สายพันธุ์คลั่งตัวเอง | นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

สายพันธุ์คลั่งตัวเอง

 

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์มนุษยชาติเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือฆ่า ‘คนอื่น’ ที่แตกต่างจากตัวเองมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ละครั้งมีเหยื่อนับแสนนับล้าน

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวฝีมือนาซี สังหารหมู่ที่โตสะแลง กัมพูชา สังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียโดยกองทัพออตโตมัน ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทุตซีโดยชาวฮูตูที่รวันดา และอื่นๆ อีกมากมายหลายครั้ง

นักประวัติศาสตร์มักบอกให้เราเรียนรู้จากอดีตเพื่อไม่กระทำในสิ่งที่น่าเสียใจอีก แต่ดูเหมือนมนุษย์มิได้เรียนรู้จากอดีตมากนัก ยังพร้อมเสมอที่จะกระทำรุนแรง เกลียดชัง และจัดการกับผู้คนที่แตกต่างจากตัวเองและพวกพ้อง

หรือว่า นี่คือธรรมชาติของเผ่าพันธุ์?

หรือว่า นี่คือคำสาปของโฮโม เซเปียนส์?

 

ยูวัล โนอาห์ แฮรารี่ อธิบายถึงสมมุติฐานที่ ‘มนุษย์’ สายพันธุ์อื่นสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้วหลงเหลืออยู่เพียง ‘พวกเรา’ เอาไว้ว่ามีอยู่สองทฤษฎีด้วยกัน

หนึ่ง, เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์

เมื่อผู้มาเยือนซึ่งก็คือเซเปียนส์จากแอฟริกาไปถึงตะวันออกกลางและยุโรป พวกเขาเผชิญหน้ากับนีแอนเดอร์ธัลล์ซึ่งมีร่างกายล่ำสันกว่า สมองใหญ่กว่า ปรับตัวเข้ากับอากาศหนาวเย็นได้ดีกว่า แถมยังรู้จักใช้เครื่องมือและไฟ

มนุษย์สองสายพันธุ์นี้ก็ชุลมุนวุ่นรักและผสมพันธุ์กันจนประชากรของทั้งสองกลมกลืน

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ชาวยูเรเชียนจะเป็นลูกหลานของเซเปียนส์และนีแอนเดอร์ธัลล์ ส่วนชาวเอเชียตะวันออกจากจีนและเกาหลีจะเป็นลูกหลานของเซเปียนส์ผสมกับอีเร็กตัสที่อยู่ในแถบนี้มาก่อน

สอง, ทฤษฎีการแทนที่

อันนี้ตรงกันข้ามสิ้นเชิง, คือเจอกันแล้วนอกจากไม่ปิ๊งกันยังคุยกันไม่รู้เรื่อง เข้ากันไม่ได้ ไม่ชอบขี้หน้า จนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ตามทฤษฎีนี้หมายความว่าเซเปียนส์และมนุษย์พวกอื่นนั้นมีนิสัยจับคู่ที่ต่างกัน แม้แต่กลิ่นตัวก็ต่างกัน ต่อให้มีบางคู่ที่กุ๊กกิ๊กกันก็ไม่สามารถให้บุตร-ธิดาที่แข็งแรงได้ เพราะชุดพันธุกรรมเชื่อมต่อกันไม่ได้

เช่นนี้แล้ว เซเปียนส์ที่เดินสวนกันไปและขึ้นเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถตู้กันอยู่ล้วนแล้วแต่มาจากบรรพบุรุษในแอฟริกาตะวันออกเมื่อ 70,000 ปีก่อน

ทฤษฎีการแทนที่เป็นที่ยอมรับมากกว่าเพราะมีหลักฐานโบราณคดีรองรับ แถมมันยังดูดีกว่าในทางการเมือง การคิดว่า ‘มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นญาติกัน’ นั้นสวยงามกว่าแน่นอน กระนั้นก็มีการค้นพบว่าร้อยละ 1-4 ของประชากรมนุษย์ในตะวันออกกลางและยุโรปมีดีเอ็นเอตรงกับนีแอนเดอร์ธัลล์ แม้จำนวนไม่มากแต่ก็มีนัยสำคัญ เพราะหมายความว่า ทฤษฎีผสมข้ามสปีชีส์นั้นมีส่วนถูกอยู่ด้วย

ยูวัลเปรียบเทียบว่า มนุษย์สองสายพันธุ์ไม่ได้อยู่ในสปีชีส์เดียวกันเหมือนสุนัขบูลด๊อกกับชิวาว่า และก็ไม่ได้ต่างกันสิ้นเชิงแบบม้ากับลา แต่มันมีพื้นที่เทาๆ อยู่ระหว่างนั้น ซึ่งจะว่าไปม้ากับลาบางคู่ก็ยังผสมกันจนออกลูกเป็นฬ่อ

ข้อสรุปนี้ยังไม่ชัวร์ว่าเซเปียนส์เคยผสมกับนีแอนเดอร์ธัลล์จริงไหม

แต่ก็น่าตื่นเต้นไม่น้อยเมื่อได้รู้ว่าเซเปียนส์อาจจะเคยมีเซ็กซ์กับสัตว์ต่างสปีชีส์และมีลูกด้วยกัน!

จากหลักฐานต่างๆ แล้ว ดูเหมือนเซเปียนส์จะเป็นนักล่าและนักเก็บของป่าที่เชี่ยวชาญกว่า เพราะเทคโนโลยีเครื่องไม้เครื่องมือที่ล้ำกว่า รวมถึงทักษะทางสังคมที่ยอดเยี่ยม

จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อเซเปียนส์เดินทางไปถึงถิ่นของนีแอนเดอร์ธัลล์ พวกเขาก็แย่งชิงทรัพยากรเสียจนเจ้าถิ่นหาอาหารลำบากและค่อยๆ ร่อยหรอลงจนหมดไป

หรืออีกแบบคือ พอเริ่มแย่งชิงอาหารกันก็นำไปสู่ความรุนแรงจนเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น

และนั่นอาจเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

หากสมมุติฐานที่กล่าวมาจะถูกต้องก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะลูก-หลานของเซเปียนส์ในวันนั้นก็ยังคงไม่ถูกขี้หน้า ‘ความต่าง’ อยู่จนถึงทุกวันนี้ และเพียงแค่ไม่นานมานี้ อาจไม่กี่สิบปีนี้เอง มนุษย์ยังคงขีดเส้นระหว่างคนในสปีชีส์เดียวกันชัดเจน เช่น จะไม่แต่งงานกับคนที่มีสีผิวต่างไป คนจีนไม่แต่งงานกับฝรั่ง คนวรรณะสูงไม่แต่งงานกับวรรณะต่ำกว่า

ดูเหมือนว่า เมื่อไม่มี ‘มนุษย์อื่น’ ที่ต่างสปีชีส์ให้เราเล่นงาน เราก็หันมาเล่นงานกันเอง

โตมร ศุขปรีชา เล่าไว้อย่างสนุกสนานใน ‘ประวัติศาสตร์ใต้สะดือ’ ว่าเชื้อสายที่เราหวงแหนและใช้มันเป็นตัวแบ่งแยกจากคนอื่นนั้นถูกควบคุมด้วยเซ็กซ์ โดยสิ่งที่ควบคุมเซ็กซ์อีกทีหนึ่งคือ การเมือง ชีววิทยา และวัฒนธรรม

นักวิจัยพบว่า นอกจากสีผิวและรูปร่างหน้าตาแล้ว มนุษย์ต่างที่ต่างๆ ยังมีอวัยวะเพศที่แตกต่างกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นความยาวหรือรูปร่างของคริตอริส ลึงค์ หรือแม้กระทั่งหัวนม

ที่น่าสนใจก็คือ มนุษย์ตดเหม็นไม่ว่าที่ใดในโลกต่างก็นิยม ‘ความงาม’ ในแบบที่ท้องถิ่นของตนชอบ แต่ละสังคมสร้างกรอบความงามขึ้นมาตามวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์นั้นๆ ซึ่งวัฒนธรรมนี่เองที่เป็นตัวคัดเลือกรูปร่างหน้าตาของมนุษย์ในเผ่าพันธุ์นั้นหรือเชื้อชาตินั้น

นอกจากรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่ละท้องถิ่นก็ยังมีวิธีคิดและวิถีชีวิตแตกต่างกัน มาจนถึงยุคที่มนุษย์จากถิ่นหนึ่งเดินทางไปล่าอาณานิคมจากมนุษย์ที่อยู่มาก่อน เป็นการใช้อำนาจจัดการกับเผ่าพันธุ์ ดังที่ชาวยุโรปบุกออสเตรเลียแล้วทำให้ชาวแทสมาเนียนสูญพันธุ์ไป

 

พี่หนุ่ม-โตมรยังชวนคิดอีกว่า ปัจจัยสำคัญเรื่องความคลั่งเผ่าพันธุ์ตัวเองของมนุษย์อาจมีที่มาจาก Symposium ของเพลโต หนึ่งในรากฐานความคิดแบบตะวันตกซึ่งครองโลกอยู่ทุกวันนี้ เพลโตบอกว่า เดิมมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตกลมๆ อย่างหนึ่ง มีสี่มือ สี่ขา มีหลังสองหลัง มีอวัยวะเพศสองชุดในตัวเดียวกัน ชาย-หญิงในร่างเดียว

แต่ด้วยความที่มีพลังอำนาจสูงเกินไป เทพซุสจึงบัญชาให้เทพอะพอลโลส่งสายฟ้ามาฟาดแบ่งมนุษย์ออกเป็นสองร่าง ทำให้มนุษย์ต้องแยกจากกัน และวิธีที่จะกลับมามีความสุขก็คือตามหา ‘ส่วนที่หายไป’ ของตัวเองให้พบ

นี่อาจมีอิทธิพลต่อแนวคิดแบบผัวเดียวเมียเดียว รักแรกพบ และอีกหลายความเชื่อ

แต่ที่น่าคิดก็คือ ถ้าเราต้องตามหา ‘ส่วนที่หายไป’ ที่ถูกแบ่งครึ่งออกมา นั่นหมายความว่าอีกครึ่งหนึ่งของเราก็ต้องมีลักษณะคล้ายกันสิ ทั้งรูปร่าง สีผม สีผิว ฯลฯ

เราจึงรักคนที่คล้ายกันมากกว่าคนที่แตกต่าง ซึ่งบางครั้งก็รักมากไป กลายเป็นคลั่ง

ซึ่งจะว่าไป ไม่ต้องรอให้ถึงเพลโต ดูเหมือนว่าก่อนหน้านั้นเนิ่นนาน บรรพบุรุษบรรพสตรีของเพลโตก็ไม่ชอบขี้หน้า ‘มนุษย์’ สายพันธุ์อื่นที่หายใจอยู่ร่วมยุคสมัยอีกหลายสายพันธุ์ อาทิ โฮโมฮาบิลิส โฮโมอิเร็กตัส โฮโมไฮเดลเบอร์เกนซิส โฮโมฟลอรีซิเอนซิส และโฮโมนีแอนเดอร์ธัลล์ เพราะถ้าญาติดีกัน เราคงได้เห็นอิเร็กตัสเกาะรถไฟฟ้าเดินทางไปบนเส้นทางเดียวกับเราในวันนี้

อาจมีเพียงเซเปียนส์บางคนเท่านั้นที่แอบไปกุ๊กกิ๊กกับมนุษย์สายพันธุ์อื่น แต่ต่อให้มีก็เป็นส่วนน้อย เราอาจเป็นลูก-หลานของบรรพบุรุษที่พร้อมฟาดฟัด ‘มนุษย์ที่แตกต่าง’ ให้ล้มหายตายจากไป

สิ่งที่น่าคิดก็คือ บรรพบุรุษของเราอาจจัดการคนที่แตกต่างเพราะดูจากรูปลักษณ์ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างกันไม่น้อยกับเผ่าพันธุ์อื่น แต่มาถึงวันที่ไม่เหลือมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นใด เซเปียนส์ก็พร้อมที่จะฟาดฟันกับเซเปียนส์ด้วยกันโดยมีสาเหตุมาจากการซอยย่อยความต่างแบ่งลงไปอีก ทั้งที่เราอยู่ในสายพันธุ์เดียวกัน เรายังมองหาความแตกต่างทางสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฐานะ อุดมการณ์ทางการเมือง ฯลฯ

ขีดเส้นแบ่งและแข่งขันมากกว่าร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์

ซึ่งดูเหมือนเซเปียนส์ทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มไหน ต่างก็เชื่อว่ากลุ่มของตนนั้นดีและงามที่สุด

หรือว่า เราต่างมีพันธุกรรมคลั่งตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อไม่มีเผ่าพันธุ์อื่นให้รบรา เซเปียนส์ก็หันมารบกันเอง