จากนักศึกษาถึงรัฐบาล : จะบริหารจัดการวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างไร? (1) / การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

จากนักศึกษาถึงรัฐบาล

: จะบริหารจัดการวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างไร? (1)

 

เมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ลองประยุกต์แนวคิดทฤษฎีนามธรรมที่เรียนในชั้นเรียนเข้ากับสภาพปัญหาจริงที่เป็นรูปธรรมนอกชั้นเรียนปัจจุบัน

ผมได้ตั้งคำถามสอบกลางภาคการศึกษาในวิชาปรัชญาการเมืองเบื้องต้นให้พวกเขาไปขบคิดค้นคว้าเรียบเรียงคำตอบมาส่งสามวันให้หลัง

โดยให้เลือกทำเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางการเมืองของแฟลชม็อบราษฎร หรือการบริหารจัดการวัคซีนแอนตี้โควิดของรัฐบาลข้อใดข้อหนึ่ง คำถามข้อหลังเป็นดังนี้คือ :

“บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ได้จากบทตอนว่าด้วยประโยชน์นครในหนังสือตำราการิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง ให้นักศึกษาเขียนคำปรึกษาแนะนำแก่รัฐบาลไทยปัจจุบันว่าควรจะดำเนินการเรื่องวัคซีนแอนตี้โควิด-19 อย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อคนจำนวนมากที่สุดในประเทศ? เพราะเหตุใด?”

ปรากฏว่าคำตอบที่นักศึกษาส่งคืนมาให้ตรวจโดยเฉลี่ยดีเหนือความคาดหมายของผม

พวกเขาพยายามลงแรงค้นคว้าข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาประสานกับแนวคิดปรัชญาในชั้นเรียนและวิเคราะห์วิจารณ์เชิงแนะนำได้อย่างหนักแน่นแหลมคมและมีเหตุผลน่ารับฟัง

ผมจึงอยากถือโอกาสคัดตัดต่อเรียบเรียงคำตอบที่ดีของพวกเขาบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังเผื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านทั้งในแง่เล็งเห็นรับรู้ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองและเข้าใจมุมมองของคนรุ่นหนุ่มสาวปัจจุบัน

โดยเริ่มจากปัญหาวัคซีนแอนตี้โควิด

ความเข้าใจปรัชญาประโยชน์นิยม (Utilitarianism)

กับมุมมองต่อรัฐไทยปัจจุบัน

คําตอบของคุณ 6003614127 อธิบายแจกแจงเรื่องนี้อย่างกระชับและวิเคราะห์เจาะลึกว่า :

“…ประเทศไทยในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีลักษณะเป็นรัฐอำนาจนิยม (Authoritarian State) ที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนในหลายด้าน เช่น การรับข่าวสาร การแสดงออกทางความคิด

“รวมไปถึงยังเป็นรัฐขั้นต่ำ (Minimal State) ที่มีหน้าที่เพียงขั้นพื้นฐาน เช่น รักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น (ผมในฐานะครูผู้ตรวจอยากคอมเมนต์เติมว่า : รัฐบาลประยุทธ์มีแนวโน้มและความพยายามจะเป็นแค่รัฐขั้นต่ำ แต่ก็มีโครงการสวัสดิการต่างๆ ตกทอดสืบเนื่องมาที่ไปในทางรัฐขั้นสูงหรือ Maximal State เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น)

“ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรดำเนินการเรื่องวัคซีนแอนตี้โควิด-19 เพื่อให้ได้ ‘ประโยชน์สูงสุดต่อคนจำนวนมากที่สุดในประเทศ’ จากฐานคิดของเมืองประโยชน์นคร ดังนี้ :

“เมืองประโยชน์นครยึดมั่นในหลักประโยชน์สุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด ซึ่งเป็นการมองไปในอนาคต กล่าวโดยภาพรวมคือเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่นับได้ ดังนั้น จะต้องมีการคิดคำนวณถึงอรรถประโยชน์สูงสุดอยู่เสมอในทุกการกระทำ ผ่านการแปรคุณภาพต่างๆ ให้เป็นคุณภาพเดียวกัน คือทำให้เป็นประโยชน์ส่วนรวมแล้วเทียบวัดหาทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

“สิ่งนี้มีความสำคัญในการได้รับสวัสดิการจากรัฐบาล กล่าวคือ หากทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมได้มาก ส่วนรวมจะให้ผลตอบแทนที่มากตาม โดยการยิ้มก็ถือว่าเป็นการประเมินวัดความสามารถในการผลิตและเสพความสุขวิธีหนึ่ง

“ด้วยเหตุนี้ ชาวเมืองประโยชน์นครทุกคนจึงได้รับสวัสดิการจากรัฐ เพราะรัฐเชื่อว่าประชาชนไม่รู้ว่าตัวเองควรต้องการอะไร รัฐจึงจัดสรรให้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สุขมากที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุด แต่การได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเพิ่มอรรถประโยชน์สูงสุดให้กับส่วนรวม เป็นผลให้ประโยชน์นครไม่มีคนยากจนเพราะรัฐจัดหาสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกอย่างแล้ว

“ดังนั้น หากสร้างอรรถประโยชน์สูงสุดให้เยอะไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องของบุคคล ประกอบกับโครงสร้างของเมืองนี้ไม่มีชนชั้น กล่าวคือ ไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่แยกออกจากส่วนรวมกับปัจเจกบุคคล ทำให้เมื่อมีการขัดกัน ส่วนรวมจะเป็นฝ่ายชนะเสมอ เนื่องจากปัจเจกบุคคลไม่มีกลุ่มพลังในการต่อรอง

“ภายใต้แนวคิดประโยชน์นิยมนี้จึงทำให้ไม่มีสิทธิของปัจเจกบุคคลเพื่อที่จะไม่ขัดกับประโยชน์ส่วนรวมซึ่งเป็นหลักยึดสูงสุด นอกจากนี้ รัฐยังมีอำนาจในตัวของปัจเจกบุคคลมาก เช่น การจัดการะบบถ่ายโอนชิ้นส่วนร่างกาย ถือได้ว่าทุกอย่างเป็นของส่วนรวมทั้งสิ้นแม้กระทั่งตัวเราเอง

“ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าประโยชน์นครเป็นรัฐสวัสดิการอำนาจนิยม เพราะอำนาจรัฐล่วงเกินเข้ามาในตัวปัจเจกบุคคลผ่านการจัดสรรสวัสดิการของรัฐ”

(ผู้ตรวจใคร่คอมเมนต์เติมว่า : ถ้ายึดตามคำบรรยายแผนงานของนายกรัฐมนตรีหญิงฮิลดา ราพณาสูร แห่งประโยชน์นครในนิยายแล้ว น่าจะเป็นรัฐสวัสดิการเบ็ดเสร็จ หรือ Totalitarian Welfare State เลยทีเดียว เพราะควบคุมพลเมืองตั้งแต่ก่อนเกิดถึงตาย)

 

ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนแอนตี้โควิดยี่ห้อต่างๆ

ในประเด็นนี้ คุณ 6003610489 ชี้แจงข้อมูลและวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า :

“การจัดหาวัคซีนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รัฐบาลต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่คนจำนวนมากที่สุดในประเทศจะพึงได้รับ ฉะนั้นแล้วในระยะสั้น เกณฑ์ที่รัฐบาลควรพิจารณาประกอบในการจัดซื้อวัคซีน ได้แก่ ผลการทดลองทางคลินิก 3 ระยะ ประสิทธิภาพของวัคซีน ระยะเวลาการเก็บรักษา และราคาของวัคซีน

“รัฐบาลควรจัดซื้อวัคซีนของ Moderna ในการฉีดระยะแรกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และแรงงานในอุตสาหกรรมภาคบริการก่อน เนื่องจากคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากที่สุด…เมื่อพิจารณาเกณฑ์ข้างต้นที่มีต่อวัคซีนชนิดนี้ พบว่าแม้จะมีราคา 32-37 ดอลาร์สหรัฐต่อหน่วยซึ่งถือว่าแพงที่สุดในบรรดาวัคซีนทั้งหมด แต่วัคซีนของ Moderna นี้มีประสิทธิภาพสูงถึง 93-94% มีผลการทดลองทางคลินิกทั้ง 3 ระยะแล้ว และยังสามารถเก็บรักษาระยะสั้นในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเชียสได้เป็นระยะเวลา 30 วัน (ส่วนการเก็บในระยะยาวต้องอยู่ที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเชียส) ซึ่งเหมาะแก่การเร่งใช้อย่างฉุกเฉิน

“รัฐไม่ควรจัดซื้อวัคซีนเพียงชนิดเดียวเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ปริมาณวัคซีนตามที่ต้องการ เพราะปัจจุบันทุกประเทศก็ต้องการวัคซีนแอนตี้โควิดเช่นเดียวกัน ฉะนั้นแล้วรัฐควรจัดซื้อวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford เพื่อฉีดให้บุคคลที่มีความสำคัญรองลงมา เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การจัดซื้อข้างต้น พบว่าวัคซีนนี้มีผลการทดลองที่ได้รับการตีพิมพ์ใน 3 ระยะเช่นเดียวกับ Moderna โดยมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 70.4% สามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเชียสเป็นระยะเวลานาน 6 เดือนและมีราคา 2-5 ดอลลาร์ต่อหน่วย

“เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นอย่างของ Pfizer/BioNTech นั้นต้องมีวิธีเก็บรักษาในอุณหภูมิติดลบและมีระยะเวลาในการเก็บรักษาสั้นกว่าวัคซีนของ Moderna และ AstraZeneca/Oxford (กล่าวคือ การเก็บระยะสั้นหลังจากละลายที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเชียสได้ 5 วันหากไม่เจือจาง หรือได้ 6 ชั่วโมงหากเจือจาง ส่วนการเก็บระยะยาวต้องที่อุณหภูมิ -80 ถึง -60 องศาเซลเชียสได้ 10 วัน – แนะนำข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณ 6003612063)

“ในขณะที่วัคซีนของ Sinovac แม้จะมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 78.2% ซึ่งมากกว่า AstraZeneca/Oxford แต่เมื่อพิจารณาจากราคาต่อหน่วยจะพบว่ามีราคาอยู่ที่ 15-30 ดอลลาร์ และยังไม่มีรายงานผลการศึกษาวัคซีนในระยะที่ 3

“ดังนั้น วัคซีนของ Moderna และ AstraZeneca/Oxford จึงมีความคุ้มทุนและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าวัคซีนชนิดอื่น”

 

วิเคราะห์วิจารณ์

การดำเนินงานของรัฐบาลเรื่องนี้ที่ผ่านมา

คุณ 6003614127 สรุปอย่างกระชับรวบรัดว่า :

“ไทยได้ร่วมมือกับบริษัท AstraZeneca ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท Siam Bioscience ของไทย เพื่อผลิตวัคซีนแอนตี้โควิด-19 ซึ่งอาจต้องใช้เวลา ดังนั้น จึงมีการสั่งซื้อวัคซีนเพื่อมาใช้ภายในประเทศก่อน แต่ก็มีความล่าช้าในกระบวนการจัดซื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดสรรและจัดฉีดให้กับคนในประเทศต้องล่าช้าตาม ประกอบกับความกลัวของประชาชนต่อประสิทธิภาพวัคซีน ดังนั้น รัฐจึงมีการพูดถึงการฉีดวัคซีนเพื่อชาติ เพราะรัฐมองว่าการทำเพื่อชาติหรือส่วนรวมจะทำให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อคนจำนวนมาก”

ต่อเรื่องนี้ คุณ 6003610489 วิจารณ์และเสนอแนะอย่างเฉพาะเจาะจงว่าการตัดสินใจเลือกบริษัทของไทยดังกล่าว

“ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง”

เพราะ

“เมื่อพิจารณาจากสถานะพิเศษ…ของบริษัทนี้อาจทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนได้ นอกจากนี้ การนำเสนอ (ของทางการที่ผ่านมา) อาจทำให้ ‘ไม่สามารถคง สถานะความเป็นกลางทางการเมืองเอาไว้ได้’ และ…ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม

“จึงขอเสนอให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิต เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมนั้นเป็นผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนแล้ว โรงงาน อุปกรณ์ย่อมพร้อมกว่าบริษัท…ที่ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อนและไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง

“นอกจากนี้ เพื่อความมั่นใจของประชาชน ความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ รัฐบาลต้องเปิดเผยกระบวนการในการทำข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย”

โดยคุณ 6003614127 เสนอหลักการแนวทางการจัดหาวัคซีนให้แก่รัฐบาลอย่างกระชับว่า :

– การจัดซื้อและนำเข้าวัคซีนจะต้องทำอย่างรวดเร็ว

– ควรจัดซื้อวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอต่อประชาชนในประเทศ

– ควรมีการจัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิตที่หลากหลายเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง

– คนไทยควรจะได้รับสวัสดิการในการฉีดวัคซีนฟรีทุกคน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)