สิ่งแวดล้อม : คำพิพากษา ‘เขตคุมมลพิษ’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

 

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

คำพิพากษา ‘เขตคุมมลพิษ’

 

ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกด้วยโรคโควิด-19 ทะลุ 3 ล้านคนไปเรียบร้อย คนป่วยเฉียด 142 ล้านคน

บ้านเราวันนี้ในแต่ละวันมีคนติดเชื้อไวรัสตัวนี้เพิ่มขึ้นเป็นหลักพัน

พุ่งเป็นหลักหมื่นเมื่อไหร่ก็ปั่นป่วนอลหม่านเพราะรัฐบาลจัดระบบฉีดวัคซีนได้สุดห่วย

วันนี้มีชาวบ้านได้รับวัคซีนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ

ขณะที่หลายประเทศฉีดวัคซีนครบโดสจนมีภูมิคุ้มกันหมู่และเตรียมเปิดบ้านเปิดเมืองให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างปกติกันแล้ว

 

มาดูอีกเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความสุดห่วยด้านบริหารจัดการด้านมลพิษทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ นั่นคือคำพิพากษาของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา

คำพิพากษาระบุว่า ผู้ฟ้องคดีชื่อนายภูมิวชร เจริญผลิตผล ชาวอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือทำให้เกิดหมอกควันหนามีปริมาณเกินมาตรฐานที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งได้แก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลดและขจัดมลพิษตามมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

อธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้เร่งพิจารณาคดีนี้ โดยแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 และไต่สวนคู่กรณีเมื่อวันที่ 1 เมษายน

 

ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน ศาลมีคำพิพากษาว่า แม้จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำหนดแผนงานและมาตรการในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว แต่ปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่ยังไม่ลดปริมาณลง กลับมีแนวโน้มรุนแรงสูงขึ้นและต่อเนื่องยาวนาน

จะเห็นได้จากปริมาณพีเอ็ม 2.5 ช่วงระหว่างปี 2561-2564 ยังคงเกินมาตรฐานและต่อเนื่องในอัตราที่สูงขึ้นเป็นลำดับทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ตรวจพบฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินกว่ามาตรฐานต่อเนื่องสูงสุดถึง 31 วัน และตรวจพบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อเนื่องสูงสุดถึง 3-4 เท่าของระดับดัชนีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ต้องถือว่าเป็นสถานการณ์ที่มีแนวโน้มร้ายแรง

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้รับทราบถึงความรุนแรงของปัญหาพีเอ็ม 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชน คุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในการเดินทางทั้งทางบก ทางอากาศ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือมาโดยตลอด

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

หากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้ท้องที่ทั้ง 4 จังหวัดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จะเกิดกระบวนการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการอย่างเป็นระบบ มีการจัดทำแผนงาน ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมควบคุม ลดและขจัดมลพิษอย่างจริงจัง มีหน่วยงานประเมินผลสภาพปัญหาและรู้ถึงแหล่งกำเนิดมลพิษเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำแผน โดยมีหน่วยงานของกรมควบคุมมลพิษมาช่วยแนะนำจะส่งผลดีในการควบคุม ตรวจสอบและติดตามผลโดยผู้บังคับบัญชาระดับสูง จะทำให้การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตยกระดับความสำคัญและสัมฤทธิ์ได้มากกว่าที่ให้แต่ละจังหวัดทำตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอย่างที่ดำเนินการอยู่ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้บรรลุผลได้

อีกทั้งการประกาศเขตควบคุมมลพิษจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะมากกว่าที่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเศรษฐกิจ

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงว่า ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ยังไม่ถึงขนาดที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพและยังสามารถแก้ไขโดยวิธีการอื่น ไม่จำเป็นต้องประกาศให้ทั้ง 4 จังหวัดเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น เป็นข้ออ้างไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและไม่สมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้พื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษและให้ดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

 

คําพิพากษาของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ สร้างความยินดีให้กับชาวบ้านทั้ง 4 จังหวัด แต่ทางกระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับมองต่างมุม

คุณจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบอกว่า การประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตควบคุมมลพิษเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อีกทั้งยังมีความละเอียดอ่อนทั้งในด้านของการพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่

“การจัดทำแผนปฏิบัติการและการบริหารจัดการหลังการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมไปจนถึงการคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษอีกด้วย” คุณจตุพรบอกกับสื่อ

และว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้แทนในการยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาดังกล่าวภายในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้

เรื่องนี้ก็ต้องตามดูกันต่อ ในเมื่อศาลได้ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ติดต่อกันมานาน 3 ปีแล้ว คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ จะยื่นอุทธรณ์เพื่อย้อนกลับมาซ้ำรอยเดิมหรืออย่างไร?