‘เมียน้อย-ผัวฝรั่ง-นังกงไก’ : ‘กาม-การเมือง’ เรื่องคตินิยม/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘เมียน้อย-ผัวฝรั่ง-นังกงไก’

: ‘กาม-การเมือง’ เรื่องคตินิยม

ไทม์ไลน์เก่ากรุร่วมศตวรรษครึ่งที่ฝังมากับภูมิภาคนี้ คือหลักฐานที่ว่าคำว่า “กงไก” แห่งโคชินไชน่า (เวียดนามกลาง/ใต้) “กงไก” หมายถึงหญิงรับใช้ ในอินโดจีนที่เรียกกันในหมู่เจ้าหน้าที่ฝรั่งในกัมพูชา

กงไกในความหมายที่ 2 คือเมียเก็บ ส่วน “เนียะบำเรอ” (เขมร) หมายถึงคนใช้-แม่บ้านซึ่งมีพัฒนาการอย่างเดียวกันและดำเนินมาเป็นพิมพ์นิยมต่อการมีผัวฝรั่งของสตรีภูมิภาคนี้ในห้วงกว่าร้อยปีต่อมา

แต่เชื่อไหม ที่มาของผัวฝรั่งในสตรีอินโดจีน หาใช่กฎธรรมชาติ ดังตอนหนึ่งใน Colonial Cambodia’s ‘Bad French’ (Gregor Muller,2006) และพบว่าความจริงแล้ว “กฎแห่งกามและความเสน่หา” ระหว่างชายผิวขาวกับชนพื้นเมืองผิวคล้ำ มีปมเหตุใหญ่ๆ มาจากราชสำนัก

จ้ะ หากรู้จักคนใกล้ตัวอยากมีผัวฝรั่งก็โปรดจงรับรู้ว่า บางทีอาจมีที่มาที่ไปจากอดีตยาวนานที่ทิ้งไว้ หาใช่กามตัณหาและความรักใคร่ในเพศและสัญชาตญาณของบุคคลเท่านั้น

แต่มันคือ “อุปสงค์-อุปทาน”, “ปรารถนา-ตอบสนอง” ซึ่งล้วนแต่เป็นตรรกะวิทยาศาสตร์

และสำหรับ “กฎแห่งกามและความเสน่หา” ที่กัมพูชานั่น มันคือเรื่องเดียวกับการเมืองและเศรษฐกิจล้วนๆ ซึ่งเริ่มขึ้นจริงจังระหว่าง พ.ศ.2420-2422 ปีที่ 15 ที่กัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส

เมื่อนางธี เสา (18) สนมวัยสะคราญของพระบาทนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งว่ากันว่างามนัก จนวันหนึ่ง เวอร์ริเออร์เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสถึงกับให้คนสนิทไปรับตัวเธอมายังที่พักตน

ตอนนั้น ธี เสา ยังอยู่ในบ้านกับพ่อ-แม่ แต่มีศักดิ์เป็นสนมของวังแล้ว กระนั้น เวอร์ริเออร์ก็ไม่สน เพียงแต่ครั้งแรกที่เห็นหน้า เขาก็พาเธอไปห้องนอน ขอให้เสาเปลื้องผ้าออก เพื่อที่จะสำรวจเรือนร่างเธออย่างใกล้ชิด

ความกำหนัดหลงใหลต่อเสาอย่างรุนแรง ทำให้นายบารังขอให้เธอกลับมาใหม่ในวันพรุ่ง ซึ่งเสาก็กลับมา แต่คราวนี้เธอมากับมารดาที่โกรธกริ้วหนักกับเวอร์ริเออร์

แม่ของเสาของนายบารังจ่ายค่าเสียหายให้ลูกสาวเป็นเงินก้อนโต 100 เปียร์ส ไม่เท่านั้น ยังต้องจ่ายรายเดือนอีกเดือนละ 30 เปียร์สสำหรับค่าเลี้ยงดู

สรุปพ่อ-แม่ของเธอยกเสาให้เป็นเมียนายฝรั่ง ไม่สนว่าตนจะถูกโบยตีริบสมบัติจากวังหลวงด้วยหรือไม่ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความเป็นเศวตฉัตร หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์นั้นมีราคานิยมตามยุคสมัย ดังนี้ ครอบครัวธี เสา จึงเลือกแล้วล่ะว่า ระหว่างวังหลวงกับพวกบารัง ใครกันสำคัญกว่า?

ส่วนจะโดนอาญาหลวงโบยตีจนหลังลายหรือไม่ เห็นได้ชัดว่า ใครที่จะให้ประโยชน์มากกว่า ระหว่างเจ้าหน้าที่อินโดจีนอนาคตไกล กับการเป็นสนมปลายแถวของในวังที่ยังต้องฟาดฟันแย่งชิงตำแหน่งกัน อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเสาก็รู้วิธีเรียกค่าตัวให้ลูกสาว

จากเรื่องราวของธี เสา ยังมีรายอื่นๆ ตามมา ดังนั้นจะเห็นว่า วิวาทระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง-ข้าหลวงใหญ่มณฑลกัมพูชากับเจ้าฟ้ายุคนธรมันแตกประเด็นมากกว่าเรื่องราวแย่งชิงหญิงชาววังของพระราชาและโอรส ซึ่งร้ายแรงกว่า

จนสิ้นรัชกาลแล้ว สมบัติในสตรีที่รัฐอำนาจแสดงแผลงอำนาจกัน จึงค่อยลดลำดับลงไป

ขณะเดียวกัน โลกของหญิงสามัญซึ่งมีฐานะเป็นเมียน้อย-นางกงไกกลับเถลิงความสำคัญ

บทพิสูจน์ประดาเมียน้อยเขมรเหล่านี้ บางคนก้าวหน้า อาทิ เนียงเตียด-เนียงเรือง ซึ่งต่อมากลายเป็นสาวคนสนิทของนายฌ็อง มูรา ผู้แทนกองอารักขา (2411-2422) และข้าหลวงใหญ่อินโดจีน นายเวอร์เนวิลล์ (Albert-Louis Huyn de Vern?ville) เคยก่อวิวาทแย่งชิงหม่อมห้ามของเจ้าฟ้ายุคนธร

สตรีเขมรทั้งสองนี้ คือตัวอย่างของการมีส่วนช่วยเหลือความรุ่งเรืองเฟื่องฟูด้านการค้าและผลประโยชน์นานาในการเปิดช่องเจรจาให้ฝ่ายต่างๆ อย่างลุล่วงและด้วยดี

เป็นนางกงไก-เมียน้อยฝรั่งยังเฉิดฉายถึงเพียงนี้ ดีกว่าสนมชาววังก็ตรงที่ช่วยให้สตรีแขฺมร์เหล่านี้มีพัฒนาการในตัวเอง จากคู่ขาในห้องนอนมาเป็นหุ้นเงาด้านเจรจาการค้า เสริมส่งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ นับเป็น “สังวาส-เสน่หา” ฉบับอุษาคเนย์ที่น่าขบคิด

สำหรับ “อุปสงค์-อุปทาน” แห่งแรงดึงดูดที่เข้าหากัน โดยเฉพาะเวลานั้น ทางการฝรั่งบางคนที่ยังเป็นขุนนางศักดินาหลงใหลในบรรดาศักดิ์

ยิ่งแคว้นกัมพูชาด้วยแล้ว ความลึกลับในวังหลวงของแคว้นนี้ได้ก่อให้เกิดเรื่องลับๆ ระหว่างเจ้านายฝรั่งกับหญิงรับใช้ของเขาตามบันทึกประจำวันของเลอแกลร์ (Adh?mard Lecl?re) ผู้ว่าฯ ประจำหัวเมืองแคว้นเขมร ที่บ่งบอกถึง “ปมเสน่หา” ของข้าราชการฝรั่งกับสตรีท้องถิ่นชาวเอเชีย

ซึ่งเรื่องรักใคร่ทำนองนี้ แรกทีเดียวดูเหมือนว่า รัฐบาลอินโดจีนในตอนนั้นจะยังไม่ยอมรับ และมีเกณฑ์จะเอาผิดลงโทษ แต่ในที่สุดเมื่อมีการศึกษาลึกลงไป กลับพบรายงานในทางที่เป็นคุณ หรือเป็นไปได้ไหมว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้พยายามสร้างหลักฐานอีกด้านที่เป็นคุณ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กลับส่งผลดีต่อการบริหารบ้านเมือง เริ่มจากอัตราหมุนเวียนที่ลดลง ส่งผลดีต่องบประมาณรัฐ กาลก็กลับตาลปัตร

เป็นเห็นว่า ข้อดีของความสัมพันธ์ของหญิงท้องถิ่น มีส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่ของทางการมีความมั่นคงทางจิตใจ ลดความเคร่งเครียดและผ่อนคลายจากต้องการจะโยกย้ายตำแหน่งซึ่งเป็นภาระต่อทางการอย่างมากก่อนหน้านี้

ประการที่ 2 “เมียน้อย-กงไก” หญิงชาวท้องถิ่นยังช่วยเพิ่มทักษะการใช้ภาษาและความเป็นมืออาชีพต่อเจ้าหน้าที่ที่รัฐลงทุนน้อยแต่ให้ประสิทธิผลมาก

โดยเฉพาะประสบการณ์อื่นๆ ซึ่งให้ผลต่อการสื่อสารทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรม

ข้อต่อมา ความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับหญิงท้องถิ่น ยังช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ใช้ไปกับการป้องกันรักษาโรคติดต่อร้ายแรง-กามโรคในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ

และสุดท้าย ข้อดีของหญิงคนรักบำเรอกามนางกงไกแห่งเอเชียน้อยกลุ่มนี้นับว่าช่วยประหยัดงบประมาณให้แก่ทางการของรัฐที่ต้องแบกรับค่าเดินทางและเสื้อผ้าของภรรยาหลวงผิวขาวทั้งเสื้อผ้าที่ติดตามสามี

ดังนี้ การมีฐานะเป็น “เมียน้อย” ของหญิงท้องถิ่นจึงนอกจากยกระดับตนเองแล้ว ยังช่วยรัฐมหภาค-อีกทางหนึ่ง

ไม่เลวร้ายอะไรเลย นี่คือการพยุงเศรษฐกิจ ทั้งว่านเครือ ครอบครัวและของสังคม

เช่น นายฝรั่งพวกนี้ มันปลูกเรือนลับๆ ให้เมียน้อยกงไกและครอบครัวของหล่อนได้อาศัยพักพิง ส่วนภรรยาหลวงบารังก็แยกอยู่ไป บางรายไม่เคยรู้เลยว่า สามีของตนนั้นมีราชการพิเศษ

นับเป็นการกระจายรายได้ให้ชาวท้องถิ่น ซึ่งนั่นอาจทำให้ภาคเงินออมของรัฐลดลงไปบ้าง แต่เมื่อเทียบกับผลลับอื่นๆ อาทิ ก่อให้เกิดธุรกิจแบบใหม่สไตล์ชาวถิ่นอุษาคเนย์

นั่นก็คือ การที่นักธุรกิจบางรายได้สร้างความสะดวกใจในการติดต่อกับทางการโดยทางครอบครัวของกงไก

ว่ากันตามตรง เมื่อเทียบกับเมียอพยพตามใบสั่งรัฐ “petite blancs” แม่ผิวบางอรชรผู้น่าสงสารกับชีวิตผจญภัยในอินโดจีนโพ้นทะเล และนั่นอาจทำให้ชีวิตรักของสตรีผิวขาวอินโดจีนมีแต่ความน่าเบื่อ ขณะที่แม่กง-เนียะบำเรอกลับเหมือนผลไม้ท้องถิ่นที่มีรสชาติจัดจ้าน

ทั้งความแข็งแรงและจริตบริการ และนั่นก็ทำให้คู่ขาฝรั่งของหล่อนหลงใหลไปตามๆ แม้จะถูกกล่าวหาบ้างว่าเป็นโสเภณีหรือหญิงบริการ

และจวบจนวันนี้ ภายใต้พัฒนาการของโลกที่เปลี่ยนไป

หญิงเอเชียและ “กงไก” ในความแบบเดิมก็ยังดำเนินไป