สมาคมคณะราษฎร : พรรคการเมืองแรก / My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

สมาคมคณะราษฎร :

พรรคการเมืองแรก

 

กับการระดมพลัง

ปกป้องประชาธิปไตยไทย

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร…จงพร้อมใจกันช่วยเหลือคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ” (ประกาศคณะราษฎร)

พลเมืองไทยร่วมเฉลิมฉลองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 สถานการณ์ทางการเมืองยังคงอยู่ภายใต้ความคุกรุ่นของการต่อสู้และความหวาดระแวงทางการเมืองระหว่างคณะเจ้าและคณะราษฎร

ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎรจึงเปิดรับสมัครสมาชิก “สมาคมคณะราษฎร” มีการแบ่งโครงสร้างสมาชิกออกเป็น 3 ประเภท กล่าวคือ

1. กองอาสาสมัคร ทำหน้าที่ในการรบ ช่วยเหลือทหาร

2. กองพลเรือน ช่วยเหลือกิจการฝ่ายธุรการของคณะราษฎร

3. กองนักสืบ มีหน้าที่สอดส่องเหตุการณ์ต่างๆ ให้กิจการของคณะราษฎรดำเนินไปอย่างสะดวก รวมทั้งจัดตั้งสาขาของสมาคมออกไปยังจังหวัดต่างๆ (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2543, 212-213)

ดังพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกระดับคนหนึ่งของคณะราษฎร หวนรำลึกความทรงจำว่า “คณะผู้ก่อการเห็นว่า ควรจะมีองค์กรหรือสโมสรหรือสมาคมที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อปลูกฝังสามัคคีธรรมในหมู่ประชาชน และให้เป็นแหล่งสำหรับเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในวิถีการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งขณะนั้นประชาชนส่วนมากยังไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างซาบซึ้ง…ต่อมาจึงได้มีสมาคมคณะราษฎรเกิดขึ้นและมีสาขาตั้งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ด้วย ทำหน้าที่ปลูกฝังความสามัคคีธรรมแก่ประชาชนทุกฐานะ ทุกอาชีพ และมีการชุมนุม มีการปาฐกถาชี้แจงคุณประโยชน์ของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและอื่นๆ เพื่อหวังผลในการนำทางให้ราษฎรทำหน้าที่เลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้โดยถูกต้องและเหมาะสม…”

(หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์, 2507, ไม่ปรากฏหน้า)

สมาคมคณะราษฎร

พรรคการเมืองแรกของไทย

คณะกรรมการ “สมาคมคณะราษฎร” ทำหน้าที่แบบพรรคการเมือง จัดตั้งขึ้น 25 สิงหาคม 2475

หนทางหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้ระบอบประชาธิปไตย คือการจัดตั้งพรรคการเมืองและการแสวงหาการสนับสนุนจากพลเมือง

ซึ่งคณะราษฎรมีแผนการในการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎรทำหน้าที่พรรคการเมืองขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ทำหน้าที่ระดมการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและร่วมพิทักษ์ระบอบใหม่ รวมทั้งการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง

โดยสมาคมมีนโยบายหลัก คือหลัก 6 ประการ

สาระสำคัญของหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประกอบด้วย 1.หลักเอกราช 2.หลักความปลอดภัย 3.หลักเศรษฐกิจ 4.หลักเสมอภาค 5.หลักเสรีภาพ 6.หลักการศึกษา

ด้วยเหตุในห้วงเวลานั้น ไทยยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง จึงมิได้เรียกสมาคมคณะราษฎรว่าพรรคการเมือง มีแต่เพียงการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมเท่านั้น

แต่แท้จริงแล้ว มีวัตถุประสงค์และมีนโยบายการเมือง มีการระดมสมาชิก และต้องการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ

ดังนั้น สมาคมคณะราษฎร คือพรรคคณะราษฎรนั่นเอง

 

จากความทรงจำสมาชิกตลอดชีพแต่งตั้งของสมาคมคณะราษฎรท่านหนึ่งเล่าถึงความประทับใจต่อคณะราษฎรไว้ว่า

เมื่อครั้งที่รับราชการในสมัยการปกครองแบบราชาธิปไตยว่า

“ผมต้องแต่งตัวไปทำราชการด้วยเสื้อคอปิด กระดุม 5 เม็ด นุ่งผ้าม่วง สวมถุงน่องรองเท้า ซึ่งผมขอเรียนตรงๆ ว่า มันรุ่มร่ามและรำคาญเป็นอย่างยิ่ง… รุ่งอรุณของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ผมได้เห็นเหตุการณ์การปฏิวัติของคณะผู้ก่อการปฏิวัติ ที่เรียกตัวเองในขณะนั้นว่า คณะราษฎร ทั้งทหารและพลเรือน ทหารแต่งเครื่องแบบทหาร แต่พลเรือนนุ่งกางเกงขายาวกันทุกคน ผมชักชอบ เพราะเห็นเขาเหล่านั้นกระโดดขึ้น-ลงจากรถยนต์บรรทุกแบบกระบะอย่างคล่องแคล่วว่องไวดี คณะราษฎรเมื่อทำการยึดอำนาจได้สำเร็จก็ประกาศให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการตื่นเต้นอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกในชีวิตของเด็กหนุ่ม

สำหรับตัวผม และเพื่อนๆ ข้าราชการรุ่นเดียวกัน ขอเรียนว่า ผมได้วิ่งดูเขาทำการปฏิวัติกัน ตั้งแต่เช้าจนดึก ไม่ยอมไปทำงานและกลับบ้าน ขอเรียนตรงๆ ว่า พวกผมนิยมชมชอบ-เลื่อมใส-บูชาคณะราษฎรในฐานะวีรบุรุษทีเดียว ต่อมาผมกับเพื่อนมีโอกาสสลัดผ้าม่วงออกจากเครื่องแบบมาเป็นนุ่งกางเกงขายาวสีขาว สวมเสื้อกระดุม 5 เม็ด เปลี่ยนถุงเท้ายาวถึงหัวเข่ามาเป็นถุงเท้าสั้น รองเท้าหนังราคาแพงคู่ละ 3 บาท มาเป็นรองเท้าผ้าใบราคาถูก คู่ละ 50 สตางค์ ผมว่า การนุ่งกางเกงขายาวทำงานคล่องตัวดีกว่านุ่งผ้าม่วง…” (จรูญ เสตะรุฐิ, 2507, 52-53)

สาขาสมาคมคณะราษฎร สมุทรสาคร มีความคึกคักและมีความหลากหลาย เครดิตภาพ คุณปรัชญากรณ์ ลครพล

เขาเล่าต่อไปอีกว่า ในช่วงแรกของการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎร ยังไม่มีที่ทำการ สมาคมจึงใช้โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมเป็นที่ทำการชั่วคราวก่อน ต่อมาจึงย้ายมาที่สวนสราญรมย์

ทั้งนี้ คณะกรรมการสมาคมประกอบด้วย พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ เป็นนายกสมาคมคณะราษฎร นายประยูร ภมรมนตรี เป็นอุปนายก สงวน ตุลารักษ์ เป็นเหรัญญิก ประหยัด ศรีจรูญ นายทะเบียน สุรินทร์ ชิโนทัย บรรณารักษ์ วณิช ปานะนนท์ เลขาธิการ เรือเอกหลวงนิเทศกลกิจ ปฏิคม ส่วนกรรมการสมาคมประกอบด้วย ร.ต.อ.หลวงอภิบาลเขตต์นคร ร.อ.หลวงเชวงศักดิ์สงคราม ร.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ร.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย ร.อ.หลวงชาญสงคราม เรือเอกหลวงนาวาวิจิตร เรือเอกชลิต กุลกำม์ธร เรือเอกวัน รุยาภร

จากรายชื่อเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตำแหน่งสำคัญๆ ของสมาคมมาจากคนนอกที่มิใช่คณะราษฎร ส่วนกรรมการอื่นๆ ถูกดำเนินการโดยสมาชิกคณะราษฎรชั้นผู้น้อย

วัตถุประสงค์ของสมาคมคณะราษฎร คือนโยบายของสมาคมคณะราษฎร ยึดหลัก 6 ประการ เตรียมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมผู้สมัครในพื้นที่ต่างจังหวัด โครงสร้างของสาขาสมาคมมี 2 ระดับ คือสาขาที่จัดตั้งในกรุงเทพฯ และสาขาที่จัดตั้งในระดับจังหวัด ที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ

มวลชนของคณะราษฎรในสายตากลุ่มอนุรักษนิยม

โลโก้ของพรรคการเมืองแรกของไทย

ในสายตาของกลุ่มอนุรักษนิยมนั้น มองอย่างหวาดวิกตกว่า สมาคมคณะราษฎรเป็นฐานทางการเมืองของคณะราษฎร อีกทั้งมีการจัดตั้งสาขาสมาคมอย่างกว้างขวางในระดับจังหวัด อำเภอและตำบล ผ่านกลไกระบบราชการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกสมาคมคณะราษฎรในระดับจังหวัด โดยมีข้าราชการฝ่ายปกครอง ผู้พิพากษา ทหาร ตำรวจและครู

นอกจากนี้ สมาคมยังเปิดรับสมาชิกอย่างกว้างขวาง (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2543, 215-216)

ด้วยความตื่นตัวและการเปิดกว้างในการรับสมาชิกสมาคมคณะราษฎร เพียง 6 เดือนหลังการเปิดสมาคม มีผู้สมัครสมาชิกถึง 10,000 คน ต่อมามีสมาชิกสมัครในเขตกรุงเทพฯ ถึง 60,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกครึ่งเป็นสามัญชน (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2543, 216)

การขยายตัวของสมาชิกมากขนาดนี้ย่อมสร้างความวิตกให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมเป็นอย่างมาก

อาจกล่าวสรุปถึงพัฒนาการของสมาคมคณะราษฎรได้ออกเป็น 3 สมัย

สมัยแรกเริ่ม ภายใต้ชื่อ “สมาคมคณะราษฎร” เป็นพรรคการเมืองมุ่งขับเคลื่อนการเมืองและพิทักษ์ประชาธิปไตย

สมัยสอง “สโมสรคณะราษฎร” มุ่งให้ความรู้แก่ประชาชน และมีความเป็นสโมสรสังสรรค์

หัวหน้าพรรคคณะราษฎร คนแรก

และสมัยสาม “สโมสรราษฎร์สราญรมย์” เป็นสโมสรสังสรรค์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สโมสรราษฎร์สราญรมย์ในพระบรมราชูปถัมภ์” และยุบสลายลงช่วงกลางทศวรรษ 2520

จากหลักฐานที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันพบว่า มีสมาคมการรณรงค์ทางการเมืองอย่างเข็มข้นด้วยการจัดทำเข็มกลัด เหรียญที่ระลึกแจกจ่ายแก่สมาชิกและผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานเปิดสาขาสมาคมในจังหวัดต่างๆ เป็นไปอย่างคึกคัก

บนเข็มกลัดและเหรียญที่ระลึกปรากฏความสัญลักษณ์ ตราอุณาโลม หมายถึงทหารบก ตราสมอ หมายถึงทหารเรือ ส่วนคันไถ หมายถึงพลเรือน มีรวงข้าวที่อยู่ขนาบทั้งสองข้างหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มีเลขปีเขียนว่า 2477

สมาคมคณะราษฎรในฐานะพรรคการเมืองได้ขยายฐานมวลชนและยึดครองพื้นที่ทางการเมือง มีนโยบายทางการเมือง มีสัญลักษณ์ทางการเมืองสำหรับสมาชิกไว้ยึดมั่น ย่อมสร้างความหวาดวิตกให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมเป็นอันมาก

จึงนำไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม เพื่อต่อสู้ทางการเมืองทั้งเปิดเผยและปิดลับ อันนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมือง

ต่อมา ใน 31 มกราคม 2476 พระบาทสมเด็จปกเกล้าฯ มีพระราชหัตถเลขาถึงพระยามโนปกรณ์ฯ ว่า “ไม่ทรงโปรดให้มีคณะพรรคการเมือง และทรงให้เลิกคณะราษฎรในฐานะพรรคการเมืองเสีย” (แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ, 2478, 41-42)