ด้วยรัก และสุดทน /บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ด้วยรัก

และสุดทน

 

แม้รัฐบาลจะเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนว่าการกลับมาโจมตีรอบใหม่ของโควิด-19 ที่หนักหน่วงและรุนแรงขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ดำดิ่งลงไปทุกขณะ

โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังจะลุกลามไปทั่ว และทำให้เกิดมีคำถามตามมาว่า รัฐบาลทำอะไรอยู่ หรือนี่คือการบริหารจัดการวัคซีนที่ล้มเหลว…แต่ก็ไม่ยอมให้คนอื่นช่วย

ที่น่าแปลกใจก็คือ หลายภาคส่วน ทั้งตัวบุคคล ตลอดจนองค์กรตัวแทนภาคธุรกิจที่เคยออกแรงเชียร์รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานาน เริ่มออกอาการไม่ไหวจะทน และประสานเสียงให้รัฐบาลต้องปรับแผนบริหารจัดการวัคซีน

เพราะนี่เป็นทางเดียวที่จะฟื้นเศรษฐกิจ

 

เริ่มจาก “เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ได้กล่าวผ่านระบบประชุมทางไกล-ทรู วีรูม ถึงแนวทางให้การสนับสนุนวงการแพทย์ในการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสวิด-19 โดยได้จัดตั้งงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ในการสนับสนุนด้านน้ำดื่ม อาหาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาล

ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ อารัมภบทว่า

“…การกลับมาระบาดของโควิดรอบ 3 นี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งอย่างรุนแรงกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับรอบก่อนๆ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน ในทางการแพทย์ ถือว่าประเทศไทยสามารถทำได้ดีที่สุด ทั้งในด้านโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเสียสละเพื่อประชาชน”

ดังนั้น เพื่อให้การติดเชื้อโควิดรายใหม่มีจำนวนน้อยที่สุด ก็อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน โดยในส่วนของเครือซีพี ที่เรามีความสามารถในเรื่องของการผลิตอาหาร ก็จะให้การสนับสนุนทีมบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่ได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องอาหารและน้ำไว้รองรับ เพื่อเป็นกำลังใจให้หมอและพยาบาลที่สู้กับศัตรูที่ไม่มีตัวตน

หากรัฐบาลจะมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ จะสร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจในมูลค่าที่สูง ดังนั้น ควรใช้วิธีการร่วมมือเพื่อสกัดการแพร่ระบาดไวรัส ขณะที่ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากมองว่า ไม่ว่าจะเป็นคนตัวใหญ่หรือตัวเล็กก็ต้องช่วยกัน อาทิ คนตัวเล็กแบบประชาชน ก็ต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย พยายามไม่ออกจากบ้าน ส่วนตัวใหญ่อย่างบริษัท ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองและพนักงานให้ปลอดภัยด้วย

พร้อมกันนี้ เจ้าสัวซีพียังฝากถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนนำเข้าวัคซีนต้านโควิด อย่างน้อยก็เพื่อให้แต่ละบริษัทสามารถนำวัคซีนเข้ามาดูแลพนักงาน หรือลูกค้าของตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง

 

คล้อยหลังจากที่เจ้าสัวธนินท์ฝากการบ้านไปยังรัฐบาลเพียงวันเดียว คราวนี้เป็นคิวของ “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ที่วันนี้ลุกขึ้นมาสวมบทอาจารย์ ยืนหน้าห้อง lecture ให้ลูกศิษย์ลูกหาได้มองภาพโลกกว้าง

โดยเฉพาะประเด็นการบริหารการจัดการวัคซีน ที่เหมือนจะพุ่งเป้าไปที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เป็นกุญแจสำคัญในการกระจาย-ฉีดวัคซีนนั้น “รุ่งโรจน์” ออกมายิงหมัดตรงๆ ว่า

“…การฉีดวัคซีนของไทยในขณะนี้ยังฉีดได้ช้ามาก และไทยควรจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนที่เหมาะกับไทย ไม่ควรนำแนวทางของยุโรปมาใช้”

พร้อมกับอธิบายว่า เหตุผลที่ยุโรปจะเร่งฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุก่อนเป็นอันดับแรก เพราะสังคมยุโรปจะมีผู้สูงอายุอยู่รวมกันในบ้านพักคนชราทำให้เกิดการระบาดได้เร็วและรุนแรง แต่สังคมไทยคนชรามักอยู่ติดบ้านไม่ค่อยไปไหน และเมื่อเกิดการระบาดทำให้ลูก-หลานไม่ปล่อยออกนอกบ้านจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ

นอกจากนี้ ยังชี้แนะต่อไปว่า การฉีดวัคซีนในไทยควรโฟกัสไปในกลุ่มคนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจก่อนเป็นสำคัญ เช่น บุคลากรการท่องเที่ยว สายการบิน คนขับรถสาธารณะ กลุ่มวัยรุ่นที่ชอบการท่องเที่ยว และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานรากที่พบคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เดินหน้าได้ก่อน เมื่อคนเหล่านี้ไม่ติดเชื้อจะลดการระบาดไปสู่ผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ

ที่สำคัญ กุนซือใหญ่เอสซีจียังได้ชี้แนะต่อไปว่า การบริหารจัดการไม่ควรให้คนเดินไปหาวัคซีนที่โรงพยาบาล แต่วัคซีนควรเดินออกมาหาคน เพราะโดยปกติโรงพยาบาลมีผู้มาใช้บริการหนาแน่นอยู่แล้ว รวมทั้งคนส่วนใหญ่ไม่คุ้นการไปโรงพยาบาล แต่คุ้นกับการไปห้างสรรพสินค้ามากกว่า

รัฐควรจะจัดหน่วยเคลื่อนที่ไปตั้งจุดฉีดวัคซีนที่ห้างสรรพสินค้า หรือในจุดที่ผู้คนพลุกพล่าน ซึ่งภาคเอกชนพร้อมเข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจ้างแพทย์ พยาบาล และรถฉุกเฉินอยู่แล้ว

หากทำได้ตามนี้ระบบเศรษฐกิจก็จะเปิดเดินหน้าได้อีกครั้ง จะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างทั้งด้านการแพร่ระบาด และเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ถัดมาต่อจากกลุ่มธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ SCG เป็นคิวของ “สนั่น อังอุบลกุล” คีย์แมนศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ ที่เพิ่งขึ้นมารับหน้าที่ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้จัดประชุมผ่านระบบออนไลน์กับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กว่า 40 บริษัทยักษ์ใหญ่ เป็นการระดมสมองครั้งใหญ่ เพื่อหาทางออกเรื่องวัคซีน

“…ทุกคนเห็นตรงกันว่าขณะนี้ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 0.4% ของประชากร ซึ่งถือว่าล่าช้ามากสำหรับการจะเปิดประเทศที่จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 70% ของประชากร ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นจะต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน” ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุและย้ำว่า

ทุกคนพร้อมสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการฉีดวัคซีนป้องโควิด โดยหนึ่งในแผนงานที่จะต้องดำเนินการร่วมกันรัฐบาลก็คือการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ช่วยให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมเป้าหมายจำนวนประชากรร้อยละ 70 ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะออกเงินค่าใช้จ่ายสำหรับวัคซีนทางเลือกนี้ ขอแต่ให้มีการอนุญาตหรือเปิดทางให้มีการนำเข้ามาในประเทศได้

 

ล่าสุด (20 เมษายน) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2564 ได้เรียกประชุมคณะทำงาน เพื่อเสนอแนวทางและมาตรการต่อนายกรัฐมนตรี ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐและวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน

และมีมติให้เพิ่มจำนวนการนำเข้าวัคซีนอีกประมาณ 35 ล้านโดส เพื่อให้ประเทศไทยมีวัคซีนครบ 100 ล้านโดส (จากเดิมที่มีประมาณ 63-65 ล้านโดส) เพื่อให้การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมมากที่สุด

รวมทั้งการให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีบทบาทในการเป็นผู้นำเข้าและกระจายต่อไปยังเอกชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกหนังสือ Letter of intent เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนเพื่อนำเข้าวัคซีน

 

เช้าวันถัดมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ภายหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 โดยระบุว่า คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกัน ได้รายงานว่า

“จากการหารือทุกฝ่าย ได้ข้อยุติว่า ประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนอีก 2-3 ยี่ห้อเพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ดำเนินการไว้แล้วประมาณ 65 ล้านโดส ในจำนวน 35 ล้านโดส ภาคเอกชนนำโดยสภาหอการค้าไทย ก็จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย ประมาณ 10-15 ล้านโดส ซึ่งก็จะช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลลงไปอีก สำหรับกระบวนการต่อไปให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการโดยเร่งด่วนและเป็นไปตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ผมได้สั่งการให้วางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดหามาทั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายในธันวาคม 2564 นี้”

เป็นการขยับตอบรับกระแสที่มาจากการ “กระทุ้ง” อย่างพร้อมเพรียงของเหล่าบิ๊กนักธุรกิจแถวหน้าของประเทศไทย

…นั่นอาจจุดประกายความหวังได้บ้างว่า นับจากนี้ไปอาจจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ขึ้นมาบ้างแล้ว!?!