ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
ว่ากันว่าสายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ ผมเองก็พูดเสมอว่าเมื่อผ่านพ้นสถานที่หรือเรื่องราวใดๆ ไปแล้ว หนทางจะย้อนกลับไปก็ไม่มี ป่าหลายแห่งผมไม่เคยย้อนกลับไปอีกเลย เพื่อนผู้ร่วมทางหลายคนซึ่งเคยสนิทสนมคุ้นเคยหรืออยู่ในกระท่อมของเขานานนับเดือนอย่างเขียว เจ้าของสวนยางเล็กๆ ในป่าแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เขียว ชายวัย 30 กลางๆ หนวดเครารกครึ้ม คุณสมบัติของเขาคือ “เคยเอาผลไม้ไปส่งที่กรุงเทพฯ เดินอยู่แถวจตุจักร โดนตำรวจจับเพราะหน้าตาไม่น่าไว้วางใจ” เขาเล่าให้ผมฟังแบบขำๆ
จริงๆ เขียวมีอาชีพหลักคือ หาของป่า ล่าสัตว์ ทำสวนยางเป็นงานอดิเรก มีคนแนะนำผมว่าถ้าอยากได้รูปเลียงผา เขียวน่าจะเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในการพาไป
ซึ่งก็จริง หลายวันที่อยู่ร่วมกัน เช้ามืดผมออกไปช่วยเขากรีดยาง สายๆ เราขึ้นภูเขาไปเฝ้าดูเลียงผา อาจเป็นเพราะความสนิทสนมหรือมิตรภาพที่เรามีให้ต่อกัน เขียวเชื่อที่ผมพยายามโน้มน้าวและรับปากว่าจะเลิกล่าเลียงผาและสัตว์อื่นๆ เสร็จภารกิจถึงวันจากลา
“พบกันตอนยางเปลี่ยนสีใบนะ” เขียวบอก ช่วงที่ต้นยางปรับตัวเข้าสู่ฤดูแล้งเขาจะมีเวลาว่าง เราจะได้ขึ้นเขากัน “ครับ” ผมรับปาก ผ่านฤดูที่ต้นยางเปลี่ยนสีใบมาแล้วหลายสิบครั้งผมไม่เคยกลับไปหาเขียวอีก
ป่าอีกหลายแห่งก็เป็นเช่นนี้ ก่อนจากลาเรามักรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะกลับมาเพื่อไปตรงโน้นตรงนี้ หรือควรจะเป็นฤดูไหนที่จะมี พบสัตว์ที่ผมกำลังตามหา
แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงเรื่องหรือสถานที่ในความทรงจำ ผมไม่ได้ย้อนกลับไปอีกเลย
แต่ไม่ใช่ผืนป่าห้วยขาแข้ง สถานที่ซึ่งดูคล้ายกับว่าไม่ว่าจะไปอยู่ ณ สถานที่ใดผมต้องวนเวียนกลับมาเสมอๆ
คงไม่ใช่เพราะอาบน้ำในลำขาแข้งอย่างที่นิคม ลูกชายน้าหมุด พิทักษ์ป่าแห่งสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำเคยพูดไว้ เขาหมายถึง ผมอาบน้ำในลำขาแข้งแล้วก็จะไปไหนไม่รอด ไม่ใช่ลำขาแข้งสายเดียว ยังมีห้วยแม่ดี ลำห้วยทับเสลา ห้วยกระดิ่งและอีกหลายลำห้วย อาจเป็นเพราะอาบน้ำในลำห้วยเหล่านี้แหละ ป่าห้วยขาแข้งจึงเป็นที่คล้ายผมจะไปไหนไม่พ้น แม้จะอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
ด้วยความที่เป็นผืนป่าติดต่อกัน อยู่ในสถานภาพเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก สำหรับสัตว์ป่า ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและป่าห้วยขาแข้ง แท้จริงคือป่าผืนเดียวกัน พวกมันไม่มีพรมแดน
จากใจกลางป่าห้วยขาแข้ง ผมใช้เวลา 3 วัน เดินแบบไม่รีบร้อนถึงบ้านพักในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ระยะทางเท่านี้สำหรับเสือ พวกมันใช้เวลาแค่วันเดียว มีข้อมูลอันชัดเจนว่าเสือใช้พื้นที่ในป่าทุ่งใหญ่และป่าห้วยขาแข้ง โดยเดินไป-มาอย่างสม่ำเสมอ
กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.2559 ผมพบตัวเองอยู่ในป่าห้วยขาแข้ง ปักหลักอยู่แถวหน่วยพิทักษ์ป่าที่มีชื่อว่า “กระปุกกระเปียง” บ้านไม้สีเขียวอ่อนๆ สองหลังมีสองห้องนอนสองห้องน้ำ ด้านหน้ามีเฉลียงยาว หลังหนึ่งเป็นสำนักงาน ใช้เป็นที่ตั้งเครื่องรับ-ส่ง วิทยุ ส่วนอีกหลังหนึ่งใช้รับรองผู้มาเยือนและเป็นบ้านพักหัวหน้าในสมัยก่อน ต่ำลงไปมีเรือนโล่งๆ เป็นครัวกลาง ถัดจากครัวคือเรือนแถว 2 ชั้น มีชั้นละ 4 ห้อง คือที่พักของเจ้าหน้าที่
นี่คือสภาพและบรรยากาศของหน่วยพิทักษ์ป่าแบบ “เดิมๆ” ที่ผมเคยเห็นเมื่อ 30 ปีก่อน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง สภาพหน่วยพิทักษ์ป่าเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
แต่ในป่าห้วยขาแข้งและป่าทุ่งใหญ่นเรศวร หน่วยพิทักษ์ป่าหลายแห่งยังมีสภาพเช่นนี้
“พักอยู่ที่หน่วยไหมครับ” ผู้ชายรูปร่างสันทัดผิวคล้ำ วัยต้น 50 ถามเบาๆ เขาแสดงความยินดีที่ได้พบกัน ศักดิ์ชัย เกิดเทศ หรือน้าโก๊ะ ของน้องๆ ผมพบกับเขามาเนิ่นนาน
“อยู่นี่แหละครับ” ผมพูด
“เจอน้าโก๊ะก็ไม่ไปไหนแล้วครับ ขอแกงป่าทุกมื้อแล้วกัน” ยิ่งบุญ ดีใจ เขาติดใจฝีมือแกงป่าของน้าโก๊ะ ช่วงที่ยิ่งบุญติดตามหมีควาย ศักดิ์ชัยเป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า ซับฟ้าผ่า เขาขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านทุกวัน เพราะหน่วยซับฟ้าผ่าอยู่ระหว่างทางสำนักงานเขต กับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ยิ่งบุญแวะบ่อยโดยเฉพาะตอนปิดเทอม
“แกงป่าอย่างเดียวหรอ” ผมถามยิ่งบุญ ช่วงนั้นลูกสาวของศักดิ์ชัยอยู่ในวัยรุ่น เรียน ม.3 ถึงวันนี้มีลูก 2 คนแล้ว
ศักดิ์ชัยย้ายไปหลายหน่วย “ผมอยู่มาเกือบครบทุกหน่วยแล้วครับ” เขาเล่า ศักดิ์ชัยมีข้อมูลแหล่งสัตว์ป่ามาก รู้จักพื้นที่ในป่าห้วยขาแข้งเป็นอย่างดี
“เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2528 ครับ เป็นวันที่ผมเริ่มงานที่นี่วันแรก” ศักดิ์ชัยฟื้นความหลังให้ฟัง “ที่นี่” ของเขาคือหน่วยพิทักษ์ป่ากระปุกกระเปียงแห่งนี้ เขาเป็นคนจากอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มีญาติบอกให้ลองมาสมัครงานในป่า
“สมัยโน้นเขาให้มาสมัครกับหัวหน้าหน่วยเลยครับ ผมเดินจากเขตมา 14 กิโล ถึงนี่ สมัครงานกับหัวหน้าซมพา ฆ้องเสนาะ”
ผมรู้จักหัวหน้าซมพา ในฐานะที่เขาเป็นบุคคลแรกที่ถ่ายรูปสมเสร็จว่ายน้ำได้ เป็นภาพสมเสร็จในธรรมชาติภาพแรกที่เราได้เห็น เป็นที่ฮือฮาในหมู่นักนิยมธรรมชาติอย่างยิ่งในสมัยนั้น
“ตอนนั้นคนล่าสัตว์เยอะ เรียกว่าเดินออกไปจากหน่วยก็ได้เจอ ไม่เจอคนล่าสัตว์ก็เจอเนื้อที่พวกเขาตัดเป็นชิ้นๆ แขวนไว้ ถ้าเป็นเนื้อกวางจะตัดเป็นชิ้นยาวๆ บางๆ ถ้าเป็นเนื้อกระทิงตัดเป็นก้อนๆ รมควัน”
“จับผู้ต้องหาได้นำตัวไปส่งที่ลานสัก พอเรามานั่งกินข้าว พวกก็ออกมาแล้วครับ” ศักดิ์ชัยเล่าถึงสถานการณ์
ป่าห้วยขาแข้งช่วงนั้นมีปัญหามากทั้งการล่าสัตว์และตัดไม้ จนกระทั่งปี พ.ศ.2533 ปีที่คนได้รู้จักป่าห้วยขาแข้ง เพราะการจากไปของผู้ชายที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร และปีต่อมาป่าผืนนี้จึงได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของโลก
การล่าสัตว์ลดน้อยลงแต่ไม่เคยขาด “เหมือนเราเดินคู่ขนานไปนี่แหละครับ ถ้าเราเผลอหรืออ่อนแอเขาจะเข้ามาทันที” สมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคนปัจจุบันเปรียบเปรย
ทุกวันเกือบๆ 2 ทุ่มเรากลับถึงหน่วย น้าโก๊ะของยิ่งบุญ เตรียมกับข้าวไว้แล้ว ทุกวันเรามีแกงป่า เพื่อนเก่าพบกัน ส่วนใหญ่เราก็คุยกันถึงเรื่องราวเก่าๆ
“เมื่อก่อนอยู่หน่วยได้ยินเสียงปืนที่พวกล่าเขายิง เขาไม่กลัวเราหรอก” ศักดิ์ชัยเล่า ถึงวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป การปกป้องดูแลสัตว์ป่าทำอย่างจริงจัง
สัตว์ป่าเพิ่มจำนวน ในโป่งช้างป่าฝูงใหญ่พาลูกเล็กๆ มากินน้ำ ท่ามกลางสายฝนต้นฤดูโปรยปราย ป่าผืนใหญ่เป็นแหล่งอาศัยอันเหมาะสมของสัตว์ป่า
มีคนมากมายบุกเบิกเส้นทางไว้ให้คนรุ่นต่อมาๆ มาได้เดิน ศักดิ์ชัย เป็นผู้หนึ่งซึ่ง “โชกโชน” กับงานในป่า แต่เขาก็เหมือนคนทำงานในป่าคนอื่นๆ คือห้าวหาญ พร้อมจะเผชิญหน้ากับอะไรต่ออะไร แต่จะมีสิ่งที่กลัว
“ตุ๊กแกครับ” ศักดิ์ชัยยอมรับ “กลางคืนไม่กล้าเข้าห้องน้ำเพราะมีตุ๊กแก”
คงต้องยอมรับความเป็นไปของวิถีชีวิต หลายป่าหลายเรื่องราวไม่ได้ย้อนกลับไปอีก แต่มีบางแห่งก็คล้ายจะไปไหนไม่พ้น
“กระปุกกระเปียง” แห่งป่าห้วยขาแข้ง เดินทางไปไกลแสนไกล เมื่อย้อนกลับมาที่หลักกิโลเมตรแรกๆ ได้พบกับบบรรยากาศเดิมๆ ความจริงที่ว่า ระหว่างจุดเริ่มต้นกับปลายทางนั้นอยู่ไม่ไกล คล้ายจะเป็นภาพอันชัดเจน