เปิดหัวใจนักธุรกิจ-นักวิชาการ พาประเทศหลุดพ้นหนองไวรัส นับหนึ่ง…คุมกำเนิดโควิดให้อยู่หมัด / เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

เปิดหัวใจนักธุรกิจ-นักวิชาการ

พาประเทศหลุดพ้นหนองไวรัส

นับหนึ่ง…คุมกำเนิดโควิดให้อยู่หมัด

 

การระบาดโควิด-19 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน จึงเรียกได้เต็มปากว่าเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่ทวีความรุนแรงหลายเท่าเมื่อเทียบกับการระบาดของโควิด 2 ครั้งก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ กระจายไปครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เกินหลักพันคนต่อเนื่อง เพียง 3 สัปดาห์ยอดสะสมรอบใหม่นี้เท่ากับยอดผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างผลกระทบอย่างมาก และเต็มไปด้วยความกังวลต่างๆ นานา

แม้รัฐบาลประกาศการระบาดครั้งนี้ เลี่ยงการใช้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวทั้งประเทศ เหมือนการระบาดรอบแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 หรือการระบาดรอบ 2 ช่วงปลายปี 2563 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564

แต่ด้วยการระบาดที่แพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งต่อเนื่องรายวัน น่ากังวลสุดก็ด้วยการแพร่กระจายของผู้ติดเชื้อขยายเข้าทุกวงการ ไล่เรียงกันตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี นักธุรกิจ ข้าราชการ นักแสดง นักร้อง นักศึกษา จนถึงประชาชนเดินถนน บางครอบครัวติดพร้อมกันทั้งครอบครัว จนวิ่งวุ่นหาโรงพยาบาลและหาเตียงเข้าพัก

จนเกิดดราม่านานาเรื่อง ถึงการขาดเตียงและเล่นเส้นสาย!!

 

รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจอีกก้าว ออกมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสเพิ่มเติม 9 มาตรการหลัก อาทิ การยกเว้นประกอบกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเกิน 50 คนขึ้นไป ปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในร้านอาหารหรือนั่งดื่มที่ร้าน รวมถึงปรับลดเวลานั่งรับประทานอาหารที่ร้านลง 2 ชั่วโมง เหลือนั่งได้ไม่เกิน 21.00 น.

มาพร้อมกับการขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน เข้าโปรแกรมทำงานที่บ้านเวิร์กฟรอมโฮม ลดจำนวนการร่วมกันที่ทำงาน และยกเลิกกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากๆ รวมถึงให้อำนาจผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด พิจารณาออกมาตรการเข้มงวดตามพื้นที่ให้เหมาะสม ซึ่งก็มีทั้งเข้าจังหวัดต้องกักตัว 14 วัน เป็นต้น

ดังนั้น จากที่ตั้งใจจะเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปเที่ยวในช่วงหยุดยาวสงกรานต์หรือปิดเทอมการศึกษาใหญ่ ถูกยกเลิกโดยส่วนใหญ่

ภาคเอกชนออกมาเปรยถึงมาตรการที่ประกาศใช้ครั้งนี้ “ไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิว ก็เสมือนล็อกดาวน์ตัวเอง เพราะการทำธุรกิจผิดจากเดิมเหมือนถูกล็อกดาวน์ เพราะเปิดค้าขายก็ไม่มีคนมาเดินซื้อ”

 

อีกปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดให้เห็นได้บ่อยนัก คือเอกชนทุกวงการจับมือกัน โดยหอการค้าไทยเป็นแกนหลัก “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย คนไทย เชิญชวนประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือผู้บริหารสูงสุด (ซีอีโอ) ในองค์กรที่อยู่ในทุกอุตสาหกรรมมาหารือกัน นำร่องที่ 40 ซีอีโอ ในกลุ่มค้าปลีก กลุ่มธนาคาร กลุ่มโรงแรม กลุ่มโรงพยาบาล และธุรกิจในภาคผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ประสานกับภาครัฐ ให้มาเป็นแรงผลักดัน “การกระจายวัคซีนต้านโควิด” สู่ภาคประชาชนให้เร็วที่สุด

หลังจากออกมาระบุว่า การบริหารฉีดวัคซีนให้ประชาชนของไทยต่ำมากและล่าช้าเกินไป

จนอาจไม่ทันการณ์ต่อการเป้าหมายเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม

รวมถึงสร้างความมั่นใจให้แรงงานผู้เชี่ยวชาญที่ค้างอยู่นอกประเทศตั้งแต่เกิดโควิดระบาดรอบแรก ให้กลับเข้ามาบริหารได้ตามเดิม เพราะเชื่อว่าฉีดวัคซีนได้น้อยไม่ถึง 60-70% ของประชากร จะไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่มากพอจะสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติที่เตรียมเข้าไทยหรือคนไทยเองว่าจะเกิดการระบาดหนักในรอบ 4 หรือรอบถัดๆ ไป

ซึ่งในเวลาใกล้เคียงกัน ‘เจ้าสัวซีพี’ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศเตรียมทุ่มงบประมาณ 200 ล้านบาท ให้การสนับสนุนเครื่องดื่ม อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลภาครัฐที่ต่อยอดเตรียมจำนวนเตียงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด ที่มียอดสะสมกว่า 1.3 หมื่นราย และจำนวนรายใหม่เพิ่มกว่าพันคนต่อวัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะกินเวลานานกี่เดือน

โดยระดับเจ้าสัวและซีอีโอระบุชัดเจน อยากให้รัฐบาลเปิดทางให้เอกชนนำเข้าวัคซีนต้านโควิด เพื่อให้แต่ละบริษัทสามารถนำวัคซีนใช้เพื่อการดูแลพนักงาน หรือลูกค้าของตัวเอง โดยผู้ประกอบการยินยอมรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ถือเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง

แนวคิดนี้เชื่อว่าอาจเป็นไปได้ในอนาคต เหมือนกับแนวคิดผู้ติดเชื้อไม่มากและยังแข็งแรงสู้กับไวรัสได้ ก็ให้พักดูอาการที่บ้านก่อน เหมือนกับหลายประเทศทำกัน!!

 

อีกหลายส่วนก็ยังมีมุมมองที่แตกต่างกัน อย่างสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองมองว่า

“มาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาเพื่อควบคุมการระบาด ยังถือว่ามีความหลวมอยู่ อาทิ การกำหนดให้ห้ามรวมตัวกันเกิน 50 คนขึ้นไป ความจริงแล้วควรจำกัดในระดับ 10-20 คนเท่านั้น เนื่องจากเชื้อโควิดที่ระบาดในขณะนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีความอันตรายมากกว่า เพราะเชื้อมีความแข็งแรง อยู่ได้นานขึ้น และผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ ทำให้แม้รวมตัวกันเพียงจำนวนหลักเดียว เชื้อก็สามารถติดและกระจายเป็นหลักสิบได้”

เขามองอีกว่า สิ่งที่เอกชนควรร่วมมือกับรัฐบาลมากที่สุด คือการสนับสนุนด้านการเงิน โดยเฉพาะการสั่งซื้อและเร่งนำเข้าวัคซีนต้านไวรัส เนื่องจากเอกชนไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนเองได้อยู่แล้ว เพราะความต้องการวัคซีนมีมากกว่ากำลังการผลิตวัคซีนในปัจจุบัน การสั่งซื้อวัคซีนจึงเป็นแบบรัฐบาลสั่งซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง ทำให้เอกชนที่มีศักยภาพหรือมีกำลังสูง สามารถนำงบประมาณที่มีซื้อวัคซีนได้ แต่เป็นการสั่งซื้อผ่านรัฐบาลแทน ซึ่งเมื่อนำวัคซีนเข้ามาแล้ว รัฐบาลก็ควรเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนเร่งกระจายฉีดวัคซีนด้วย

“น้ำมันที่จะช่วยติดเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวผ่านวิกฤตได้นั้น หัวใจหลักที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่เกิดขึ้นซ้ำอีก เหมือนตอนนี้ที่เกิดการระบาดระลอก 3 ซึ่งเกิดต่อจากระลอก 2 เพียง 1 เดือนเท่านั้น เนื่องจากเมื่อเกิดการระบาดแล้วก็ต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งในการควบคุมการระบาดใหม่ ทำให้เศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวก็กลับทรุดลงใหม่”

“รวมถึงขณะนี้ค้นพบว่ามีไวรัสสายพันธุ์เพิ่มเติม ที่ยังไม่เข้ามาระบาดในไทยด้วย ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกาและบราซิล เนื่องจากขณะนี้มีเพียงสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดในขณะนี้เท่านั้น รัฐบาลจึงต้องป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่เหล่านั้นเข้ามาระบาดในประเทศได้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเหมือนกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่พบการระบาดโควิดอีกระลอก จนเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้นั้น ต้องหยุดลงไปอีก”

“รวมถึงรัฐบาลจะต้องเร่งนำเข้าวัคซีนที่พูดย้ำกันมาหลายต่อรอบ เพราะหากจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ จะต้องฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ได้ถึง 70% ของประชากรทั้งหมดของไทย อีกทั้งยังต้องเตรียมนำเข้าวัคซีนชนิดใหม่ ที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเข้ามาระบาดในประเทศได้”

สมชายกล่าว

 

สมชายมองต่อว่า เมื่อรัฐบาลสามารถป้องกันและควบคุมการระบาดโควิดไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำได้ เมื่อนั้นจึงค่อยมาพูดถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการเดินไปข้างหน้าต่อ ซึ่งหลักๆ ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการคุมการระบาดคือ การขยายมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า

อาทิ โครงการคนละครึ่ง เราชนะ เมื่อภาระของประชาชนลดลงแล้ว ก็ต้องมองที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจริง ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย ที่รัฐบาลยังให้ความสำคัญไม่มากพอ

รวมถึงเร่งสนับสนุนภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีทิศทางที่จะฟื้นตัวได้มากขึ้น แม้ไทยจะเกิดการระบาดโควิดซ้ำ แต่ต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวได้แล้ว ทำให้ประเทศไทยจะต้องเร่งการส่งออกสินค้าไปขายต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ อาทิ สินค้าเกษตร อาหาร ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ภาคการผลิตกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง สินค้าที่เป็นวัตถุดิบก็จะมีความต้องการมากขึ้น

หากมองไปที่ภาคการท่องเที่ยวนั้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีหวังค่อนข้างน้อย เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิดในประเทศยังไม่นิ่ง และยังไว้ใจไม่ได้

แต่รัฐบาลยังสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศได้ โดยหากสามารถกระตุ้นให้เกิดเกิดรายได้ 8-9 แสนล้านบาทได้ ก็น่าจะสามารถพยุงเศรษฐกิจในประเทศได้

ทั้งทางธุรกิจ และทางวิชาการ ต่างก็มีความคาดหวังบนความฝันเดียวกัน

คือต้องผ่านวิกฤตโควิดไปให้ได้