ปัญหา…โควิด…เศรษฐกิจ…ยุติธรรม และการเมือง ไม่แก้ด้วยนิติธรรม จะลุกลามถึงจุดจม/มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ปัญหา…โควิด…เศรษฐกิจ…ยุติธรรม และการเมือง

ไม่แก้ด้วยนิติธรรม

จะลุกลามถึงจุดจม

 

ข่าวที่ปรากฏในช่วงนี้คือการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่เห็นทางแก้ เพราะฉีดวัคซีนไม่ทัน ส่งผลให้เกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลให้คนว่างงานจำนวนมาก

การออกมาประท้วงของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน การยืนประท้วงหน้าศาลฎีกา การอดข้าวประท้วงของผู้ต้องหาที่เรียกร้องความเสมอภาคภายใต้รัฐธรรมนูญ

ข่าวคดีสินบนการหลีกเลี่ยงภาษีรถยนต์ที่มีข่าวว่ามีผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายบริหารและตุลาการ

การต่อสู้ทางการเมืองเรื่องแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่จบง่ายๆ

ทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากการปกครองที่ไม่ได้ใช้หลักนิติธรรม

นายอานันท์ ปันยารชุน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย” ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2558 นายอานันท์เคยเป็นนายกฯ ที่คณะรัฐประหาร รสช.ตั้งให้มาบริหาร คงพอมีประสบการณ์จึงคาดการณ์ว่าจะมีปัญหาเรื่องหลักนิติธรรม และหวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว จะได้รัฐบาลที่เป็นนิติรัฐ

แต่ถ้าเรามองย้อนจากปี 2558 หลังการรัฐประหารได้ปีกว่า จนมาถึงขณะนี้ สภาพที่อยู่ภายใต้การปกครองของคณะ คสช.เกือบ 5 ปี และหลังการเลือกตั้งในปี 2562 อีก 2 ปีกว่า สภาพการเมืองแบบหลังรัฐประหารยังดำรงต่อเนื่อง

เพราะหลังเลือกตั้งก็เป็นการสืบทอดอำนาจของคนกลุ่มเดิม คนเห็นต่างยังถูกจับเข้าคุกเหมือนเดิมที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือโรคระบาดโควิด

และจนถึงบัดนี้สรุปได้ว่าปัญหาทั้ง 4 อย่างไม่มีวันแก้ไขได้ ด้วยฝีมือผู้ปกครองชุดนี้

ทีมวิเคราะห์มองว่าการพูดถึงธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตยครั้งนั้นเป็นการเตือนผู้มีอำนาจหลังการรัฐประหารหลายเรื่อง แต่กลับทำตรงข้าม และสร้างปัญหามาตลอด

สังคมไทยกำลังพัฒนา เป็นสังคมที่เปิด แต่ผู้ปกครองไม่ปรับตัว

เราต้องหัดที่จะเดินหน้าไปด้วยกันบนพื้นฐานของความแตกต่างโดยไม่สร้างความแตกแยก หรือก่อให้เกิดการเกลียดชัง ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้กำลังอาวุธ และความรุนแรงในด้านต่างๆ

 

การปกครองโดยหลักนิติธรรม

ไม่เคยเกิดตลอด 7 ปี

สิ่งที่ควรจะทำแต่ไม่ทำ คือกระบวนการร่างและบังคับใช้กฎหมายต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรม

กฎกติกาเหล่านั้นต้องบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมากับทุกๆ คนโดยไม่มีกรณียกเว้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งตัวรัฐบาลเองก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

กฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ลำดับขั้นตอนการดำเนินงานของรัฐบาลต้องคงเส้นคงวา รัฐบาลไม่ควรดำเนินการตามอำเภอใจ จับกุมผู้คนที่คัดค้านนโยบายของตน และลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่บุคคลเหล่านั้นพึงมีตามกฎหมาย สิทธิมนุษยชนของราษฎรทุกคนควรได้รับการปกป้องอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกัน

กรณีนี้จะเห็นว่าสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนถูกจำกัดและควบคุมโดยกฎหมาย…

ประเด็นนี้จะกลายเป็นการต่อสู้ที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันไปเรื่อยๆ คล้ายกับการเล่มเกม

หลังรัฐประหารมีผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวและเยี่ยมถึงบ้าน ทุกวันนี้ก็ยังมีเจ้าหน้าที่มาถึงบ้านและยังมีคนถูกจับขังคุก ไม่ให้ประกันอยู่เรื่อยๆ

 

กระบวนการยุติธรรม

ต้องมีอิสระ ไม่ลำเอียง จริงหรือ?

“ความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมของภาคตุลาการเป็นฐานหลักอย่างหนึ่งของหลักนิติธรรม หากผู้พิพากษาใช้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่งสำหรับผู้ที่มีอำนาจวาสนา และใช้อีกชุดหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีสิ่งเหล่านั้น ระบบการเมืองและยุติธรรมทั้งหมดก็จะตกต่ำเสื่อมเสีย และเซาะกร่อนความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในการให้ความยุติธรรม”

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแค่มองย้อนหลังถึงการใช้อำนาจจะพบว่าการใช้กฎหมายมีลักษณะที่ไม่เสมอภาค มองย้อนกลับไปในรอบหลายปีนี้จะพบว่าประชาชนมีความข้องใจต่อกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช., กกต., กสม., ศาลรัฐธรรมนูญ

การตัดสินในหลายๆ กรณี ภาพโดยรวมคือฝ่ายรัฐบาลถูกทุกเรื่อง ฝ่ายค้านผิดเสมอ คนเห็นต่างโดน ม.112 และ 116 หลายคนไม่ได้รับการประกัน

บางกรณีก็ได้รับการยกเว้น ดึงเวลาจนกระทั่งคดีหมดอายุความ และมีลักษณะเลือกข้างที่จะดำเนินคดีกับฝ่ายหนึ่งอย่างรวดเร็วไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ในขณะที่ละเลยความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าจะยกตัวอย่างก็มีหลายสิบกรณี

ที่สำคัญมันเริ่มมาจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงบังคับใช้กฎหมายที่ต้องการสืบทอดอำนาจ ขอแก้ไขก็ไม่ยอมให้แก้ไข โดยเขียนเงื่อนไขให้แก้ไขยากที่สุด

ลองถามดูว่ากรณีสินบนคดีภาษีรถยนต์ ประชาชนเชื่อใคร?

 

คอร์รัปชั่นเกิด เพราะการบังคับใช้หลักนิติธรรมอ่อนแอ

การฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตคอร์รัปชั่นเฟื่องฟู เพราะระบบตรวจสอบไม่ทำงาน ตัวใหญ่ไม่เคยผิด ผู้มีอำนาจ นักการเมือง ข้าราชการ ตำรวจ และทหารล้วนใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง และเอื้อประโยชน์ส่วนตัวบนความทุกข์ยากของประชาชน

หลักนิติธรรมย่อมเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใสขององค์กรรัฐและบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่เหล่านั้น ต้องตรวจสอบได้ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณะ การถ่วงดุลและคานอำนาจเช่นนี้เป็นหัวใจของความรับผิดชอบที่รัฐจะพึงมีต่อสังคม

แต่ที่ผ่านมาบางทีก็ไม่กล้าตรวจ ตรวจแต่ไม่กล้าเอาผิด คนตรวจจะมีความผิดเอาด้วย

 

สุดท้าย

ผลการทำงานของรัฐบาล…จะล้มเหลว

และประชาชนจะต้องรับกรรม

คือการแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เริ่มตั้งแต่โรคระบาดโควิด มีคนเตือนรัฐบาลเรื่องการหาวัคซีนว่าควรนึกถึงความปลอดภัยของประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก่อนอย่างอื่น แต่ไม่ทำ วันนี้ความล้มเหลวในการป้องกันได้มองเห็นชัดแล้ว คนไทยอย่าไปหวังว่าจะมีการฉีดวัคซีนได้ 70% ภายในปีนี้

และนั่นจะส่งผลถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความยากลำบากจะแผ่ไปทั่วทั้งประเทศ

ปัญหาการเมืองรัฐบาลก็แก้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมุ่งแต่จะสืบทอดอำนาจ ประชาชนต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญแบบง่ายๆ โดยการเลือก ส.ส.ร.แล้วก็ร่างใหม่ไม่นานก็เสร็จ แต่เพราะต้องการรักษาอำนาจเอาไว้ การถ่วงเวลาจึงเกิดขึ้น ดังนั้น การปะทะกันทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นตามมา

การจับคนไปขังคุกคงไม่สามารถสกัดความไม่พอใจของประชาชนในทุกๆ เรื่องได้

ดูแนวทางของรัฐบาลในการแก้ปัญหาต่างๆ แล้ว เหมือนไม่แคร์ประชาชน ถ้าโควิดไม่ลด เศรษฐกิจก็เจ๊ง การจับขังก็ไม่จบ เมื่อไม่ใช้หลักนิติธรรม ประชาชนย่อมไม่เชื่อถือ

แต่สังคมนี้จะต้องหาทางสู้เพื่ออยู่รอด ไม่มีใครยอมตามผู้นำไปตายหมด การปฏิวัติมันจะเกิดก็เพราะไม่ยอมปฏิรูปนี่แหละ

สุดท้ายขอจบด้วยกลอนของ…พระเทพปฏิภาณวาที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนฯ (เจ้าคุณพิพิธ)

เข้ามาอย่างวีรบุรุษ สิ้นสุดอย่างหมองหม่น

กลายเป็นทุรชน จะอยู่ทนเพื่ออะไร

ธรรมนูญที่ร่างมา เพื่อประชาชนหรือไม่

อัตตาธิปไตย จึงสอดไส้หลายมาตรา

บริหารประเทศชาติ เพื่ออำนาจวาสนา

มีใครในโลกา ชูเชิดหน้าในสังคม

อธิปไตยไส้…เผด็จการที่สั่งสม

ท้ายสุดถึงจุดจม ถูกถล่มทะลวงทำลาย