หลังเลนส์ในดงลึก : ผิดผี

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

“ตอนเย็นผมไม่อยู่นะครับ ไม่ต้องรอกินข้าว” อำนวย ชายหนุ่มเชื้อชาติกะเหรี่ยง สัญชาติไทยจากหมู่บ้านเซปะหละ พูดขณะเรากำลังนั่งล้อมวงกินข้าวเช้า

อำนวยเรียนจบปริญญาตรี จากจังหวัดตาก เขาเข้ามาทำงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกแล้ว 3 ปี ทักษะเรื่องคอมพิวเตอร์ช่วยงานในสำนักงานได้มาก

พักหลังๆ นี้หากออกมาจากหน่วยพิทักษ์ป่าด้านในๆ และมาอยู่ใกล้ๆ สำนักงานเขต ผมจะมาร่วมวงกินข้าวที่บ้านชิดชัย เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเจ้าของรหัส 805

เขาเป็นชาวสุโขทัย มาทำงานที่นี่ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน มีภรรยาเป็นสาวงามจากหมู่บ้านปะละทะ ไม่ไกลจากเขตรักษาพันธุ์ ดาวทำกับข้าวในแบบของเธอ อาหารกะเหรี่ยงหลายชนิดรสชาติดี

“ผมกินข้าวโรงครัวไม่มีกับข้าวแปลกๆ เลยครับ กินที่นี่ดีกว่า” ผมบอกชิดชัย

ทุกมื้อเรามีผักหรือเห็ดตามฤดูกาล กลางเดือนพฤษภาคมเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบเริ่มออก

ผมเงยหน้าขึ้นมองอำนวย “ไปไหนล่ะครับ” ผมถาม

“ไปงานแต่งศุภกิจ ที่หมู่บ้านครับ”

“อ้าว ทำไมปุบปับ ไม่เห็นรู้เรื่องมาก่อนเลย” ผมสงสัย

ศุภกิจเป็นลูกพี่ลูกน้องกับอำนวย เขาอยู่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่จันทะ เคยไปทำงานอยู่ป่าห้วยขาแข้งหลายปี ศุภกิจเดินป่าร่วมกับผมบ่อย โดยเฉพาะเมื่อผมไปแถวๆ ชายแดนช่วงที่ป่าห้วยขาแข้งกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกติดต่อกัน ศุภกิจชำนาญพื้นที่บริเวณนั้น

“เขาต้องมัดมือพรุ่งนี้เช้าครับ วันนี้ไปช่วยเตรียมงาน” อำนวยพูดก่อนลดเสียงลง

“ศุภกิจทำผิดผีครับ ผู้หญิงท้องก่อนแต่ง” ผมพยักหน้าอย่างเข้าใจ

หมู่บ้านเซปะหละอยู่ห่างจากสำนักงานเขตราวๆ 14 กิโลเมตร เส้นทางลูกรังอัดแน่นสะดวกสบายและได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มีสาวงาม จึงไม่แปลกนักที่เหล่าเจ้าหน้าที่จากเขตทุ่งใหญ่จะเดินทางไปที่นั่นเสมอๆ เมื่อว่างเว้นจากภารกิจลาดตระเวน

 

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตกซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และฝังตะวันออกในเขตจังหวัดตาก นอกจากความเหมือนกันในเรื่องความทุรกันดารของเส้นทางสัญจรระหว่างสำนักงานเขตกับหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือเจ้าหน้าที่ที่นี่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนเชื้อชาติกะเหรี่ยงสัญชาติไทย

หลายคนอยู่ในวัยใกล้เกษียณ แต่ส่วนใหญ่คือชายหนุ่มซึ่งเกือบทุกคนเรียนหนังสือจนถึง ม.3 เพราะเขามีเหตุผลคล้ายๆ กันที่มาทำงานในป่า

“ไม่อยากอยู่ในเมืองครับ วุ่นวาย ที่นี่เงินเดือนไม่ถึงหมื่นแต่มีเหลือ” ส่วนใหญ่ที่บ้านพวกเขามีพื้นที่ปลูกข้าว ชายหนุ่มเหล่านี้ไม่ใช่คนอับจนหนทางจึงต้องเข้ามาทำงานในป่า

“ที่นี่เป็นบ้านของพวกเราครับ” นี่คืออีกหนึ่งเหตุผล

 

การทำงานเพื่อปกป้องดูแลชีวิตสัตว์ป่าและแหล่งอาศัย ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ที่ได้รับความยอมรับในความหลากหลายอุดมสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ให้เป็นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของโลก

พวกเขาใช้เครื่องมืออย่างหนึ่งที่เรียกว่าการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเดินลาดตระเวน เจ้าหน้าที่หนุ่มๆ ทุกคนได้รับการฝึกอบรมมีทักษะการใช้เครื่องมือเป็นอย่างดี

พวกเขาเกือบทุกคนมีสมาร์ตโฟนอยู่ในโลกที่ใช้อินเตอร์เน็ต

ไม่มีใครคล้ายจะอยู่ “หลังเขา” อีกต่อไปแล้ว

 

“พี่ใหญ่ทำผิดผีนะ” จะปุ๊คู่หูชาวมูเซอพูดเสียงดังแข่งกับเสียงสายลมซึ่งส่งเสียง กระแสลมนำสายฝนสาดเข้าเต็นท์จนเปียกโชก

“ตอนเย็นที่กินข้าวกัน พี่ใหญ่นั่งทับหลัว” จะปุ๊มองหน้าผม

“หลัว” ที่เขาหมายถึง คือท่อนฟืนที่เราใช้ก่อไฟหุงข้าว

หลังกินข้าว สภาพอากาศในหุบใต้สันดอยม่อนจองเย็นยะเยือก พลบค่ำกระแสลมเริ่มพัดแรง ไม่นานพายุฝนก็มาถึง เป็นค่ำคืนที่พายุฝนกระหน่ำอย่างหนัก เป็นเหตุการณ์ที่ผมจำได้ดี

จะปุ๊กล่าวโทษผมเรื่องทำผิดผี “เจ้าโกรธ สั่งพายุมาสั่งสอนเห็นไหม” จะปุ๊บ่นไม่หยุด

แม้ว่าเขาจะพยายามดับพายุด้วย “วิชา” ที่มี เช่นล้วงข้าวสารออกจากย่ามแล้วขว้างออกไป

“ข้าวสารเสก” ของจะปุ๊คล้ายจะทำให้พายุรุนแรงกว่าเดิม เขามองหน้าผมด้วยสายตาตำหนิ

คืนนั้นทั้งคืนเรานั่งหนาวสั่นตัวเปียกโชกกอดเข่าไหล่เบียดไหล่ รุ่งเช้าจะปุ๊เดินนำลงจากดอย โดยทิ้งสัมภาระไว้ ผมลงมาพักที่ปางคนงานปลูกป่าเชิงดอย ส่วนจะปุ๊โกรธเขาเดินลงไปหมู่บ้านทิ้งผมอยู่คนเดียวร่วมๆ หนึ่งสัปดาห์ เชิงดอยอากาศสดใสเห็นสภาพอากาศดี ผมเดินขึ้นดอยเพื่อไปพบว่าบนดอยสายลมยังแรงสายฝนโปรยหนาเม็ด ถึงสัปดาห์ที่สองผมต้องชวนคนงานปลูกป่า 2 คนเดินขึ้นไปช่วยแบกสัมภาระลงมา

ผมกลับมาถึงหมู่บ้านมูเซอปากทาง พบหน้าจะปุ๊เขายิ้มร่าราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

“หน้าฝนแบบนี้มีแต่คนบ้าเท่านั้นแหละที่จะขึ้นดอยเพื่อไปหาอาชิ”

อาชิที่เขาพูดคือ กวางผา

 

ข้อดีของการนับถือ “ผี” มีหลายประการ เช่นไม่ตัดไม้บริเวณนี้ ห้ามทำนาบริเวณต้นห้วย ห้ามจับปลา เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นการ “ผิดผี” การไม่ตัดไม้บริเวณป่าต้นน้ำ ไม่จับปลาบริเวณที่หลบภัยหรือวางไข่ เหล่านี้คือการเรียนรู้เพื่ออยู่กับสิ่งรอบๆ ตัวอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน

ผมเคยมีคู่หูหลายคนซึ่งยึดถือกับความเชื่อเช่นนี้ ขณะอยู่ในป่าสิ่งที่เราปฏิบัติเสมอๆ เช่นตักข้าวและกับใส่ใบไม้วางโคนต้นไม้ใหญ่ ยกมือไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาช่วยคุ้มครอง

ผมไม่นั่งทับฟืนที่ใช้ก่อไฟอีกเลย ทุกครั้งที่ทำ ว่าตามจริงไม่ใช่เพราะ “ความเชื่อ” เเต่เพื่อความสบายใจของคู่หู

 

ในความเป็นจริงป่าไม่ใช่แดนลี้ลับ ไม่ใช่แดนเถื่อนอันตราย เป็นที่อาศัยของสัตว์ร้าย แต่ความเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมทางยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเชื่อคือสิ่งจำเป็น

ชายหนุ่มหญิงสาวในหมู่บ้าน “หลังเขา” ซึ่งความเจริญบุกเข้าถึง แต่ประเพณีหลายอย่างก็ไม่ได้หายไปใหน

สองวันต่อมาผมพบหน้าศุภกิจ เขายิ้มร่า หน้าตาสดใส “มัดมือเสร็จแล้วเหรอ” ผมทัก

“เรียบร้อยแล้วครับ” หน้าตาศุภกิจฉายแววความสุข ดูเหมือนเขาจะยอมรับการ “ผิดผี” อย่างเต็มใจ