดตั้งสมาคมคณะชาติ

นายปรีดีแจ้งว่า ไม่ขัดข้อง และในที่ประชุมคณะราษฎรตกลงยินยอมให้คณะชาติจัดตั้งขึ้นได้ (ธำรงศักดิ์, 2543, 275)

เจ้านายท่านหนึ่งทรงบันทึกว่า พรรคคณะชาติที่นำโดยหลวงวิจิตรฯ มีผู้สมัครเข้าร่วมเป็นอันมากเช่นกัน (พูนพิศสมัย, 2543, 118)

หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร)

ยุบพรรคคณะราษฎร

การขอจัดตั้งสมาคมคณะชาติกลายเป็นเหตุการณ์หาทางยุบสมาคมคณะราษฎร เริ่มจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำเรื่องจัดตั้งสมาคมคณะชาติไปกราบบังคมทูลปรึกษาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงนายกรัฐมนตรีวันที่ 31 มกราคม 2476 ความว่า

“…สำหรับประเทศสยามซึ่งพึ่งจะมีรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ยังหาถึงเวลาสมควรที่จะมีคณะการเมืองเช่นเขาไม่ ด้วยประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเสียเลย เมื่อเกิดมีคณะการเมืองขึ้นแข่งขันกันเช่นนี้ ก็จะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการตั้งหมู่ตั้งคณะ สำหรับเป็นปรปักษ์หักล้างอำนาจซึ่งกันและกัน ผลที่สุดอาจเป็นชนวนให้เกิดวิวาทบาดหมางกันขึ้นได้อย่างรุนแรง จนถึงเป็นภัยแห่งความสงบสุขของประเทศ หรืออย่างน้อยก็จะทำให้เกิดความหวาดหวั่นในหมู่อาณาประชาราษฎร์ อันเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง คณะการเมืองจะทำประโยชน์จริงให้กับประชาชนได้ ก็เมื่อประชาชนมีความเข้าใจในวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าในเวลานี้อย่าให้มีสมาคมการเมืองเลยจะดีกว่า แต่โดยเหตุที่บัดนี้ รัฐบาลได้ยอมอนุญาตให้สมาคมคณะราษฎรเสียแล้ว จึงเป็นการยากที่จะกีดกันห้ามหวงมิให้มีคณะเมืองขึ้นอีกคณะหนึ่งหรือหลายคณะได้ อย่างดีที่สุด ข้าพเจ้าเห็นว่า สมควรที่จะเลิกสมาคมคณะราษฎรและคณะอื่นทีเดียว…” (แถลงการณ์เรื่อง พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ, 2478, 155-156)

หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา)

มีความเป็นไปได้ว่า จากพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ พระยามโนปกรณ์ฯ ใช้โน้มน้าวคณะรัฐมนตรีให้ลงมติสนับสนุนฝ่ายตน พร้อมแจ้งให้เจ้ากระทรวงต่างๆ ทราบว่า ห้ามมิให้ข้าราชการสมัครเป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎร และผู้ที่เป็นสมาชิกแล้วให้ลาออกจากสมาชิกภาพ อันเป็นการทำลายฐานทางการเมืองของสมาคมคณะราษฎรลง (ธำรงศักดิ์, 2543, 276)

หากวิเคราะห์แล้ว อาจมีความคุ้มค่าสำหรับกลุ่มอนุรักษนิยมที่สามารถยุบพรรคการเมืองของคณะราษฎร ที่มีกิจกรรมทางการเมืองในระดมมมวลชน ขยายสาขาไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ พร้อมแจกจ่ายเครื่องหมายเข็มกลัดโลโก้ของพรรคไปแล้วลงได้ แม้จะต้องทำให้สมาคมคณะชาติที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดมากกว่าการพยายามจัดตั้งพรรคต้องยุติลงด้วยเช่นกัน

กล่าวโดยสรุป การต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยม เริ่มจากการยุบสมาคมคณะราษฎร การรัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกาในวันที่ 1 เมษายน 2476 โดยพระยามโนปกรณ์ฯ เพื่อปิดสภามิให้สภาพิจารณาสมุดปกเหลืองของนายปรีดี พร้อมเผยแพร่สมุดปกขาว การออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ ขับไล่นายปรีดีไปต่างประเทศ พร้อมโยกย้ายคณะราษฎรออกจากการคุมกำลังทหาร

แต่สุดท้ายแล้ว พระยาพหลฯ ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมชุดนี้ลงเมื่อ 20 มิถุนายน 2476 คณะราษฎรจึงเข้ากุมสภาพการเมืองอีกครั้ง

แต่ความพยายามต่อต้านของกลุ่มอนุรักษนิยมไม่จบสิ้นลง ต่อมา พวกเขาเลือกใช้กำลังนำไปสู่กบฏบวรเดช ในเดือนตุลาคม 2476

ความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาเป็นเช่นไรนั้น ภายหลังที่สมาคมคณะชาติมิได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างเป็นทางการนั้น เจ้านายพระองค์หนึ่งทรงบันทึกไว้ว่า เมื่อสมาคมมิได้รับการจดทะเบียนทำให้การต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขามิอาจต่อสู้อย่างเปิดเผยได้

แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขารู้กระจ่างดีว่า พวกเขาไม่ได้รับสิทธิและความเท่าเทียมในการต่อสู้ทางการเมือง และพวกเขารู้ดีว่า พวกเขาเป็นฝ่ายค้านหากต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผยใดจะทำให้พวกเขาเป็นปรปักษ์ต่อรัฐอันจะทำให้พวกเขาถูกปราบปรามอย่างรุนแรงได้ ดังนั้น พวกเขาจึงมิอาจต่อสู้หรือมีมาตรการอย่างเปิดเผยได้

พวกเขาไม่พอใจนโยบายทางเศรษฐกิจของนายปรีดี และมีนโยบายทางลบต่อคณะราษฎรมาก อย่างไรก็ตาม พวกเขามิได้เปิดหน้าสู้ด้วยกำลัง แต่พวกเขาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์และใช้คนอื่นๆ ไปต่อสู้แทนพวกเขา (หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 2543, 94)

ในช่วงก่อนเกิดกบฏบวรเดช หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศสมัยทรงมีบันทึกว่าช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2476 มีคนไป-มาที่หัวหินมากขึ้นจนไม่รู้ใครเป็นใคร ต่อมา พอขึ้นเดือนกันยายน ก็มีผู้คนมาหัวหินมากขึ้น และบ่อยขึ้น แต่พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายคณะชาติ

และต่อมาในกลางเดือนตุลาคม เกิดกบฏบวรเดชในที่สุด