อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust “ร้านหนังสือไม่มีชื่อของคุณ ‘ชาญ’ “

 

In Books We Trust (9)

ร้านหนังสือไม่มีชื่อ (1)

 

บริเวณต้นซอยวัดด่านสำโรง หลายสิบปีก่อนมีร้านหนังสือเช่าขนาดสองคูหาแห่งหนึ่ง

ด้านหนึ่งของร้านเป็นชั้นหนังสือขนาดใหญ่ที่อัดแน่นด้วยนวนิยายบู๊เฮี้ยบหรือนวนิยายจีนกำลังภายในเรียงลำดับความเก่าตั้งแต่นวนิยายของกิมย้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมังกรหยกอันลือลั่น ไปจนถึงเดชคัมภีร์เทวดาหรือจิ้งจอกภูเขาหิมะ

ถัดมาเป็นงานของออเล้งเซ็ง ไม่ว่าจะเป็นกระบี่ล้างแค้นหรือธวัชมังกรสยองขวัญ ก่อนจะตามมาด้วยผลงานของโก้วเล้งที่แทบจะมีจำนวนไม่ครบเล่มเพราะถูกคนเช่าออกไปอยู่เสมอนับตั้งแต่ฤทธิ์มีดสั้น จอมโจรจอมใจ หงส์ผงาดฟ้า และเรื่องอื่นๆ

ผมในชุดนักเรียนมัธยมต้นพบตนเองที่ร้านแห่งนั้นแทบจะทุกวัน ความเบื่อหน่ายจากสภาพสายตาที่สั้นลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้ผมต้องละทิ้งการวิ่งไล่ลูกฟุตบอลในสนามหลังโรงเรียนเลิกอันเป็นกีฬาที่ผมโปรดปรานลงเสีย

และเมื่อไม่มีกีฬาดังกล่าวให้พักหย่อนใจแล้ว ชีวิตหลังโรงเรียนเลิกช่างดูว่างเปล่าเต็มที บ้านที่อยู่ห่างโรงเรียนแค่เพียงการเดินกลับไม่ถึงสิบห้านาทีเป็นสถานที่ที่ไม่น่าอภิรมย์เอาเลย

คนเรามีโอกาสอยู่บ้านได้ตลอดชีวิต โลกข้างนอกสิที่ดึงดูดและเย้ายวนใจมากกว่า

ว่าไปแล้วมีนักเรียนรุ่นพี่ผมจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตหลังโรงเรียนเลิกนอกบ้าน

ตลาดสำโรงซึ่งเป็นที่ที่ไม่ห่างไกลนักจากโรงเรียนของเราในซอยลาซาล (ซึ่งแน่นอนว่าชื่อซอยนั้นเป็นชื่อโรงเรียนของเราและคงมีคนอีกมากที่ลืมไปเสียแล้วว่าชื่อดั้งเดิมของซอยที่ว่านี้คืออะไร รวมถึงผมด้วย) ดูจะเป็นแหล่งรวมรุ่นพี่ที่แกร่งกล้าเหล่านั้น

โต๊ะบิลเลียดบนชั้นสองของโรงหนังสำโรงราม่าคือที่ที่ผมจะเห็นพวกเขาจับกลุ่มไปเยือนอยู่เสมอ

ไม่นับร้านกาแฟและขนมหวานที่อยู่ใต้สะพานข้ามคลองสำโรงที่อีกกลุ่มใหญ่จะใช้เป็นที่สังสรรค์และใช้เป็นที่นัดพบคนรักซึ่งเป็นนักเรียนหญิงจากโรงเรียนในละแวกนั้น

โลกของตลาดสำโรงมีความแปลกประหลาดในด้านหนึ่งมันดูเป็นพื้นที่ชนบทที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการที่อาจแลดูไม่ทันสมัย

แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นสุดขอบของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ความเจริญเดินทางมาถึง

สินค้าทันสมัยหาได้จากร้านชัยวิวัฒน์อันเป็นร้านค้าและห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่เหนือกว่าใครในบริเวณดังกล่าว

ผู้คนแต่งตัวโฉบเฉี่ยวมาเลือกซื้อสินค้าที่นี่ก่อนจะขึ้นรถสามล้อถีบ (อันเป็นยานพาหนะที่ห้ามในเขตเมือง แต่มีได้ในเมืองรอบๆ) กลับสู่เคหสถาน

ความแตกต่างและความขัดแย้งดังกล่าวทำให้พื้นที่ตลาดสำโรงมีเสน่ห์จนผู้คนจะจดจำมันได้แม้กาลเวลาผ่านไป

ทว่าสิ่งที่ทำให้ผมจดจำพื้นที่ได้ไม่เคยลืมกลับเป็นร้านหนังสือเช่าแห่งนี้

 

บรรยากาศในร้านนั้นไม่เหมาะกับการอ่าน แสงไฟที่ดูจะไม่เพียงพอ การปราศจากเก้าอี้นั่งให้เราได้พลิกหน้ากระดาษของหนังสือในมือไป-มา อีกทั้งเสียงรบกวนที่มาจากรถและยานพาหนะต่างๆ ที่สัญจรไป-มาไม่หยุดยั้งภายในซอย

กระนั้นร้านหนังสือแห่งนี้กลับมีบรรยากาศที่อบอุ่น ผู้คนในยุคที่ความบันเทิงมิได้มีมากมายให้เพลิดเพลิน หนังสือดูจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนทั่วไป

การซื้อหนังสือเล่มอาจเป็นภาระที่หนักกระเป๋าเงินไม่น้อย ดังนั้น ร้านหนังสือเช่าจึงดูเป็นทางออกที่เหมาะสม และพวกเขาจะใช้ทางออกที่ว่านี้ในยามเย็นและวันหยุด

ผมไม่เคยไปที่ร้านเช่าหนังสือแห่งนี้ในวันหยุด หากแต่พอที่จะคาดเดาสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร้านได้ มันย่อมไม่ต่างจากสภาพในยามเย็น ใครบางคนเดินเข้าร้านแห่งนี้มาพร้อมกับกระเป๋าหรือถุงสะพายที่ข้างในนั้นบรรจุหนังสือมากเล่ม เขาหยิบหนังสือทั้งหมดนั้นวางลงบนโต๊ะกลางร้านของผู้เป็นเจ้าของที่เป็นหญิงวัยกลางคน

หญิงผู้นั้นหยิบแว่นสายตายาวที่เธอวางไว้บนโต๊ะขึ้นสวม พลิกด้านหลังของหนังสือก่อนจะพลิกสมุดบัญชีขนาดใหญ่ที่วางไว้ใกล้มือ เธอไล่ดูชื่อของลูกค้า อ่านวันที่หนังสือถูกยืมไป คำนวณระยะเวลาที่หนังสือนั้นออกไปจากร้าน วันละหนึ่งบาทสำหรับหนังสือขนาดใหญ่ และวันละห้าสิบสตางค์สำหรับหนังพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มบาง

ชายหนุ่มหรือหญิงสาวผู้นำหนังสือมาคืนจะชำระเงินตามราคาที่ว่า

พวกเขามีบทสนทนาเล็กน้อยกับหญิงกลางคนผู้เป็นเจ้าของร้านถึงเนื้อหาในหนังสือก่อนที่จะขอตัวไปที่ชั้นหนังสือเพื่อเลือกหนังสือเล่มต่อไปและต่อไปสำหรับการอ่านของพวกเขา

 

ผมพบผู้คนเหล่านั้นเสมอในยามเย็น

ในช่วงเวลาที่ผมกำลังไล่หาหนังสือจีนกำลังภายในเล่มที่ถูกใจ

ในช่วงเวลาที่ผมเลือกหนังสือได้แล้วและนำไปวางบนโต๊ะของหญิงกลางคนผู้เป็นเจ้าของ

ในช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังเดินทางกลับสู่บ้านเรือน ยามเย็นที่ทุกคนปลอดจากการงานและเราทุกคนผู้หลงรักในหนังสือออกแสวงหาหนังสือสำหรับเวลาส่วนตัวของเรา

ไม่ต่างจากฝูงแมลงเม่าที่ออกแสวงหาแสงไฟ

บรรยากาศแบบนั้นอยู่ในความทรงจำของผมเนิ่นนานจนมันถูกขุดขึ้นให้ระลึกถึงอีกครั้ง

จากบทสนทนาระหว่างผมกับคุณ “ชาญ”

 

ผมพบคุณชาญครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนที่แผงหนังสือขนาดเล็กซึ่งกินระยะทางจากหน้าซอยวัดไผ่ตันไปจนถึงสถานีระบายน้ำก่อนถึงทางข้ามสู่สวนจตุจักร

บริเวณดังกล่าวนั้นขึ้นชื่อว่าเต็มไปด้วยร้านขายของเก่าของผู้ค้าอิสระที่มาจับจองพื้นที่เพื่อนำเสนอสินค้าของตนเองในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์

ผู้ค้าเหล่านี้มักมีของจำนวนไม่มากนักที่วางอยู่บนโต๊ะขนาดเล็กของพวกเขา ดังนั้น สิ่งของที่ถูกนำเสนอจึงจำเป็นจะต้องได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นของที่ดึงดูดใจผู้ที่พบเห็นไม่เว้นแม้แต่หนังสือ

หนังสือที่อยู่บนแผงของคุณชาญเป็นหนังสือที่คนรักหนังสือจะต้องหยุดมอง หรือถ้ามากกว่านั้นคือการหยิบมันขึ้นอ่าน

สี่แผ่นดินฉบับพิมพ์แรก งานเขียนความเรียงและนวนิยายของรมย์ รติวัน เรื่องราวการท่องป่าของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

ไม่นับหนังสือปกอ่อนที่นำเสนอเรื่องสั้นของยาขอบ และ ร.จันทพิมพะ

หนังสือเหล่านี้หากไม่ได้ผ่านการคัดสรรของผู้ที่เข้าใจหนังสือและเป็นนักอ่านประเภทจริงจังแล้วย่อมยากจะปรากฏตัวบนแผง

ผมหยุดยืนที่หน้าแผง หยิบหนังสือสรรนิพนธ์ของเหมา เจ๋อ ตุง ฉบับเล็กขึ้นถามราคา

และนับจากวันนั้น คุณ “ชาญ” ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่แปลกหน้าซึ่งกันและกันอีกต่อไป

 

หลังการโยกย้ายตนเองไปอยู่นอกกรุงเทพฯ ผมมีโอกาสน้อยเต็มทีที่จะได้ไปเยือนแผงของคุณ “ชาญ”

ข่าวคราวที่ได้รับปรากฏผ่านตาทางสื่ออื่นว่าคุณชาญเปิดร้านหนังสืออีกแห่งในบริเวณที่ไม่ไกลจากสี่แยกบางนานัก

ร้านแห่งนั้นได้รับความนิยมในหมู่คนรักหนังสือมือสองหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “หนังสือเก่า” อย่างรวดเร็ว

นั่นเป็นเพราะคุณชาญเลือกหนังสือที่ดีมารวมไว้ในร้านของเขาได้อย่างเหมาะเจาะและเหมาะสม

อีกทั้งด้วยอัธยาศัยที่ใจเย็น เขายังรับหน้าที่ตามหาหนังสือให้แก่หนอนหนังสือที่คุ้นเคยกันอีกทางด้วย

หนังสือในร้านหนังสือของคุณชาญจึงเป็นหนังสือที่เราไม่ได้พบเห็นกันโดยทั่วไป

พรสวรรค์ในการเสาะหาหนังสือของเขาทำให้ร้านหนังสือที่บางนาถูกงัดแงะถึงหลายครั้ง

หนังสือมีค่าหลายเล่มถูกขโมยไป

จนในที่สุดเขาตัดสินใจโยกย้ายร้านดังกล่าวมาอยู่ในบริเวณอาคารเล็กๆ ใกล้สวนจตุจักรและไม่ไกลจากสถานีระบายน้ำอันเป็นจุดกำเนิดแผงหนังสือแรกของเขาเท่าใดนัก

บทสนทนาของเราในบ่ายวันหนึ่งถึงที่มาของร้านหนังสือ ซึ่งบัดนี้ก็ยังไม่เคยมีชื่อของคุณ “ชาญ” จึงเริ่มขึ้น

 

“ผมเป็นเด็กที่เกิดแถวบางโพ แถวโรงไม้แถวนั้น คุณพ่อของผมเป็นอดีตนักศึกษาเตรียม มธก.สมัยยังเป็นตลาดวิชา ท่านเป็นคนรักการอ่านมาก โตมาก็เห็นหนังสือเต็มบ้านแล้ว พ่ออาศัยหนังสือเหล่านั้นฝึกนิสัยการอ่านของผม โดยการเล่าเรื่องในหนังสือให้ฟังก่อน ไม่ว่าจะเป็นรามเกียรติ์หรือวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ หลังจากนั้นพ่อจะขอให้เราเล่าให้ฟังบ้าง ซึ่งการจะเล่าได้นั่นหมายความว่าเราต้องไปอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ ผมก็อ่านเล่มนั้นเล่มนี้จนคล่องเพราะต้องมาเล่าให้พ่อฟัง หลังจากนั้นพอโตขึ้นก็เริ่มหาหนังสือนอกบ้านอ่าน เพราะใจเรารักการอ่านเสียแล้ว สมัยนั้นที่ใกล้ที่สุดคือร้านหนังสือเช่าแถวโรงหนังบุศยพรรณ ที่นั่นมีร้านใหญ่ มีหนังสือที่ผมชอบมากคือหนังสือจีนกำลังภายใน ราคาค่าเช่าก็หนึ่งบาทหรือห้าสิบสตางค์ ผมก็จะใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ที่นั่นเลือกหนังสือมานั่งอ่านตลอดวัน”

“ดีมากเลย แถวที่ผมอยู่ก็มีร้านหนังสือเช่าแต่ไม่มีที่ให้นั่งหรือทำอะไรเลย”

“มันน่าจะเป็นเพราะบริเวณนั้นมีคนมาดูหนัง มารอดูหนัง มีร้านกาแฟ มีร้านอาหาร มันเป็นชุมชน คนก็ออกมาพักผ่อนกันเป็นปกติ”

“และการรักการอ่านมันส่งผลให้ตัดสินใจมาทำร้านหนังสือในที่สุดไหมครับ?”

“มีส่วนครับ แต่ไม่ได้เริ่มโดยตรง ผมไปทำงานอย่างอื่นก่อน ไปทำโฆษณา ทำหลายอย่าง ผมมาเริ่มเปิดร้านหนังสือช่วงปี 2557 เริ่มจากเพื่อนผมมาบอกว่าพี่ชายเขาเสียชีวิต เขามีหนังสือมาก อยากหาคนมารับไปดูแล ด้วยความรักหนังสือ ผมก็ไปรับหนังสือเหล่านั้นมาเก็บไว้ ครานี้ที่พักผมก็ไม่ได้ใหญ่มาก เลยคิดว่าอาจจำต้องระบายหนังสือออกบ้าง เล่มไหนเราอ่านแล้วก็ตัดสินใจเอาออกมาวางขาย มาเช่าพื้นที่เล็กตรงแถวซอยวัดไผ่ตัน แต่เนื่องจากหนังสือเล่มที่ผมเอาออกมาวางขายเป็นหนังสือเก่าที่คนหากันก็เลยมีคนบอกกันปากต่อปากว่าร้านของผมมีหนังสือดี น่าสนใจ ดังนั้น เปิดร้านเสาร์-อาทิตย์ก็จะมีคนแวะมาดู มาซื้อหนังสือที่ร้านตลอด จนผมคิดว่าอาชีพขายหนังสือนี้ถ้าเราทำจริงจังมันน่าจะอยู่ได้ คือเราขายเสาร์-อาทิตย์ ถ้าเรามีที่ขายในระหว่างสัปดาห์ด้วยก็น่าจะยิ่งดี”

“เลยกลายเป็นร้านหนังสือที่บางนา?”

“ใช่ครับ บ้านผมอยู่แถวบางนากิโลเมตรสี่ ก็คิดว่าถ้าเปิดร้านจะหาไม่ไกลนัก ก็เดินหาจนไปเจอบริเวณแถวข้างๆ ไบเทค ซึ่งพอเปิดแล้วดีมาก มีคนรักหนังสือแวะเวียนมาที่ร้านตลอด มาตามหาหนังสือ มาถามหาหนังสือ บางทีก็มานั่งคุยเล่นหน้าร้าน อยู่กันดึกดื่นจนถึงกับต้องบอกว่าขอตัวปิดร้านนะครับ”

“ช่วงนั้นนอกจากเปิดร้านที่แถวจตุจักร แถวบางนา มีข่าวว่าคุณชาญยังเปิดร้านหนังสือทางออนไลน์อีกด้วย อันนั้นเกิดจากเห็นว่าอนาคตร้านหนังสืออยู่ที่ออนไลน์ไหม?”