จีนอพยพใหม่ในไทย (จบ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (จบ)

 

ปัจฉิมความ (ต่อ)

ตราบเท่าที่การระบาดของโรคยังอยู่ในภาวะเช่นนี้ การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประเทศดังที่เคยเป็นก็มิอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดขึ้นไม่ได้ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศ

คณะผู้วิจัยได้ยุติการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ชาวจีนเมื่อเกิดโรคระบาดดังกล่าว และปฏิบัติตนเช่นเดียวกับชาวไทยทั้งประเทศด้วยการกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ครั้นเมื่อการระบาดของโรคผ่อนคลายลงจนรัฐบาลเริ่มอนุญาตให้สามารถเดินทางภายในประเทศได้แล้ว

คณะผู้วิจัยจึงได้ลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง

และได้พบกับกัลยาณมิตรชาวจีนที่ช่วยประสานงานในพื้นที่ให้ด้วยน้ำใจที่ดีงาม แต่สิ่งที่ต่างไปจากก่อนการระบาดของโรคอย่างหน้ามือเป็นหลังมือก็คือ ชาวจีนแทบทั้งหมดที่เคยให้สัมภาษณ์แก่คณะผู้วิจัยต่างกลับไปยังบ้านเกิดของตนไปแล้ว

และกลับด้วยเหตุผลเดียวคือ ธุรกิจของตนได้พังทลายลงจนไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้ ทั้งหมดจึงกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อตั้งหลักใหม่

สถานการณ์นี้ทำให้งานศึกษานี้หวั่นใจว่า จากแรกเริ่มที่สัมภาษณ์ชาวจีนเหล่านี้ก็เพราะชาวจีนเหล่านี้คือ ชาวจีนอพยพใหม่ ที่ตั้งใจจะปักหลักปักฐานอยู่ในเมืองไทยอย่างถาวร

แต่มาบัดนี้ชาวจีนเหล่านี้กลับมิใช่ชาวจีนอพยพใหม่อีกแล้วหรืออย่างไร

แต่กระนั้น งานศึกษานี้ก็สรุปด้วยเชื่อว่าชาวจีนเหล่านี้ยังเป็นชาวจีนอพยพใหม่ดังเดิม ด้วยเมื่อโรคโควิด-19 ถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบแล้ว ชาวจีนเหล่านี้ก็จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

 

นานมาแล้วที่สังคมไทยได้มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่ในไทย และสามารถอยู่ร่วมกันได้จนมีความสนิทสนมดั่งเครือญาติ การอยู่ร่วมกันได้เช่นนี้มีขึ้นได้ก็เพราะต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และเพราะต่างก็มีจุดร่วมทางวัฒนธรรมในทางความคิดความเชื่อ ในขณะที่สังคมโลกมิอาจปฏิเสธการเกิดขึ้นของผู้อพยพไปได้นี้ การอยู่ร่วมกันโดยมีปัญหาให้น้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งอันพึงประสงค์

ปรากฏการณ์ของชาวจีนอพยพใหม่ก็เช่นกันที่พึงอยู่ร่วมกันได้กับชาวไทยดังในอดีต แต่การณ์กลับไม่ง่ายดังว่า เพราะชาวจีนอพยพใหม่ไม่มีจุดร่วมทางวัฒนธรรมกับชาวไทยดังที่ชาวจีนโพ้นทะเลเคยมี

งานศึกษานี้จึงเกิดขึ้นด้วยความคิดคำนึงถึงความสำคัญของปรากฏการณ์ชาวจีนอพยพใหม่ในไทย และจากการศึกษาทำพบที่มา ความใฝ่ฝัน อุปสรรค บทบาท พฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิด แนวโน้ม ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาของชาวจีนอพยพใหม่

 

กลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2020 ไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศที่ได้ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership, RCEP) หรือที่เรียกตามคำย่อในภาษาอังกฤษว่า อาร์เซป

ประเทศที่ลงนาม 15 ประเทศนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกในอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่ครั้นถึงเวลาลงนามก็เป็นที่ปรากฏว่า อินเดียได้ขอชะลอการลงนามของตน

กล่าวกันว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอินเดียเกรงว่าสินค้าจีนจะตีตลาดอินเดียจนเกิดความเสียหาย ประเทศที่ลงนามจึงมีอยู่ 15 ประเทศด้วยเหตุนี้

อนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า เฉพาะอินเดียแล้ว การเกรงว่าสินค้าจีนจะตีตลาดอินเดียดังกล่าวมิใช้เหตุเดียวที่ทำให้อินเดียไม่เข้าร่วมในอาร์เซป หากอินเดียยังมีเหตุอื่นประกอบอยู่ด้วย ชั่วอยู่แต่ว่าอินเดียมิได้แสดงออกมาเท่านั้น

เหตุอื่นของอินเดียก็คือ ปัญหาความมั่นคง ที่อินเดียมีความขัดแย้งพรมแดนอยู่กับจีน พรมแดนนี้อยู่ทางเหนือของอินเดีย และทั้งสองประเทศนี้เคยถึงกับปะทะกันด้วยกำลังทหารเมื่อหลายสิบปีก่อนมาแล้ว ทุกวันนี้ทั้งสองฝ่ายยังคงกำลังทหารของตนไว้ที่พรมแดนดังกล่าว

และเมื่อ ค.ศ.2020 ก็มีข่าวการปะทะกันของทหารทั้งสองฝ่าย จนทหารของสองฝ่ายเสียชีวิตไปหลายนาย มีการแถลงจำนวนผู้เสียชีวิตเฉพาะฝ่ายอินเดีย ส่วนจีนมิได้แถลง แต่จากปากคำของทหารอินเดียก็ทำให้รู้ว่ามีทหารจีนเสียชีวิตไม่น้อยเช่นกัน

จากเหตุดังกล่าว อินเดียจึงวางปฏิสัมพันธ์ของตนกับจีนอย่างระมัดระวัง และมักสร้างความร่วมมือกับประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับจีนด้านความมั่นคงอยู่เป็นระยะ ประเทศเหล่านี้มีสหรัฐอเมริกา บางประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นอาทิ

ความสัมพันธ์ในลักษณ์นี้ของจีนกับอินเดียจะยังคงดำรงอยู่อีกนาน

 

อย่างไรก็ตาม อาร์เซปจึงเป็นภูมิภาคที่มีประชากรรวมราว 2,100 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี คิดเป็นร้อยละ 30 ของทั้งโลก หรือ 1 ใน 3 ของโลก อาร์เซปจึงเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า หลังจากนี้ต่อไปหรือหลังจากปัญหาโควิด-19 หมดไปแล้ว การค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่ได้ลงนามในความตกลงนี้จะเพิ่มความคึกคักมากขึ้น และด้วยพลังทางเศรษฐกิจที่สูงยิ่งของจีน การเข้ามาของชาวจีนทั้งเพื่ออยู่ถาวรและเพื่อทำธุรกิจจะยิ่งมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยส่วนหนึ่งย่อมเข้ามายังไทยด้วย บทบาทของชาวจีนในส่วนที่เป็นผู้อพยพจึงน่าจะยังคงมีอยู่ต่อไปไม่หยุดนิ่ง และยังคงเต็มไปด้วยพลวัตให้ต้องศึกษาอีกยาวนาน

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า หลังจากที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 เป็นประเทศแรกของโลกอย่างสาหัสสากรรจ์เมื่อ ค.ศ.2020 แล้ว จีนได้ใช้เวลาไม่ถึงปีก็สามารถฟื้นเศรษฐกิจที่พังพินาศขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วในปีนี้ (ค.ศ.2021) และยังมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นที่กำลังเผชิญกับโควิด-19 อีกด้วย

ในแง่นี้จึงเห็นได้ว่า การเข้าไปช่วยเหลือดังกล่าวของจีนหากประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งก็ย่อมต้องดีต่อจีนด้วย โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศของจีนกับนานาประเทศ และเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นขึ้นหลังโควิด-19 แล้ว ชาวจีนอพยพใหม่ก็จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม การที่ชาวจีนอพยพใหม่กลับไปยังบ้านเกิดของตัวเองหลังการระบาดของโควิด-19 นั้น ในด้านหนึ่งควรที่ไทยจะได้หันมาทบทวนบทบาทของจีนอพยพใหม่อีกครั้งหนึ่ง ว่าไทยควรมีการบริหารจัดการจีนอพยพใหม่อย่างไรต่อไป ก่อนที่ชาวจีนเหล่านี้จะกลับมาไทยอีกครั้งหนึ่ง

และประเด็นใหญ่ที่พึงทบทวนมีอยู่อย่างน้อยสองประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก เป็นปัญหาวัฒนธรรมพันทางของจีนอพยพใหม่ที่ไทยพึงทำความเข้าใจให้มาก ซึ่งประเด็นนี้งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วว่าเกิดจากอะไร และชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีวัฒนธรรมพันทางนี้เช่นกัน ไม่เฉพาะแต่จีนอพยพใหม่

หากทำความเข้าใจได้ก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างชาวจีนกับชาวไทยเป็นไปได้ด้วยดี โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม

ประเด็นต่อมา เป็นปัญหาจากคนไทยที่ยอมเป็นตัวแทน (nominee) ของคนจีนในการถือหุ้นหรือซื้อที่ดิน อันเป็นปัญหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และเป็นที่วิตกของหน่วยงานรัฐและสังคมไทยโดยรวม

ปัญหาดังกล่าวแม้งานศึกษานี้จะชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของชาวจีนเองก็ตาม แต่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะในแง่ชาวจีนได้ทำให้เห็นถึงการเข้าในไทยอย่างไม่สุจริต เข้ามาหวังแต่จะกอบโกยเอาประโยชน์แต่เพียงสถานเดียว โดยไม่คำนึงถึงความผิดถูก

ส่วนในแง่ชาวไทยที่เป็นตัวแทนก็ไม่ต่างกัน คือเห็นเฉพาะประโยชน์ระยะสั้นของตน โดยไม่คิดว่าไทยจะเสียประโยชน์ระยะยาวอย่างไร โดยเฉพาะหากปล่อยให้ปัญหานี้ขยายตัวออกไปด้วยแล้ว ก็จะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงได้โดยง่าย

พ้นไปจากประเด็นดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ทำให้งานศึกษานี้เกิดความถวิลหาประการหนึ่งขึ้นมาด้วยก็คือ การหวนรำลึกถึงวันเวลาที่ชาวจีนโพ้นทะเลยังคลาคล่ำอยู่ในสังคมไทย เป็นวันเวลาที่การอยู่ร่วมกันของชาวจีนและชาวไทยเป็นไปอย่างสงบ

แต่วันเวลาเช่นว่าได้เลือนหายไปจนเกือบหมด เมื่อชาวจีนโพ้นทะเลได้ค่อยๆ ล้มหายตายจากกันไปจนทำให้รู้สึกว่า ไม่มีชาวจีนโพ้นทะเลเมื่อวานนี้อีกแล้ว

วันนี้มีก็แต่จีนอพยพใหม่ที่เข้ามาแทนที่

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป