‘บิ๊กตู่’ คำราม เปิดศึกใน ‘ปชป.-ภูมิใจไทย’ ในทุ่งลาเวนเดอร์ จับตาบทบาท ‘ธรรมนัส’ ทายาท 3 ป./รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

‘บิ๊กตู่’ คำราม

เปิดศึกใน

‘ปชป.-ภูมิใจไทย’

ในทุ่งลาเวนเดอร์

จับตาบทบาท ‘ธรรมนัส’

ทายาท 3 ป.

 

ความอึมครึมในพรรคร่วมรัฐบาลจากสถานการณ์โควิดระลอก 3 เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พูดกลางวงประชุม ครม.แบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ฉะรัฐมนตรีที่นินทาตนเอง

“มีบางคนเอาผมไปพูดต่างๆ นานา ไปนินทา ให้ระวังตัวไว้ด้วยแล้วกัน”

โดยเฉพาะการขู่ว่าจะปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หากยังนินทาผมอีก

หรือแม้แต่บอกว่า จะริบโควต้ารัฐมนตรีที่ให้ไปด้วย

ส่งผลให้บรรดารัฐมนตรีวิเคราะห์ถามไถ่ หาข่าวกันใหญ่ว่า พล.อ.ประยุทธ์หมายถึงใครที่นินทานายกฯ

ซึ่งการพูดจาในลักษณะนี้ ทำให้รัฐมนตรีที่เคยนินทานายกฯ ร้อนตัวกันไม่น้อย หรือบางคนที่ไม่เคยนินทา ก็เกรงว่านายกฯ จะเข้าใจผิด หรือมีใครเลื่อยขาเก้าอี้ หรือเอาไปเพ็ดทูล

แต่ด้วยเหตุที่ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึงการแบ่งจังหวัดให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ โดยเฉพาะการให้ผู้กองธรรมนัส ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จากที่เคยดูแลภาคเหนือเพราะเป็นคนพะเยา แต่ให้ไปคุมสงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต แล้วให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ อ.แหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ไปคุมภาคเหนือแทน

รวมทั้งมีข่าวในพรรคพลังประชารัฐด้วยว่า บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พี่ใหญ่ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มอบหมายให้ผู้กองธรรมนัสดูแลพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด นับตั้งแต่นำทีมชนะเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช ยึดพื้นที่ของนายเทพไท เสนพงศ์ได้

จนทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พรรคไม่พอใจ และต้องการให้นายกฯ แก้ไขเปลี่ยนแปลง

เพราะควรจะให้นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ของพรรคประชาธิปัตย์ดูแล แต่นายกฯ กลับให้ไปคุมตรังและสตูล ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็ให้ดูแลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร พังงา และนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ก็ได้ดูพัทลุง

จึงทำให้มีการตีความว่า รัฐมนตรีที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุถึงว่านินทานายกฯ นั้น อาจจะหมายถึงรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์

เพราะก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาโครงการอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา จนเกิดม็อบมาอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล จน พล.อ.ประวิตรมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นประธานคณะทำงานแก้ปัญหาลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหา และพบว่า ปัญหาเกิดจากนักการเมืองในพื้นที่ จนรายงานถึง พล.อ.ประวิตรเลยทีเดียว

เมื่อมาพิจารณาคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ระบุว่า “ถ้าผมเห็นว่าคนนั้นทำงานไม่ได้ หรือไปสร้างปัญหาในพื้นที่ หรือทำทุจริตสร้างความขัดแย้งและเกลียดชัง ผมจะพิจารณาปรับออก เพราะผมไม่ได้ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด” นั้น อาจจะพอสรุปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์หมายถึงรัฐมนตรีคนใด พรรคไหน

แถมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งแบ่งจังหวัดให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ แม้ว่านายจุรินทร์จะเรียกร้องให้แก้ไขก็ตาม

“วันนี้ไม่ใช่เวลาการเมือง แต่เป็นเวลาการทำงาน” พล.อ.ประยุทธ์สำทับ

ก่อนจะยืนยันว่า การแบ่งจังหวัดเช่นนี้ไม่ได้ต้องการจะให้พรรคไหนได้ประโยชน์ ไม่ได้ปิดกั้นรัฐมนตรีคนใดทั้งสิ้น และไม่ได้ทำตามคะแนนเสียงของพรรคการเมือง แต่ทำตามประชาชนเป็นหลัก

หลังจากที่ถูกมองว่า พล.อ.ประยุทธ์แบ่งพื้นที่ให้พรรคพลังประชารัฐของพี่ใหญ่ที่หนุนตนเองมาเป็นนายกฯ ได้เปรียบ และปูทางให้ผู้กองธรรมนัสไปทำระบบฐานเสียง เพื่อหวังยึดพื้นที่ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ เพราะต้องยอมรับว่าผู้กองธรรมนัสทำให้พรรคประชาธิปัตย์หวั่นไหวไม่น้อย

ก็เกิดคำถามขึ้นมาจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้แต่วิจารณ์คนอื่น ไม่พอใจคนนินทา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องดูด้วยว่า ได้ทำจริงอย่างที่ถูกนินทาหรือไม่ หรือว่าคนนินทาเข้าใจผิดคิดไปเอง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะไม่ได้เจาะจงมาที่รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่อาจหวังผลตักเตือนบรรดารัฐมนตรีคนอื่นๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะอาจจะไม่ได้มีแค่รัฐมนตรีคนเดียวพรรคเดียวที่นินทานายกฯ

โดยเฉพาะหลังเกิดโควิดระลอก 3 ที่สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลและ ศบค. รวมทั้งการวางแผนเรื่องวัคซีนผิดพลาด

จึงไม่แปลกที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไท ก็จะตกเป็นเป้าหมายอีกคน

เพราะตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เอ่ยปากถามนายอนุทินเรื่องการที่สายด่วน 1668, 1669 ไม่มีคนรับสายเพราะนายกฯ ให้คนลองโทร.ไป รวมถึงนายกฯ ได้ลองด้วยตัวเองก็ปรากฏว่าไม่มีคนรับ

รวมถึงการที่รถพยาบาลสำหรับรับผู้ป่วยโควิดไปส่งโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอจน พล.อ.ประยุทธ์ต้องสั่งให้กองทัพนำรถทหารมาช่วยเสริม ถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ถ้ารถไม่พอ ผมก็จะให้เอารถสิบล้อไปรับ

ที่เป็นเหมือนกับการดึงนายอนุทินเข้ามาอยู่ในไฟโฟกัส เพราะจากนั้นกระแสการเรียกร้องให้นายอนุทินลาออกก็หนักขึ้นๆ จนทำให้คนในพรรคภูมิใจไทยมองว่านี่เป็นเกมการเมือง ที่จะตัดตอนความรับผิดชอบให้อยู่แค่นายอนุทิน ไม่ให้ลามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

จึงไม่แปลกที่นายอนุทินจะบอกว่า “ไม่เป็นไร ผมก็ทน…ตอนเข้า ผมก็ขอเขามาที่นี่ ถ้าจะไป ผมก็ขอไปด้วยตัวเอง ไม่ต้องห่วงหรอกครับ ถ้ามันไม่ไหว ผมไม่อยู่หรอก”

ก่อนที่จะโยนกลับไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า นายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาและตนเองก็ทำตามที่นายกรัฐมนตรีสั่ง จนถึงมองว่าเป็นการตอบโต้กลับ พล.อ.ประยุทธ์

แถมสำทับด้วยการที่นายศุภชัย ใจสมุทร รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็ออกมาสะกิดเชิงเหน็บแนมนายกฯ ว่า ถนัดแต่การใช้ กม.พิเศษ และวิจารณ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการรวบอำนาจไว้ที่ ศบค. ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) นำทีม รมว.สาธารณสุขไม่ได้มีอำนาจเต็มที่ จึงทำให้การแก้ปัญหาโควิดมองแต่ด้านความมั่นคง

จนทำให้แรมโบ้ เสกสกล อัตถาวงศ์ ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี ในฐานะองครักษ์พิทักษ์บิ๊กตู่ออกมาตอบโต้นายศุภชัยและพรรคภูมิใจไทยอย่างทันควัน

 

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็ตัดสินใจรวบอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ตามพระราชบัญญัติ 31 ฉบับมาไว้ที่นายกรัฐมนตรีทั้งหมด เพื่อให้การสั่งการในการแก้ไขปัญหาโควิดเป็นแบบ Single Command อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

ยิ่งเมื่อพรรคฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แล้วให้นายกฯ คนใหม่ขึ้นมาตามระบอบประชาธิปไตยและกลไกของสภา ก็ยิ่งเป็นการตอกลิ่มให้เกิดความหวาดระแวงว่าพรรคภูมิใจไทยไปเดินเกมอะไรกับพรรคฝ่ายค้านหรือไม่

เพราะในอีกมุมหนึ่ง นายอนุทินก็เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกคนที่มีโอกาสหาก พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

เพราะแม้พี่น้อง 3 ป.อาจจะไว้ใจนายอนุทิน แต่อาจไม่ไว้ใจนายเนวิน ชิดชอบ ผู้มีบารมีนอกพรรคภูมิใจไทย ที่เชี่ยวชาญเกมการเมือง ผู้มีเป้าหมายที่จะทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และช่วยดันนายอนุทินให้เป็นนายกรัฐมนตรีในสักวันหนึ่ง

จึงกล่าวได้ว่า บรรยากาศความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐ กับนายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทย ไม่สู้ดีนัก

 

แต่ทั้งนี้ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงทีท่าต่างๆ ออกมานั้นก็ย่อมต้องมั่นใจแล้วว่า ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยไม่มีทางที่จะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลในห้วงเวลาเช่นนี้ แต่จะต้องอดทนต่อไปจนถึงที่สุด

เพราะถึงอย่างไร หากมีการถอนตัว พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังมีอำนาจยุบสภาในมือเป็นทางออกสุดท้าย โดยไม่ยอมลาออก เปิดช่องให้เลือกนายกฯ คนใหม่

แม้จะเริ่มมีการโยนหินถามทางออกมาจากกองเชียร์รัฐบาลฝ่ายทหารว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์เสียที เพลี่ยงพล้ำ สถานการณ์โควิดยังรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน จนเกิดกระแสกดดันให้ต้องลาออก ใครจะมาเป็นนายกฯ แทน

โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์รวบอำนาจไว้ในมือทั้งหมด แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็ถือเป็นการเสี่ยงที่จะถูกกดดันว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งๆ ที่มีอำนาจในมือเพียงผู้เดียว

ชื่อของ พล.อ.ประวิตร และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เริ่มถูกมองว่าจะเสียบแทนได้หรือไม่

แต่ทว่าทั้งคู่เคยประกาศไว้แล้วว่าไม่เคยคิดจะเป็นนายกรัฐมนตรี

โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร ที่เป็นตำบลกระสุนตก รวมทั้งสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง เดินก็ยังไม่คล่อง ยิ่งมีน้อย แม้จะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ตาม

แต่หากดูที่การเป็นสายบุ๋นและบทบาทที่อยู่เบื้องหลัง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด ก็ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ถูกจับตามองว่าสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆ ขึ้น

แต่เชื่อกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เลือกการลาออก แต่จะเลือกการยุบสภามากกว่า

เพราะในเวลานี้ พล.อ.ประวิตรและพรรคพลังประชารัฐที่มีผู้กองธรรมนัสเป็นกำลังหลักสำคัญ เป็นพรรคพร้อมที่จะเลือกตั้งมากที่สุด

ไม่แค่นั้น เสียงคำรามของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เตือนรัฐมนตรีไม่ให้นินทานายกฯ นั้นก็ถูกมองว่าหวังผลไปถึงรัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐเองด้วย เพราะก็อาจมีบางคนบางกลุ่มที่ไม่แฮปปี้กับบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์

ยิ่งในห้วงเวลาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐในการประชุมที่ถูกเลื่อนออกไปเพราะสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค ที่เสมือนเป็นการนับถอยหลังสู่การถอดสลักระเบิดเวลาในพรรค

ที่กำลังวัดพลังกันของกลุ่มสามมิตร ที่ดันนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรค กับนายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่ขอให้ผู้กองธรรมนัสช่วยสนับสนุน แต่ทว่า ส.ส.ในพรรคกลับต้องการให้ผู้กองธรรมนัสขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคเลย

เพราะหากผู้กองธรรมนัสนั่งแท่นเลขาธิการพรรคก็ย่อมต้องผิดใจกับนายสันติ และแน่นอนว่ากลุ่มสามมิตรก็ไม่พอใจเช่นกัน

จนมีการจับตามองกันว่าเก้าอี้เลขาธิการพรรคจะเป็นตัวชี้วัดว่าจะทำให้กลุ่มสามมิตรแยกตัวออกจากพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

 

ในสถานการณ์เช่นนี้ รอยร้าวระหว่างพรรคร่วมที่มีอยู่แล้ว จะยิ่งร้าวลึกมากขึ้นหลังท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์

เพราะแผลเก่าระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับกลุ่ม ส.ส.ดาวฤกษ์ของพรรคพลังประชารัฐก็ยังคงมีอยู่

อีกทั้งกรณีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยที่ตกเป็นจำเลยสังคมจากกรณีคลัสเตอร์ทองหล่อจนติดโควิดและทำให้เกิดโควิดระลอก 3 จนทำให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ซวนเซเสียหลัก แม้นายศักดิ์สยามจะยืนยันว่าไม่เคยไปเที่ยวสถานบันเทิงเหล่านี้ก็ตาม

แต่ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจจากคนในพรรคพลังประชารัฐและกองหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จนเกิดกระแสข่าวลือการเอาพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาลมาแล้ว

ทว่านายอนุทินและนายจุรินทร์ก็ยังคงอดทนในการร่วมรัฐบาลต่อไป เพราะแม้แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา แม้จะเห็นชัดแล้วว่าพรรคพลังประชารัฐเล่นเกมยื้อ ไม่คิดแก้รัฐธรรมนูญจริง แต่ 2 พรรคร่วมนี้ก็ไม่อาจทำอะไรได้ ก็ยังร่วมรัฐบาลต่อมา

เพราะอย่างน้อย ในที่สุด นายกฯก็ยอมแก้ไขคำสั่ง แบ่งพื้นที่ให้กลับไปใช้คำสั่งเดิม ก่อน ออกคำสั่งใหม่ เพิ่อลดกระแสต้าน ผู้กองธรรมนัส

 

แต่สำหรับพี่น้อง 3 ป.แล้ว ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเกินคาดเพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนที่ไม่เก็บความรู้สึก คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้นออกมา ไม่พอใจก็แสดงออก แต่ก็สะท้อนว่าไม่ได้เกรงใจพรรคร่วมรัฐบาล เพราะรู้ว่าตนเองถือไพ่เหนือกว่า

และไม่ชอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะจากพวกเดียวกัน หรือพรรคร่วมรัฐบาล

ไม่แตกต่างจากพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร ที่แม้การมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐจะทำให้เข้าใจการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังแฮปปี้ที่จะได้ยินแต่สิ่งดีๆ มากกว่าเสียงสะท้อนวิพากษ์วิจารณ์

จึงไม่แปลกที่เมื่อก่อน พล.อ.ประวิตรจะเคยชอบดูทีวีช่องหนึ่ง เครือใหญ่ แต่ตอนนี้มาดูทีวีช่องที่เชียร์รัฐบาลและโจมตีฝ่ายตรงข้ามช่องเดียวเลย

อีกทั้งทีมงานใกล้ตัวนั้นเห็นว่า พล.อ.ประวิตรอายุมากแล้วไม่อยากให้รับรู้เรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ สิ่งไหนที่เป็นเรื่องดีๆ ข่าวดีๆ ก็จะชงให้ พล.อ.ประวิตรรับทราบตลอด

เสมือนทำให้ พล.อ.ประวิตรเดินอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ รายล้อมในดงดอกไม้ ข่าวดีๆ ผลงาน เสียงชื่นชม เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่อารมณ์เสีย

 

ในเวลานี้พี่น้อง 3 ป.จึงดูไม่แคร์พรรคร่วมรัฐบาลใดๆ มากนัก เพราะเชื่อมั่นในพรรคพลังประชารัฐและคะแนนนิยมที่มีต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่าจะเกิดปัญหาโควิดระลอก 3 ก็ตาม

ที่สำคัญการมี ร.อ.ธรรมนัสในการดูแล ส.ส.ทั้งในพรรคพลังประชารัฐเอง และในพรรคเล็กๆ ที่ร่วมสนับสนุนรัฐบาล และการมีต้นทุนในตัวเองสูง ทั้งทุนทรัพย์และกำลังคนในมือ จึงยิ่งทำให้พี่น้อง 3 ป.มั่นใจที่จะเดินบนถนนสายการเมืองอย่างองอาจ และคำรามได้อย่างเสือ โดยไม่ต้องเกรงกลัวนักการเมืองคนใด

จนมีข่าวบางกระแสว่า ในอนาคต ผู้กองธรรมนัสจะเป็นหนึ่งในทายาทของพี่น้อง 3 ป. เมื่อถึงเวลาต้องลงจากหลังเสือก็จะส่งไม้ต่อให้ผู้กองธรรมนัสที่เป็นสายเลือดเตรียมทหาร และมีความจงรักภักดี พร้อมปกป้องสถาบันจากขบวนการล้มเจ้า

แต่ด้วยประวัติสีเทาของผู้กองธรรมนัสไม่อาจจะทำให้เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่จะทำหน้าที่ดูแลพรรคพลังประชารัฐต่อ

ในระหว่างนี้ พี่น้อง 3 ป.จึงยังคงมองหาทายาทที่จะมาเป็นผู้นำกันต่อไป เพราะถึงอย่างไรตอนนี้ก็ยังไม่สามารถปล่อยมือได้

การสู้ศึกการเมือง กลเกมการเดินหมากของ 3 พี่น้องจึงยังเป็นแบบทหาร แม้จะเป็นนักการเมืองแล้วก็ตาม แต่ยังเป็นทหารที่พร้อมงัดข้อกับนักการเมืองทุกเมื่อ