ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : ขวัญ

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ขวัน”

แปลว่า ขวัญ

คำว่า “ขวัญ” ความหมายในทางรูปธรรมนั้น หมายเอาผมหรือขนที่ขึ้นในลักษณะเวียนเป็นก้นหอย

ส่วนความหมายในทางนามธรรม หมายถึง มิ่งมงคล สิริ หรือความดี เช่น ขวัญข้าว เสามงคล เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังหมายรวมไปถึงสิ่งที่มีอำนาจลึกลับที่แฝงอยู่กับร่างกายของคนและสัตว์มาแต่กำเนิด

หากขวัญอยู่กับตัว เจ้าตัวก็มีพลังจิตใจที่มั่นคง ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข แต่ถ้าตกใจ เสียขวัญ ขวัญจะออกจากร่างไป เรียกว่า ขวัญหนี ขวัญหาย หรือ ขวัญกระเจิง

ความจริงแนวคิดเรื่องขวัญในความหมายแง่นามธรรมแต่เดิมคงหมายเอาเฉพาะสิ่งมีชีวิต ได้แก่ คนและสัตว์ ต่อมาเพิ่มขยายไปถึงอาหารหลักคือ ข้าว และที่อยู่อาศัยได้แก่ บ้านเรือน ซึ่งมีแกนหลัก คือ เสามงคล

ซึ่งแต่ละอย่างมีการสร้างข้ออธิบายรองรับ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของขวัญที่สถิตอยู่

 

ขวัญของคนและสัตว์นั้น กล่าวกันว่ามีจำนวนถึง 32 ขวัญซึ่งเป็นจำนวนที่ตรงกัน “ทวัตติงสาการ” คืออาการของร่างกาย 32 อย่าง แต่หาใช่เป็นสิ่งเดียวกันไม่ ขวัญทั้ง 32 เป็นขวัญที่อยู่ประจำอวัยวะที่อยู่ภายนอกของร่างกาย อาทิ ขวัญคาง ขวัญปาก ขวัญแก้ม ขวัญคิ้ว ขวัญหู ขวัญตา ขวัญแขน ขวัญขา ขวัญมือ เป็นต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวน 32 ทีเดียว

ส่วนสาเหตุที่เรียก “สามสิบสองขวัญ” นั้น น่าจะถูกยืมมาจากทวัตติงสาการ เพื่อความขลังและน่าเชื่อถือ ซึ่งทวัตติงสาการจะประกอบด้วย ผม ขน เล็บ ฟัน กระดูก เอ็น ปอด ตับ เป็นอาทิ

สำหรับขวัญข้าวมิได้กล่าวถึงจำนวน แต่กล่าวถึงขวัญที่อาจเตลิดไปอยู่ตามที่ต่างๆ ในแดนไกล ส่วนขวัญเสามงคลก็มิได้ระบุจำนวนไว้เช่นกัน เพียงแต่เอ่ยถึงความเป็นสิริมงคลของเสามงคลหรือเสาเอกซึ่งเป็นเสาหลักของเคหสถานแต่ละหลัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องการให้ขวัญสถิตนิ่งเป็นมิ่งมงคลกับคนหรือสิ่งใดก็มักมีการเรียกร้องให้ขวัญที่กระเจิงกระจายให้มารวมอยู่กับคนนั้นหรือสิ่งนั้นผ่านพิธีกรรมอันเข้มขลัง

 

พิธีกรรม “เรียกขวัญ” หรือ “ฮ้องขวัญ” ตรงกับภาษาไทยกลางว่า “บายศรีสู่ขวัญ” ซึ่งล้านนาโบราณใช้คำให้เสนาะเพราะหูว่า “สู่ข้าว เอาขวัญ” และพิธีกรรมดังกล่าวมักใช้กับสัตว์แรงงาน เช่น ช้าง วัว หรือควาย ข้าวในนาตลอดจนเสามงคล โดยเฉพาะกับขวัญคนเป็นที่นิยมมาแต่โบราณ ด้วยวิธีการส่งเสียงเรียกร้องเป็นทำนองเสนาะ

ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของพิธีคือเพื่อเรียกหรือเชิญเอาขวัญที่อาจเตลิดไปให้กลับคืนสู่ร่างกาย เจ้าของขวัญจะได้อยู่ดีมีสุข โดยมีบายศรีที่ถือเป็นเสมือน “ปราสาทแก้วมงคล” หลังงามรองรับขวัญที่ถูกเชิญมา

ความเชื่อนี้เองทำให้เกิดความนิยมให้มีพิธีสู่ข้าวเอาขวัญในโอกาสต่างๆ อาทิ เมื่อมีการบวช ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ส่งผู้ที่จากไปสู่แดนไกล ต้อนรับผู้มาเยือน และโอกาสได้เลื่อนยศหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน ตลอดจนถึงเมื่อเกิดการเจ็บป่วย เป็นต้น

ปัจจุบันการสู่ข้าวเอาขวัญเป็นที่นิยมมากในโอกาสสำคัญอาทิ งานแต่งงาน งานบวช งานส่งผู้จากไป และงานต้อนรับผู้เข้าสู่สถานะใหม่ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาจะนิยมให้ประกอบพิธีดังกล่าวในโอกาสที่จบการศึกษา และต้อนรับนักเรียนนักศึกษาใหม่ที่เข้ารับการศึกษาในสถาบันนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมการสู่ข้าวเอาขวัญถือได้ว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับชาวล้านนา ด้วยว่าเป็นพิธีที่สะท้อนให้เห็นคุณธรรมหลายประการ

อาทิ ความห่วงใยอาทรที่มนุษย์มีต่อมนุษย์ด้วยกัน ความมีเมตตาธรรม และกตัญญุตาธรรมที่มนุษย์มีต่อสัตว์ที่ให้คุณประโยชน์

รวมถึงความปรารถนาในสิ่งที่เป็นสิริมงคลอันจะเกิดขึ้นต่อสรรพชีวิตที่เกี่ยวข้องในพิธีกรรม

เพื่อหวังผลของความเจริญงอกงาม สามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างมีพลัง

สู่ขวัญนักศึกษาใหม่