ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ
สุทธิชัย หยุ่น
‘การทูตปิงปอง’ จีน-มะกัน
ครบ 50 ปี…วันนี้ทำซ้ำได้ไหม?
สัปดาห์ก่อน ผมเขียนถึงการพบกันครั้งแรกระหว่างทีมระดับสูงจากอเมริกากับที่อลาสก้าเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เป็นการเจอกันครั้งแรกภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐที่ประกาศว่าจีนเป็น “ภัยคุกคามเบอร์หนึ่ง” ของอเมริกา
พอนั่งลงเท่านั้นแหละ ต่างก็ยิงออกอาวุธด้วยวาทะรุนแรงใส่กันไม่ยั้ง
เปรียบเหมือนเป็นการตีปิงปองที่ใช้ “ลูกตบ” ใส่กันและกันตั้งแต่ยกแรก
ประดาบก็เลือดเดือดกันเลยทีเดียว
พอเขียนเสร็จก็ทำให้คิดถึง “การทูตปิงปอง” ที่เป็นเครื่องมือสำหรับการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างสองยักษ์ใหญ่
มีเหตุต้องเท้าความย้อนหลังไปเพราะมีหลายประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เพราะปีนี้ “การทูตปิงปอง” ระหว่างสหรัฐกับจีนครบรอบ 50 ปีพอดี
เป็นเหตุการณ์ที่ได้รับการเอ่ยขานอีกครั้งหนึ่งจากเอกอัครราชทูตจีนประจำวอชิงตัน “ชุยเทียนไข่” ว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ทั้งสองประเทศควรจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง
เพราะวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสองยักษ์กำลังตึงเครียดอย่างแรง
ไม่แพ้ช่วงสงครามเย็นเมื่อปี 1971 ที่การทูตปิงปองปูทางให้สองมหาอำนาจเปิดช่องทางของการแสวงหาความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงระดับโลก
ปีนั้น สหรัฐยังไม่ยอมรับจีนปักกิ่งเพราะมีความสัมพันธ์กับไต้หวัน
ปีนั้น คนอเมริกันไม่ได้รับอนุญาตให้เยือนจีนแผ่นดินใหญ่
แต่เกิดเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ขณะที่ทีมปิงปองจีนกำลังแข่งชิงแชมป์โลกอยู่ที่เมืองนาโกยาของญี่ปุ่น
สองวันก่อนการแข่งขันสิ้นสุดลง ทีมอเมริกันก็เกือบช็อกที่ได้รับคำเชิญจากทีมปิงปองจีนให้แข่งแมชท์มิตรภาพที่เมืองจีน
ทีมอเมริกันขออนุมัติกระทรวงต่างประเทศและได้รับไฟเขียวเกือบจะทันที อีกไม่กี่วันต่อมาทีมปิงปองมะกันก็บินไปฮ่องกง จากนั้น วันต่อมาก็จับรถไฟไปยังชายแดนจีน
การแข่งปิงปองทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อ 10 เมษายน 1971
นั่นคือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มิใช่เพียงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักกีฬาของสองประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการกรุยทางไปสู่การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นครั้งแรก
เพราะจากนั้นอีกเพียงสามเดือน ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ก็ได้ได้รับคำเชิญให้ไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ
การเมืองโลกก็ปรับเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมาอีกเลย
เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ต้นปี 1972 จีนก็ได้รับเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยการสนับสนุนของสหรัฐ และเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง
จากนั้น สหรัฐและจีนก็เปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ
เป็นการเปิดศักราชใหม่สำหรับจีน…ที่เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจของตนด้วยการเปิดกว้างทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง
จนวันนี้จีนกับสหรัฐกลายเป็น “คู่รักคู่แค้น” ที่มายืนผงาดอยู่แถวหน้าของเวทีระหว่างโลก
ความตึงเครียดเพราะการที่ต้องแข่งขันกันในทุกๆ ด้านระหว่างสองยักษ์ใหญ่ทำให้มีการรำลึกถึง “การทูตปิงปอง” ที่เปลี่ยนเกมการเมืองระหว่างประเทศเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนอีกครั้งหนึ่ง
ท่านทูตจีนประจำวอชิงตันพูดในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการทูตปิงปองว่า
“เมื่อ 50 ปีก่อน สหรัฐกับจีนมีความขัดแย้งกันมากกว่าวันนี้เสียอีก แต่ทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของความอยู่ดีกินดีและความฝันของประชาชนทั้งสองประเทศ จึงได้ให้เกียรติต่อความแตกต่างเหล่านั้น หันหน้ามาพูดคุยกันจนสามารถเปิดความสัมพันธ์กันได้…”
ท่านทูตชุยแสดงความชื่นชมผู้นำของทั้งสองประเทศในยุคนั้น เพราะมีวิสัยทัศน์มากพอที่จะปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่เลวร้ายกลายเป็นการยอมรับความแตกต่างของกันและกัน
“ผู้นำทั้งสองประเทศในยุคนั้นมีความสามารถมากที่ใช้ลูกบอลเล็กๆ (ปิงปอง) ขยับลูกบอลใหญ่ๆ ได้สำเร็จ…”
วันนี้ เขาจึงเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศหันหน้ามาแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่างเหมือนอย่างที่อดีตผู้นำของปักกิ่งและวอชิงตันทำจนสำเร็จ
ความจริง หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์โลกช่วงนั้นจะเห็นว่า “การทูตปิงปอง” เป็นเพียงสะพานการเมืองระหว่างสองประเทศหลังจากที่ประธานเหมาเจ๋อตงแตกหักกับผู้นำสหภาพโซเวียตและกำลังหาทางยื่นมือมายังสหรัฐอเมริกา
ทั้งสองประเทศได้มีการทดสอบส่งสัญญาณคืนดีกันผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อซาวเสียงกันและกันได้ระยะหนึ่งแล้ว
จังหวะเหมาะเจาะเมื่อมีการแข่งปิงปองระดับแชมเปี้ยนโลกที่นาโกยาของญี่ปุ่น
และทีมชาติปิงปองของทั้งสองประเทศอยู่ในสนามแข่งเดียวกันที่ญี่ปุ่น
เมื่อเกิด “หน้าต่างเล็กๆ แห่งโอกาส” ผู้นำการเมืองจีนจึงลองให้ผู้จัดการทีมจีนลองหยั่งเชิงทีมอเมริกันว่าจะมาแข่งกันระหว่างสองทีมที่เมืองจีนหรือไม่
ปะเหมาะเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีนิกสันต้องการจะยื่นมือมาให้จีนอยู่แล้วเพราะรับรู้ถึงความปริแยกระหว่างมอสโกกับปักกิ่ง
ปิงปองจึงกลายเป็น “สะพานเชื่อม” ที่ลงตัวพอดิบพอดี
วันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมีอันต้องเข้าสู่โหมดของการเผชิญหน้าในหลายๆ ด้านอีกครั้ง
การเอ่ยเอื้อนถึง “การทูตปิงปอง” โดยฝ่ายจีนก่อนจึงเป็นการหยั่งเชิงจากปักกิ่งถึงวอชิงตันอีกครั้ง
แต่ “วิสัยทัศน์” ผู้นำทั้งสองฝั่งจะนำไปสู่ “การทูตปิงปองยุคดิจิตอล” หรือไม่ยังเป็นคำถามใหญ่อยู่
เพราะมาถึงวันนี้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังอยู่ในลักษณะของการแก่งแย่งอิทธิพลระดับโลกอย่างดุเดือด
มิใช่เพียงแค่เป็นการต่อสู้กันด้วย “ลูกปิงปอง” เล็กๆ เพื่อทดสอบความปราดเปรียวและคล่องแคล่วแห่งความเคลื่อนไหวเท่านั้น
หากแต่ยังขยายความเป็นการเผชิญหน้าด้วย “ลูกระเบิดยักษ์” ที่มาในรูปของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีพลังทำลายมหาศาล
คำว่า “การทูตปิงปอง” วันนี้จึงฟังดูเหมือนเป็นเพียงหมายเหตุในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของทั้งสองมหาอำนาจ
เพราะล่าสุดความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกันปักกิ่งมาปินเกลียวกันตรงเรื่องซินเจียง, ไต้หวันและฮ่องกงหนักขึ้น
กรณีซินเจียงนำไปสู่การคว่ำบาตรซึ่งกันและกันอย่างร้อนแรง
ตามมาด้วยความร้อนระอุตรงช่องแคบไต้หวัน
ปักกิ่งส่งเครื่องบินรบรุ่นต่างๆ ไปโฉบเฉี่ยวเหนือน่านฟ้าไต้หวัน ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีไช่อิงเหวินต้องประกาศตอบโต้แบบกร้าวๆ ว่าเกาะแห่งนี้จะไม่ยอมพ่ายต่อแรงกดดันจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นอันขาด
ยังไม่ทันขาดคำ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ส่งคณะทูตพิเศษไม่เป็นทางการ (แต่ออกข่าวครึกโครมยิ่งกว่าทีมทางการเสียอีก) ไปเยือนไต้หวัน
ประกอบด้วยอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและสมาชิกวุฒิอาวุโสที่มีบารมีต่อทำเนียบขาวและกระทรวงต่างประเทศ
ตามมาด้วยการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นโยชิฮิเดะ ซูงะ กับไบเดน พร้อมแถลงการณ์ร่วมที่ระบุถึงความกังวลของสองผู้นำในช่องแคบไต้หวัน
เป็นครั้งแรกในกว่า 50 ปีที่ผู้นำอเมริกากับญี่ปุ่นร่วมกันแสดงจุดยืนเรื่องไต้หวัน
ทำไมวอชิงตันกับโตเกียวต้องแสดงจุดยืนร่วมเรื่องไต้หวัน?
ก็เพราะไบเดนต้องการจะกดดันปักกิ่งผ่านโตเกียวให้เป็นที่ประจักษ์
สีจิ้นผิงสวนหมัดทันที
ผู้นำจีนออกแถลงการณ์ร้อนแรงว่าไต้หวัน, ฮ่องกงและซินเจียงเป็น “กิจการภายในประเทศของจีน”
นี่คงไม่อาจจะเรียกว่าเป็นการทูตแบบตีปิงปองได้อีกต่อไป
เพราะด้านหนึ่งมีคนเล่นสองคน อีกข้างหนึ่งมีเพียงมือตบคนเดียว
เกมอำนาจใหม่ในเอเชียช่างร้อนรุ่มและลุ่มลึกนัก!