จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : กินดี – กินอร่อย (1) / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภาพจาก : เว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม http://ich.culture.go.th/.../252-folk/80-2012-01-31-09-46-51

 

กินดี – กินอร่อย (1)

 

‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ เป็นความจริงที่จับต้องได้ของเมืองไทยในอดีต จะอยู่ในป่าหรืออยู่ในเมืองก็ไม่อดตาย พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ อาหารมาจากธรรมชาติรอบตัว นี่คือ ‘ความช่างกิน’ และ ‘ฉลาดกิน’ ของคนไทย

พืชผักผลไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กินกันได้เลย ไม่ต้องเสียเวลานำมาปรุงเป็นอาหารให้ยุ่งยาก ดังจะเห็นได้จากนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” สุดสาครลูกชายพระอภัยมณีกับนางเงือกโตมาได้เพราะ ‘กล้วย’ สุนทรภู่เล่าถึงพระโยคีเกาะแก้วพิสดารช่วยเลี้ยงกุมารน้อยสุดสาครด้วยอาหารเสริมธรรมชาติที่คนไทยคุ้นเคย

“จึงวางองค์ลงบนเปลแล้วเห่ช้า             ทำขนมแชงม้าเวลาดึก

โอละเห่เอละโห่โอระฮึก                     อึกทึกทั้งศาลาจนราตรี

ถึงดึกดื่นตื่นนอนป้อนกล้วยน้ำ            กุมารกล้ำกลืนกินจนสิ้นหวี”

 

ผู้เขียนได้ความรู้จากคุณพัชร พุ่มพวง เกี่ยวกับ ‘กล้วยน้ำ’ ว่า

“…ลูกจะเล็กกว่ากล้วยน้ำว้า คล้ายกล้วยเล็บมือนาง แต่ทรงลูกไม่สวย เนื้อหยาบ รสชาติจืดๆ ไม่อร่อย คนจึงไม่นิยมปลูกนิยมกิน…”

พระโยคีอยู่ในป่าคงไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะให้สุดสาครดื่มนมแม่เงือกแล้วก็ป้อน ‘กล้วยน้ำ’ เป็นอาหารเสริม

กล้วยชนิดนี้รสชาติไม่อร่อย จึงใช้คำว่า ‘กล้ำกลืนกิน’ หมายถึง ฝืนใจกิน ไม่อยากกินแต่ก็ต้องกิน กวีให้สุดสาครผู้อยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอน จัดการจนหมดหวี

 

นอกจาก ‘กล้วยน้ำ’ ตามแม่น้ำลำธารยังมี ‘ฝักบัว’ และ ‘กระจับ’ ที่กินดีกินอร่อย กระจับที่ว่านี้มีฝักสีดำงอโค้งออกไปสองข้างเหมือนเขาควายขนาดจิ๋ว แม้ฝักค่อนข้างแข็ง เมื่อกะเทาะเปลือกออกแล้ว จะพบเนื้อในสีขาวมีรสมันๆ อย่างเผือก

ดังที่สุนทรภู่เล่าไว้ในเรื่อง “โคบุตร” ว่านางมณีสาครพาอรุณกุมารน้องชายหนีไปในป่าจนไปถึงสระบัวแห่งหนึ่ง

“ทั้งสององค์ลงนั่งกำลังหอบ                 พระกรกอบดื่มกินกระสินธุ์สาย

แล้วชวนน้องลงในสระชำระกาย            เที่ยวแหวกว่ายเลือกหักฝักอุบล

พี่แหวกจอกปอกเสวยกระจับสด            น้องว่ารสโอชาผลาผล”

เด็กโตแล้วอย่างอรุณกุมาร แค่เอาเปลือกออกก็กินเนื้อในได้เลย ในกรณีเด็กเล็กที่ยัง ‘สะอื้นอ้อนอยากนมพระชนนี’ อย่างสิงหไตรภพ พี่เลี้ยงซึ่งเป็นเด็กโตกว่าอย่างพราหมณ์เทพจินดาก็ต้องใช้ ‘ตัวช่วย’ บดเม็ดบัวและเนื้อในกระจับให้แหลกก่อน ดังที่สุนทรภู่บรรยายไว้ในเรื่อง “สิงหไตรภพ” ว่า

“เจ้าพราหมณ์น้อยนั้นค่อยประโลมปลอบ  มาถึงขอบคันเขาคิรีศรี

มาหยุดพักวักหยอดซึ่งวาร                   ทูนหัวพี่นิ่งเถิดอย่าร้องเลย

แล้วเที่ยวหักฝักบัวกระจับสด               เอาหินบดป้อนให้กุมารเสวย

เห็นหยุดร้องเข้าประคองขึ้นชมเชย         ทูนหัวเอ๋ยอิ่มแล้วหรือแก้วตา”

 

ไม่เพียงแต่ฝักบัว ‘รากบัว’ หรือ ‘เหง้าบัว’ ก็เป็นอาหารรสโอชา “เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงเมนูธรรมชาติระหว่างเดินป่าของขุนแผนและนางวันทอง ขณะหยุดพักอาบน้ำอาบท่าคลายร้อนที่สระบัว

“ต่างกินอาบซาบเย็นเส้นโลมา              บุษบาบานช่ออรชร

เด็ดฝักหักรากกระชากฉุด                   เผลาะผลุดรากเลื้อยอะล่อนจ้อน”

อยากได้รากบัวก็ต้องออกแรงกันหน่อย ในที่นี้กวีใช้คำว่า ‘ง่าว’ แทน ‘เหง้า’ เพื่อให้คล้องจองกับคำว่า ‘ขาว’

“ขุนแผนปล้อนปอกง่าวดูขาวงอน         ว่าวอนลองกินเถิดน้องรัก”

นางวันทองเป็นคนประเภทกินเฉพาะที่เคยกิน   แปลกๆ ไม่เอา ก็บ่ายเบี่ยง

“หม่อมเอ๋ยฉันไม่เคยกินราก               กลัวคันปากแสบลิ้นจะกินฝัก”

ขุนแผนอยากให้เมียลองกินอะไรใหม่ๆ บ้าง      ก็พยายามคะยั้นคะยอ

“เชื่อพี่ลองหน่อยอร่อยนัก                 กลัวแต่จักติดใจเมื่อได้รส”

นางวันทองไม่ยอมกิน อ้างว่า

“ก็นั่นบัวหัวเดียวจะให้ข้า                 อนิจจาตัวหม่อมจะยอมอด

หม่อมไม่มีฉันนี้ก็จะงด”

แม้ขุนแผนจะปลอบว่า ‘บัวไม่หมดดอกเจ้าเฝ้าเสียดาย’

นางก็ไม่ยอมแพ้เถียงว่า กว่าขุนแผนจะได้เหง้าบัวมาก็ยากลำบาก ขอกินฝักบัวดีกว่า

“เออกระนั้นหม่อมดำลงไปชัก              ฉันจะเลือกหาฝักหักง่ายง่าย”

ตามป่าตามเขาใกล้ไกลแค่ไหน ถ้ารู้จักหารู้จักกินไม่มีอด นอกจากพันธุ์ไม้น้ำ ยังมีไม้ล้มลุกและไม้เถา เช่น เผือกและมัน ที่หาได้ระหว่างเดินทาง

“ขุดเผือกมันสู่กันมาตามจน               พักร้อนผ่อนปรนมาในป่า”

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีไม้ยืนต้นเป็นที่พึ่ง สมัยที่ขุนแผนยังเด็ก แม่พาหนีจากสุพรรณไปอยู่เมืองกาญจน์ ระหว่างทางอาศัยผลไม้ป่ากินแก้หิว เราจะมองเห็นภาพนางทองประศรี

“มือกระเดียดกระบุงแล้วจูงลูก            จิตผูกเกรงภัยให้นึกพรั่น

เดินเลียบชายละเมาะเสาะสำคัญ         ด้นดั้นลัดป่าพนาลี

เห็นลูกมะละกอสมอไข่                    ตกดาษกลาดไปอยู่กับที่

พลายแก้วเห็นแล้วก็ยินดี                  ชี้บอกทองประศรีไปทันใด

โน่นแน่แม่เอ๋ยลูกไม้ป่า                    แม่ไปเก็บเอามาเถิดข้าไหว้

ลูกอยากนักจักกินให้สิ้นใบ               แม่ก็เก็บส่งให้มิได้ช้า”

 

ผลไม้บางอย่างก็ช่วยดับกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี เช่น ผลกลมๆ ของมะขามป้อมที่มีรสฝาดอมเปรี้ยว อมแล้วชุ่มคอ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าไว้ใน “โคลงนิราศท้าวสุภัติการภักดี” ว่า

“เดินทางกลางป่าไม้                     ดงดอน

เห็นแต่เต็งรังสลอน                     สลับสล้าง

ไผ่รวกรกทางจร                         รานกิ่ง ลงแฮ

ปะมะขามป้อมบ้าง                     หยุดยั้งเก็บอม”

“มะขามป้อม” แต่เดิมไม่ต้องซื้อหา มีอยู่ทั่วไปในป่า ตามบ้านก็มีปลูกบ้าง ปัจจุบันตั้งแต่มีข่าวว่ามะขามป้อมวิตามินซีสูง ต้านโรคโควิดได้ ราคาเลยทะยานขึ้นเป็นกิโลละร้อยกว่าเฉียดสองร้อย

คนชอบมะขามป้อม ‘หงอย’ ไปตามๆ กัน