ก้าวสำคัญอาเซียนและเมียนมา/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ก้าวสำคัญอาเซียนและเมียนมา

 

อาจกล่าวได้ว่า ทั่วโลกจับตามองการประชุมนัดพิเศษของอาเซียนเรื่องสถานการณ์เมียนมา ที่เมืองจาการ์ตา อินโดนีเซีย วันเสาร์ 24 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

ก่อนที่เราจะตั้งข้อสังเกตเรื่องเนื้อหาการประชุมและผลที่จะตามมาทั้งจากแถลงการณ์ที่เป็นทางการ บทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญและเบื้องหน้าเบื้องหลังเท่าที่มีข้อมูลพอให้รู้ได้บ้าง

ข้อสรุปที่ควรเกริ่นเอาไว้ก่อนคือ

“…ถ้าความรุนแรงในเมียนมายุติ อาเซียนอาจช่วยเล่นบทบาทอันสร้างสรรค์ทางการเมือง บทบาทด้านมนุษยธรรม นำเสนอแผนงานที่ยั่งยืนให้เมียนมาได้…”

ทั้งหมดนี้ ผมสรุปในเชิงหลักการ มองโลกในแง่ดีและมองจากคนนอกที่อยู่ห่างไกลนะครับ

แถลงการณ์ สาระและความเป็นไปได้

 

แถลงการณ์มีดังนี้

1. ต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องเริ่มต้นที่จะแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของประชาชน

3. ตัวแทนพิเศษของประธานอาเซียน จะอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ยของกระบวนการเจรจา โดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Center for Humanitarian Assistance on Disaster Management-AHA) ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ประเทศไทย

5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมา เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องขอบอกว่า นี่ไม่ใช่แถลงการณ์การประชุมนัดพิเศษเรื่องสถานการณ์เมียนมา ที่เป็นทางการ ผมเอามาจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เราอาจวิเคราะห์และตีความได้ในระดับหนึ่ง

ในแถลงการณ์นี้แสดงอะไรได้บ้าง

ประการแรก นับว่าแถลงการณ์นี้แสดงบทบาททางการเมืองอันสำคัญของอาเซียนว่า ไม่ใช่เพียงเสือกระดาษ ที่มีแต่ออกแถลงการณ์อันสวยหรู แล้วไม่ได้แก้ปัญหาของอาเซียนอะไรเหมือนในอดีต

อย่างแรกแค่นำเอา พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหารและผู้นำประเทศเมียนมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ได้ แน่ละ อาจไม่มีตัวแทนของรัฐบาลคู่ขนานหรือ the National Unity Government-NUG ไม่มีตัวแทนประชาชน ไม่มีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาเลย เราไม่ควรลืมว่า หากมีตัวแทนที่ไม่ใช่พลเอกอาวุโสคนนี้ เขาอาจไม่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เลยก็ได้

ประการที่สอง สาระสำคัญคือ ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ในสาระสำคัญอันนี้ ยังมีช่องว่างที่อาจจะพลิกผันได้ แล้วแต่ลูกเล่นทางการเมืองและพลังการต่อรองของแต่ละฝ่าย เช่น พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ตามรายงานของสื่อมวลชนว่า ท่านจะนำแถลงการณ์นี้กลับไปปรึกษาฝ่ายเมียนมา แต่ท่านอาจจะทิ้งแถลงการณ์นี้เลยก็ได้ หรือเมื่อถึงเวลาจริงๆ ทางการเมียนมาอาจไม่ต้อนรับทูตพิเศษของอาเซียนเลยก็ได้

หรือการต้อนรับนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายผู้ทำรัฐประหารก็ย่อมได้

ไม่ควรลืมว่า โฆษณาชวนเชื่อจากฝ่ายรัฐประหารเผยแพร่ออกไปทั่วโลก โดยไม่สนใจว่าใครจะเชื่อหรือไม่อยู่แล้ว

ที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับผมคือ ฝ่ายรัฐประหารไม่ยอมเจรจาแม้แต่น้อยกับรัฐบาลคู่ขนาน โดยอ้างว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรม และกำลังดำเนินการทางกฎหมาย (ของผู้ทำรัฐประหาร) อยู่

ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายรัฐประหารก็ยังไม่ยอมลงจากตำแหน่งและอำนาจบริหารเลย อะไรจะเกิดขึ้น ในเวลาเดียวกัน กลุ่มผู้ประท้วงก็ยังคงประท้วงและไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอยู่ดี อะไรจะเกิดขึ้น

ทูตพิเศษของอาเซียนจะมีแรงกดดันอะไรต่อทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องที่ตอบยากมาก เพราะต่างฝ่ายต่างไม่มีที่ยืนทางการเมืองให้ซึ่งกันและกัน

ข้อสังเกตนี้ของผมปรากฏเป็นจริงแล้วเพราะว่ารายงานข่าวจากสื่อมวลชนปรากฏว่า ฝ่ายประท้วงได้โต้แย้งแถลงการณ์ของอาเซียนไปแล้วว่า ไม่มีแผนฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมาเลย

ต้องขอบอกว่า จุดยืนของฝ่ายประท้วงข้างต้นแสดงถึงการต่อต้านฝ่ายรัฐประหาร ด้วยความต้องการเอาผิดฝ่ายรัฐประหาร อีกทั้งยังเรียกร้องให้อาเซียนและประชาคมโลกสนับสนุนพวกเขาในแนวทางประชาธิปไตยอีกด้วย

 

วิกฤตการณ์เมียนมา สู่วิกฤตการณ์ภูมิภาค

ในความคิดของผู้เขียนเห็นว่า การประชุมนี้อาจเป็นโอกาสสุดท้ายทางการทูตเพื่อป้องกันหายนะในภูมิภาค กล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่องค์กรระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนจัดประชุมระดับสูงสุดเพื่อนำเสนอสถานการณ์พิเศษที่เกี่ยวกับสมาชิกชาติหนึ่งขององค์กร

พูดอีกอย่างหนึ่ง นี่ทำให้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน เลือนรางไปเลย

มีสื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตน่าสนใจหลายประเด็นดังนี้

ประการแรก เราเห็นความจำเป็นที่ต้อง “เกี่ยวข้อง เกี่ยวพัน” กับเมียนมาในฐานะสมาชิกอาเซียนต่อไป แม้เราจะขมขื่นกับความเกี่ยวพันอันนี้ ท่ามกลางการใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธและความป่าเถื่อนของทหารเมียนมาต่อประชาชนเมียนมาทั้งต่อผู้ประท้วงในเมือง จนถึงขั้นทำสงครามกับกองกำลังชาติพันธุ์ในภาคเหนือและด้านตะวันออกของเมียนมา

หากเรายกเลิกความสัมพันธ์หรือตัดเมียนมาออกจากอาเซียน ยิ่งทำให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลง

ประการที่สอง หากเมียนมาเกิดสงครามกลางเมืองหรือมีการนองเลือดมากขึ้น มีความเสี่ยงที่ชาติมหาอำนาจจะ “แทรกแซง”

ฉากทัศน์นี้เป็นฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด อาจมีการแทรกแซงทั้งพื้นที่ในเมียนมา รวมถึงในภูมิภาคนี้ด้วย

หากมีการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอก สิ่งนี้จะเกินเลยสิ่งที่เป็นห่วงเรื่องสถานะตรงกลาง ( Centrality) ของอาเซียน นี่เป็นความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ Jakarta Post1 ซึ่งตีพิมพ์ล่วงหน้าก่อนการประชุมครั้งพิเศษของอาเซียนปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ยังน่าสนใจว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา สื่อต่างประเทศยังวิเคราะห์ถึงแนวโน้มที่อันตรายว่า อาจจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง (Civil War) แบบประเทศซีเรีย2

ตอนที่การลุกฮือของประชาชนซีเรีย ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนถึงความขัดแย้ง

แต่ 11 ปีหลังจากนั้น เราได้เห็นความขัดแย้งที่มีเกือบทุกมหาอำนาจในภูมิภาคเกี่ยวข้อง การสังหารประชาชนนับหมื่นราย การย้ายถิ่นคนซีเรียมากกว่าครึ่งของประชากรซีเรีย ความยากลำบากของชีวิตนานนับประชากรหนึ่งรุ่นเลยทีเดียว

ในลักษณะที่เมียนมาอาจกลายเป็น “พื้นที่ความขัดแย้ง” ของชาติมหาอำนาจภายนอก อาจเป็นเหมือน “พื้นที่ที่เป็นตัวแทนของความขัดแย้ง” ของชาติมหาอำนาจ3 โดยระบุไปเลยว่า อาจเป็นจีนหรือสหรัฐอเมริกา คือมหาอำนาจภายนอกนั้น

เมื่อนั้นเอง ภัยจากสงครามกลางเมืองเมียนมาจะกระทบและขยายตัวออกไปสู่ประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาง่ายมากๆ ประเทศเหล่านั้นได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว และจีนนั่นเอง

ทำไม?

 

ในแง่ของผม เหตุที่ความขัดแย้งในเมียนมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่เป็นตัวแทนของความขัดแย้ง อาจเป็นการตีความของรัฐบาลของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อบทบาทของจีนในเชิงรุกด้านยุทธศาสตร์การทหารในเมียนมาว่าอาจเป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความได้เปรียบทางทหารและยุทธศาสตร์ความมั่นคงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นอกจากสมมุติฐานของสื่อมวลชนแล้ว เรายังไม่เห็นท่าทีและแนวโน้มใดๆ จากทางทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกาเลย นอกจากแถลงการณ์ในเชิงหลักการด้านส่งเสริมประชาธิปไตยและปกป้องด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น

ที่น่าหวาดเสียวคือ ผมได้อ่านสื่อทางการเมียนมา Global New Light of Myanmar ฉบับล่าสุดไม่มีรายงานเรื่องแถลงการณ์ข้อจากการประชุมนัดพิเศษของอาเซียนที่จาการ์ตา ทั้งๆ ที่ท่านนายพลอาวุโสเข้าร่วมประชุมด้วย

น่าห่วงประชาชนเมียนมา

1“Engage Myanmar but suspend from ASEAN” Jakarta Post 13 April 2021

2Dave Sharma “Alarming downward spiral risks turning Myanmar into another Syria” Nikkei Asia 16 April 2021

3Nile Bowie, “Do or Die moment for ASEAN in Myanmar” Asia Times 24 April 2021