จีน-มะกัน : เจอกันรอบแรก ประดาบก็เลือดเดือด! / กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

จีน-มะกัน : เจอกันรอบแรก

ประดาบก็เลือดเดือด!

 

ยกแรกมะกันกับจีนก็ซัดกันนัวแล้ว!

จีนกับมะกันเปิดฉากเจรจาด้วยสงครามน้ำลาย!

บางคนเรียกเกมนี้ว่าเป็นการ “ถอดถุงมือซัดกันด้วยกำปั้นล้วนๆ”

นักวิชาการบางท่านอย่าง ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร บอกว่านี่คือ “การทูตปิงปองลูกตบ”

เพราะแต่เดิมนั้นคำว่า “การทูตปิงปอง” มีที่มาที่ไปตอนที่สหรัฐกับจีนยุคอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เริ่มต้นเชื่อมต่อกับปักกิ่งยุคประธานเหมาเจ๋อตุง ด้วยการส่งทีมปิงปองไปประลองกันเล่นๆ

นั่นคือการใช้กีฬาเบิกทางให้การทูต

คำว่าการทูตปิงปองเกิดขึ้นในสมัยนั้นเพราะยังไม่อาจจะติดต่อกันโดยตรงได้

แต่มาว่าคำ “การทูตปิงปอง” ก็น่าจะหมายถึงการเจรจาของสองประเทศที่ต้องการจะเลี้ยงลูกเพื่อประคับประคองในลักษณะของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

แต่เมื่อต้องปะฉะดะกันแล้ว สองยักษ์ใหญ่ก็เลิกใช้วิธีการแบบถ้อยทีถ้อยเดินเกมกันคนละก้าวเหมือนเดินหมากรุก

ครั้งล่าสุดนี้เกมปิงปองกลายเป็นการตั้งใจแสดง “ลูกตบแบบเพชฌฆาต”

ไม่ให้ฝ่ายตรงกันข้ามรับลูกได้

หรือให้อีกข้างหนึ่งเสียฟอร์มไปเลยทีเดียว

ครั้งนี้กลายเป็นว่าทั้งอเมริกาและจีนก็เล่น “ลูกตบ” เหมือนๆ กัน

ไม่มีใครยอมเป็นฝ่ายรับลูกแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป

ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคมที่ผ่านมา ฝ่ายสหรัฐเปิดการประชุมระดับสูงที่อลาสก้าด้วยการส่งหมัดตรงใส่จีน

เปิดฉากด้วยการจี้ปักกิ่งประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง, ฮ่องกง, ไต้หวัน

มีหรือจีนจะยอมตั้งรับเฉยๆ…

ฝ่ายจีนสวนด้วยหมัดตรง

ซัดอเมริกาว่าชอบแทรกแซงเรื่องคนอื่นทั้งๆ ที่มาตรฐานเรื่องสิทธิมนุษนในบ้านตัวเอง เช่น เรื่องสีผิวและความเหลื่อมล้ำในสังคมหลายมิติก็ยังย่ำแย่

ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง, อะไรทำนองนั้น

ทั้งสองฝ่ายเตรียมมาฟาดฟันกันอยู่แล้วเพราะฝั่งสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตั้งท่าตั้งแต่ต้นว่าจะต้องไล่ต้อนจีนที่แวดวงข่าวกรองวอชิงตันตราหน้าว่าเป็น “ภัยคุกตามหมายเลขหนึ่ง” ของสหรัฐ

จีนก็ตั้งการ์ดสูงเต็มที่เพราะรู้ว่าฝั่งโน้นเตรียมเล่นเกมรุกเต็มพิกัด

ทั้งสองฝ่ายจะแสดงอาการอ่อนแอไม่ได้เพราะเป็นมวยคู่เอกในเรื่องต่างประเทศทั้งสิ้น

 

ฝ่ายมะกันคือรัฐมนตรีต่างประเทศ Antony Blinken และที่ปรึกษาความมั่นคง Jake Sullivan

เพิ่งมีโอกาสแสดงฝีปากในเวทีระหว่างประเทศครั้งแรก ขึ้นเวทีใหญ่ครั้งแรกก็เจอคู่ชกระดับยักษ์จากปักกิ่งทีเดียว

เพราะเขาคือ หยางเจี๋ยฉือ (???) หนึ่งในสมาชิกกรมการเมืองที่รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะ กับหวังอี้ (??) รัฐมนตรีต่างประเทศผู้ช่ำชองเวทีสากลมายาวนาน

เดิมตกลงกันว่าแต่ละฝ่ายจะให้สื่อมวลชนมาถ่ายรูปและรับฟังถ้อยเปิดการประชุมตามมารยาททางการทูตของแต่ละฝ่าย ฝ่ายละ 2 นาที

ที่ไหนได้ พอฝ่ายมะกันโยนระเบิดตูมด้วยข้อกล่าวหาอย่างหนักหน่วงยาวเหยียดต่อหน้านักข่าวและช่างภาพอย่างนั้น ฝ่ายหยางเจี๋ยฉือก็โต้กลับด้วยคำฟาดฟันยาว 15 นาที

สื่อมวลชนจึงได้เป็นพยานการแลกหมัดด้วยวาทะร้อนแรงของสองยักษ์โลกอย่างเต็มๆ

หลังจากสื่อถูกเชิญไปนอกห้องประชุม (ต่างคนต่างวิ่งส่งข่าว breaking ที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อนอย่างร้อนรน) ทั้งสองฝ่ายก็นั่งลงเดินหน้าแลกเปลี่ยนตามวาระที่ตั้งเอาไว้

เชื่อได้ว่าบรรยากาศคงจะตึงเครียดกันตลอดหลายชั่วโมง

 

เสร็จจากการประชุมในห้องปิดแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ออกมาต่อว่าต่อขานกันให้นักข่าวฟังอีกรอบ

มะกันชี้นิ้วไปที่จีน บอกว่าฝ่ายจีนสร้างภาพเพื่อให้ตนดูดี เป็นการพูดอย่างทำอย่าง หรือที่ภาษามะกันเรียกว่า Grandstanding

จีนโต้ว่าฝ่ายมะกันตั้งใจมาทำสงคราม ไม่ได้จะมาพูดจาทำความเข้าใจ

“เราได้กลิ่นดินระเบิดตั้งแต่เดินเข้าห้องประชุมแล้ว…” หัวหน้าทีมจีนระบุ

ด้านมะกันบอกว่า “เราต้องการจะบอกให้ฝ่ายจีนได้รับรู้ถึงความกังวลของเราเกี่ยวกับเรื่องที่จีนได้ทำหลายประการ ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายระเบียบโลกและเป็นความกังวลที่พันธมิตรของเราก็มีเกี่ยวกับจีนเช่นกัน”

ฝ่ายจีนย้อนว่า “จีนไม่มีความตั้งใจที่จะยอมถอยในประเด็นต่างๆ ที่ฝ่ายอเมริกันตั้งประเด็นกับเรา เราจะต้องปกป้องอธิปไตย, ความมั่นคงและผลประโยชน์ของเรา…เราหวังว่าสหรัฐจะไม่ประเมินความมุ่งมั่นของจีนในเรื่องเหล่านี้ต่ำเกินไป”

เปิดเกมมาอย่างนี้ ก็พอจะคาดได้ว่าการแลกหมัดระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งจะดุเดือดเพียงใด

 

จับตาดูลีลาท่าทางของสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเห็นอาการ “กร้าว” หนักหน่วงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนและสหรัฐที่อลาสก้า

หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมสหรัฐโฉบมาที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

เราก็เห็นการกระชับสัมพันธ์ของอเมริกากับพันธมิตรเก่าอย่าง NATO อย่างแข็งขัน

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ประกาศในที่ประชุมรัฐมนตรีขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ว่าวอชิงตันจะยืนหยัดฟื้นฟูความสัมพันธ์กัประเทศพันธมิตรเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกอย่างเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากโควิด-19

และที่ฟังดูเหมือนเป็นทิศทางหลักของอเมริกาวันนี้ นั่นคือสิ่งที่อเมริกาเรียกว่า

“ท่าทีอันแข็งกร้าวมากขึ้นของจีน”

ที่สหรัฐและเพื่อนต้องช่วยกันสกัดและกำจัด

 

ในที่ประชุม ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมวันนั้น บลิงเคนอ้างถึงผลสำรวจขององค์กร Chicago Alliance on Global Affairs ที่สรุปว่า

นี่ถือว่าเป็นการไปเยือนยุโรปครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีของบลิงเคน

เกิดการเปรียบเทียบอย่างชัดแจ้งถึงความเปลี่ยนแปลงท่าทีและทิศทางของวอชิงตันตอนนี้กับยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ยุคของทรัมป์คือแนวทาง America First และ Make America Great Again!

คือการเน้นผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นหลัก

นี่เป็นยุคของโจ ไบเดน ที่เน้นแนวทาง Build Back Better และย้ำว่าอเมริกาจะไม่ลุยเดี่ยว แต่จะสร้างพันธมิตรเพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน

บลิงเคนบอกว่าภัยคุกคามโลกหลักๆ มีหลายมิติ เช่น

ภัยคุกคามทางการทหาร เทคโนโลยี โควิด-19 โลกร้อน

อีกทั้งยังมีภัยคุกคามใหม่ที่มาให้รูปของการใช้เทคโนโลยีเข้าถึงตลาดและ “ทรัพยากรสำคัญ” อื่นๆ ของจีนและรัสเซีย

นั่นทำให้มีผลกระทบต่อสหรัฐ และประเทศที่เป็นพันธมิตรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แต่รัฐมนตรีต่างประเทศคนนี้ก็ไม่ได้ตัดทิ้งโอกาสที่จะร่วมมือกับจีนหากแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันได้ในบางด้านที่พูดกันรู้เรื่อง

เขาบอกว่าแม้จีนจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงโลก แต่พฤติกรรมของจีนก็ไม่ควรกระทบความร่วมมือระหว่างสหรัฐ และประเทศพันธมิตรกับจีน

เช่น ในด้านการรับความท้าทายร่วมกันในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านสาธารณสุข

มะกันวันนี้แตะมือกับเอเชียแล้วก็กลับไปกระชับความผูกพันและยุโรปเพื่อยันจีนและรัสเซียอย่างขึงขังเข้มข้นทีเดียว!