‘ข้าแต่ศาลที่เคารพ’ การ’อดข้าว’ ของ ‘เพนกวิน’ ยืนหยัด ปฏิเสธกระบวนการ ‘ไม่’ ยุติธรรม ?

นับจากวันที่ 15 มีนาคม 2564 นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำราษฎร ประกาศหน้าบัลลังก์ศาลขอประท้วงอดข้าว จนกว่าจะได้รับการประกันตัวเพื่อพิสูจน์ความยุติธรรม

หลังจากทนายความและนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ผู้เป็นแม่ พยายามยื่นขอประกันปล่อยตัวชั่วคราวอยู่หลายครั้ง เพื่อให้เพนกวินได้ออกมาสู้คดีตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

แต่หนทางแห่งอิสรภาพกลับถูกปฏิเสธทุกครั้ง ทำให้ทั้งเพนกวินและแกนนำคนอื่นๆ อย่างทนายอานนท์ นำภา รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ต้องใช้ชีวิตในคุกระหว่างต่อสู้คดี

ตลอดการต่อสู้ทวงคืนความยุติธรรม เพนกวินอดข้าวเป็นเวลานานเดือนกว่า ส่งผลให้สภาพร่างกายทรุดโทรมเข้าขั้นวิกฤต อาการน่าวิตกอย่างมาก

สุดท้ายเมื่อการต่อสู้เรียกร้องไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น เพนกวินและแกนนำแนวร่วมคนอื่นๆ รวม 21 คน จึงประกาศปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม

ด้วยการให้ทนายความถอนตัวจากคดีทั้งหมด

 

ภายใต้ความพยายามของทนายความและครอบครัวในการขอยื่นประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เพียงความยุติธรรมจะเดินทางมาไม่ถึง แต่ยิ่งห่างไกลออกไป

8 เมษายน เพนกวินและแกนนำแนวร่วมราษฎรทั้ง 21 คน ต่างอึดอัดกับสภาพการณ์ถูกจองจำทั้งที่ตามกฎหมายทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งหมดตัดสินใจแถลงต่อศาลขอถอนทนายความ ด้วยเหตุผล 3 ประการ

1. จำเลยไม่ได้รับสิทธิปรึกษาหารือทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมจนเสียสิทธิ

2. จําเลยที่ขังและจําเลยที่ได้ประกัน ไม่ได้รับสิทธิปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเพียงพอ

และ 3. ศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาคดีลับ แต่กลับมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ครอบครัวจําเลยและบุคคลภายนอกเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใส

19 เมษายน ศาลอาญานัดตรวจหลักฐานคดีชุมนุมม็อบเฟส บริเวณแยกคอกวัวและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2563 พร้อมเบิกตัวเพนกวินจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มายังศาล

เป็นเพราะอดข้าวมานานกว่า 1 เดือน เพนกวินต้องนั่งรถเข็น ห้อยสายน้ำเกลือระโยงระยางเข้ามาในห้องพิจารณาคดี

อัยการโจทก์เสนอพยานเข้าสืบ 32 ปาก แต่เพนกวินแถลงทันทีว่า ไม่รับพยาน ก่อนขอแถลงต่อศาลและพยายามลุกขึ้นจากรถเข็น แต่ไม่สามารถพยุงตัวลุกขึ้นยืนได้ ศาลจึงให้นั่งแถลงผ่านไมโครโฟน

เพนกวินกล่าวอย่างช้าๆ น้ำเสียงเปลี่ยนไปไม่มีแรงเหมือนเดิม

“ข้าแต่ศาลที่เคารพ เนื่องด้วยข้าพเจ้ายังไม่ต้องคำพิพากษาให้มีความผิดตามกฎหมายมาตราใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การที่ศาลคุมขังข้าพเจ้าไว้ทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่—ดังนั้น กระบวนการนี้ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม จึงไม่ขอยอมรับ ขอปฏิเสธทุกกระบวนการไม่ลงลายมือชื่อใดๆ จนกว่าจะได้รับสิทธิการประกันตัวแล้วสู้คดีอย่างเต็มที่”

แม้ศาลจะอธิบายให้เพนกวินฟังว่า กระบวนการนี้เป็นการนัดตรวจพยานหลักฐาน ถ้าไม่กำหนดวันนัดคดีเพื่อสืบพยานจะทำอะไรไม่ได้

แต่เพนกวินยังคงยืนกรานขอปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากไม่ได้ประกันตัว และขอถอนทนายความไปพร้อมกัน

ศาลพิเคราะห์ตามคำแถลงของโจทก์และข้อต่อสู้ของจำเลย เห็นควรกำหนดนัดสืบพยานให้โจทก์ 9 นัด นัดสืบพยานจำเลย 5 นัด พร้อมอนุญาตจำเลยถอนทนายความในคดีนี้ได้

หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนในศาล ด้านนอกมีกลุ่มเพื่อนเพนกวิน และประชาชนมารอให้กำลังใจ ตะโกนขอร้องให้เลิกอดอาหาร

เพนกวินเพียงแต่ชูสามนิ้ว ไม่พูดจาใดๆ

 

การแถลงขอถอนทนายความของเพนกวิน ในคดีชุมนุมม็อบเฟส

เป็นการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมด้วยการร้องขอถอนทนายเป็นคดีที่สอง หลังแถลงครั้งแรกในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เพื่อยืนยันว่าตนไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่า เหตุผลที่เพนกวินตัดสินใจถอนทนายความ เพราะมองว่ามีทนายความไปก็ไม่สามารถช่วยเหลือคดีได้ เนื่องจากตนเองไม่ได้รับสิทธิในการตรวจสอบพยานหลักฐานต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

เพนกวินยังขอศาลไม่ต้องเบิกตัวมาขึ้นศาล เพราะเสียเวลา และคิดว่ายังไงเขาคงอยู่ไม่ถึงวันนั้น

“คดีนี้มีพยานโจทก์เป็นพยานบุคคล 32 ปาก มีพยานเอกสารอีกร่วมร้อยกว่าฉบับ เพนกวินไม่มีโอกาสออกจากคุกมาตรวจสอบ คดีนี้โทษสูง ถ้าติดคุกคงไม่ต่ำกว่า 50 ปี”

นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาเพนกวิน กล่าวว่า

“เพนกวินยืนยันที่จะอดอาหารต่อ เขายอมตาย เพราะมองว่าไม่ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย”

ในวันเดียวกัน นางสุรีย์รัตน์ยังได้ยื่นขอประกันตัวลูกชายอีกครั้ง โดยระบุในคำร้องว่า

จากการได้พบลูกชายที่ศาลวันนี้ พบว่าสุขภาพของเพนกวินทรุดโทรมลงอย่างมาก มีอาการหน้ามืด วิงเวียน อ่อนเพลีย ไม่อาจลุกยืนเดินได้ ในฐานะมารดาเชื่อว่าสุขภาพของจำเลยอยู่ในขั้นอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากเพนกวินมีโรคประจำตัว คือโรคหอบหืด อันอาจทำให้หยุดหายใจได้

หากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว สามารถกำหนดให้ไปนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยห้ามออกไปนอกเขตโรงพยาบาลได้ ภายในกำหนดเวลาที่เพียงพอที่จะฟื้นฟูร่างกาย และเมื่อฟื้นตัวแล้วให้มารายงานตัวต่อศาล เพื่อฟังคำสั่งที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวิน

“พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”

 

ทั้งนี้ การยื่นประกันตัวดังกล่าว ในส่วนของเพนกวิน นับเป็นครั้งที่ 8 ซึ่งทุกครั้งศาลยืนยันคำสั่งเดิม

เมื่อลูกชาย-ลูกสาวไม่ได้รับความยุติธรรม “คณะราษมัม” จึงเกิดขึ้น เป็นการรวมตัวของบรรดาแม่ๆ และครอบครัวแกนนำราษฎรผู้ถูกจองจำ จัดกิจกรรมทวงถามความยุติธรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับลูกๆ ของตนอย่างต่อเนื่อง

แกนนำราษฎรอีกคนที่ประกาศอดข้าวในคุก เคียงข้างกับเพนกวินมาเกือบ 1 เดือน “รุ้ง ปนัสยา” เขียนจดหมายบรรยายความรู้สึกและเหตุผลที่ต้องอดข้าว ใจความสรุป ดังนี้

ขอบคุณทุกคนที่ห่วงใย ตอนนี้เรายังโอเค ตอนแรกไม่อยากทำแบบนี้ แต่เพนกวินมันแน่วแน่มากว่าต้องทำ เพื่อประท้วงกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมกับเราและสื่อสารถึงทุกคน รวมถึงมนุษย์ผู้มีอำนาจด้วยว่า การจองจำเราไว้แบบนี้เป็นเรื่องที่โหดร้ายและทารุณ

เราสองคนเป็นแค่นักศึกษาปี 3 และปี 4 เราแค่ออกมาพูดให้ทุกคนได้ยินว่าคิดอะไรอยู่และมีความคาดหวังต่อประเทศ อยากให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงบางอย่าง สุดท้ายคุณเอา 112 มาใช้กับเรา และไม่ใช่แค่กับเรา แต่รวมตั้งแต่วัยแก่ยันเด็กที่โดนยัดข้อหานี้

“ถ้าหลังจากข้อความนี้จบลงแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราคิดว่าคงได้อยู่ในนี้ตลอดไป”

 

ระหว่างแกนนำราษฎรอยู่ในคุก ภายนอกยังได้เกิดเหตุการณ์น่าสนใจ

เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นยกเลิกสัญญาจ้างงาน นายเดวิด สเตรคฟัสส์-David Streckfuss นักวิชาการอิสระ และ ผอ.โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ระบุมูลเหตุไม่ทำงานตามที่มอบหมาย ส่งผลให้หมดสภาพวีซ่าทำงาน

แต่สิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ น่าจะมาจากมูลเหตุที่นายเดวิด สเตรคฟัสส์ สนับสนุนกลุ่มราษฎร เรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำ ตามขั้นตอนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

“มีคนในมหาวิทยาลัยบอกกับผมว่า ตำรวจมาคุยกับอธิการบดีให้ยกเลิกการรับรองวีซ่าทำงานให้กับผม อธิการบดีเลยบอกตำรวจว่า ให้ไปคุยกับคณบดีที่รับรองวีซ่าให้ผม ผมไม่รู้รายละเอียดว่าเขาคุยอะไรกัน แต่สุดท้ายผมก็ถูกยกเลิกวีซ่า

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผม ณ ขณะนี้ เป็นเพียงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต เหตุการณ์ที่ผู้มีอำนาจพยายามกดดันชีวิตคนคนหนึ่ง ผมเป็นแค่คนคนเดียว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ผู้มีอำนาจพยายามปิดพื้นที่สาธารณะของคนไทย รวมถึงฝรั่งด้วย

สิ่งที่ผมถูกกระทำ ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมเป็นอาชญากร เพราะถูกปฏิบัติเยี่ยงอาชญากร ผมเป็นอาชญากรเหรอ? ผมเป็นแค่คนซื่อสัตย์ธรรมดาทั่วๆ ไป สิ่งที่ผมโดนมันทำให้ผมรู้สึกว่า ผมผิดอะไรนักหนา ทำไมผมต้องถูกทำโทษ ทำไมต้องถูกไล่ออกไปนอกประเทศ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมเรียกได้ว่าเป็นการรังแก ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ที่พยายามไปประกันตัวให้กับนักศึกษาที่ถูกฟ้องในคดี ม.112 ซึ่งรัฐบาลพยายามไม่ให้อาจารย์ใช้ตำแหน่งไปประกันตัวให้นักศึกษา”

“รัฐบาลคงเห็นว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้” นายเดวิด สเตรคฟัสส์ กล่าวในเว็บไซต์สำนักข่าว The Isaander

 

ทั้งหมดคือเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องสิทธิการประกันตัวเพื่อออกมาสู้คดีอย่างเต็มที่ของ “เพนกวิน-รุ้ง” และผองเพื่อนแกนนำกลุ่มราษฎร ที่ยังคงถูกจองจำในคุกจนถึงปัจจุบัน

ไม่ว่าการแถลงต่อศาลขอถอนทนายความจากคดี ไม่ว่าการยืนหยัดอดข้าวมานานต่อเนื่องเป็นเวลาเกินกว่า 1 เดือน คือการแสดงออกถึงการปฏิเสธ ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่ “ไม่” ยุติธรรมแท้จริง

อย่างแน่วมั่นและกล้าหาญอย่างยิ่ง