ชลิต นาคพะวัน “ศิลปินอิสระ ครูสอนศิลปะ” ยังคงสนุกกับการสอนศิลปะ 15 กันยายน 2559 “วันศิลป์ พีระศรี” พบกันที่เดิม เวลาเดิมๆ

การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมย่อมแตกต่าง ศึกษาเล่าเรียนในสาขาวิชาเดียวกัน สถาบันเดียวกัน แต่กลับไปประกอบอาชีพไม่ได้ใกล้เคียงกันเลยก็มีให้เห็นอยู่มาก

ศึกษาในสถาบันเดียวกัน ตำราเล่มเดียวกัน อาจารย์คนเดียวกัน แต่กลับมาเห็นต่าง ต่อสู้กันคนละแง่มุม สร้างความสับสนในสังคมมีให้เห็นอยู่เสมอ

คำว่า “ศิลปิน” ดูเกลื่อนกลาดไปทั่ว อาชีพอะไรต่อมิอะไรต่างก็เรียกตัวเองว่าศิลปินด้วยกันทั้งนั้น ศิลปินเพลง ศิลปินตลก ฯลฯ จนฟังแล้วไม่ค่อยขลังสักเท่าไร คนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปะ จะถูกเรียกว่าเป็น “ศิลปิน” ได้ จะมีสักกี่คนไม่แน่ชัด เนื่องจากส่วนใหญ่จะจมหายไปในสังคมอันสับสนเป็นอย่างยิ่งเพื่อดำรงชีวิต

เวลาอันยาวนานที่ผ่านมานั้นคนดำรงชีวิตด้วยการทำงานศิลปะ วาดรูปขาย สามารถอยู่ได้แบบสบายๆ จนถึงมีฐานะอย่างเช่นศิลปินทุกวันนี้นั้นนับจำนวนกันได้ แตกต่างกับปัจจุบันซึ่งราคารูปเขียน ราคางานศิลปะสูงมากจนศิลปินมีฐานะสุขสบาย

แต่คนทำงานรับเงินเดือนปกติธรรมดาไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของแม้จะรักชอบศิลปะสักแค่ไหน

เขาแนะนำตัวเองผ่านพิธีกรรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า เป็น “ศิลปินอิสระ เป็นครูสอนศิลปะ” ทั้งๆ ที่ไม่เคยอยากจะเป็นครู อาจารย์ เพราะไม่ได้เป็นคนดีถึงขนาดนั้น เนื่องจากครูในสายตาและความรู้สึกท่านเป็นคนดี เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนทั่วไป แต่กับตัวของเขาไม่น่าจะเป็นตัวอย่างคนอื่นได้ แต่ในที่สุดก็ต้องกลับมาเป็นครู อาจารย์สอนศิลปะ ไปพร้อมๆ กับการทำอาชีพอื่นๆ เช่น ทำงานศิลปะ วาดรูปขาย จะเป็น “ศิลปิน” หรือเปล่าไม่รู้ ไม่กล้าไปตีความอะไร?

เขาเริ่มต้นไปสอนศิลปะแทนเพื่อนซึ่งติดธุระต้องเดินทางไปต่างประเทศ

แต่เมื่อกลับมาแล้วเพื่อนก็ยกการสอนนั้นให้กับเขาเสียเลยเพราะมีงานอื่นต้องทำมากมาย

สุดท้ายการเดินทางไปไหนๆ ในกรุงเทพฯ ก็เป็นอุปสรรคทำให้เบื่อและเกียจคร้านจนไม่อยากออกไปสอน จึงเปิดสอนศิลปะขึ้นที่บ้าน โดยตั้งเป้าหมายว่าใครต้องการเรียนก็มาที่บ้าน

โดยเปิดสอน 4 วันในหนึ่งสัปดาห์ คือวันพุธ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์

ร่ายมายาวพอสมควรต้องเปิดตัวครูสอนศิลปะเด็กซึ่งเปิดสอนมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีจนกระทั่งมีลูกศิษย์ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่มากมายแม้กระทั่งคนอายุถึง 80 ปี ก็ยังตั้งใจไปเรียนศิลปะ ซึ่งคิดว่าศิลปะทำให้ท่านมีความสุขสบายใจ โดยเฉพาะกับอาจารย์สอนศิลปะอารมณ์ดีมีแต่รอยยิ้ม เป็นคนมีจิตอาสาทำงานเสียสละเพื่อสังคม การเปิดบ้าน (เช่า) เป็นโรงเรียนนั้นไม่ได้ทำเพื่อการค้า เพราะนักเรียนมีหรือไม่มีเงินเขาก็สอนทั้งนั้น กระทั่งทุกวันนี้เขาคงมีความสุข และสนุกกับการสอนศิลปะไปด้วย

ชลิต นาคพะวัน เรียนจบจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เกินกว่า 20 ปี โดยที่ไม่ได้ทำงานประจำกินเงินเดือนที่ไหน นอกจากทำงานศิลปะที่รักเป็นชีวิตจิตใจเพื่อขายดำรงชีวิต พร้อมๆ กับรับงานอย่างอื่นอันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนมา เมื่อเพื่อนพ้องมวลมิตรทั้งหลายที่ไหนขอให้ไปช่วยเหลือเรื่องงานบริการสังคม รวมทั้งงานราชการเขาจะไม่ปฏิเสธ นอกจากว่าจะติดขัดอย่างอื่นมากจริงๆ

“ผมเรียนมาทางด้านศิลปะ ก็อยากเป็นศิลปิน” เป็นความรู้สึกของอาจารย์สอนศิลปะที่ชื่อชลิต ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน เขาเป็นคนรักศิลปะทุกชนิด วาดรูปปั้นรูปทุกๆ อย่างเฉกเช่นคนที่เดินมาตามเส้นทางตามความรู้สึกบนถนนสายศิลปะ ก่อนจะได้คลุกคลีกับเด็กๆ กลายเป็นครูของเด็กไปก่อนอย่างไม่รู้สึกตัว เขาบอกว่า “เด็กๆ เป็นศิลปินโดยตัวของเขาเอง” ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริงเพราะเกิดจากความบริสุทธิ์ของจิตใจ

เคยเขียนถึงเพื่อนรุ่นน้องจากสถาบันเดียวกันนี้ครั้งหนึ่งนานมากแล้วด้วยความรู้สึกครั้งแรกที่ได้พบพานดังที่กล่าวว่าเขาเป็นคนอารมณ์ดี และมีจิตอาสา เพราะฉะนั้น นอกจากสถานที่เที่ยวอันเป็นผับบาร์แต่คลาสสิคแล้วก็ไม่ได้พบในที่อื่นๆ บางทีตามงานที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิงบ้าง งานบริการสังคม และงานแสดงศิลปะต่างๆ

เรียกว่าที่เกี่ยวข้องกับชาวศิลปากรแทบไม่เคยขาดหาย

ชลิต นาคพะวัน ในวัยฉกรรจ์ ยังไม่มีวี่แววเรื่องครอบครัวทั้งๆ ที่น่าจะเป็นนักรักอันละเมียดละไมไม่แพ้ใคร “ผมยังไม่มีลูกมีเมีย ผมจึงสามารถทำงานบริการสังคมได้อย่างสบายๆ และรายได้จากการขายรูปก็สามารถทำให้ผมอยู่อย่างไม่ลำบากนัก”

เขามีลูกศิษย์ที่มีใจรักในศิลปะ ชอบการวาดรูปไปเรียนด้วย ลูกศิษย์ท่านนี้มีคู่ชีวิตรับราชการในตำแหน่งสูงในจังหวัดเพชรบุรี สามารถช่วยเหลือผลักดันงานสำคัญๆ อะไรๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ เพราะฉะนั้น เขาจึงเกิดแนวความคิดว่าน่าจะทำอะไรอันเกี่ยวเนื่องกับความงดงามในจังหวัดเพชรบุรี เช่น การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม วัดวาอาราม ประเพณีของจังหวัดให้คงอยู่อย่างยาวนานตลอดไป โดยการเสนอโครงการให้กับสมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งเขาก็เป็นกรรมการอยู่ด้วยให้ช่วยสนับสนุน ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง

จังหวัดเพชรบุรี ยังเต็มไปด้วยร่องรอยของอารยธรรม เป็นเมืองเก่าซึ่งอุดมไปด้วยศิลปวัตถุ โบราณสถาน ประเพณีอันดีงามซึ่งสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ช่างฝีมือไม่ว่าจะเป็นปูนปั้น แทงหยวก กระทั่งยอดฝีมือระดับบรมครูจนถึงงานจิตรกรรมฝาผนัง ฯลฯ ของเมืองเก่าแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยปราชญ์ชาวบ้าน ก็น่าที่จะช่วยกันเสริมส่ง หรือทำอะไรให้บรรยากาศดีๆ แต่ครั้งก่อนเก่าให้ดำรงคงอยู่บ้าง

สภาพบ้านเรือนแม้จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ผังเมืองเก่า และร่องรอยต่างๆ ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ แม่น้ำเพชรบุรี ก็ล้วนแล้วแต่ยังสวยงาม ซึ่งอันที่จริงเมืองเก่าๆ ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศเรามีศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งล้วนแต่งดงามทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งนั้น

มหาวิทยาลัยศิลปากรก็มีวิทยาเขตอยู่ในจังหวัดดังกล่าว เรียกว่าผูกพันกันมากทีเดียว เพราะฉะนั้น สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ควรเร่งมือให้ ชลิต นาคพะวัน เสนอโครงการดีๆ เกี่ยวกับจังหวัดนี้เพื่อทำผลงานให้เป็นที่ปรากฏ

นอกจากจะเปิดโรงเรียน ทำงานเป็นจิตอาสาอุทิศตัวเองเพื่อสังคม แล้วก็สร้างงานศิลปะอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย พร้อมๆ กันนั้นก็กำลังไปจัดทำ แกลเลอรี่ (Art Gallery) ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ด้วย เขาบอกเพื่อนค่อนข้างมีฐานะมีบ้านหลังใหญ่ที่ชะอำ แต่ไม่ได้อยู่อาศัย นานๆ จะเดินทางไปสักครั้งจึงยกให้ไปเปิดเป็น อาร์ต แกลเลอรี ดังกล่าว เขากำลังดำเนินการ เสร็จเรียบร้อยเมื่อไรจะเรียนเชิญเพื่อนพ้องพี่น้องทั้งหลายไปเยี่ยมเยือน

ทำงานมากตลอดเวลาอย่างนี้ คงไม่มีเวลาไปเล่นหนัง ถ่ายละครอีกแล้ว

แต่ก็อย่างว่าแหละ “กลิ่นสีและกาวแป้ง” ก็ค่อนข้างแห้งเหือดไปมากพอสมควร

อยากบอกกล่าวปิดท้ายอีกสักครั้งเกี่ยวกับการปิดปรับปรุง (Renovate) มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ด้วยเวลายาวนาน จนกระทั่งงาน “วันศิลป์ พีระศรี” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2559 ต้องโยกไปจัดที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งแน่นอนว่ามันค่อนข้างแปลกแปร่งไปเล็กน้อย ขณะเดียวกันอาจไม่สะดวกเรื่องการเดินทางสำหรับศิษย์เก่าทั้งหลาย รวมทั้งบรรยากาศอาจแปรเปลี่ยนขาดความขลังและจิตวิญญาณไปด้วย

4 สมาคมนักศึกษาเก่า จิตรกรรมฯ+สถาปัตย์+คณะโบราณคดี+มัณฑนศิลป์ จึงร่วมมือร่วมใจด้วยการลงขันกันจัดงานขึ้นที่ วังท่าพระ กรุงเทพฯ ที่เดิม เวลาเดิมๆ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากศิษย์เก่ารุ่นเก๋า (พี่แก่) ประสพชัย แสงประภา ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของชาวศิลปากร แบบอยู่ยั้งยืนยงมาตั้งแต่เข้าเรียนในคณะมัณฑนศิลป์ เมื่อปี พ.ศ.2505 ทุกวันนี้ยังช่วยงานทุกงานในศิลปากร

ในพิธีตอนเช้าก็จะสักการะกราบไหว้อนุสาวรีย์ ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrodo Feroci) ตอนเย็นก็ปิดถอยร่นมาจัดงานตรง “พิพิธภัณฑ์อาจารย์ศิลป์” หน้าห้องทำงานเก่าของท่านอาจารย์ ถึงงานกลางคืนก็ยาวเข้าไปในโรงหล่อของกรมศิลปากร โดยขอความเข้าอกเข้าใจ และอนุโลมการเปิด-ปิดประตูกรมศิลปากรเป็นพิเศษสักวันหนึ่ง

อธิบดีกรมศิลปากรเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข “ชาวศิลปากร” งานนี้น่าจะเป็นไปด้วยความราบรื่นนะครับ?