เครื่องจักรสาน กับเวลาที่หายไป (จบ) / รายงานพิเศษ เฌอเอม ชญานุช

รายงานพิเศษ

เฌอเอม ชญานุช

 

เครื่องจักรสาน

กับเวลาที่หายไป (จบ)

 

ฉันไม่สามารถกล่าวได้ว่าพะตี่หน่อแอะ ลูกปู่คออี้แห่งบ้านบางกลอยโหยหาอดีตมากเกินไป สำหรับคนที่เห็นบ้านตัวเองถูกเผากับสายตาก็คงอยากจะรักษาอะไรสิ่งที่มีคุณค่าให้อยู่ไปนานๆ ยิ่งมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับขึ้นไปดำรงชีวิตแบบเดียวกับบรรพบุรุษแล้ว แกก็ยิ่งตั้งใจที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมให้นำกลับไปยังบ้านเกิด

แต่ก็ไม่วายหาคนมีฝีมือไม่ได้สักที ฉันแอบหัวเราะเบาๆ ตอนได้ยินประโยคนี้ นั่งคุยกันมาก็นาน ในที่สุดแกก็ยอมบ่นอะไรเรื่อยเปื่อยให้ฉันฟัง

“แล้วสานกระบุงใบหนึ่งนานไหมคะ?”

“ก็สักเจ็ดวันได้ครับ” เขาหมุนตรงมุมให้ดู “อย่างตรงนี้คือสวยๆ ตรงนี้ผมขี้เกียจ ก็จะไวหน่อย” พะตี่ชี้อย่างละเอียดว่าแกขี้เกียจตรงไหนบ้าง

ฉันคิดว่าแกชอบทำเครื่องสานเอามากๆ ยิ่งได้รู้ว่าแกนั่งสานเป็นกิจวัตรมาหลายสิบปีแล้วก็ไม่แปลกใจเลยที่หยิบจับมีดพร้าน้ำหนักมากได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ส่วนเดือนนั้นขอยืมมาผ่าเม็ดหมากยังต้องระวังจะเผลอตัดนิ้วตัวเอง

“ทำไมพะตี่ไม่ขายแพงกว่านี้ล่ะคะ อุตส่าห์ทำตั้งเจ็ดวัน”

“คนไม่มีเงินซื้อครับ ผมใช้เงินแค่นี้ก็พอ”

“อันนี้หนูซื้อได้ไหม?”

แกให้ฉันเลือกกระบุงที่ไม่เสร็จดี 2 ใบ ว่าชอบใบไหน แล้วจะทำต่อให้ประณีต ไม่ว่าอย่างไรก็จะไม่ยอมขายของที่ทำเสร็จไม่ดีเด็ดขาด ด้วยความที่ฉันเองก็ไม่รีบร้อนจึงบอกให้แกค่อยๆ ทำไปรอฉันกลับมาครั้งหน้า พอเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้เพื่อนในภาคีซึ่งคลุกคลีกับชาวบ้านมานานที่สุดฟัง เขาก็ตื่นเต้นมากที่พะตี่ตั้งใจจะทำกระบุงให้ฉัน

นี่ยังไม่ได้บอกเลยนะว่าแกจะสอนสานกระบุงให้ด้วย หวังว่าฝีมือของฉันจะไม่ทำให้แกผิดหวังจนเกินไป

rpt

เรื่องที่แกบอกว่าเด็กๆ ไม่ค่อยสนใจงานพื้นบ้านมากนักทำให้ฉันตระหนักว่า ตัวเองไม่ค่อยพบเจอคนหนุ่ม-สาววัยทำงานสักเท่าไหร่เลย บางส่วนก็ทำงานในศูนย์ศิลปาชีพประจำหมู่บ้าน บางส่วนก็เพิ่งกลับเข้ามาจากในตัวเมือง รวมๆ กันแล้วน้อยกว่าจำนวนเด็กเล็กหลายเท่า

ฉันไปถามจ๋าย (ชื่อสมมุติ) ซึ่งเคยทำงานด้านล่างมาก่อนและพูดภาษาไทยได้ค่อนข้างเก่ง จ๋ายเป็นหนึ่งในคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของชาวปกากะญอและโอกาสในการเดินทางกลับสู่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินอย่างปลอดภัย คำตอบของเขาทำให้ฉันผิดคาดมาก

“ปกติทำพวกงานฝีมือท้องถิ่นบ้างไหม?”

“ไม่ทำเลยครับ ผมไม่เคยได้เรียนรู้งานฝีมือ” สีหน้าของฉันคงสับสนมาก เขาเลยขยายความต่อว่าตนเองเรียนโรงเรียนนายร้อย ตชด. พอจบ ม.2 ก็ออกมาหางานทำเพื่อช่วยที่บ้าน

“แล้วจ๋ายอยากทำงานในเมืองมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า?”

จ๋ายไม่มีท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้แม้แต่น้อย “ผมไม่รู้ครับ ที่บ้านผมไม่ได้บังคับนะ แต่ผมรู้เองว่ามันต้องทำ ไม่ทำก็ไม่มีกิน ทุกคนในบ้านก็ช่วยกันทำงานทั้งนั้น”

จ๋ายเกิดที่ใจแผ่นดิน ก่อนที่พ่อ-แม่จะอพยพลงมายังบางกลอยล่าง เขายังจำภาพที่พ่อกับตาทำไร่ในสมัยเด็กๆ ได้ แต่พอโตขึ้นมาวิถีชีวิตของบรรพบุรุษก็หายไปแล้ว เด็กที่เกิดมาภายหลังก็ไม่ได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับวัฒนธรรมเก่าๆ มันทำให้พวกเขาไม่คิดว่าจะต้องกลับไปรู้

“บางคนก็เสียดายครับ แต่บางคนก็ไม่คิดอะไรมาก”

 

การถูกบังคับย้ายถิ่นฐานทำให้ชาวบ้านยากจนขึ้น หลายคนไม่มีเวลามาสนใจประเพณีเก่าๆ จึงไม่ได้ส่งต่อให้ลูก-หลานตามไปด้วย

พวกเขากำลังถูกความเป็นเมืองกลืนกินเข้าไปเรื่อยๆ ทั้งด้านความเป็นอยู่และการใช้จ่ายก็กลายเป็นระบบหามาจ่ายไปที่เสียเปรียบต่อแรงงาน จ๋ายบอกว่าตอนเรียนก็เรียนหลายปี แต่กลับออกมาตกงานกันไปก็เยอะ เด็กที่เกิดในเมืองตั้งแต่ต้นจึงมีความคิดว่าอยากจะเรียนสูงขึ้นเพื่อให้ได้เงินเดือนดีๆ คุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไปร่ำเรียน

หลายคนออกไปเรียนที่อื่นแล้วก็ไม่ได้กลับเข้ามาใช้ชีวิตในหมู่บ้านอีก ส่วนมากจะไปแล้วไปลับ ยกเว้นช่วงเทศกาลที่จะกลับมาเยี่ยมพ่อ-แม่ แทบไม่มีใครที่กลับมาพัฒนาท้องถิ่นและศึกษา-สืบทอดวัฒนธรรมเลย

“มีเพื่อนผมจบ ม.6 ก็ยังไม่มีงานทำ งานหายากครับ แต่จบอะไรตอนนี้ก็หายากทั้งนั้น จบปริญญาตรีก็หาไม่ได้”

ฉันพยักหน้าอย่างเข้าใจ

เขาเล่าว่าตนเองเคยทำงานมาหลายที่ ทั้งงานในร้านอาหาร รีสอร์ต งานก่อสร้างและรับจ้างทั่วไป เวลาเข้างานมากที่สุดถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน

ความลำบากกายนี้ยังไม่เท่าความลำบากใจที่กีดกันจากสังคมและต้องถูกนายจ้างทำร้ายจิตใจ ไปจนถึงรู้สึกว่าการทำงานกลายเป็นการรับใช้คนอื่น ในขณะที่กระทรวงแรงงานพุ่งเป้าที่การควบคุมแรงงานที่เข้าประเทศผิดอย่างกฎหมาย กลับไม่ได้ใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกกดทับตกลงสู่ความเป็นพลเมืองชั้นสอง

ทั้งที่พวกเขาเป็นคนไทยแท้ๆ

จ๋ายเป็นคนที่มีบุคลิกเอาจริงเอาจังและมักจะตอบอะไรง่ายๆ ตรงไปตรงมา เขาเผยสีหน้าอึดอัดและเจ็บปวดใจออกมาเมื่อพูดถึงการถูกรังแกจากนายจ้าง “บางที่ให้ทำงานนานมากครับ เข้าตั้งแต่เช้าไปออกตอนดึกเลยก็มี เขาพูดจากับเราไม่ดี เพราะว่าผมเป็นกะเหรี่ยง แล้วบางทีพวกลูกค้า พวกอะไรก็ทำกับเราเหมือนกัน มันรู้สึกแย่ครับ”

“มันก็พอกิน แต่มันเหนื่อยครับ คึฉื่ย (ไร่หมุนเวียน) เนี่ย ยังมีเวลาพักผ่อน ได้สืบทอดที่ดิน ความเชื่อของบรรพบุรุษ มันมีประโยชน์และน่าจะมีความสุขมากกว่า ผมทำงานน้อย แต่ได้ผลผลิตเยอะ มันไม่เหมือนในเมืองที่ทำเหนื่อยแล้วยังได้ไม่คุ้ม”

“ถ้าว่างผมก็อยากทำงานฝีมือนะ ผมอยากจะเรียนรู้เรื่องของเราเยอะๆ แต่พอไปทำงานในเมืองมันก็ไม่ว่าง”

ฉันบอกว่าพะตี่หน่อแอะยังหาลูก-หลานไปสืบทอดวิชาสานไผ่ของแก

“ผมสานก้นกระบุงยังไม่ได้เลยครับ เจ็ดวันนี่คงไม่พอ”

ฉันคิดอยู่เสมอว่าเวลาคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ยิ่งคุณมีเงินน้อยเท่าไหร่ แต่ละวินาทีก็แพงระยับขึ้นเท่านั้น สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำแล้วเวลาจะพักผ่อนให้เต็มที่ก็ยังไม่มี พวกเขาไม่สามารถหยุดงานได้ ไม่สามารถไปที่ไหนไกลๆ ได้ การเสียทรัพยากรเวลาไปแลกเป็นค่าอาหารและการอยู่อาศัยที่ไม่พอประทังชีพ ทำให้พวกเขาถูกผูกติดอยู่กับงานที่ทำ โดยไม่มีอิสระในการสรรหาสิ่งอื่นๆ ให้กับชีวิต

นี่คือมือที่มองไม่เห็นซึ่งกำลังบีบให้ทุกคนร่วงหล่นสู่รูปแบบการใช้ชีวิตที่ทำให้คนเป็นเหมือนๆ กัน แต่ไม่ได้มีอะไรเท่าๆ กัน

“ผมอยากทำไร่ข้าวครับ เพราะเราต้องเอาผลไม้ไปขายเพื่อซื้อข้าวอยู่ดี แต่ถ้าเราปลูกข้าวได้ตั้งแต่ต้นก็มีกิน ปลูกเพิ่มเอาแต่ผัก แต่ที่ตรงนี้ที่เราได้มาเนี่ย มันปลูกได้แต่กล้วยอ่ะครับ ปลูกข้าวก็ไม่ได้แล้วยังต้องซื้อผักเพิ่มอีก”

ชาวบ้านถูกขโมยเวลาไปด้วยความยากจนจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนี้

พวกเขาไม่สามารถทำการเกษตรในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้เพาะปลูกได้

หนึ่ง คือปัจจัยเรื่องที่ดินทำกินที่ไม่พอกับทุกครัวเรือน

และสอง ก็คือคุณภาพของดินที่ถูกปรับให้กลายเป็นนาขั้นบันได้จนเสียชั้นดินที่มีสารอาหารไป ส่วนอื่นที่ไม่ได้ขุดก็เป็นดินแห้งและทรายมาตั้งแต่ต้น ในจำนวนพืช 4-5 ชนิดที่โครงการภาครัฐชี้แจงให้ปลูกก็มีแค่กล้วยสวนที่สามารถอยู่รอดได้

ฉันไปเยี่ยมที่ส่วนนั้นมาแล้ว หากไม่บอกว่าเป็นแปลงเกษตรผสมผสานก็คงจะนึกว่าเป็นส่วนกล้วยอย่างเดียว เรื่องตลกร้ายคือตามทางลงจากหมู่บ้านบางกลอยก็มีสวนกล้วยเขียวชอุ่มขึ้นเรียงรายจนถึงตัวเมือง ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ไกลกว่าและประสบปัญหาเรื่องภัยแล้งต้องนำกล้วยไปขายให้พ่อค้าคนกลาง แข่งกับสวนที่อุดมสมบูรณ์และมีระยะทางใกล้กับตัวเมืองมากกว่า

“งานในเมืองมันมีเงินครับ แต่มันไม่มีอนาคต ผมไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้มันจะเป็นยังไง”

งานล่าสุดที่เขาทำคือพนักงานร้านอาหาร ทุกอย่างเหมือนจะราบรื่นจนกระทั่งเกิดการระบาดของโรคโควิค-19 ขึ้นกะทันหัน ร้านอาหารจึงปิดลงทิ้งให้พนักงานหลายชีวิตต้องดูแลตนเอง จ๋ายกลับมาช่วยที่บ้านทำการเกษตร ทว่ากลับไม่ต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่ ปัจจุบันเขาเทียวไปเทียวมาเพื่อทำอาชีพเป็นพนักงานก่อสร้าง

“ผมทำงานไม่เก่งเท่าคนที่เขาเป็นช่าง จะมาอยู่บ้านขายผลไม้ก็ลำบากเหมือนกันตอนที่ตลาดปิดหรือมันมีโรคอะไรเข้ามา เราก็ไม่มีตังค์เอาไปซื้อข้าว ไม่รู้ถ้ามีอีกรอบหน้าจะเป็นยังไง” ฉันถามเขาว่าหมายถึงงานก่อสร้างหรือการทำสวน

“ทั้งสองอย่างครับ”

ยังมีเรื่องของราคาตลาดที่รับซื้อถูกกว่าขายออกอยู่แล้ว ชาวบ้านต้องขายกล้วยในราคาถูกเพื่อซื้อข้าวเมล็ดพันธุ์ในราคาแพง หากผลผลิตเหลือก็เอามาขายในหมู่บ้านเพื่อกินกันเอง จ๋ายเหมือนไม่รู้จะพูดยังไงก็ขำออกมาคล้ายคนปลงตก

“จะให้ผมกินแต่กล้วยมันก็ไม่ได้นะครับ”

พี่ก็ว่าไม่ได้

พวกเราขำกันอยู่สักพัก คนอ่านอาจจะเคยชินกับภาพกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์เดียวกัน ทำอาชีพเพาะปลูก หาปลา ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ต้องใช้ชีวิตแบบ slow-life ไม่ชอบอยู่กับความวุ่นวาย แต่ชาวปกากะญอรุ่นใหม่ๆ มีความฝันเป็นของตนเอง เขาไม่จำเป็นต้องสนใจการสืบทอดอัตลักษณ์ในชนเผ่าเสมอไป หลายคนพาตัวเองเข้าสู่สังคมใหม่ๆ มีความฝันที่จะเป็นนักร้อง นักมวย นักแสดง นักออกแบบ

ไปหาชีวิตแบบคนในเมืองอย่างเต็มที่

ฉันถามว่าจ๋ายเสียใจรึเปล่าที่น้องๆ ทิ้งวัฒนธรรมของเราไป?

เขานิ่งไปพักหนึ่งก่อนจะตอบอย่างเฉยเมยว่า “ไม่”

ทำให้ฉันนึกไปถึงคำสอนของพะตี่หน่อแอะ ที่ว่าใครจะทำอะไรกะเหรี่ยงก็ไม่โกรธหรือบังคับ พวกเขาถือเรื่องสิทธิ์และความเป็นอิสระมาก

จ๋ายบอกว่า “ผมอยากให้พวกเด็กๆ กลับมาศึกษาบ้าง แต่ก็ยอมรับครับว่ามันอาจจะเข้าใจยาก เพราะขนาดผมอยากกลับมาแล้ว ผมก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด ขนาดชาวบ้านโป่งลึก เขายังไม่เข้าใจเราเลย เขารู้แต่ว่าจะต้องรักษาผืนป่าเพื่อประเทศชาติ แต่ไม่รู้จักวิถีชีวิตของเรา”

จ๋ายทิ้งท้ายว่า “อยากให้คนที่ไม่เข้าใจชีวิตกะเหรี่ยงเปิดใจให้เรา เราเดือดร้อนจริงๆ ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เราไม่ได้อยากทำไร่แบบนี้ (ที่ภาครัฐบังคับให้ทำ) มันปลูกได้อย่างเดียว แต่เราต้องทำเพราะจำเป็น” สิ่งที่เขาหวังจากการแก้ปัญหาก็คือ การได้กลับไปที่บางกลอยบนซึ่งมีพื้นที่ทำกินอุดมสมบูรณ์กว่า

“ถ้าไม่ได้ไปถึงใจแผ่นดิน ผมก็อยากกลับบางกลอยบน เราอยากจะได้โอกาสพิสูจน์ว่ากะเหรี่ยงเป็นผู้รักษาป่าไม้ อย่างน้อยถ้ามีคนหลงป่า ถึงจะเป็นคนที่ไม่เข้าใจพวกเรา เราก็จะได้ช่วยเหลือเขาด้วย”

ฉันยอมรับว่าตัวเองเป็นคนหัวอนุรักษ์ที่พอได้ยินว่าหลายคนกำลังทิ้งการต่อสู้และวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไปก็รู้สึกเสียดายอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกคนที่คิดอย่างจ๋ายหรือพะตี่หน่อแอะ ทว่าเด็กๆ ไม่ผิดที่มีความฝันตรงข้ามกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านและการยอมรับชาวกะเหรี่ยงที่แท้จริง ไม่ใช่การบีบบังคับให้พวกเขาดำรงชีวิตแบบใดแบบหนึ่งเพียงทางเดียว เพราะว่าโลกของเรากว้างใหญ่เหลือเกิน

ปกากะญอต้องไปได้ทุกที่อย่างมีอิสระ รวมถึงกลับไปที่คลี้ลอและเกอะเจอะคุ บ้านของพวกเขาด้วย

เพราะยังมีคนอีกมากที่คิดถึงป่าไผ่และลำน้ำด้านบนนั้น