อินโดจีนสังวาส-เมืองรักของนักเขียน / อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

อินโดจีนสังวาส-เมืองรักของนักเขียน

 

เว้นวรรคว่าในเมืองมัณฑะเลย์ ที่ Emma Larkin ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ (Finding George Orwell in Burma/2005) ตอนหนึ่งเธอกล่าวว่า ความถวิลหาประชาธิปไตยของผู้คนที่นั่นช่างอดทนและรอคอย

ฉันน่ะ เคารพมาก ณ วันนี้ซึ่งพวกเขาลุกต้านเผด็จการมานานกว่า 3 เดือน ถ้าเอ็มม่ายังติดตาม เธอคงคาดไม่ถึงว่า ไฉนพม่าที่เคยรู้จักเมื่อ 15 ปีก่อน ไฉนจึงมั่นคง เด็ดเดี่ยวและไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรมเช่นอดีตอีกต่อไป

จนได้อ่าน ‘Kampot : Miroir du Cambodge, promenade historique, et litt?raire’ ของลุค โมเกเนต์ ก็ให้พบว่า เมืองตกค้างที่สร้างแรงบันดาลใจต่อนักเขียนหลายรายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือกำโปด ซึ่งก็คือเมืองโปรดของฉัน

ตั้งแต่ที่ อ็องรี มูโอต์ นักสำรวจลือนามเคยพาตัวเองไปเยือนที่นั่น

ขออภัย ฉันเองก็อยากเห็นเมืองใดเมืองหนึ่งหรือหลายเมืองของไทยซึ่งเป็นแหล่งที่นักเขียนมักรวมตัวกัน แต่สำหรับเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความพิเศษมากมายหลายด้านโดยเฉพาะอัตลักษณ์ทางชนชาติ ซึ่งอ็อง มูโอต์ เองก็รื่นรมย์กับจุดนี้

ตั้งแต่ภาพสเกตช์กษัตริย์เขมรเมืองกำโปด ที่กลายเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นดินแดนเขมร (ไม่ใช่อันนัม) นับแต่นั้น บ่งบอกลักษณะพิเศษทางชาติพันธุ์ ชีววิทยาของสัตว์ทะเลชายฝั่งไปจนถึงชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเป็นเรื่องทางมานุษยวิทยา

โดยแม้ว่า อ็องรี มูโอต์ จะได้รับความชื่นชมในทางนั้น นับแต่งานเขียนลือชื่ออย่าง Voyage dans les royaume de Siam, de Cambodge, de Laos et autres parties centrales de l’Indochine, (Paris, 1863) แต่สำหรับฉัน การที่นักสำรวจท่านนี้ลงทุนทำพจนานุกรมภาษาเขมรฉบับพกพาของตนเมื่อ 158 ปีก่อน

ช่างเป็น “คู่มือเอาตัวรอด” ที่น่าทึ่ง

มันคือเชิงฝันตั้งแต่ครั้ง หลุยส์ มานีโปด์ เจ้าของโครงการ “กำโปดโมเดล” (แผนการเรียนยุคใหม่) แต่ในช่วงเวลานั้นเอง ใครเลยจะรู้ว่า โรล็องด์ เมเยร์ (Roland Meyer) นักเขียนนิยายคนดังจะพาตัวเองมาไกลถึงกำโปด

โรล็องด์ เมเยร์ ดังมากที่ไซ่ง่อนจากเหตุผลที่ “สารามณี : นางนาฏนางรำเขมร” งานเขียนของเขาถูกแบน (2462) กว่าที่มิเยต์จะซุ่มเขียนงานเล่มใหม่อีกครั้ง “เอเชียในวิสัยหนุ่ม” (Komlah, visions d’Asie) จึงออกมาเป็นรูปเล่มในปี 2473

กึ่งนิยายเล่มนี้ไม่มีความประโลมโลกย์ นอกจากความคับข้องใจที่เขาทุ่มไปทั้งหมด 11 ปีแห่งความทุ่มเท หากจินตนาการได้คงเทียบกับงาน ม.จ.อากาศดำเกิง เรื่อง “ผิวขาวผิวเหลือง” เพียงแต่ฉบับของโรล็องด์ เมเยร์ นั้น เป็นคำถามมาจากตัวเขาซึ่งเป็นชาวตะวันตก

แต่อะไรเล่าที่ทำให้เขาต้องเดินทางไกลไปตากอากาศถึงกำโปด? ทั้งที่ขณะนั้น ประจำทำการอินโดจีนที่แคว้นลาวใต้?

ทำไมมิเยต์จึงต้องไปที่นั่น? เมืองตากอากาศชายทะเลที่ทุรกันดารในการเดินทาง เขาคงไม่มีเป้าหมายแค่เรื่องการพักผ่อน รีสอร์ตโบกอร์ที่เต็มไปด้วยชนชั้นผู้ดีบารังและเขมรชาววังที่เป็นปัญหาต่อชีวิตของเขา

แต่ทำไมฉันจึงคิดว่าโรล็องด์ เมเยร์ น่าจะไปเยี่ยมสหายที่ชื่อว่าหลุยส์ มานีโปด์ เล่า?

 

เมเยร์มีพื้นเพเป็นชาวยิวที่อพยพกลับจากรัสเซีย ด้วยแรงจูงใจของทางการในการมาตั้งรกรากที่รัฐอาณานิคมนั่น จากการได้ชมนิทรรศการกัมพูชาที่ปารีส ทำให้เขาปรารถนาจะแสวงหาชีวิตใหม่ที่เขมร

ถูกแล้ว ในเชิงสันนิษฐาน โรล็องด์ เมเยร์และมานีโปด์น่าจะเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ทางความคิดที่เคยไปมาหาสู่กัน และเป็นที่ทราบกันว่า หากโครงการกำโปดโมเดลประสบความสำเร็จ จะถูกนำไปใช้ในลาวนั้น ซึ่งโรล็องด์ เมเยร์ เองหลังจากถูกลงโทษส่งตัวไปทำงานที่นั่นซึ่งมันก็ร่วม 10 ปีแล้วหากจะว่าไป

สำหรับโรล็องด์ เมเยร์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เขาเชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์เขมร-ลาว และมุ่งมั่นด้านการศึกษา จึงน่าเชื่อได้ว่า มิเยต์มาเพื่อศึกษาโปรเจ็กต์ของมานีโปด์หรือไม่?

และอะไรเล่าที่ทำให้เขากลับหายตัวไปอย่างลึกลับ?

เมื่อวิเคราะห์ว่า ประเด็นเกี่ยวกับราชสำนักกัมโพชเขมรที่เคยขุ่นเคืองเขาในนวนิยาย “สารามณี” นั้น ทั้งกษัตริย์นโรดม-สีโสวัตถิ์ก็ต่างสวรรคตไปแล้ว อีกโรล็องด์ มิเยต์ เองก็ถูกลงโทษมานานกว่า 10 ปี มิน่าจะเป็นสาเหตุได้

หรืองานเขียนเล่มนั้น “เอเชียในวิสัยหนุ่ม” จะเป็นที่มาของประสบเคราะห์กรรมครั้งนี้ จากแนวคิดก้าวหน้าที่อนุรักษนิยมเขมร-ลาวบางฝ่ายเกิดความวิตก

ทั้งหมดทุกอย่างยังไร้การเชื่อมโยง เว้นแต่ข้อเดียวที่โรล็องด์ มิเยต์ ทำไว้ นั่นคือพจนานุกรมฉบับพกพาภาษาเขมรที่พ้องกับอ็องรี มูโอต์ ไม่เท่านั้น เมื่อกลับจากกำโปดแล้ว เขากลับหายไปอย่างไร้ร่องรอยที่แคว้นลาวแบบเดียวกับมูโอต์ซึ่งเสียชีวิตที่นั่น

จากตามหานักเขียนที่กำโปด กลายเป็นเรื่องของลาวไปเสียงั้น

เพราะทั้งอ็องรี มูโอต์ และโรล็องด์ เมเยร์ ต่างจบชีวิตเสียที่นั่น

แต่ใช่ว่าโลกบรรณภพของนักเขียนจากกำโปดจะประสบเคราะห์กรรมไปทุกครั้ง กรณีมาร์เกอริต ดูราส์ ผู้มาทีหลัง ดูเหมือนเธอจะได้เปรียบทุกสถานกว่าใครหลังจากนั้น

ยิ่งสำหรับโลกวรรณกรรมด้วยแล้ว ที่ดินกำโปดอันไร้ค่า ดูจะส่งผลดีต่อเธอเสียยิ่งกว่า

เพิ่มเติมว่า ในปีเดียวกันกับการมาเยือนกำโปดของโรล็องด์ เมเยร์ นี้ มาร์เกอริต ดูราส์ ขณะอายุได้สิบหกปีพร้อมมารดา-พี่ชาย ก็มาตั้งรกรากที่นี่ (2473)

แต่ครอบครัวของดูราส์ไม่ได้มาด้วยความสมัครใจ

ปมเหตุคือบิดาของเธอเสียชีวิต ครั้นภรรยาหม้ายซึ่งได้สิทธิ์ครูอัตราจ้างแทนสามีนั้นกลับต้องอพยพออกจากเขตโรงเรียนเก่าที่โคชินไชน่าเมืองเกียดินห์

เล่ากันว่า มารดาของดูราส์เกือบได้เป็นตำแหน่งครูโรงเรียนสตรีหลวงกรุงพนมเปญ แต่เธอขาดคุณวุฒิด้านการสอน จนแล้วจนรอดเธอก็หาตำแหน่งลงไม่ได้ กระทั่งมีนายหน้าค้าที่ดินชาวจีนคนหนึ่งเสนอขายที่ดินสัมปทานอันไกลโพ้นแห่งนั้นที่กำโปด และตำแหน่งครูที่นั่นก็ยังว่างลง

ดังนี้ ที่รกร้างแห่งหนึ่งในอำเภอไพรนบจึงถูกซื้อมา ก่อนจะพบว่าเธอเสียรู้แก่นายหน้าที่หลอกขายที่น้ำเค็ม ทุกฤดูมรสุมจะมีน้ำทะเลท่วมขัง

ช่างเป็นกรณีศึกษา ขณะที่กำโปดเป็นเขตศึกษาทดลองแผนใหม่ในการป้องกันเหยื่อชาวท้องถิ่นที่ไม่รู้หนังสือจากพวกนายหน้าสิบแปดมงกุฎ แต่กลับเป็นว่า มารดาดูราส์ชาวฝรั่งเศสและอาชีพเป็นครูกลับตกเป็นเหยื่อที่ดินกำโปดเสียเอง

คิดดูแล้วกันว่ารุนแรงแค่ไหนสำหรับอาชีพนายหน้าที่เฟื่องฟูอินโดจีนเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม ความชอกช้ำนี้กลับเป็นพล็อตนิยายชั้นดีเรื่อง “เขื่อนกั้นแปซิฟิก” (Un Barrage contre le Pacifique) ของมาร์เกอริต ดูราส์ เมื่อเธออพยพจากฝรั่งเศส

โดยจริงนั้นเมื่อเทียบกับนักเขียนรายอื่นที่กล่าวมาข้างต้น มาร์เกอริต ดูราส์ แทบจะไม่ผูกพันใดๆ กับเขมรและเมืองนี้เลยก็ว่าได้

แต่นั่นแหละ เมื่อเธอถูกปั่นให้เป็นสัญลักษณ์ของกำโปดไปแล้ว ทั้งฤดูเทศกาลนักเขียน-หนังสือและการอ่านที่ถูกโปรโมตตามมา

หลังจากทำให้พริกไทยดำกำโปดกลายเป็นสินค้าพรีเมียมแพงเว่อร์มากในตลาดโลก

บางทีก็แค่อยากเตือนว่า อย่าดูแคลน ‘ความประโลมโลกย์’