พี่อ้อม พี่แอ้ม และวัคซีน : ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ถึงจะช้าไปสักหน่อยแต่คงยังไม่สายเกินไปที่จะรายงานตัวว่าผมได้มีโอกาสฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เรียบร้อยแล้วเมื่อหลายวันก่อน

ในขณะที่เรื่องวัคซีนยังได้รับความสนใจจากชาวบ้านชาวเมืองไม่ห่างหาย

ทั้งประเด็นที่ว่าเมื่อไหร่เราจะมีวัคซีนปริมาณมากเพียงพอสำหรับการใช้งาน

และประเด็นที่ว่าตัวเราเองแต่ละคนจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ ต้องเตรียมการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไรบ้าง

นี่ยังไม่นับคนที่กล้าๆ กลัวๆ รอฉีดวัคซีนเป็นคนสุดท้ายของประเทศ

และไม่นับคนที่ตัดสินใจเด็ดขาดว่าอย่างไรก็ไม่ฉีดแน่นอนนะครับ

 

หลังจากที่ผมได้ไปฉีดวัคซีนมาแล้วเพียงไม่กี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำมั่นกับประชาชนว่าภายในสิ้นปีพุทธศักราช 2564 นี้ รัฐบาลตั้งใจจะให้ประชาชนได้รับวัคซีนเป็นจำนวนอย่างน้อยห้าสิบล้านคน

นั่นหมายความว่าเราต้องใช้วัคซีนเป็นจำนวนรวมไม่น้อยกว่าร้อยล้านโดส และต้องเอาเข็มฉีดยาไปจิ้มแขนของคนไทยไม่น้อยกว่าร้อยล้านครั้งเช่นเดียวกัน

ในวันที่ผมไปฉีดวัคซีนเข็มแรกที่วชิรพยาบาล ท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตาที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมตามกติกามารยาทเวลานี้

ผมได้ถามคุณเจ้าหน้าที่ว่าวันนี้มีคนมาฉีดวัคซีนสักเท่าไหร่

ได้รับคำตอบว่าจนถึงเวลาบ่าย 2 โมงมีประมาณ 600 หรือ 700 คนแล้ว

ผมก็นึกในใจต่อไปว่า ตลอดทั้งวันจนถึงเวลาปิดทำการตามปกติก็น่าจะมีคนมาฉีดวัคซีนได้ประมาณ 1,000 คน

กลับไปดูที่ตัวเลข 50,000,000 คน กับวันเวลาที่เหลืออยู่จนถึงสิ้นปีนี้ พลิกดูปฏิทินก็เหลือเวลาอีกในราวแปดเดือน

ถัวเฉลี่ยเดือนละสามสิบวัน คูณแปดเข้าไปได้ตัวเลข 240 วัน

คิดกันแบบหยวนๆ ผมปัดตัวเลขให้ขึ้นเป็นจำนวน 250 วันก็ได้ คนเรียนมัธยมสายศิลป์คำนวณแบบผมเห็นอย่างนี้แล้วบอกได้ทันทีว่า ค่าเฉลี่ยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจนถึงปลายปีนี้ ถ้าจะให้บรรลุเป้าหมายอย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งความหวังไว้ และเป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศด้วย ต้องมีการฉีดวัคซีนให้ได้เฉลี่ยวันละสองแสนคน

แต่… ตัวเลขที่บอกว่าวันละ 200,000 คนนั้น คำนวณจากการฉีดวัคซีนแค่เข็มเดียวนะครับ

ถ้าเรานึกถึงความจริงว่าต้องฉีดวัคซีนคนละสองครั้ง รวมจำนวนวัคซีนทั้งหมดร้อยล้านโดสอย่างที่ว่า ตัวเลขอัตราการฉีดวัคซีนในแต่ละวันเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ว่าต้องทำงานกันถึงวันละสี่แสนคน

ขีดเส้นใต้ห้าเส้นไว้ตรงนี้ก่อนด้วยความเข้าใจที่ตรงกันว่า เราจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้เฉลี่ยวันละ 400,000 คน บางคนฉีดเข็มที่หนึ่ง บางคนฉีดเข็มที่สอง ว่ากันไปตามลำดับ

 

จากประสบการณ์การไปฉีดวัคซีนครั้งแรกของผมเอง ผมพบว่ากระบวนการบริหารจัดการในพื้นที่ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนนี้ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ตั้งแต่พื้นที่ บุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ

ขึ้นต้นตั้งแต่เรื่องแรกครับ ผมสังเกตว่าอย่างน้อยพื้นที่สำหรับให้บริการฉีดวัคซีนคนหมู่มากเช่นนี้ นอกจากการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งทำให้ต้องใช้พื้นที่มากขึ้นกว่าปกติแล้ว

การปฏิบัติงานภาคสนามจึงจำเป็นจะต้องแบ่งพื้นที่อย่างน้อยออกเป็นสามหรือสี่ส่วน

ส่วนแรก เป็นด่านหน้าสุดตั้งแต่ผู้ใช้บริการเดินทางมาถึงและลงทะเบียนแสดงตนกับเจ้าหน้าที่

ถ้ามาพร้อมกันหลายคนย่อมต้องรอลำดับก่อนหลัง

กว่าจะลงทะเบียนได้ และจะปล่อยให้ยืนหายใจรดต้นคอกันไม่ได้ อย่างน้อยจึงต้องมีพื้นที่ที่กว้างขวางพอสมควรแล้วสำหรับเรื่องนี้

ส่วนที่สอง คือพื้นที่สำหรับคนที่ลงทะเบียนแล้ว วัดความดันและตอบคำถามข้อมูลทางสุขภาพกับเจ้าหน้าที่แล้ว ไปถึงขั้นตอนที่จะรอลำดับคิวเข้าฉีดวัคซีน ก็ต้องมีพื้นที่ให้นั่งคอย

มีเจ้าหน้าที่คอยขานลำดับก่อนหลังไม่ให้สับสน

เพราะวัคซีนที่จะฉีดให้แต่ละคนในวันที่ผมไปรับบริการมีสองยี่ห้อ จำแนกการใช้วัคซีนตามอายุของผู้มาใช้บริการ

คนสูงอายุอย่างผมก็ยี่ห้อหนึ่ง

คนที่อ่อนอายุลงไปก็ใช้อีกยี่ห้อหนึ่ง ปะปนกันไม่ได้เป็นอันขาด

พื้นที่ส่วนที่สาม เรียกเสียว่า “ห้องฉีดยา” ก็แล้วกัน ส่วนนี้ต้องมีความมิดชิดพอสมควรเพราะผู้ใช้บริการต้องถลกแขนเสื้อขึ้นให้คุณพยาบาลปักเข็มลงที่แขน

หลายคนแต่งกายรัดกุม (เกินไป) มาจากบ้าน จำเป็นต้องปลดเปลื้องอะไรออกบ้าง เราย่อมต้องการต้องให้มี “ไพรเวซี่” จริงไหมครับ

สภาพพื้นที่จริงในวันที่ผมไปรับบริการนั้น ห้องฉีดยาได้กั้นฝาเฟี้ยมแบ่งเป็นห้องเล็กห้าห้อง มีหมายเลขกำกับชัดเจน

ในแต่ละห้องมีเจ้าหน้าที่สามสี่ท่าน มีข้าวของอุปกรณ์เต็มโต๊ะเชียวครับ

ผู้ที่นั่งรอจากพื้นที่ส่วนที่สองแล้วเดินเข้าไปรับบริการในพื้นที่ส่วนที่สามนี้ทีละคน โดยเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบอย่างระมัดระวังไม่ให้มีการผิดพลาดสับสนได้

พื้นที่ส่วนสุดท้าย หรือ ส่วนที่สี่ เป็นบริเวณพักคอยสังเกตอาการหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ทุกคนยังกลับบ้านไม่ได้นะครับเพราะต้องรอเวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงเสียก่อน เผื่อมีอะไรไม่เข้าท่าเข้าทาง ปากเบี้ยว ตามัว เป็นลมเป็นแล้งขึ้นมา จะได้ดูแลแก้ไขกันทันการณ์

ครบเวลา 30 นาทีแล้ว ก่อนกลับบ้านก็ต้องรับใบนัดหมายจากเจ้าหน้าที่เพื่อมาฉีดวัคซีนเข็มที่สองต่อไป

 

นี่แค่จัดสถานที่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว เพราะในแต่ละช่วงเวลามีคนนับสิบนับร้อยเดินไปมาพลุกพล่าน ถึงแม้จะมีการแจ้งล่วงหน้าให้มาเวลานั้นเวลานี้แตกต่างกันแล้วก็ตาม

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็ใช่ว่าจะมาคนเดียวเสียเมื่อไหร่ นี่ยังไม่นับเรื่องเดินไปเข้าห้องน้ำหรือเดินไปหาน้ำดื่มอีกนะครับ

เรื่องต่อมาคือเรื่องบุคลากรเจ้าหน้าที่ ผมพบว่ามีทั้งบุคลากรสายการแพทย์ ทั้งคุณหมอและพยาบาลทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง

ขณะเดียวกันก็มีบุคลากรสายสนับสนุนแต่มีความรู้สันทัดจัดเจนในการทำหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงทะเบียน การจัดลำดับคิว และอื่นๆ อีกมากมายที่จำเป็นสำหรับการให้บริการคนจำนวนมากอย่างนี้

เครื่องมืออุปกรณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ตั้งแต่ด่านหน้าคือเครื่องวัดความดัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เพื่อตรวจสอบสภาพร่างกายของผู้มารับบริการทุกคนว่ามีความพร้อมเพียงใด

ยิ่งเข้าไปในห้องฉีดยาแล้ว แต่ละห้องย่อยมีอะไรบ้างผมก็สังเกตจดจำไม่ทัน

เห็นแต่ว่าบนโต๊ะนั้นมีข้าวของอุปกรณ์เยอะแยะไปหมด เข็มฉีดยาฉีดแล้วก็ต้องทิ้งทุกครั้งทุกชิ้นไป เรื่องของการจัดการขยะ การลำเลียงส่งวัคซีนจากคลังวัคซีนมาจนถึงโต๊ะฉีดยา

รู้มากเกินไปก็ปวดหัว

ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบท่านช่วยกันทำงานก็แล้วกันครับ

และถ้าคิดฟุ้งซ่านต่อไปว่า ถ้าผู้ที่รับวัคซีนรายหนึ่งรายใดก็ตามเกิดมีอาการผิดปกติขึ้นมาระหว่างนั่งสังเกตอาการครึ่งชั่วโมง จะต้องมีระบบงานและบุคลากรสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ผมมั่นใจว่าวชิรพยาบาลและสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนทุกต้องคิดระบบไว้แล้วอย่างแน่นอน

นั่นหมายความว่า การบริหารจัดการพื้นที่ฉีดวัคซีนนอกจากที่ผมเห็นด้วยตาเปล่าแล้ว ยังมีเรื่องที่ผมไม่เห็นไม่รู้อีกมากแต่จำเป็นต้องมีสำหรับการปฏิบัติงาน

 

กลับมาที่ประเด็นหลักของเราว่า ในช่วงเวลาแปดเดือนจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ถ้าเรามีวัคซีนอยู่ในปริมาณที่เพียงพอดังที่รัฐบาลว่า ค่าเฉลี่ยในแต่ละวัน ทั้งประเทศต้องมีคนไปฉีดวัคซีนเป็นจำนวนใกล้เคียงกับสี่แสนคน

คำถามที่เกิดขึ้นในสมองของทุกคน คือคนไทยแต่ละคนจะรู้ได้อย่างไรว่า เราจะไปฉีดวัคซีนเมื่อไหร่และที่ไหน

จนถึงปัจจุบันขณะที่ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ ทุกอย่างยังคลุมเครือมาก ถามใครเข้า ใครคนนั้นก็กลายเป็นพี่อ้อมกับพี่แอ้มกันไปหมด พูดจาเก้อเขินติดขัดกันไปต่างๆ นานา

การวางระบบเรื่องนี้มีความสำคัญและเป็นเรื่องที่ประชาชนอยากทราบไม่ใช่หรือครับ ว่าทางราชการคิดจะจัดลำดับก่อนหลังกันอย่างไร

การลงทะเบียนหรือการแจ้งความประสงค์จะขอรับบริการฉีดวัคซีนจากภาครัฐต้องทำที่ไหน เมื่อไหร่ ด้วยเครื่องมืออะไร

ความพร้อมของเจ้าหน้าที่และระบบรองรับเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อภาครัฐได้รับข้อมูลของคนที่อยากฉีดวัคซีนแล้ว จะแจ้งกลับไปอย่างไร

คนที่อยากฉีดวัคซีนแต่ไม่พร้อมเดินทางด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ จะมีคำแนะนำช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่

ความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เท่ากัน ความสะดวกในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขก็ไม่เหมือนกัน

ขณะที่คนที่อยู่ในเมืองใหญ่มีโจทย์หรือคำถามอย่างหนึ่ง

คนที่อยู่บนยอดดอยสูงหรืออยู่เกาะกลางทะเลก็มีสภาพข้อเท็จจริงหรือปัญหาอีกอย่างหนึ่ง

 

การเข้าถึงหรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องบริการฉีดวัคซีน การให้ความจริงทางวิชาการเพื่อต่อสู้กับข่าวลือที่มีชุกชุมในประเทศไทย เป็นหน้าที่ของใคร ต้องทำในจังหวะช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม

ระบบเทคโนโลยีที่จะเข้ามารองรับการทำงานกับคนหมู่มากถึงห้าสิบล้านคน แค่การนัดหมายหรือติดตามการฉีดวัคซีนครั้งที่หนึ่ง การฉีดวัคซีนครั้งที่สอง ไม่ให้เคลื่อนคลาดเป็นระบบใหญ่ที่ต้องมีการทำงานประสานระหว่างหลายหน่วย ผมเป็นคนอ่อนด้อยในความรู้เรื่องนี้

แต่เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถของผู้มีความเชี่ยวชาญที่มีอยู่อย่างแน่นอนในประเทศของเรา

 

ผมอยากจะมีความเชื่อมั่นว่า เรื่องที่ผมพูดพึมพำมาทั้งหมดนี้กำลังมีการดูแลจัดการอย่างเร่งรีบและเปี่ยมประสิทธิภาพ มีผู้รับผิดชอบชัดเจน ไม่โยนกันไปโยนกันมา ราชการไทยได้เตรียมรับมือกับข้อเท็จจริงและการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ให้คนหลายสิบล้านคนในเวลาจำกัดเพียงแปดเดือนไว้เป็นอย่างดีแล้ว

นี่เป็นเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อนหน้านี้เลย ตั้งแต่มีประเทศไทยมา

อันที่จริงเรื่องอย่างนี้ประเทศไหนๆ ก็ไม่เคยทำด้วยกันทั้งนั้น เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่และเป็นเหตุที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกนี้ แต่หลายประเทศก็ได้ทำสำเร็จแล้วอย่างงดงาม ขณะที่อีกหลายประเทศยังมะงุมมะงาหราอยู่

ใครช่วยบอกผมทีเถิดว่า ประเทศไทยของเราจัดอยู่ในกลุ่มไหนกันแน่

งงไปหมดแล้วครับ