อำนาจ แข็งแกร่ง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิกิริยา ท้าทาย/กรองกระแส

กรองกระแส

 

อำนาจ แข็งแกร่ง

ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปฏิกิริยา ท้าทาย

มีภาพ 2 ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่ แม้จะมองเห็นไม่เด่นชัดเท่าใดนักในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แต่หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 มีความแจ่มชัดขึ้น

ภาพหนึ่ง เป็นภาพอำนาจอันยิ่งใหญ่ เกรียงไกรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่มาพร้อมกับอำนาจของ “คสช.”

เป็นภาพที่แม้จะมีการต่อต้านแข็งขืน แต่ก็ถูก “จัดการ” อย่างรวดเร็ว เบ็ดเสร็จ

ภาพหนึ่ง เป็นภาพการแข็งขืน ต่อสู้ และแสดงการไม่ยอมรับต่ออำนาจอันมีพื้นฐานมาจากการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ภาพนี้ยิ่งแจ่มชัด มิอาจปิดบังได้

ยิ่งภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การลุกขึ้นมาต่อต้าน แข็งขืน ยิ่งซึมลึก แผ่กว้าง กลายเป็นกระแส ก่อรูปขึ้นเป็นขบวนการ

และส่งผลสะเทือนเข้าไปแม้กระทั่งภายในของรัฐบาล

 

หากมองจากการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 คล้ายกับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นไปโดยราบรื่น

เนื่องจากป้อมอันแข็งแกร่งของ 250 ส.ว.

แม้พรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไขมากนักนอกจากกระทรวงบางกระทรวง แต่พรรคประชาธิปัตย์มีเงื่อนไขอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิดในเดือนมีนาคม 2563 สัญญาณเริ่มปรากฏ

ปรากฏจากการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน “รวบอำนาจ” ของรัฐมนตรีไปอยู่ในมือของ “หัวหน้า ศบค.” และต่อสายตรงไปยัง “ปลัดกระทรวง”

ปรากฏจากการแย่งชิงคะแนนนิยมและพื้นที่ทางการเมือง

สัมผัสได้จากการเลือกตั้งซ่อมที่พรรคพลังประชารัฐไม่ยอมอ่อนข้อให้กับพรรคร่วมรัฐบาล สัมผัสได้จากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 85/2564 มอบหมายรัฐมนตรีไปรับผิดชอบงานพัฒนาในแต่ละพื้นที่

นับวันรอยร้าวระหว่างรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลยิ่ง “ร้าวลึก”

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 1 สถานการณ์การแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองเพื่อตระเตรียมรับมือกับการเลือกตั้งหลังเดือนมีนาคม 2566 เป็นอีกปัจจัย 1

ทำให้ความขัดแย้งทาง “ความคิด” พัฒนาเป็นการแตกแยกทาง “การเมือง”

สังคมจึงได้เห็นความหงุดหงิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อความบกพร่องของโทรสายด่วนในความรับผิดชอบของนายอนุทิน ชาญวีรกูล

ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของ “หมอไม่ทน” ล่า 1 แสนรายชื่อ

สังคมจึงได้เห็นความหงุดหงิดของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไปคุมงานพัฒนาในนครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต

รวมถึงความหงุดหงิดของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ต่อปมปัญหาโควิด

ยืนยันว่าความสำเร็จและความล้มเหลวมิได้ขึ้นกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้า ศบค.

แล้วลงเอยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่พอใจต่อเสียงนินทาของ “รัฐมนตรี”

 

สภาพการณ์ในปัจจุบัน เด่นชัดยิ่งว่าอำนาจอันแข็งแกร่งอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหนือกว่ารัฐมนตรีจากพรรคการเมือง

จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด

คล้ายกับว่าบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายมีสภาพอยู่ในลักษณะ “หมูในอวย” และยากเป็นอย่างยิ่งที่จะแข็งขืนต่ออำนาจพิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กระนั้น ลักษณะ “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ก็เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นเป็นลำดับ