‘ส่งออก-ลงทุน’ ลมหายใจเศรษฐกิจไทย ที่เหลืออยู่จริง!! / บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

‘ส่งออก-ลงทุน’

ลมหายใจเศรษฐกิจไทย

ที่เหลืออยู่จริง!!

 

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟู การบริโภคในประเทศฟื้นตัว การท่องเที่ยวเริ่มคึกคัก การส่งออกสดใส การลงทุนรัฐเดินหน้า เอกชนเดินตามติดๆ จนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลออกมาประกาศเสียงดังฟังชัดว่า ปีนี้จะปั้นจีดีพีไทยให้ถึง 4% ให้ได้ จากคาดการณ์เดิม 2.8%

แต่ไม่ทันไร ภาพสดใสดังกล่าวก็ดับสลาย เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กลับมารุนแรง จุดเริ่มต้นจากสถานบันเทิง เกิดคลัสเตอร์ทองหล่อ กลายเป็นการระบาดระลอก 3 ทันที

ซึ่งรอบนี้ด้วยช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาวที่ประชาชนเดินทางกลับบ้าน ท่องเที่ยว แม้จะมีความเสี่ยงการแพร่ระบาดสูง แต่รัฐตัดสินใจไม่ล็อกดาวน์เพราะหวั่นเศรษฐกิจพังไปมากกว่านี้ เน้นขอความร่วมมือดูแลตัวเอง อยู่บ้าน

เมื่อผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ครบ 1 สัปดาห์ ชัดเจนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเริ่มทะยาน ตามด้วยผู้เสียชีวิต ทุบสถิติรายวัน ตอนนี้ทุกหนแห่งเริ่มเรียกร้องให้ล็อกดาวน์ เจ็บแต่จบ และเสนอให้อัดเงินเยียวยาโดยด่วน

ขณะที่ปริมาณวัคซีนโควิด-19 ของไทยไม่เพียงพอ จัดหาได้จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จนถูกวิพาษณ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความล่าช้าในการฉีด

จากแผนบริหารที่อึมครึม ไม่ระบุกลุ่มเป้าหมายก่อน-หลังชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนเริ่มขยับ นำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต่างเสนอตัวช่วยรัฐจัดหาและกระจายวัคซีนครั้งใหญ่

เป็นความร่วมมือที่เอกชนกำลังส่งสัญญาณกลายๆ ว่า เริ่มไม่ไหวกับการบริหารของรัฐบาลแล้ว

แม้สถานการณ์จะดูแย่แค่ไหน แต่ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังโลกสวยมองว่า แม้จะมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่ยอดผู้ที่รักษาหายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจจะชัดเจนเดือนพฤษภาคมและมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมคาดหวังจีดีพีปีนี้คงเดิมระดับ 4%

เพราะเชื่อว่าหลังโควิดสงบ คนไทยอาจจะเที่ยวเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม พร้อมขอให้คนที่มีเงินฝากจำนวนมากมาใช้จ่าย

เป็นข้อเสนอที่หลายคนฟังแล้วออกอาการอึ้ง!!

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความมืดมิดของเศรษฐกิจไทย หากตัดความโลกสวยของรัฐบาล จะพบว่ายังมี 2 เครื่องยนต์ที่พอขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้

หนึ่ง คือการส่งออกปีนี้ ที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวภาคการผลิตของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนผลของประสิทธิภาพจากการกระจายวัคซีนของหลายประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มส่งผลในทางบวกต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภคของประชาชน และราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว

การส่งออกที่ขยายตัวสะท้อนตัวเลขเดือนมีนาคม 2564 มูลค่า 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และขยายตัว 8.47% เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับจากพฤศจิกายน 2561 เมื่อคิดเป็นค่าบาทจะมีมูลค่า 719,051 ล้านบาท ขยายตัว 4.05% โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกจะสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 4% แต่ยังไม่กล้าระบุตัวเลขเป้าหมายใหม่ ขอหารือกับภาคเอกชนก่อน

ขณะที่ภาคเอกชน อย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินตัวเลขส่งออกปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 4-6% จากเดิมคาดการณ์ 3-5%

เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นชัดเจน

 

สอง คือตัวเลขการลงทุนในประเทศ ทั้งจากภาครัฐที่เดินหน้าเต็มที่ และเอกชนที่กำลังพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบคึกคักสวนทางเศรษฐกิจภาพรวม มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์ปกติ ไม่มีโควิด

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นคือ การท่องเที่ยว แม้สถานการณ์ปัจจุบันเข้าขั้นโคม่า แต่นักลงทุนสายป่านยาวจำนวนหนึ่งก็เลือกเดินหน้าลงทุน ประเด็นนี้ “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แหล่งท่องเที่ยวหลักที่เป็นที่นิยมของต่างชาติ อย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา

“นักลงทุนเหล่านี้เปลี่ยนวิกฤตโควิดมาเป็นโอกาสในการเร่งลงทุนช่วงนี้ ทั้งการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิม และการสร้างกิจการใหม่ ซึ่งกว่าโครงการจะสร้างเสร็จอีก 1-2 ปีข้างหน้า ถึงเวลานั้นเศรษฐกิจฟื้นตัว นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายสนามบิน มอเตอร์เวย์ และระบบรางทั้งในอีอีซีและภูมิภาคต่างๆ มีความคืบหน้ามากขึ้น นักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะได้เปรียบรายอื่นที่เริ่มต้นช้ากว่า”

นฤตม์ระบุ

 

สําหรับช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2564) มีโครงการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 9 โครงการ เงินลงทุน 12,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 3 โครงการ เงินลงทุน 1,670 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่กว่า 46% จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือ จังหวัดภูเก็ต 32% ชลบุรี 9% พังงา 8% และเชียงใหม่ 5% ขณะที่ในแง่ประเทศผู้ลงทุน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนไทย

รองเลขาธิการบีโอไอยังย้ำว่า ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับประโยชน์อีกจำนวนมาก รายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 20% ของจีดีพี

เป็น 2 เครื่องยนต์สุดท้าย เปรียบเสมือนลมหายใจสุดท้ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ มองตามความจริง ไม่โลกสวย!!