ทรัพย์ในทิเบต : อุตสาหกรรม-สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

ทรัพย์ในทิเบต

: อุตสาหกรรม-สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

 

ทิเบต ดินแดนบนภูเขาสูงที่ถูกขนามนามว่าเป็น “หลังคาโลก” เพราะอยู่ในแถบภูเขาหิมาลัยที่มีอายุนับหลายล้านปี แต่ทิเบตไม่เพียงเป็นที่อาศัยของชาวทิเบตและพุทธศาสนานิกายทิเบตที่อยู่ภายใต้การปกครองจีนมานานกว่า 6 ศตวรรษเท่านั้น ทิเบตยังเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสินแร่หลายชนิด ซึ่งบางชนิดเป็นที่ต้องการในตลาดโลก

ความร่ำรวยของทรัพยากรธรรมชาติในทิเบต เป็นมูลเหตุหลักที่จีนมุ่งมั่นเข้าครอบงำทิเบตแบบเข้มข้น เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้จีนด้วยการดึงแร่จากแผ่นดินทิเบตออกมาสร้างกำไร

และเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น จีนจึงปฏิบัติต่อทิเบตหลายทศวรรษด้วยการบังคับอย่างแข็งกร้าวเพื่อไม่ให้ชาวทิเบตลุกฮือต่อต้านในทุกมิติ กลายเป็นพลเมืองผู้ภักดีเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ให้กับจีน

 

ทรัพยากรธรรมชาติในทิเบต ในกลุ่มสินแร่มีแร่มีค่าที่สำคัญทั้งในอุตสาหกรรมหนักและเชิงพาณิชย์ได้แก่ ทองแดง ทองคำ ถ่านหิน และแร่ลิเธียม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ที่ถูกใช้ในหลายส่วนตั้งแต่รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าจนถึงสมาร์ตโฟน

ทิเบตยังเป็นพื้นที่มีค่าในด้านทรัพยากรป่าไม้และน้ำด้วย โดยเฉพาะการเป็นต้นน้ำให้กับแม่น้ำสายสำคัญของโลกอย่าง แม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซีในจีน แม่น้ำโขงในคาบสมุทรอินโดจีน แม่น้ำสาละวินและอิรวดีในพม่า แม่น้ำพรหมบุตรที่ไหล่ผ่านอินเดียและบังกลาเทศ และแม่น้ำสินธุไหลพาดผ่านอินเดียและปากีสถาน

ความมั่งคั่งของทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะแร่ ถูกปกปักษ์รักษาโดยชาวทิเบตที่ไม่ทำลายแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญต่อชีวิตและจิตวิญญาณของพวกเขา

แต่แล้วปี 1950 ทิเบตถูกรุกรานและถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจีน ทิเบตไม่สามารถต้านทานอำนาจทางทหารของจีนที่ถูกส่งมาเพื่อปราบปรามการการลุกฮือ

เว็บไซต์ฟรีทิเบตได้ให้ข้อมูลการใช้ทรัพยากรในแถบทิเบตโดยจีนว่า การทำเหมืองแร่ของจีนในทิเบตขยายตัวอย่างมาก

ยิ่งการสร้างทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต ในปี 2006 เพื่อลำเลียงแร่จากทิเบตส่งไปที่ต่างๆ ของจีน ยิ่งเร่งให้เกิดเหมืองแร่ตามหลายจุดทั่วทิเบตมากขึ้น

ยกตัวอย่าง ทองแดง แค่ทิเบตที่เดียวสามารถขุดแร่ทองแดงขึ้นมาได้มากถึง 13 ล้านตัน

ส่วนแร่ทองคำ จีนได้ทำเหมืองหลายจุด ซึ่งรวมถึงจุดที่เป็นสถานที่สำคัญทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ส่งผลทำให้เกิดการประท้วงการทำเหมืองโดยชาวทิเบต แต่ก็ถูกทางการจีนปราบปรามอย่างหนัก

การต่อต้านของชาวทิเบต ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังความเชื่อและศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธทิเบต โดยจุดศูนย์กลางคือ องค์ทะไลลามะ ทำให้จีนทุ่มกำลังในการครอบงำสถาบันศาสนาของชาวทิเบตและใช้นโยบายกลืนกลายวัฒนธรรมลดทอนวิถีชีวิตและประเพณีแบบทิเบตเพื่อเป้าหมายกำจัดสิ่งที่จีนมองว่าเป็นการมั่วสุมนำไปสู่การปลุกปั่น ต่อต้านรัฐบาล

เพื่อให้การแสวงหาผลประโยชน์บนแผ่นดินทิเบตดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง

 

แต่การแสวงหาประโยชน์ของจีนโดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ ได้เปลี่ยนสภาพพื้นที่เพาะปลูกให้กลายเป็นแหล่งขุดเหมือง พื้นดินรกร้าง น้ำปนเปื้อนสารพิษจากการทำเหมือง ส่งผลต่อสัตว์น้ำในพื้นที่อย่างมาก

อย่างกรณีสารเคมีจากเหมืองลิเธียมรั่วไหลลงแม่น้ำลิชูจนเป็นพิษในปี 2016 นำไปสู่การประท้วงอย่างกว้างขวาง และเป็นที่น่ากังวลว่า มีโอกาสที่สารเคมีรั่วไหลลงในแม่น้ำสายสำคัญอาจส่งผลชีวิตประชาชนในหลายประเทศ ไม่นับที่จีนได้เข้าควบคุมต้นน้ำสายสำคัญด้วยการมีเขื่อนหลายจุด จนรบกวนระบบนิเวศในพื้นที่รอบเขื่อน และยังส่งผลต่อการไหลของน้ำที่กระทบหลายล้านชีวิตอย่างกรณีแม่น้ำโขง

หรือแม้แต่อุตสาหกรรมป่าไม้ของจีนในทิเบตที่รัฐบาลจีนสนับสนุน ได้ทำให้พื้นที่ป่าในทิเบตระหว่างช่วงปี 1950-1985 ลดลงราว 46% หรือประมาณ 13.57 ล้านเอเคอร์ จากเดิมที่มีประมาณ 25.2 ล้านเอเคอร์

การทำตัดไม้แบบล้างผลาญนี้เองที่นำไปสู่อุทกภัยใหญ่ของแม่น้ำแยงซีในปี 1998 และอุทกภัยดรักชู ในปี 2010

 

การครอบครองทิเบตโดยจีน กำลังกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า การกวาดล้าง ทรัพยากรถูกดูดจากพื้นดิน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวทิเบตก็ถูกพราก และจีนกำลังทำแบบเดียวกันนี้กับที่มณฑลซินเจียง ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติปริมาณมากโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งต้องแลกด้วยการปราบปรามชาวอุยกูร์ที่ประท้วงต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ดำรงหลายชั่วอายุคน

ประเด็นดราม่า ‘แบนฝ้ายซินเจียง’ ปฏิเสธได้ยากว่าส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของจีนต่อภูมิภาคเพื่อครอบครองทรัพยากรด้วยปฏิบัติต่อคนในพื้นที่ที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนจนเป็นเรื่องอื้อฉาว

ทำร้ายภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นของจีน จนต่อให้แก้ข่าวก็ยากจะเชื่อใจได้