อินเดีย กับหายนะโควิด-19 ระลอกที่ 2/บทความต่างประเทศ

People bring the bodies of the victims who died due to the coronavirus disease (COVID-19), for cremation at a crematorium ground in New Delhi, India, April 23, 2021. REUTERS/Danish Siddiqui

บทความต่างประเทศ

 

อินเดีย

กับหายนะโควิด-19 ระลอกที่ 2

 

เกิดอะไรขึ้นในอินเดีย? ทุกสายตาจากทั่วโลกกำลังจับต้องและตั้งคำถามเดียวกันนี้พร้อมๆ กัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 3 แสนรายไปแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงทำสถิติที่ 354,531 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพียงวันเดียวสูงถึง 2,624 ราย นับเป็นยอดผู้เสียชีวิตรายวันที่สูงที่สุดในโลกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา

เวลานี้ระบบสาธารณสุขของอินเดียเข้าขั้นหายนะ โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งไม่มีออกซิเจนและเตียงเพียงพอที่จะใช้รักษาผู้ป่วย เกิดการปฏิเสธรับรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน

นิวซีแลนด์ ฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ประกาศห้ามเที่ยวบินจากอินเดียเข้าประเทศ และออกประกาศเตือนประชาชนเลี่ยงการเดินทางไปอินเดียด้วยเช่นกัน

อีกไม่นานนี้คาดกว่ารายชื่อประเทศเหล่านี้จะยาวเหยียดออกไปอีก

 

อินเดียเองได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ยอดผู้ติดเชื้อรายวันจากหลักเกือบแสนรายในช่วงเดือนกันยายนปีก่อน ร่วงลงมาอยู่ในพันปลายๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อินเดียประกาศชัยชนะเหนือการแพร่ระบาด นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ถึงขั้นเคยประกาศว่าอินเดียสามารถเป็น “ร้านขายยาของโลกได้” พร้อมๆ กับการดำเนินนโยบาย “การทูตวัคซีน” ส่งออกและให้เปล่าวัคซีนจำนวนมากกับหลายๆ ประเทศ

แต่ทุกอย่างในเวลานี้ดูเหมือนจะพังทลายลงหมดสิ้น หลายพื้นที่กลับต้องออกประกาศล็อกดาวน์ เรื่องราวของผู้ติดเชื้อที่ถูกปฏิเสธการรักษาเห็นได้ทั่วไป แม้แต่ศาลสูงสุดของประเทศยังต้องออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง ถึงขั้นเอ่ยถึงสถานการณ์ที่อาจแย่ลงถึงขั้น “นรกแตก” หากออกซิเจนไม่เพียงพอ

คำถามก็คือ เพราะอะไรที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในอินเดียกลับตาลปัตรได้เช่นนั้น?

 

เรื่องแรกที่ต้องกล่าวถึงก็คือมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแพร่ระบาดจากการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีโมดีเองก็ร่วมลงพื้นที่ช่วยลูกพรรค ทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นในรัฐเกรละ ทมิฬนาฑู และปูดูเชร์รี ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ไม่เฉพาะการหาเสียงของบรรดานักการเมืองเท่านั้น ช่วงต้นเดือนเมษายน ยังมีชาวอินเดียนับล้านๆ คนออกมาร่วมทำพิธีกุมภ์เมลา พิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ที่เมืองหริทวาร เป็นเทศกาลที่กินเวลานานนับสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าการร่วมพิธีนั้นเป็นไปอย่างแออัดยัดเยียด และไร้ซึ่งมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองยังยอมรับว่าไม่สามารถกวดขันประชาชนจำนวนมากได้ จึงต้องปล่อยเลยตามเลย

อีกเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายวิกฤตการณ์ในอินเดีย ก็คือเชื้อไวรัสที่เกิดกลายพันธุ์ขึ้นถึง 2 จุด จนถูกขนานนามว่าไวรัส SARS-CoV-2 “ดับเบิลมิวเตชั่น” หรือเรียกในแบบวิชาการว่า B.1.617

แม้ทางการอินเดียจะปฏิเสธว่า เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวจะไม่ได้เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดระลอกล่าสุด แต่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในเวลานี้

 

ไวรัสโควิด-19 “ดับเบิลมิวเตชั่น” ถูกค้นพบครั้งแรกในตัวอย่างน้ำลายของผู้ติดเชื้อในรัฐมหาราษฏระ, เดลี และปัญจาบ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สาเหตุที่เรียกว่า ดับเบิลมิวเตชั่น นั้นก็เพราะการค้นพบการกลายพันธุ์ 2 จุดในตัวไวรัส SARS-CoV-2 จุดแรกคือ การกลายพันธุ์ที่เหมือนกับที่พบในเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในบราซิล และแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโปรตีนส่วนปลายแหลมและเปลือกหุ้มของไวรัส โปรตีนส่วนนี้เองที่ใช้ในการเกาะกับเซลล์มนุษย์ เพื่อทำหน้าที่เกาะติด บุกรุก และทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในที่สุด

การกลายพันธุ์ในจุดที่ 2 เป็นการกลายพันธุ์ที่พบกับเชื้อที่เคยแพร่ระบาดในแคลิฟอร์เนีย การกลายพันธุ์นี้นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ทำให้โปรตีนที่ปลายแหลมของไวรัสมีความสามารถในการเกาะกับเซลล์มนุษย์ได้มากขึ้น และเพิ่มอัตราการติดเชื้อให้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาการกลายพันธุ์ดังกล่าวยังพบด้วยว่า การกลายพันธุ์แบบ “ดับเบิลมิวเตชั่น” ที่ว่านี้ ทำให้ไวรัสสามารถหลุดรอดจากการโจมตีของภูมิคุ้นกันที่สร้างขึ้นได้ ทั้งจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อครั้งก่อนหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม การค้นพบดังกล่าวก็ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในอินเดียครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย อินเดียจำเป็นจะต้องสร้างความร่วมมือตอบสนองการแพร่ระบาดระหว่างรัฐบาลระดับรัฐและรัฐบาลกลางในการบริหารจัดการและจัดหาออกซิเจน รวมถึงยาที่จำเป็นสำหรับการรักษา หากต้องการควบคุมยอดผู้เสียชีวิตให้ลดต่ำลงกว่านี้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่เท่าใดกันแน่ เมื่อการเสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นที่บ้านก่อนที่จะถูกส่งตัวถึงโรงพยาบาล ขณะที่คนอีกจำนวนมากโดยเฉพาะการเสียชีวิตในพื้นที่ห่างไกลซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อได้ก็ยากที่จะตรวจสอบ

เชิงตะกอนที่ให้บริการเผาศพในอินเดียทั่วประเทศ ในเวลานี้เผาศพกันแบบไม่หยุดพักตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ทันกับศพจำนวนมากที่เรียงรายกันเข้าไปอย่างไม่หยุดหย่อน

สถานการณ์ในอินเดียเวลานี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในครั้งนี้ก็คือกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น กวดขันมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

จากที่เวลานี้มีประชาชนชาวอินเดียได้รับวัคซีนครบโดสไปแล้วเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น