2503 สงครามลับ สงครามลาว (26) “เทพ 333″/ บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (26)

 

“เทพ 333”

พล.อ.สายหยุด เกิดผล ได้เล่าถึงความเป็นมาของ บก.ผสม 333 และการเลือก พ.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เข้ารับผิดชอบหน่วยงานลับนี้ไว้ใน “ชีวิตนี้มีค่ายิ่ง” ดังนี้

“สำหรับฝ่ายปฏิบัติการในสนามนั้น ต่อมาข้าพเจ้าได้เสนอให้จัดตั้ง ‘บก. 333’ ขึ้นเป็น บก.ควบคุมหน่วยปฏิบัติการในสนาม ซึ่งก่อนที่จะมีการจัดตั้ง บก.333 นั้นมีหน่วยข่าวกรองทหารและ ตชด.ไปปฏิบัติการในลาวอยู่ก่อนแล้ว แต่ต่างคนต่างทำ ส่วนกำลังที่อยู่ภายใต้ บก.333 คือ ‘กองกำลัง 333’ นี้ถูกเรียกว่า ‘บก.ผสม 333’ และ ‘กองกำลังผสม 333’

ตำแหน่งหัวหน้า บก.ที่ข้าพเจ้าจำต้องพิจารณาและเลือกเฟ้นต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เสียสละ และสมัครใจในการลาออกเป็นอาสาสมัคร ทั้งต้องได้รับความเชื่อถือจากหน่วยต่างๆ ที่ปฏิบัติการอยู่ในสนาม

คนแรกที่ข้าพเจ้านึกถึงคือ ‘จวน วรรณรัตน์’ เพราะข้าพเจ้าเห็นความสามารถในการรบที่พบในสงครามเกาหลีมาด้วยกัน

คนต่อมาคือ ‘ธงชัย พิพิธสุขการ’ ซึ่งแม้ว่าจะมาจากนักเรียนนายร้อยสำรอง แต่จากการที่ได้ทำงานด้วยกันที่ศูนย์การทหารราบ ลพบุรี ในขณะที่ข้าพเจ้าเป็นเสนาธิการ เห็นว่าธงชัยมีความคิดก้าวหน้าทางการเมือง จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้าจึงได้ติดต่อให้ไปทำหน้าที่แทนจวนเมื่อครบวาระ

และอีกคนที่นึกถึงคือ ‘วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์’ หรือ ‘เทพ’ ทำงานอยู่ที่กรมยุทธการทหารบกซึ่งข้าพเจ้าเป็นเจ้ากรมอยู่และเพิ่งจบมาจากสหรัฐอเมริกา จึงขอให้ไปทำหน้าที่นี้

โดยตั้งชื่อรหัสว่า ‘เทพ’ ตามที่วิฑูรย์ขอร้อง”

 

หน่วยบินไฟร์ฟลายและกองร้อยเอสอาร์

ครั้งที่กองกำลังของวังเปาถูกรุกไล่จากลาวฝ่ายซ้ายและกองทัพเวียดนามเหนือระหว่างการประชุมที่เจนีวา ซึ่งเริ่มเมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2504 จนเสียพื้นที่ในทุ่งไหหินนั้น ความได้เปรียบของฝ่ายเวียดนามเหนือที่สำคัญมาจากการยิงสนับสนุนของปืนใหญ่สนาม ซึ่งกำลังรบนอกแบบของวังเปาไม่สามารถต้านทานได้

ซีไอเอและไทยจึงเห็นความจำเป็นในการเพิ่มอำนาจการยิงสนับสนุนด้วยอาวุธหนักให้กับฝ่ายวังเปาซี่งยังคงมุ่งมั่นเกาะติดพื้นที่ทุ่งไหหินและรอโอกาสที่จะรุกกลับแย่งชิงพื้นที่คืน

“การสนับสนุนทางอากาศใกล้ชิดจากเครื่องบินรบ” และ “ปืนใหญ่สนาม” จากไทยจึงเริ่มต้นบทบาทสู่สนามรบลาวเพื่อชดเชยความเสียเปรียบนี้

 

หน่วยบินไฟร์ฟลาย

เพื่อเพิ่มอำนาจการรบในลาว สหรัฐได้ยกระดับการปฏิบัติการทางอากาศโดยกำหนดโครงการ “วอเตอร์ปั๊ม – Water Pump Project” ส่งฝูงบินคอมมานโดที่ 1 ไปประจำอยู่ที่ฐานบินซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ที่จังหวัดอุดรธานี ทำการฝึกการบินรบด้วยเครื่องบินฝึกติดอาวุธแบบ 13 (บ.ฝ.13 : T-28 เรียกติดปากในสงครามลาวว่า “เตซาวแปด”) ซึ่งมีความเร็วต่ำ เหมาะสมกับการสนับสนุนหน่วยรบภาคพื้นดินให้กับนักบินไทยและนักบินลาว

และต่อมาได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลไทยเพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการทางอากาศในลาว คณะกรรมการ คท. จึงให้กองทัพอากาศจัดนักบินจำนวน 20 นาย ไปรับการฝึกกับหน่วยบินของสหรัฐ

ซึ่งเมื่อเสร็จการฝึกตามหลักสูตรระยะเวลา 2 สัปดาห์แล้ว ให้ส่งไปปฏิบัติงานในลาว ตามโครงการลับ “ไฟร์ฟลาย – Fire Fly Program : F/F) ระหว่าง พ.ศ.2507 จนถึง พ.ศ.2513 ได้มีการจัดส่งนักบินไปปฏิบัติงานในหน่วยบินไฟร์ฟลาย จำนวน 12 รุ่น รวม 227 คน

นักบินที่จะไปปฏิบัติงานลับในหน่วยบินไฟร์ฟลายทุกนายต้องทำหลักฐานลาออกจากราชการไปปฏิบัติงานในฐานะอาสาสมัครร่วมกับเจ้าหน้าที่สหรัฐ

และก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติงานในลาว จะได้รับการอบรมชี้แจงจากผู้บังคับบัญชาให้ทราบถึงความมุ่งหมายและความสำคัญในการปฏิบัติงานกับได้รับการกำชับให้เข้าใจถึงการรักษาความลับ พร้อมทั้งรับทราบเกี่ยวกับกฎข้อบังคับและข้อตกลงระหว่างชาติที่เกี่ยวกับเชลยศึก รวมทั้งการปฏิบัติตนเมื่อถูกจับเป็นเชลยศึก เพื่อให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ว่าจะเปิดเผยความลับของทางราชการไม่ได้แม้จะต้องสละชีวิตก็ตาม

หน่วยบินไฟร์ฟลายได้ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือกองทัพแห่งชาติลาว ด้วยการทำการบินขัดขวาง บินสนับสนุนอย่างใกล้ชิด-Close Air Support ให้กับการปฏิบัติของกำลังทางพื้นดิน บินตรวจการณ์ลาดตระเวน ถ่ายภาพ

รวมทั้งบินชี้เป้าหมายให้กับเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐ

แผนที่เมืองสุย

ปืนใหญ่สนาม

ในการรุกเพื่อแย่งยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายเวียดนามเหนือ จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลลาว ซีไอเอและไทยมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องยึดรักษาไว้ให้ได้อย่างถาวรคือ “เมืองสุย”

เมืองสุยเป็น “ปมคมนาคม” เนื่องจากเป็นชุมทางถนนหมายเลข 13 ในทิศทางเหนือ-ใต้ กับถนนหมายเลข 7 ทางตะวันออก ทำให้กลายเป็นจุดควบคุมการติดต่อระหว่างเมืองหลวงพระบาง-เมืองกาสี-เมืองวังเวียง-นครเวียงจันทน์ กับเมืองศาลาภูขุน-ทุ่งไหหิน-โพนสวรรค์-เชียงขวาง-หนองเป็ด-บ้านบาน-หนองเพชร และดินแดนเวียดนามเหนือทางตะวันออก

ถึงแม้เจ้าสุวรรณภูมานายกรัฐมนตรีจะยังคงมีอิทธิพลอยู่ที่เมืองเชียงขวางและมีทีท่าเอนเอียงมาทางลาวฝ่ายขวาแล้วก็ตาม

แต่ลาวฝ่ายซ้ายก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในเขตเชียงขวางมายาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ.2496 จึงอาจจะแทรกซึมจากทางตะวันออกเข้ายึดเมืองสุยเป็นลำดับแรก

เมื่อได้เมืองสุยก็จะยึดเมืองภูขุนได้ต่อไปซึ่งจะเป็นการตัดเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองหลวงพระบางกับนครเวียงจันทน์

อันจะเกื้อกูลการรุกจากเวียดนามเหนือเป็นอย่างดี

ดังนั้น จึงต้องเข้าวึดรักษาเมืองสุยแห่งนี้ไว้ให้ได้

29 มิถุนายน พ.ศ.2507 ต่อเนื่องจากหน่วยบินไฟร์ฟลายที่เข้าปฏิบัติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รัฐบาลไทยได้สั่งจัดกำลังทหารปืนใหญ่ 1 กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง เพื่อสนับสนุนรัฐบาลเป็นกลางของเจ้าสุวรรณภูมา…

30 มิถุนายน พ.ศ.2507 ผู้แทนรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาและเจ้าหน้าที่จาก บก.333 ได้ร่วมหารือตกลงซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติของหน่วยทหารปืนใหญ่จากไทยที่จะเข้าป้องกันเมืองสุย

1-3 กรกฎาคม พ.ศ.2507 นายทหารจาก บก.333 ทำการลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศและเลือกที่ตั้งต่างๆ เตรียมไว้สำหรับกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่จะเดินทางเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการ

ที่ตั้งยิงได้เลือกเอาเนินทางขวาของถนนหมายเลข 7 หันไปทางตะวันออกหรือทางทุ่งไหหิน

ที่บังคับการกองร้อยและส่วนสนับสนุนต่างๆ ได้เลือกเอาที่บ้านค่ายซึ่งอยู่ห่างเมืองสุยไปทางตะวันออกประมาณ 4-5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากที่ตั้งยิงประมาณ 4-5 กิโลเมตรเช่นกัน

มีพื้นที่ว่างเหมาะสมเป็นที่ขึ้น-ลงเฮลิคอปเตอร์ ห่างจากสนามบินเมืองสุยประมาณ 5-6 กิโลเมตร