TOOTANIC ชู้รัก รัฐนาวารั่ว/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

TOOTANIC

ชู้รัก รัฐนาวารั่ว

เรือไททานิก ใหญ่ขนาดไหน ยังสามารถล่มได้

เช่นกัน “ตู่ทานิก”-TOOTANIC ถึงจะใหญ่โต อาจมีสิทธิ “รั่ว” และมีโอกาสล่มได้ หากบริหารจัดการไม่ดี

อย่างที่ทราบกันดี ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ได้สร้างวิกฤตศรัทธาอย่างมากต่อรัฐบาล

นำไปสู่ปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายที่ไม่เป็นคุณกับรัฐบาล

พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี

ขณะที่มีกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “หมอไม่ทน” ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ให้เปลี่ยนตัวนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรวงสาธารณสุข

โดยระบุชี้ว่าไม่มีความสามารถมากพอในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งเรื่องการวางนโยบาย การจัดการทรัพยากร การจัดหาวัคซีน และการสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรทางการแพทย์ จึงขอเรียกร้องให้นายอนุทินลาออก และให้ผู้ที่มีความสามารถ มีความเหมาะสมมากกว่าเข้ารับตำแหน่งแทน

ปรากฏว่ามีผู้สนับสนุนทะลุ 2 แสนคน

และกำลังรณรงค์ให้ถึง 300,000 คน

 

แม้นายอนุทินจะบอกว่าพร้อมรับฟังความเห็นข้างต้น

แต่ก็ยืนยันที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

พร้อมกับตอบโต้ว่ากลุ่มแพทย์และบุคลากรในระบบสาธารณสุขยังให้การสนับสนุน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ดูจะพยายามแสดงจุดยืน เคียงข้าง

โดยบอกว่า ได้ให้กำลังใจกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปลัดกระทรวง เพราะถือว่าเป็นด่านหน้าของรัฐบาล ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากกลุ่มแพทย์ต่างๆ ว่าต้องเข้าใจว่าเราบริหารราชการกันอย่างไร เราน่าจะส่งเสริมกันมากกว่าที่จะขัดแย้งกัน

ดูตามนี้ เหมือนว่า “รัฐนาวา” ยังคงเดินหน้าต้านพายุแรงไปด้วยกัน

 

แต่กระนั้น หากเข้าไปพิจารณาในเนื้องานจริงๆ แล้ว

เราได้เห็นร่องรอยการแยกตัว การสงวนท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างมีนัย

โดยเฉพาะหลังจากที่นายอนุทินถูกมองว่าผิดพลาดในการจัดหาวัคซีนต่อต้านโรคโควิด-19 ที่ล่าช้า

ขณะเดียวกันการบริหารจัดการในการรับมือผู้ป่วย ถูกวิพากษ์ไร้ประสิทธิภาพ

เกิดดราม่าต่างๆ มากมายในสังคม เช่น การไม่มีเตียงรักษาผู้ป่วย รวมถึงกรณีการที่มีผู้เสียชีวิตในบ้านโดยไม่ได้รับการรักษา เป็นที่สะเทือนใจต่อคนในสังคม

ซึ่งแทนที่จะช่วยกันแก้ไขในนาม “รัฐนาวา” เดียวกัน

แต่กลายเป็นว่า ต่างคนต่างพรรค ต่างทิ้ง “ความรับผิดชอบร่วม”

หันไปขับเคลื่อนในส่วนเฉพาะตนหรือเฉพาะพรรคแทน

 

เช่น อย่างเรื่องวัคซีนล่าช้า

แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะผนึกนายอนุทิน

รวมถึงนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ แก้ปัญหา

แต่กลับไปตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขึ้นมาอีกชุด

มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค.เป็นประธาน

ประกาศจะจะจัดหาวัคซีนอีก 2-3 ยี่ห้อเพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส

โดยดึงภาคเอกชน นำโดยสภาหอการค้าไทยช่วยจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วยประมาณ 10-15 ล้านโดส โดยจัดหามาทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2564

ทำให้นายอนุทินยืนเก้ๆ กังๆ

และยิ่งมีกรณีโด่งดังที่เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย คือนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไปติดโควิด-19 เข้าไปอีก

ยิ่งทำให้เสียภาพ เสียกระบวน เพราะกลายเป็นว่าพรรคภูมิใจไทยที่ดูแลงานสาธารณสุข

กลับเป็นปัญหาเสียเอง

และแถมยังมี “ประเด็นอันคลุมเครือเมื่อมี ส.ส.พปชร.บางคนพยายามโยงการติดเชื้อของเลขาธิการพรรคไปยังคลัสเตอร์แหล่งบันเทิงที่ทองหล่อ

คน “กันเอง” ทำให้วิกฤตศรัทธาหนักขึ้นไปอีก

 

ไม่เพียงเท่านั้น จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์ออกมาบอกกับสาธารณชนเองว่า ถูกต่อว่าอย่างมากโดยเฉพาะปัญหาในการรับแจ้งขอความช่วยเหลือผ่าน 1668 จึงได้ให้คนลองโทร.ไป ปรากฏว่าไม่มีคนรับ

“ไม่ได้จับผิด แต่ไม่มีคนรับจริงๆ มันเกิดอะไรขึ้น ต้องไปแก้ตรงนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างไม่พอใจ

และดึงเรื่องนี้ไปให้กระทรวงกลาโหมช่วย

ยิ่งเป็นการกันฝ่ายการเมืองออกไปยืนในฐานะคนนอก มากขึ้นไปอีก

ทำให้พรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ร่วมกันบริหารกระทรวงสาธารณสุข แต่ถูกขโมยซีนไปดื้อๆ แถมพรรคประชาธิปัตย์ยังถูก พล.อ.ประยุทธ์ยึดพื้นที่ในหลายจังหวัดที่เป็นฐานเสียง ให้รัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)เข้ามาดูแลแทนอย่างชวนให้คับข้องใจ

 

ยิ่งไปกว่านั้น พรรค พปชร.โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ยังซ้ำเติมโดยสั่งให้มีการตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ช่วยเหลือประชาชน

โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ รองหัวหน้าพรรคฝ่ายปฏิบัติการ เป็นผู้ดูแล และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และประสานงานกับหัวหน้าภาคทั้ง 10 ภาคของพรรค เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข ครอบคลุมทั้งประเทศ

ท่าทีเช่นนี้ หากเป็นพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์จะคิดอย่างไร

โดยเฉพาะนายอนุทินที่เป็นแม่ทัพกระบวนสาธารณสุขของประเทศ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องแก้เกมโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เลขาธิการพรรค สั่งตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) ขึ้นมาเช่นกัน

กลายเป็นว่าการแก้ไขโควิด-19 เป็นเรื่องของพรรคร่วม

ไม่ใช่ของรัฐบาลที่ควรร่วมมือทำงานเป็น “ทีม” เดียวกัน

 

เมื่อโดนกระทำ “หนัก” เช่นนี้

จึงไม่แปลกใจที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้นำบทความใน “มติชน” มาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว

ความว่า

“…การใช้อํานาจพิเศษเป็นสิ่งที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถนัดที่สุด จึงไม่แปลกที่มีการเลือกใช้อํานาจพิเศษในการจัดการกับ ‘โรคระบาด’ ซึ่งโครงสร้างของ ศบค.ได้ตัดการมีส่วนร่วมของภาคการเมืองออก รวมถึงได้ตัดคณะรัฐมนตรีออกจากการทํางานใน ศบค. โดยหน่วยงานที่นั่งหัวโต๊ะกําหนดทิศทางของ ศบค. กลับเป็นหน่วยงานความมั่นคง นําโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ แทนที่จะเป็นสาธารณสุข เราจึงเห็นการมองโรคระบาดเป็นภัยความมั่นคง เป็นอริราชศัตรู ต่างจากการแก้ปัญหาโรคระบาดในรอบที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ประสบความสําเร็จ”

นายศุภชัยออกตัวว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวหาหรือโยนความผิดกับบุคคลใด แต่เป็นความปรารถนาที่อยากจะเห็นการปรับปรุงแก้ไข การประเมินและการจัดการปัญหาทั้งระบบ

แต่ดูเหมือน “แรมโบ้” ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี จะไม่เห็นเช่นนั้น

โดยโจมตีนายศุภชัยว่า “มีชุดความคิดในการทำงานที่คับแคบและเอาแต่ได้ อยากให้นายศุภชัยไปดูโครงสร้าง ศบค. ว่ารวบอำนาจจริงหรือ รัฐมนตรีไม่มีอำนาจจริงหรือ เพราะโครงสร้างนั้นคือมีการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการเสนอแนะและแก้ไขปัญหาควบคู่กันไป”

“ไม่นึกว่าคนที่มีประสบการณ์และเป็นผู้อาวุโสทางการเมืองอย่างนายศุภชัยจะคิดเอาตัวรอด กระโดดเรือหนีในยามวิกฤตของการแก้ปัญหา”

 

“กระโดดเรือหนี” แม้จะเป็นวิวาทะที่ตอบโต้กัน

แต่ด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า เรือ “ตู่ทานิก”-TOOTANIC นอกจากเผชิญพายุรุนแรง

ภายในเรือก็เริ่มมีปรากฏการณ์ “ขัดแย้ง”-ไม่ลงรอยชัดขึ้นเรื่อยๆ

จะแค่ทำให้เรือรั่ว อุดอยู่ หรือขยายลามจนห้ามน้ำไม่อยู่ จนอาจทำเรือล่มได้หรือไม่

ซึ่งน่าระทึกใจยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโฟกัสไปที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ที่จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ขึ้นมาว่า

“มีรัฐมนตรีบางคนพูดจาไม่ดีและนินทาผมในที่ประชุมบางวง ให้ระวังตัวไว้ด้วย ผมเป็นคนตัดสินใจเลือกเข้ามาทำงาน จะชอบหรือไม่ชอบผมอย่านินทาให้ผมได้ยิน ถ้าผมได้ยินอีกจำเป็นต้องปรับออก จะริบโควต้านั้นมาเป็นของผมเอง ระวังตัวไว้ด้วยละกัน ผมไม่เคยทำให้ท่านเสียหาย ผมมีทีมงานคอยดูเฟซบุ๊กทุกท่าน ผมไม่วางใจและไม่สบายใจ ใครก็ตามที่สร้างความขัดแย้ง เกลียดชัง ทุจริต ถ้ามีปัญหาผมจะพิจารณาเอาออก จะไม่ให้โควต้าพรรค จะดึงมาเป็นโควต้าผม”

ทำเอารัฐมนตรีที่ร่วม นิ่งเงียบ ที่จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ฟาดงวงฟาดงาใส่รัฐมนตรีในรัฐนาวาเดียวกัน

 

ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังขออนุมัติจาก ครม.ดึงอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมาย

มาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะ

ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกันแก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อาทิ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 ฯลฯ เป็นต้น

ว่ากันว่า นี่เป็นข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่นายศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจ หยิบบทความในสื่อมวลชนมาวิพากษ์ว่า “รวมศูนย์อำนาจ”

และดึงอำนาจมาจากฝ่ายการเมือง

ซึ่งแม้ฝั่งฟาก พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันไม่ใช่ยึดอำนาจใคร

แต่ภาวะที่ พล.อ.ประยุทธ์หันกลับไปพึ่งข้าราชการประจำ และดึงอำนาจจากรัฐมนตรีมาไว้ในมือ พร้อมกับเปรยเข้มถึงรัฐมนตรีที่ชอบนินทา

เหล่านี้สะท้อนว่า ในเรือ “ตู่ทานิก”-TOOTANIC มิได้เป็นเอกภาพ

และมีการสะสมเงื่อนไขที่จะเพิ่มความขัดแย้งให้มีมากขึ้น

ขณะที่ต้องโต้คลื่นพายุจากโรคระบาดที่โหมกระหน่ำอย่างหนักหน่วง

จึงน่าห่วงที่ปัจจัยภายนอกและภายในจะทำให้เรือ TOOTANIC ล่ม!