ครัวอยู่ที่ใจ : กะทิยกกำลัง / อุรุดา โควินท์

 

ทางรอดอยู่ในครัว

: กะทิยกกำลัง

 

บ้านของเราค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่าง ช่างทำสัปดาห์ละ 2 วัน แต่ก็คืบหน้าไปมาก ฉันชอบเดินไปให้กำลังใจช่าง โดยเฉพาะวันที่มาแค่สองคน ฉันคิด พวกเขาอาจเหงา ต้องการความเห็นของฉัน หรือไม่ก็ต้องการให้ฉันสั่งของ

ห้องกวนสบู่ใหม่มีขนาด 2.5 x 6 เมตร มันยาวและแคบไปตามแนวรั้วบ้าน เราฝากหลังคาไว้กับเชิงชายบ้านเก่า ซึ่งโชคดีที่ทำไว้อย่างแข็งแรงแน่นหนา เป็นเหล็กที่หุ้มด้วยไม้อีกที เพดานห้องทำสบู่จึงไม่ต่ำจนเกินไป

ฉันยืนมองพื้นที่ห้องกวนสบู่ แล้วได้ความคิดใหม่

เดินไปถามพี่ยก “ผนังด้านที่ติดกำแพง ถ้าเราก่อไม่หมด ฝนก็ไม่สาดมั้ยคะ มันมีกำแพงอีกชั้น สูงกว่าหลังคาเรา”

พี่ยกยิ้ม “ใช่เลยครับ ไม่สาดแน่นอน”

“ถ้างั้น เราก่อแค่ 90 เซ็นต์พอค่ะ ให้แสงและลมเข้า ด้านบนใส่ลวดตาข่ายเอา เพราะไม่งั้นมันอาจจะมืดทึบไปถึงห้องด้านใน”

“ได้เลยครับ”

ห้องกวนสบู่ต้องการความโปร่ง ขณะเดียวกันก็ต้องระวังเรื่องความชื้น ฉันคิดว่า แบบนี้ดีกว่ามาก ประหยัดเวลา ประหยัดเงิน แถมได้เปิดทางให้สายลม

ดีจริงๆ ที่คิดได้ เราไม่ได้ให้ใครช่วยดู ช่วยออกแบบ เพราะเป็นงานเล็ก เราอาจหลับตาจินตนาการได้ไม่หมดจด แต่เมื่อมันปรากฏโครงสร้าง ก็ดูเหมือนวัตถุประสงค์ของบ้านจะชัดขึ้น

บ้านจะบอกเรา ว่าเราควรจัดการอย่างไร

 

ใกล้เข้ามาแล้ว และหมายความว่าเราจะเหนื่อยกันอีกครั้ง สำหรับการย้าย ซึ่งต่อให้ย้ายไปบ้านหลังติดกัน ก็ต้องแพ็ก ต้องหาคนช่วยยก เรามีข้าวของที่ต้องจัดการเยอะ เมื่อต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่เล็กลง อะไรที่ไม่ได้ใช้ฉันจะทิ้งมันไป ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่อย่างแท้จริง เหลือเพียงสิ่งที่กาลเวลาและสถานการณ์คัดสรรแล้วว่าคู่ควรกับเรา

แน่นอน เราคู่ควรกับหนังสือทั้งหมด

เมื่อฉันเดินกลับมาในห้องทำงาน เขายื่นโทรศัพท์ให้ฉันดู “ชั้นหนังสือแบบนี้ พี่ยกทำได้มั้ย” เขาถาม

“ได้สิ แต่เราควรคิดก่อน จะเอาอะไร วางตรงไหน โต๊ะทำงานของเราสองคน เปียโน เดย์แบด อาร์มแชร์ จากนั้นค่อยคิดว่า จะทำชั้นหนังสือตรงไหนได้บ้าง”

ฉันยังชอบแต่งตัว แต่ฉันขอคิดเรื่องห้องเก็บเสื้อผ้าเป็นอย่างสุดท้าย ฉันน่าจะสวยได้ แม้ไม่ต้องมีห้องเก็บเสื้อผ้า หรือตู้เสื้อผ้าหลายใบ (ไม่มีที่วางอยู่แล้วละ)

 

“หิวหรือยัง” ฉันถามเขา

เขาพยักหน้า

“ว่าจะทำหมี่กะทิ”

“ทำเผื่อช่างด้วยมั้ย”

อยากอยู่หรอก แต่คงไม่อยู่ท้อง ทีมช่างนิยมกินข้าวเหนียวกับอาหารเหนือมากกว่า เขาเตรียมมาจากบ้านแล้ว น่าจะถูกปากกว่า ที่เราทำได้คือเตรียมเครื่องดื่มบำรุงกำลังไว้ให้พวกเขาในตู้เย็น

ฉันแช่หมี่ขาวก่อนเป็นอย่างแรก จากนั้นก็แช่มะขามเปียกไว้ในน้ำร้อน

คั้นกะทิเอาแต่หัว แบ่งเป็นสองส่วน

ส่วนแรกเอามาทำน้ำราด ซึ่งใส่หมูสับ กุ้งสับ หัวหอมซอย และเต้าหู้แข็งหั่นเต๋า

เอากะทิส่วนแรกตั้งไฟอ่อน คนไปเรื่อยๆ จนเริ่มร้อน ค่อยใส่หมูสับลงไป พอหมูเริ่มสุก ใส่เต้าหู้แข็ง กับหัวหอมซอย ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยวปั่นละเอียด น้ำตาลมะพร้าวนิดหน่อย และน้ำมะขามเปียก

ฉันไม่ชอบหมี่กะทิที่หวานจัด จึงระวังกับน้ำตาล ถ้าเผลอหนักมือ ของคาวจะกลายเป็นของหวานทันที

น้ำปรุงของฉันมีรสเค็มนำ เปรี้ยวนิดหน่อย หวานตามหลังห่างๆ และมีความหอมมันจากกะทิ

ครั้นชิมได้รสดีแล้วก็ปิดไฟ

 

หยิบกระทะขึ้นตั้งบนเตา ใส่หัวกะทิส่วนที่เหลือ เริ่มจากใช้ไฟอ่อน ให้กะทิค่อยๆ ร้อน

เราจะเอาเส้นหมี่ผัดกับกะทิให้สุก เพิ่มสีให้หมี่ด้วยซอสมะเขือเทศ ใส่ลงไปในกะทินิดหน่อย ได้ส้มอมชมพูอย่างสวยงาม

หลังจากเส้นหมี่ขาวลงกระทะ ฉันเร่งไฟ ผัดจนเส้นหมี่สุกและกะทิแห้ง หรืออีกนัยหนึ่ง กะทิซึมเข้าไปในตัวเส้น

คำว่าหมี่กะทิ จึงหมายถึงหมี่ผัดกะทิ ที่ราดด้วยน้ำปรุงกะทิอีกที (จะไม่อร่อยได้ยังไง)

 

เอาตะเกียบคีบหมี่ผัดลงจาน ราดด้วยน้ำกะทิ ขาดไม่ได้เด็ดขาดคือมะนาวสักซีก เพื่อตัดเลี่ยน โรยพริกป่น ข้างจานคือถั่วงอกกับกุยช่าย

เป็นอาหารที่แสนง่าย แสนธรรมดา แต่มักหวานเกินไป และไม่ค่อยมีโปรตีน เมื่อนึกถึงหมี่กะทิ ฉันเลือกที่จะทำกินเอง

ฉันทำเยอะพอที่เราจะกินคนละสามจาน และตักแบ่งไปให้แม่ได้อีกจาน

“อร่อยโนะ” ฉันว่า

“ถ้ามีคนทำขาย เราไปกินบ่อยๆ ได้เลย รสนี้” เขาว่า

“งั้นเราตั้งโต๊ะขายหน้าบ้านดีมั้ย ขายแกงด้วย ไหนๆ ซอยของเราก็จะกลายเป็นตลาดน้อยแล้ว”

เขาเลิกคิ้ว

“เราจะได้มีเพื่อนกินหมี่กะทิ กินแกงเพิ่มไงล่ะ”