หลังเลนส์ในดงลึก : ไอ้หนวดหิน

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ร้านอาหารข้างสถานีรถไฟอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.2559 เวลา 17 : 30 น.

“ตอนนั้นปี 26-27 ได้มั้ง ที่เจอกันครั้งแรก” ผู้ชายสูงวัยท่าทางแข็งแรง ดวงตาแจ่มใส ที่ยังมีเค้าความหล่อ แผงหนวดเป็นปื้นสีขาว คล้ายจะเพิ่มความ “เท่” ให้ชายผู้นี้ไม่น้อย

เขาคือ โกมล บุญชัย ข้าราชการกรมป่าไม้เดิม ซึ่งเกษียณอายุราชการมาแล้วหลายปี ปี พ.ศ.2526-2527

ที่เขาพูด หมายถึงปีที่เขาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จังหวัดอุบลราชธานี

ลูกน้องเขาพบเจอร่องรอยกูปรี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ผมได้รับข่าวนั้นและรีบเดินทางไปทันที นั่นเป็นช่วงเวลาที่คงเรียกได้ว่าเป็นยุค “ค้นหา” ของผม การไล่ตามสัตว์ป่าหายากคือเป้าหมายหนึ่งที่ผมตั้งใจ ก่อนจะพบว่ายิ่งไล่ตามดูคล้ายจะยิ่งห่างไกล ผมใช้เวลาหลายวันกับเจ้าหน้าที่ในป่ายอดโดม พบรอยตีน แต่ผมไม่แน่ใจนักว่าจะใช่รอยตีนกูปรีหรือเปล่า

ได้เห็นเขาของกูปรีตัวเมีย ที่มีชาวบ้านเก็บไว้ และความจริงแล้วบริเวณนั้นเคยเป็นที่อาศัยของกูปรี นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ก็เคยพบเห็นในบริเวณใกล้เคียงกับที่นั่น

หลายวันกับการตามหาสัตว์ป่าหายาก ผมไม่พบ แต่สิ่งที่ได้คือ ได้สนิทสนมกระทั่งคล้ายเป็นน้องชายคนหนึ่งของผู้ชายที่ชื่อ โกมล บุญชัย ผู้ชายมาดเข้ม แข็งกร้าวที่ลูกน้องทุกคนเรียกเขาว่า “ไอ้หนวดหิน”

 

ความโชคดีประการหนึ่งของผมคือ ได้เริ่มทำงานในป่าเร็ว ตั้งแต่ก่อนจะจริงจังกับงานถ่ายรูป ผมตระเวนดูนกไปทั่วทั้งผืนป่า นอกจากจะเป็นบทเรียนได้รู้จักนก รู้ว่าพวกมันไม่ได้เป็นเพียงนกสีสวยๆ บินไปบินมา

แต่ได้รู้จักหน้าที่ของพวกมันรวมทั้งได้เห็นความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันด้วย

และโอกาสดีมากๆ คือ ผมได้พบกับ “ป่าไม้” หลายคนในเวลานั้น ซึ่งแต่ละคนกำลังมุ่งมั่น ไฟแรง เอาจริงกับงานปกป้องดูแลสัตว์ป่าและแหล่งอาศัย ไม่ว่าจะเป็น พี่สืบ สืบนาคะเสถียร พี่วีรวัธน์ ธีระประสาธน์ ผู้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ถึง 16 ปี พี่ท้วม สุรชัย ท้วมสมบูรณ์ ผู้ชายซึ่งหลายคนยอมรับให้เป็นครูใหญ่ นักสื่อความหมายธรรมชาติ

พี่นพรัตน์ นาคสถิตย์ ช่วงที่เขาเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พาผมเข้าป่าห้วยขาแข้งเป็นครั้งแรก

“ให้อ๊อดพาไป เขาเป็นลูกป่า ได้เจอกระทิงแน่ๆ” วันหนึ่งในป่าทางตอนใต้ของป่าห้วยขาแข้งพี่นพพูดกับผม พร้อมกับบอกให้พี่อ๊อด ลูกน้องคู่ใจพาผมไปที่โป่งใหญ่แห่งหนึ่งพี่อ๊อดพาผมเดิน

ไป-กลับกว่า 20 กิโลเมตรในวันนั้น เป็นวันแรกที่ผมได้ถ่ายรูปกระทิง กระทิง 6 ตัว รูปนั้นคือ

จุดเริ่มต้นอันทำให้ผมเดินทางมาได้ไกล

 

“ป่าไม้” ในเวลานั้นส่วนใหญ่จะเป็นพวก “สายบู๊” เพราะพื้นที่ป่าหลายแห่งอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์

ผมได้พบกับหัวหน้า สมโภชน์ มณีรัตน์ ซึ่งกำลังรับภาระหนัก โยกย้ายคนออกจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ช่วงที่เขายังอยู่ในมาดหัวหน้า หนวดเคราครึ้มมาดเข้ม งานหนักของเขาเห็นผลแล้วในวันนี้ พื้นที่อันเคยถูกแผ้วถางเพื่อปลูกพืชผล หลายแห่งกลับคืนเป็นป่า หลายแห่งคือทุ่งหญ้าที่มีการจัดการให้เป็นแหล่งอาหารสัตว์

ผ่านไปกว่า 20 ปี ถึงวันนี้การพบเห็นฝูงช้างหรือกระทิง หากินอยู่ร่วมกันในพื้นที่คนเคยอยู่นับร้อยตัว ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

ร่วม 30 ปีก่อน หากจะพูดถึง “ป่าไม้” ที่ดูเหมือนจะ “บู๊” มาก หลายคนคิดถึงไอ้หนวดหิน

 

จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม พี่โกมล โยกย้ายไปตามวิถีของข้าราชการทั้งทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและป่าห้วยขาแข้ง

“ที่ดูเหมือนจะบู๊มากหน่อยน่าจะเป็นที่ซับลังกา” หลังจากไม่ได้พบกันกว่าสิบปีผมทวนความหลังกับพี่โกมล ในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่เมืองราชบุรี หลังเกษียณเขามาช่วยงานโรตารี่ของจังหวัด วัยไม่ได้ทำให้ผู้ชายมาดเข้มคนนี้เปลี่ยนแปลง เขายังคงเสียงดังฟังชัด คุยสนุกและชื่นชมกับการ “ดื่ม” มากกว่ากินกับข้าว

“ตอนนั้นเพิ่งประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” พี่โกมลเล่าต่อ

“แถวซับลังกาผู้มีอิทธิพลเยอะ แต่นักเลงก็เป็นแบบนักเลงจริงๆ วันหนึ่งกำนันเชิญพี่ไปพบที่บ้านบอกจะของคุยด้วย” เขาทบทวนความหลัง

“ขึ้นไปบนบ้าน บนโต๊ะทำงานกำนันเอาปืน 11 ม.ม. วางไว้ข้างหน้า พี่ก็ไม่ว่าอะไร ทักทายตามปกติ ควักบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบแล้วเขี่ยบุหรี่บนปืนกำนันนั่นแหละ กำนันแกก็มองเฉยๆ” เขาหยุดยกเบียร์ขึ้นดื่มแล้วเล่าต่อ

“พี่หยิบปืนกระบอกนั้นขึ้นมา ถามว่าเอามาทำไมไม่จำเป็นและขว้างทิ้งไปเลย” กำนันมองอย่างไม่นึกว่าจะพบกับ “ป่าไม้” ที่เข้มขนาดนี้

“หลังจากนั้นก็คุยกันและแก้ปัญหาได้ ต่อมาก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเลยล่ะ”

เขาเป็นผู้ชายรุ่นเก่า ทำงานในป่ากับลูกน้องชนิด “มึงวาพาโวย” แต่ลูกน้องทุกคนก็รู้ดีว่า นี่คือลูกพี่ซึ่งพวกเขาฝากชีวิตไว้ด้วยได้

การทำงานในป่าสมัยนั้นความรุนแรงคล้ายเป็นเรื่องปกติ ในป่าพวกเขา “ปะทะ” กับคนล่าสัตว์และตัดไม้เสมอๆ

“ไปไหนมาไหนปืนนี่ขาดไม่ได้ เพราะป่าไม้ทุกคนมีค่าหัวหมด คนเสียผลประโยชน์มันเยอะ”

ปืนพก 11 ม.ม. คือเพื่อนคู่กายพร้อมกับแมกกาซีนบรรจุกระสุนเต็มอีก 7 แม็ค

 

ฉายา “ไอ้หนวดหิน” นั้นไม่ได้เรียกกันเฉพาะในหมู่ลูกน้อง คนผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็เรียกเขาเช่นนี้

“ที่ซับลังกานั่นแหละวันหนึ่งลูกน้องมาบอกว่าจะเข้าไปจับคนตัดไม้ตอนนี้อยู่บนบ้าน ลูกน้องเล่าว่า คนบนบ้านบอกว่าถ้าแน่จริงขึ้นมาจับเลยเขาจะต้อนรับด้วยปืน” พี่โกมลเล่าแบบขำๆ

“พี่นำลูกน้องไปเลย บอกกูจะขึ้นไป พวกมึงรอข้างล่าง” เขาไปยืนอยู่หน้าบ้านสักพักมองซ้าย

มองขวาก่อนสั่งลูกน้อง

“พวกมึงดูหมาให้กู ไล่ไปซะ” ลูกน้องอดหัวเราะไม่ได้ ปืนบนบ้านน่ะไอ้หนวดหินไม่กลัว แต่กลัวหมา

ถึงวันนี้เหล่า “ป่าไม้” พวกนี้ต่างอยู่ในวัยเกษียณมาหมดแล้ว พวกเขามุ่งมั่นเอาจริง

เป็นพวกที่เดินมาล่วงหน้า สร้างเส้นทางให้น้องๆ ได้เดินตาม