มติที่ท้าทาย- อาเซียนกับเมียนมา : ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

การประชุมอาเซียนในปัญหาวิกฤตการณ์เมียนมาที่กรุงจาการ์ตาในวันเสาร์ที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นเวทีระหว่างประเทศครั้งแรกของความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จบลงแล้วด้วยการออกข้อมติโดยสรุป 5 ประการ ได้แก่

1) ยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาทันที

2) เปิดการเจรจาอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาอย่างสันติ

3) ตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียนเป็นสื่อกลางในกระบวนการเจรจาที่จะเกิดขึ้น

4) ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

5) ผู้แทนพิเศษและคณะฯ จะเดินทางเยือนเมียนมา

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมีข้อกังขาว่า ข้อมติทั้งห้าประการนี้ อาเซียนจะสามารถผลักดันให้เกิดเป็นจริงในทางปฎิบัติได้เพียงใด เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาปัจจุบันยังไม่เห็นถึงแนวโน้มที่รัฐบาลทหารจะหันมาใช้มาตรการทางการเมืองในการแก้ปัญหาอย่างเป็นจริง

แต่คงต้องยอมรับว่า การออกข้อมติเช่นนี้ต้องถือเป็น “มิติใหม่” ของอาเซียน เพราะเดิมอาเซียนมักจะใช้วิธี “หลับตา” ให้กับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในชาติสมาชิก และยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลทหารอย่างไม่โต้แย้ง ด้วยการยืนอยู่บนหลักการว่า อาเซียนจะไม่แทรกแซง “กิจการภายใน” ของสมาชิก เพราะถือว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายใน ที่องค์กรในภูมิภาคอย่างอาเซียนจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระบบการเมืองนั้น อาเซียนก็จะเสมือน “ยืนดู” เหตุการณ์เหล่านั้น ดังจะเห็นได้ว่า อาเซียนไม่เคยมีความเห็นหรือข้อท้วงติงกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยแต่อย่างใด

ในกรณีของเมียนมาอาจจะมีความแตกต่าง เพราะหลังจากประกาศการยึดอำนาจสิ้นสุดลง ผู้ประท้วงก็ตัดสินใจ “ลงถนน” แทบจะทันที แล้วรัฐบาลทหารก็ไม่มีท่าทีที่จะรีรอในการใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามผู้ประท้วงทันทีเช่นกัน จนถึงวันนี้ ตัวเลขการสูญเสียชีวิตของประชาชนสูงถึง 745 คน และมีผู้ถูกจับกุมเป็นจำนวนมากกว่า 3,371 คนแล้ว (ตัวเลขถึงวันที่ 24 เมษายน 2021) จนทำให้การกวาดล้าง จับกุม และปราบปรามฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร ถูกยอมรับว่าเป็น “วิกฤตการเมืองโลก” ชุดหนึ่งในปัจจุบัน

อีกทั้งหลายฝ่ายที่มีความกังวลต่อวิกฤตการณ์ในเมียนมา มีความเห็นตรงกันว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ปัญหาระดับประเทศ ที่เป็นเรื่องภายในของเมียนมาอีกต่อไปแล้ว เพราะปัญหาทั้งความรุนแรงและวิกฤตทางด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นขยายตัว และส่งผลกระทบในระดับภูมิภาค

ดังนั้น นอกจากมีความพยายามที่จะผลักดันให้สหประชาชาติเข้ามายุติความรุนแรงจากการใช้กำลังของฝ่ายรัฐบาลแล้ว ความหวังอีกส่วนหนึ่งฝากไว้กับอาเซียนในฐานะองค์กรในภูมิภาค ที่ควรจะต้องเข้ามาแบกรับภารกิจในการคลี่คลายวิกฤตดังกล่าว ฉะนั้นเมื่ออาเซียนเปิดการประชุมวาระพิเศษ พร้อมกับการเดินทางของนายพลมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุม จึงทำให้เกิดความคาดหวังว่า อาเซียนอาจจะเป็นองค์กรที่ช่วยคลี่คลายความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้บ้าง หรือเป็นไปได้เพียงใดที่อาเซียนพอจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้นำทหารเมียนมาเปลี่ยนมุมมองในการจัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่

แต่อย่างน้อยสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมในเบื้องต้นคือ ท่าทีของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด้ ของอินโดนีเซีย ในฐานะผู้ผลักดันการประชุมพิเศษ ที่ได้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่า สิ่งแรกที่ผู้นำทหารเมียนมาจะต้องทำคือ “การยุติการใช้ความรุนแรง” และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาทางลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ประธานาธิบดีวิโดโด้ยังเรียกร้องอีกด้วยว่า “ความรุนแรงจะต้องยุติลง และประชาธิปไตย เสถียรภาพ และสันติภาพในเมียนมาจะต้องฟื้นคืน…” พร้อมกันนี้ เขายังเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง อีกทั้งรัฐบาลทหารจะต้องอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนสามารถเดินทางเข้าประเทศ เพื่อแสวงหาลู่ทางในการสร้างกระบวนการเจรจา

ในทำนองเดียวกัน นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ก็เรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง โดยเฉพาะการปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มินต์ ที่ถูกรัฐบาลทหารจับกุม

ในสภาวะเช่นนี้ ปัจจัยสำคัญจึงขึ้นอยู่กับผู้นำทหารเมียนมาจะตอบรับต่อข้อเสนอทั้ง 5 ประการของอาเซียนได้เพียงใด ซึ่งหากดูจากสาระสำคัญของข้อเรียกร้องแล้ว น่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้นำทหารเมียนมาจะยอมรับได้ เช่น ผู้นำทหารเมียนมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนมาตลอดถึงการปฏิเสธที่จะ “พูดคุย” กับผู้นำรัฐบาลพลเรือนเดิม หรือโอกาสที่จะนำคู่กรณีคือ ผู้นำทหารและผู้นำฝ่ายต่อต้านเข้าสู่กระบวนการเจรจา ยังเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก ซึ่งหากผู้นำทหารไม่นำพากับข้อเสนอเหล่านี้แล้ว การผลักดันการแก้ไขวิกฤตของอาเซียน ก็อาจจะไม่เกิดผลในทางปฎิบัติ และอาจทำให้อาเซียนถูกวิจารณ์ว่า ข้อมติของอาเซียนเป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” มากกว่าจะหวังผลจริง หรืออย่างน้อยสัญญาณแรกที่หลายฝ่ายเฝ้ารอคือ ยุติการใช้กำลังในการปราบปราม

แม้การจัดการประชุมครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทใหม่ของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตการเมืองของชาติสมาชิก และเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็มีความท้าทายจากการตอบสนองของรัฐบาลทหารรออยู่ข้างหน้า อีกทั้งยังมีความท้าทายที่ต้องการความร่วมมือของชาติสมาชิก โดยเฉพาะในกรณีของไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีชายแดนทางบกติดต่อกับเมียนมาตลอดแนว และทั้งอาเซียนจะต้องไม่ละเลยบทบาทของ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” ที่ฝ่ายประชาธิปไตยและกลุ่มชาติพันธุ์ได้จัดตั้งขึ้น จนเป็น “รัฐบาลพลัดถิ่น” ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารในปัจจุบัน ฉะนั้นคำถามในอีกด้านหนึ่งคือ อาเซียนจะจัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลนี้อย่างไร

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่และท้าทายผู้นำอาเซียนอย่างมาก และทำให้เกิดคำถามสำคัญหลังการประชุมว่า อาเซียนจะผลักดันอย่างไรให้ข้อมติทั้งห้าได้รับการปฎิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งข้อมติเช่นนี้จะดำเนินการในกรอบเวลาใด เพราะหากมีการออกข้อมติโดยปราศจากกรอบเวลาที่ชัดเจนแล้ว มติเช่นนั้นก็อาจเป็นเพียงการ “ยื้อเวลา” ออกไป โดยไม่เกิดผลในทางปฎิบัติ

ดังนั้น ผลจากการประชุมครั้งนี้จึงเป็นเสมือนกับการจับอาเซียนเข้าห้อง “สอบใหญ่” นั่นเอง!