‘บิ๊กตู่’ หลังพิงกองทัพ สู้ศึกโควิด วัดใจ ผบ.เหล่าทัพ ทัพฟ้า ยังกรุ่นกลางโควิด ดัน ‘นภาเดช’ สู้ ลุ้นตามรอยเท้าพ่อ ชิงแม่ทัพฟ้า / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

‘บิ๊กตู่’ หลังพิงกองทัพ

สู้ศึกโควิด

วัดใจ ผบ.เหล่าทัพ

ทัพฟ้า ยังกรุ่นกลางโควิด

ดัน ‘นภาเดช’ สู้

ลุ้นตามรอยเท้าพ่อ ชิงแม่ทัพฟ้า

 

โควิดระบาดหนักในระลอกที่ 3 นี้ เปรียบเสมือนข้าศึกมาประชิดกำแพงเมือง ทำกองทัพถึงขั้นสะเทือน เพราะบุกเข้าโจมตี ยึดครองพื้นที่สำคัญได้ในหลายจุด ทหารติดโควิดไปจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

โดยเฉพาะกองทัพบกที่โควิดบุกเข้าโจมตีถึง บก.ทบ. ที่ถือเป็นศูนย์บัญชาการหัวใจของกองทัพบก แถมรุกไปถึงชั้น 6 ห้อง ผบ.ทบ. ที่ทางการทหารเรียกได้ว่าเป็น CG : Center of Gravity จุดศูนย์ดุลเลยทีเดียว

เชื้อโควิดที่แฝงอยู่ในตัวนายทหารยศพลเอก เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 22 ทีมงานหน้าห้องของบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.

อีกทั้งชั้น 6 เป็นชั้นที่มีห้องทำงานของระดับ 5 เสือ ทบ. ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพบก ส่งผลให้ต้องมีการไปตรวจหาเชื้อและกักตัวกันถ้วนหน้า จน บก.ทบ.เงียบเหงาช่วงเปิดทำการหลังสงกรานต์ ประกอบกับทำตามนโยบาย Work From Home ของรัฐบาลด้วย

โดยเฉพาะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ และ อ.เชอร์ฯ พ.อ.หญิง พิมพ์พิศา จิตต์แก้วแท้ ภริยา ที่ต้องกักตัวในบ้านพักใน ทม.ร.1 รอ. นานถึง 14 วัน แม้จะตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็ตาม

ปกติแล้ว พล.อ.ณรงค์พันธ์ซึ่งมีตำแหน่งเป็น ผบ.หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) มักจะตรวจหาเชื้อโควิดเกือบทุกสัปดาห์ ก่อนที่จะมีกำหนดการเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จฯ

ที่สำคัญ นายทหารใน ทบ.อีกหลายคนที่ติดโควิดจากแมตช์ฟุตบอลพี่น้องทหารม้า ที่เกียกกาย ที่เสธ.ไก่อู พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ไปเตะบอลด้วยก็ติดเชื้อ

รวมทั้งนายทหารม้าคอแดง ทั้งของ พล.ม.2 รอ. และในส่วนของ ทม.รอ. ที่ก็ติดเชื้อ และส่งผลให้ทั้งทหารม้าและคนใกล้ชิด ติดเชื้อและต้องกักตัวไปไม่น้อย

ขณะที่กองทัพไทยนั้น กรณี 2 ร.ท.หญิง ติดเชื้อจากเพื่อนพลเรือนที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ก็สะเทือนสนามเสือป่าแจ้งวัฒนะ เพราะ ร.ท.หญิงทำงานใกล้ชิดผู้บังคับบัญชา ส่งผลให้ทหารที่ทำงานใกล้ชิดต้องกักตัวกันไม่น้อย

ส่วนบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ต้องตรวจหาเชื้อด้วย แต่ไม่ถึงขั้นกักตัว

แต่เหตุที่ ร.ท.หญิงคนที่ติดเชื้อ ไปร่วมสังเกตการณ์การฝึก การดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ในการฝึกกองทัพเรือ 2564 ที่จันทบุรี ที่มีบิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. เป็นประธานด้วยนั้น จึงทำให้นายทหารเรือหลายคนต้องตรวจหาเชื้อและกักตัว รวมทั้ง พล.ร.อ.ชาติชายด้วยที่ต้องกักตัว และ Work From Home

นอกจากนี้ ยังมีนายทหารเรืออีกหลายนายจากหลายหน่วย โดยเฉพาะกรมอุทกศาสตร์ ทร. ที่ติดเชื้อโควิด ที่ทำให้ต้องตรวจหาเชื้อและกักตัวกันอีกหลายคน

 

ขณะที่กองทัพอากาศนั้น เชื้อโควิดบุกเข้าโจมตีขุมกำลังรบ กองบินสำคัญอย่างกองบิน 1 นครราชสีมา ที่เป็นกองบินเครื่องบินขับไล่ เอฟ 16 ของ ทอ. โดยมีผู้บังคับฝูงบิน และนักบินติดโควิดรวม 8 นาย ที่คาดว่าจากการจัดงานเลี้ยง

นอกจากนั้น ที่กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ พื้นที่สีแดง เชื้อโควิดบุกเข้าโจมตีทั้งผู้การกองบิน ลงมาล็อตแรก 10 นาย ก่อนจะพบอีก 17 นาย ที่ต้องกักตัวกันเกือบทั้งกองบินเลยทีเดียว

โควิดทำให้ทุกเหล่าทัพต้องระดมทั้งกำลังพล อุปกรณ์ต่างๆ และงบประมาณในการสนับสนุนรัฐบาล ในการตั้งโรงพยาบาลสนามในค่ายทหาร และสนับสนุนแต่ละจังหวัด ตั้งโรงพยาบาลสนาม

และการเสริมกำลังดูแลชายแดน ทั้งด้านมาเลเซีย เมียนมา และกัมพูชา ป้องกันการลักลอบข้ามแดนโดยไม่ผ่านการคัดกรองโรค

 

แต่ที่ดูจะสะเทือนกองทัพอีกครั้งอย่างหนักคือ งบประมาณกองทัพในปี 2565 ที่กำลังจะเข้าสู่สภาวาระแรก 26-27 พฤษภาคม 2564 นี้ ที่ฝ่ายค้านเริ่มเรียกร้อง กดดันให้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตัดงบฯ กลาโหมลง เพื่อนำเงินไปแก้ปัญหาโควิดช่วยประชาชน

โดยที่เรือดำน้ำลำที่ 2-3 ของกองทัพเรือเป็นเป้าหมายใหญ่สุด ที่ฝ่ายค้านจ้องจะทำให้ดำไม่โผล่ แล้วก็ทำสำเร็จมา 2 ครั้งแล้ว ตั้งแต่โควิดระลอกแรก ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สั่งชะลอโครงการเรือดำน้ำ และอีกหลายโครงการของทุกเหล่าทัพในปี 2563 แล้วนำเงินรวม 1.8 หมื่นล้าน คืนเข้างบฯ กลาง ให้นายกฯ นำไปแก้โควิด และโควิดระลอกที่ 2 แม้จะคลี่คลาย แต่การเมืองแรง จากพลังม็อบในระยะแรกๆ จน พล.อ.ประยุทธ์สั่งชะลอโครงการในวินาทีสุดท้าย ในขณะที่คณะกรรมาธิการงบฯ กำลังจะพิจารณา ทำให้งบฯ เรือดำน้ำในปี 2564 นั้น ภาษางบประมาณเรียกว่า ตกน้ำ ไปเลย

มาคราวนี้ โควิดระลอก 2 รุนแรง แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะออกตัวว่ามีความจำเป็นในแง่ความมั่นคงในภูมิภาค และของโลกก็ตาม แต่ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้แจ้งกับ ผบ.เหล่าทัพแล้วว่า จำเป็นต้องปรับลดงบฯ กองทัพลง

และท้ายที่สุดอาจต้องชะลอหลายโครงการ

พล.อ.ณรงค์พันธ์

 

ในช่วงโควิด แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ค่อยได้เจอ ผบ.เหล่าทัพ เพราะทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ และ พล.ร.อ.ชาติชายต้องกักตัว แต่ก็พูดคุยสั่งการทางโทรศัพท์ และทาง “ไลน์เสือ”

จึงไม่แปลกที่สัปดาห์หลังสงกรรานต์ พล.อ.ประยุทธ์จะเรียก พล.อ.เฉลิมพลมาพบพูดคุยที่ทำเนียบรัฐบาลเพียงคนเดียว

ก่อนที่จะเจอหน้ากันบนจอในการประชุมสภากลาโหม ผ่านระบบออนไลน์ 23 เมษายน โดย พล.อ.ประยุทธ์ประชุมจากทำเนียบรัฐบาล

แม้ พล.ร.อ.ชาติชายครบกักตัวพอดี ก็มาประชุมด้วยตนเองผ่านระบบ vtc จากกองทัพเรือวังนันทอุทยาน

แต่ก็ขาด พล.อ.ณรงค์พันธ์ เพราะยังต้องกักตัวอยู่ จึงมอบรอง ผบ.ทบ. นำประชุมในส่วนของ ทบ. ร่วมกับนายกฯ แทน

 

ที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ไม่ค่อยได้ร่วมประชุมสภากลาโหมที่ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นประธานเองที่กลาโหม ช่วงที่โควิดคลี่คลาย เพราะติดภารกิจในการรับเสด็จฯ บ้าง ติดประชุม ฉก.ทม.รอ.904 บ้าง และติดงานพิธีของ ทบ.ที่กำหนดไว้แล้วบ้าง จนทำให้ถูกจับตามอง

แม้โดยส่วนตัว พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะไม่ค่อยสนิทสนมกันมากนัก แต่ก็ทำงานด้วยกันมาในกองทัพภาคที่ 1 แต่ทว่าไม่ได้แนบแน่นเหมือนเมื่อครั้งที่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ.

แม้จะถูกมองว่าส่วนหนึ่งเพราะรุ่นที่ห่างกันถึง 10 รุ่น พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมทหารรุ่น 12 ส่วน พล.อ.ณรงค์พันธ์ เตรียมทหารรุ่น 22 ก็ตาม

แต่ พล.อ.ประยุทธ์เชื่อว่า แม้รุ่นของกองเตรียมทหารจะห่างกัน แต่ไม่มีผลที่จะทำให้ตนเองและผู้บัญชาการเหล่าทัพห่างเหินกัน เพราะกองทัพมีสายการบังคับบัญชาที่ทำงานร่วมกัน และมีความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องเตรียมทหาร

ที่สำคัญในยามที่ต้องทำสงครามกับโควิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า เป็นการทำการรบกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น ไม่มีใครรู้เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องใช้กองทัพเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ เพราะในยามที่กลไกราชการส่วนอื่นไม่เดินหน้าหรือไม่ได้ดั่งใจ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะหันมาสั่งกระทรวงกลาโหม สั่งกองทัพ

เหมือนเช่นที่รถพยาบาลของสาธารณสุขและของโรงพยาบาลไม่เพียงพอที่จะไปรับผู้ป่วย หรือแม้แต่การที่สายด่วนสาธารณสุข 1669 ไม่มีผู้รับสายหลังจากที่นายกฯ ให้คนลองโทร.ไป พล.อ.ประยุทธ์ก็สั่งการให้กองทัพนำรถพยาบาลทหาร หรือแม้แต่รถทหาร พร้อมสำหรับสนับสนุนการรับ-ส่งผู้ป่วย โดยให้แพทย์ทหารหรือเสนารักษ์มาช่วยเสริมอีกแรงหนึ่ง จนถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ถ้ารถพยาบาลไม่พอ ก็จะใช้รถ 10 ล้อไปรับ

อาจกล่าวได้ว่า สั่งใครไม่ได้ก็มีทหาร มีกองทัพที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนให้กับ พล.อ.ประยุทธ์

โดยใช้การโทร.สายตรงแจ้งผู้นำเหล่าทัพด้วยตนเอง ทั้งกับ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ที่ พล.อ.ประยุทธ์เจอบ่อยๆ เพราะทำงานใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่

และมีบ่อยครั้งที่สั่งการผ่าน พล.อ.เฉลิมพล ผบ.ทหารสูงสุด ที่เป็นหัวหน้า ศปม.อยู่แล้ว คุม ศปม.ของแต่ละเหล่าทัพด้วย

และรวมทั้งสั่งผ่านบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ ผอ.ศปก.ศบค. ที่เป็นมือทำงานที่นายกฯ ใช้บริการมากที่สุด

 

พล.อ.ประยุทธ์เสียรูปกระบวน ซวนเซไปไม่น้อย เมื่อเจอโควิดระลอก 3 เพราะสิ่งที่เคยทำผลงานไว้ในโควิด 2 ระลอกแรกก็จบสิ้น เริ่มถูกโจมตีเรื่องการซื้อวัคซีนล่าช้า เพราะหวังแต่แอสตร้าเซนเนก้า

พล.อ.ประยุทธ์เลยต้องพาดพิงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เนืองๆ หลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคติดโควิดเสียเอง แถมตกเป็นจำเลยสังคม เรื่องที่มาของการติดเชื้อว่าเกี่ยวข้องกับการเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อหรือไม่

ยิ่งเมื่อนายกฯ ลองให้คนโทร. 1669 ต่อหน้า แต่ไม่มีคนรับสาย จนต้องมาถามนายอนุทินกลางวงประชุมและสั่งให้แก้ไขด่วน

แต่ก็รีบออกตัวว่า “ผมไม่ได้มีอะไรสักนิด ไม่ได้ไปตำหนิอะไรเขาสักอย่าง ถามพี่หนูสิ ผมไม่เคยตำหนิเขาสักอย่าง ไม่เคยไปเล่นงาน คุยกันธรรมดา คุยกันทุกเรื่อง ขอให้ทุกคนอย่าขัดแย้งกันโดยเด็ดขาด”

รวมทั้งการบอกกับคุณหมอว่า ผมรักหมออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นายกฯ ก็ต้องแบกรับภาระอยู่แล้ว

เหล่านี้อาจเรียกว่าเป็นการออกอาการของ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อโดนโควิดระลอก 3 ถล่มหนักเลยทีเดียว แต่ก็ยังมีกองทัพเป็นมือเป็นไม้ต่อไป

พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์

ขณะที่สถานการณ์โควิดคุกรุ่น ในกองทัพอากาศเองกระแสการชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ.ยังคงเข้มข้น ไม่มีพักยก

เพราะแม้จะเงียบๆ นิ่งๆ แต่บรรดาลูกทัพฟ้าเริ่มจับตามองไปที่ “บิ๊กป้อง” พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ประธานที่ปรึกษา ทอ. แม้ไม่ได้เป็น 5 เสืออากาศ แต่ก็เป็นพลอากาศเอก อัตราพลอากาศเอกพิเศษ ที่ถือว่าอาวุโสสูงสุดในบรรดาแคนดิเดต ผบ.ทอ.ในการโยกย้ายปลายปีนี้

เพราะก็เป็นเพื่อน ตท.21 ของ พล.อ.อ. สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. อีกคนที่พร้อมจะชิงกับเพื่อน ตท.21 ด้วยกัน ทั้งในและนอก ทอ.

ทั้งบิ๊กตั้ว พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ วัฒนวรางกูร ผบ.คปอ. ทั้งบิ๊กต่วย พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ ต่ายทอง รอง ผบ.ทหารสูงสุด

พล.อ.อ.นภาเดช แม้จะเป็นลูกชาย พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ.ผู้ล่วงลับ แต่ก็ถือว่าคุณสมบัติไม่ด้อยไปกว่าแคนดิเดตคนอื่น เพราะก็เป็นนักบินทั้งเอฟ 5 และเอฟ 16

สมัยเรียนนายเรืออากาศ พล.อ.อ.นภาเดชเคยได้ทุนไปเรียนฝรั่งเศส แต่สละสิทธิ์เพราะอยากเป็นนักบิน เพราะหากไปเรียนฝรั่งเศสกลับมาอาจจะไม่ได้เป็นนักบิน

เมื่อการเป็นนักบินคือความฝัน ตอนที่เข้าโรงเรียนการบิน กำแพงแสน นครปฐมนั้น จึงตั้งใจเต็มที่ จนสอบได้ทุนไปเรียนการบินที่สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่หลักสูตรศิษย์การบิน จนถึง F-5E/F Combat Readiness เลยทีเดียว

เมื่อกลับจากสหรัฐได้ 4-5 ปี ก็เปลี่ยนไปบิน F-16 จนเป็นผู้บังคับฝูงบิน 103 กองบิน 1 นครราชสีมา ที่รู้จักกันดีใน call sign ว่า Snowy

แถมตอนเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ ก็สอบได้ที่ 1 ได้ทุนไปเรียนเสธ.ทอ. ที่สหรัฐด้วย

พล.อ.อ.แอร์บูล

 

หลังจากไปเป็นผู้ช่วยทูตทหารอากาศที่ปักกิ่ง ประเทศจีน 3 ปี พอกลับมาก็ไปเป็นผู้บังคับการกรมนักเรียนนายเรืออากาศ ที่มักจะเลือกนายทหารอากาศที่เพียบพร้อม มานั่งตำแหน่งนี้ เพื่อให้เป็นต้นแบบของรุ่นน้องๆ

หลังจากนั้น ก็ไปเป็นผู้การกองบิน 23 ที่อุดรธานี นานถึง 4 ปี ที่ในเวลานั้น เป็นช่วงปัญหาการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดงรุนแรงมาก โดยต้องดูแลวีไอพีที่มาพำนักในกองบิน นานหลายปี และผ่านไปเรียบร้อย แม้อุดรธานีจะเป็นพื้นที่คนเสื้อแดงก็ตาม

พล.อ.อ.นภาเดชมีลักษณะของความเป็นผู้นำ เพราะเมื่อเข้าเรียน วปอ.58 ก็ได้รับเลือกเป็นประธานรุ่น ที่นับเป็นทหารอากาศคนแรกที่เป็นประธานรุ่น วปอ. แถมยังเป็นนักกีฬา เป็นนักวิ่ง 100 เมตร ที่เคยทำลายสถิติมาแล้ว

พล.อ.อ.นภาเดชจึงถูกจับตามองตั้งแต่สมัยเป็นนายทหารเด็กๆ ว่า มีโอกาสที่จะเป็น ผบ.ทอ. เดินตามรอยเท้าบิดา และเป็น ผบ.ทอ.คนที่ 2 ของตระกูลธูปะเตมีย์

เพราะก็เติบโตตามไลน์ เช่น เป็นรองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ จนขึ้นเป็น ผบ.คปอ. แต่ทว่า ก็ไม่สามารถเบียดเข้าเป็น 5 เสืออากาศได้ จึงเป็นประธานที่ปรึกษา ทอ.ในปัจจุบัน

ทำให้ในห้วงที่ผ่านมา ชื่อ พล.อ.อ.นภาเดชไม่ค่อยได้ถูกโฟกัสมากนัก

อีกทั้งมีแคนดิเดตคนอื่นที่มาแรง โดยเฉพาะเสธ.หนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา เสนาธิการทหารอากาศ รุ่นน้อง ตท.23 ที่ก็เป็นนักบินเอฟ 16 มี Call sign ว่า Cannon เคยเป็นผู้ฝูง และผู้การกองบิน 4 ตาคลี นครสวรรค์ ก่อนที่จะไปเป็น ผช.ทูตทหารอากาศที่สวีเดน ก่อนกลับมาเติบโตในกรมข่าว ทอ. และกรมยุทธการทหารอากาศ จนเป็นเจ้ากรมยุทธการ ทอ. รองเสธ.ทอ. และเสธ.ทอ.

แม้จะถูกมองว่า พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทอ. เป็นผู้สนับสนุน และวางตัวไว้เป็น ผบ.ทอ.คนต่อไป แต่โดยชื่อชั้นแล้ว พล.อ.อ.ชานนท์เป็นที่ยอมรับใน ทอ.อยู่แล้ว

แต่ด้วยเหตุที่ พล.อ.อ.ชานนท์มีอายุราชการถึงกันยายน 2567 จึงทำให้ถูกมองว่าอาจมีนายทหารรุ่นพี่มาแทรกขัดตาทัพก่อน 1 ปี แม้ว่าที่ผ่านมาจะมี ผบ.ทอ.หลายคนที่เป็น ผบ.ทอ.นาน 3-4 ปีมาแล้วก็ตาม

จึงทำให้ชื่อของนายทหารรุ่นพี่ ตท.21 หลายคนมาชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ.ด้วย ทั้งบิ๊กตั้ว พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ นักบินเอฟ 16 call sign “Stallion” อดีตผู้การกองบิน 1 และอดีต ผช.ทูตทหารอากาศ ประจำลอนดอน อ้งกฤษ ที่ถูกมองว่า มีพี่น้อง 2 ป. “ป้อม-ป๊อก” เป็นกองหนุน และเป็นเพื่อนรักของ พล.อ.อ.แอร์บูล

และบิ๊กต่วย พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ นักบินเครื่องบินโจมตี A-37 และเติบโตมาในสายกำลังพล ไม่มี call sign แต่มีนามเรียกขานในภาพรวมว่า Eagle

ที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยสนับสนุนให้เป็น ผบ.ทอ.เมื่อครั้งที่ พล.อ.อ.มานัตเป็น ผบ.ทอ. แล้วเสนอชื่อบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. เป็น ผบ.ทอ. จนเกิดกระแสต่อต้านใน ทอ.

แต่ที่สุด พล.อ.อ.มานัตก็ยืนกรานที่จะให้ พล.อ.อ.แอร์บูลเป็น ผบ.ทอ.

 

มาตอนนี้ เมื่อ พล.อ.อ.แอร์บูลเป็น ผบ.ทอ. ก็ย่อมมีอำนาจในมือที่จะส่งไม้ต่อให้ใครที่เขาไว้ใจ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อน ตท.21 หรือรุ่นน้อง และไม่ว่าจะอยู่ในห้าฉลามอากาศหรือไม่ก็ตาม เช่น บิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. น้องรัก ตท.22

เพราะในเมื่อ พล.อ.อ.แอร์บูลได้ทำสถิติเป็น ผบ.ทอ.ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. คนที่ 2 มาแล้ว ก็สามารถมีคนที่ 3 ได้เช่นกัน

แต่ท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ที่ยังคุมอำนาจกองทัพอยู่ ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย บนหลายปัจจัย