เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /สร้อยสรภูพรายขจี

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

สร้อยสรภูพรายขจี

 

๐ นวยยอดทอดก้านใบบาง            พฤกษาสรรพาง-

คสร้อยสรภู พรายขจี ฯ

 

กาพย์ฉบังบทนี้จากวรรณคดีสมุทรโฆษคำฉันท์เมื่อพระสมุทรโฆษประทับแรมไพรคราวเสด็จออกวังช้าง คือคล้องช้าง

ติดใจคำว่า “สรภู” เปิดพจนานุกรมดูสรภู (อ่าน-สะระภู) แปลว่า “ตุ๊กแก”

ได้ภาพได้ความทันที “สร้อยสรภู” ก็คือ “ลายตุ๊กแก” นั่นเอง

คือต้นไม้ในป่าใหญ่ที่ออกลายสีผิวของเปลือกไม้อย่างลายตุ๊กแก คงเคยเห็นและนึกภาพออกนะ

ได้ภาพได้ความจากคำจึงทำให้ได้ “รสกวี” ของกาพย์ฉบังบทนี้สมบูรณ์

คำ “นวยยอด” ได้ภาพเป็นสองภาพตรงๆ คือ “หน่วย-ยอด” ที่หมายถึงตำแหน่งของยอด อีกภาพคือความเคลื่อนไหว “นวยนาด” ของยอดที่ “ทอดก้านใบบาง”

“พฤกษาสรรพาง-” คำเต็มของ “สรรพาง-” คือ “สรรพางค์ แต่กวีเลื่อนคำท้ายของ “สรรพางคะ” เอาคำ “คะ” มาไว้อีกวรรคต่อไปคือ “คะสร้อยสะระภูพรายขจี”

ต้องอ่าน “คะสร้อยสะระภูพรายขจี” เต็มๆ อย่างนี้เลยจะได้รู้สึกถึงรสไพเราะและจังหวะจะโคนของวรรคกวีวรรคนี้เต็มที่

 

ฉบัง 16 บังคับให้มีสิบหกคำในหนึ่งบท โดยแยกเป็นสามวรรค วรรคแรกหกคำ วรรคสองสี่คำ วรรคสามคือวรรคท้ายหกคำ

คำในกาพย์กลอนนั้นถือเอา “จังหวะ” เป็นสำคัญ อย่างฉบังบทนี้ วรรคแรกหกคำได้จังหวะหกพอดีคือ “นวยยอด-ทอดก้าน-ใบบาง”

วรรคสองนี้พิเศษตรงที่จะอ่านเป็นสี่คำพอดีจังหวะก็ได้คือ “พฤกษา-สรรพาง-” อ่านเป็น “สันพาง” หรือจะอ่านเป็น “สันระพาง” ก็ได้ แม้จะเกินสี่คำคืออ่านเป็น “พรึกสา-สันระพาง” ห้าคำก็ได้เพราะไม่เสียจังหวะสี่ คำสันระพางถือว่ายังอยู่ในจังหวะสองด้วยคำ “ระ” เป็นคำที่มีน้ำหนักเบาๆ ไม่ทำให้เสียจังหวะสอง

วรรคท้ายนี่สิพิสดารคือ “คะสร้อย-สะระภู-พรายขจี” สะระภูกับพรายขจีมีถึงสามคำ ในแต่ละจังหวะ แต่อ่านรวบโดยคำแล้วยังอยู่ในจังหวะสองนั่นเองคือ

สอง-สอง-สอง

คะสร้อย-สะระภู-พรายขจี

สองวรรคนี้ต้องอ่านแบบนี้

“พรึกษา สันระพาง คะสร้อย สะระพู พรายขะจี”

นี้คือศิลปะของการใช้คำกวี

 

ศิลปะการใช้คำกวีคือการรู้จังหวะจะโคนของทั้งคำและเสียงคำ

สำคัญยิ่งคือความหมายของคำ ดังยกเอาคำ “สรภู” เป็นตัวอย่าง หากอ่านเอาจังหวะจะโคนก็ได้แค่ความไพเราะของเสียงกับจังหวะ ยิ่งคำฉันท์สมุทรโฆษ ซึ่งถือว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทฉันท์ มีอายุราวห้าร้อยปีมาแล้ว อย่าว่าแต่จังหวะและเสียงเลย ยิ่งคำยากด้วยศัพท์แสงและโวหารแล้ว การเข้าถึงความหมายยิ่งพลอยยากยิ่งขึ้นไปอีก

รสที่ได้จึงดูเหมือนเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ให้บรรยากาศลึกลับเพียงเท่านั้น

แม้กระนั้น บางบท บางคำก็ฉายประกายเจิดแจ่มให้ได้ภาพและความเปรียบเทียบได้โอฬารนัก

เช่นฉบังบทนี้

 

ดุจฟ้าฟาดเพชรคีรี ดุจเสียงชลธี

รลอกกระฉอกผกาแจรง

นึกดูว่า ฟ้าผ่าภูเขาเพชรนั้นจะกัมปนาทขนาดไหน แรงสุดกับแข็งสุดนั่นแหละ

รลอกกระฉอกผกาแจรง นี่ก็เช่นกัน จะว่าหวั่นไหวหรือหวามไหวก็ได้ทั้งหมด นึกถึงระลอกน้ำที่กระฉอกกระฉ่อนจนดอกไม้กระจายกลีบนั่น

บทนี้เมื่อพระสมุทรโฆษเสด็จประพาสไพร บทต่อจากบทต้นที่ลงว่า “…ผกาแจรง” อีกสองบทคือ

 

บดดินบดฟ้าบดแสง                     สุริยศักดิ์สำแดง

ตระหลบด้วยธุลีเลือน

คือจะพกแผ่นหล้าฟ้าเฟือน           คือจะเห็จเอาเดือน

ตระวัน แลดวงดารา

 

คำว่า “พก” ในบทสอง เราคิดว่าน่าจะเป็น “ผก” นะ นี่ก็คิดเอาเองตามประสาคนพ้นสมัย

 

คําเก่าอีกคำที่พอเห็นภาพจากบทหมอเฒ่าทำพิธีเบิกไพรวังช้าง คือบทกาพย์ยานี 11 ว่า

 

หมอจึงเอาพัสตรา           มานุ่งไม้อันนฤมล

สวดมนต์ละลายคน-        ธวิเลปนสรรพสม

 

คำ “นุ่งไม้” คือเอาผ้ามาห่มต้นหรือพันลำต้นอย่างที่พบกันอยู่ปัจจุบัน อันหมายเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์นั้น

อีกบทเป็นฉบังขยายความ “นุ่งไม้” ก็คือ

 

เข้าโอบเอวไม้มั่นหมาย                มนต์สังวัธยาย

ก็แสร้งสรรเสริญพฤกษา

 

“โอบเอวไม้” ก็คือ “นุ่งไม้” ด้วยผ้าพันลำต้นที่เปรียบเป็น “เอวไม้” อีกนั่นเอง ชวนให้เห็นภาพ “นางไม้” ชัดเจนดีนัก

 

ช่วงท้ายเมื่อพระสมุทรโฆษพลัดจากนางพินทุมดีที่กลางน้ำ นางพินทุมดีขึ้นจากน้ำกระทั่งมีโอกาสได้สร้างโรงทานและให้สร้างจิตรกรรมคือให้ช่างวาดรูปเล่าเรื่องระหว่างพระสมุทรโฆษและนางพินทุมดีไว้ กระทั่งพระสมุทรโฆษตามมาพบจากภาพจิตรกรรมนั้นเอง

ตรงนี้ทำให้คิดถึงยุคสมัยนี้ ถ้าสองพระองค์ต่างทรงมี “จอแผ่น” หรือมือถือ ก็ไม่จำเป็นต้องให้ช่างมาเขียนรูปเล่าเรื่องเพื่อสื่อสารในลักษณะเสี่ยงถึงอย่างนั้น และจะหวังเจอได้เมื่อไรก็ดูเลื่อนลอยเต็มที

แต่ก็นั่นแหละ หากทั้งคู่มีมือถือ

ภาพจิตรกรรมก็ไม่ต้องมี วรรณคดีก็ต้องเปลี่ยนไป

นี่คือยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง