
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin
‘ออนไลน์’ หรือ ‘ออฟไลน์’
อะไรเป็นอนาคตของอีเวนต์?
เป็นเวลาปีกว่าแล้วที่ฉันไม่ได้เดินทางไปร่วมอีเวนต์เทคโนโลยีในต่างประเทศเลย
งานใหญ่ๆ ระดับโลกทุกงานเมื่อไม่สามารถจัดในแบบเดิมได้ก็ต้องผันตัวเองไปเป็นอีเวนต์แบบออนไลน์กันทั้งหมด
แม้แต่งานที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะสามารถจัดแบบออนไลน์ได้ก็ตาม
อีเวนต์เทคโนโลยีบางอย่างก็ไม่เหมาะเลยที่จะย้ายมาอยู่บนออนไลน์ อย่างเช่น งานจัดแสดงสินค้า Consumer Electronics Show หรือ CES ที่เรามีความจำเป็นต้องไปเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยตาตัวเองหรือทดลองสัมผัสด้วยมือตัวเอง นอกจากนี้ สินค้าที่นำมาจัดแสดงก็ยังมีจำนวนมหาศาลเรียงรายกันในฮอลล์หลายแห่งที่กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ของเมืองชนิดที่ไปเดินทุกวันตั้งแต่เช้ายันเย็นก็ยังไม่หมด เมื่อย้ายมาอยู่บนออนไลน์ก็เลยสูญเสียความน่าสนใจไปเสียสิ้น
อย่างไรก็ตาม อีเวนต์เทคโนโลยีบางประเภทก็รุ่งเรืองในรูปแบบออนไลน์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
อย่างงานเปิดตัวสมาร์ตโฟนต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยต้องส่งหมายเชิญนักข่าวจากทั่วโลกให้บินไปร่วมงานและสัมผัสเครื่องจริงทันทีหลังงานจบ ก็กลายเป็นการเปิดตัวผ่านการไลฟ์รูปแบบต่างๆ และค่อยส่งเครื่องจริงให้นักข่าวทีหลัง
บางบริษัทอย่างเช่น Apple ก็สามารถออกแบบและถ่ายทำวิดีโองานเปิดตัวออนไลน์ได้ด้วยลำดับและเนื้อหาที่ไหลลื่น โปรดักชั่นก็ไร้ที่ติ กลมกล่อมเสียจนรู้สึกว่า เอ๊ะ หรือว่าหลังจากนี้เราจะไม่ต้องบินไปร่วมงานเปิดตัวสินค้าด้วยตัวเองอีกต่อไปแล้ว
ในประเทศเราก็เจอเหตุการณ์แบบเดียวกันแต่อาจจะแตกต่างกันตรงรายละเอียดนิดหน่อย
ช่วงที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ อีเวนต์แบบออฟไลน์แทบทั้งหมดก็จะถูกยกเลิก และเปลี่ยนไปเป็นอีเวนต์แบบออนไลน์
แต่พอจำนวนผู้ติดเชื้อเหลือศูนย์ไปสักพัก อีเวนต์ออฟไลน์ก็จะค่อยๆ กลับมาก่อนที่จะเข้าสู่ลูปเดิมอีกครั้ง
คนที่ต้องปรับตัวมากที่สุดก็น่าจะเป็นบริษัทอีเวนต์ออร์แกไนซ์ทั้งหลายที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการจัดงานทั้งสองรูปแบบอยู่เสมอ
ในฐานะผู้สื่อข่าว ฉันค่อยๆ เคยชินกับอีเวนต์แบบออนไลน์เพราะรู้สึกว่ามันสะดวกดี เพื่อนนักข่าวหลายคนแชร์ให้ฟังว่าชอบอีเวนต์ออนไลน์ไปแล้ว เพราะทำให้สามารถจัดการเวลาได้ดีขึ้น
ในแต่ละวันถ้ามี “หมาย” ที่ชนกัน ก็ยังสามารถหลบหลีกเพื่อให้เข้าร่วมงานให้ได้มากที่สุด ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาติดแหง็กอยู่ในการจราจรที่ยากจะคาดเดาของเมืองใหญ่
ทว่าการไม่ได้เดินทางไปที่งานด้วยตัวเองก็หมายถึงประสบการณ์หลายๆ อย่างที่ขาดหายไป
ไม่ว่าจะเป็นการได้เห็นและได้สัมผัสผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง การได้พบเจอผู้คนและขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น
การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัวในสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัฒนธรรม หรือศิลปะ ที่นับเป็นของแถมที่ได้มาจากการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศทุกครั้ง
นักวิจัยค่อนข้างกังวลกันว่าการจัดอีเวนต์ออนไลน์บ่อยๆ จะทำให้เกิดความเมื่อยล้าและอ่อนเพลียจากการที่เราต้องใช้เวลาอยู่หน้าคอมมากเกินไป ความวุ่นวายและไม่สะดวกสบายที่เกิดจากไทม์โซนที่แตกต่างกันที่อาจทำให้เราต้องตื่นมาออนไลน์ตั้งแต่ไก่โห่ หรืออดตาหลับขับตานอนเพื่อเข้าร่วมงาน
และข้อเสียที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือโอกาสการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ไม่เท่าเทียมกัน
จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หน้าตาของอีเวนต์จะเป็นไปในรูปแบบไหนหลังยุคโควิด-19
บทความหลายชิ้นจากต่างประเทศดูเหมือนจะเห็นตรงกันว่าเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลงกว่านี้สิ่งที่เราจะได้เห็นจะไม่ใช่การจัดงานแบบออฟไลน์ หรือออนไลน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่จะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ไฮบริดอีเวนต์”
ไฮบริดอีเวนต์ ที่ว่าหมายถึงหลังจากนี้ไปผู้จัดงานจะเปิดให้งานของตัวเองเข้าถึงได้ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ วิทยากรบางคนอาจจะบินมาร่วมงานด้วยตัวเอง ในขณะที่บางคนก็จะเลือกวิดีโอคอลล์มาแทน ใครสะดวกเดินทางมาก็มา
ใครไม่สะดวกก็แค่เปิดคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านก็สามารถเข้ามาร่วมงานได้แล้ว
เมื่ออีเวนต์จัดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ สถานที่จัดงานแบบออฟไลน์ไม่ว่าจะเป็นฮอลล์จัดงาน โรงแรม หรือร้านอาหารในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวอย่างสายการบินหรือคมนาคมรูปแบบอื่นๆ ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่วนผู้เข้าร่วมที่ไม่สะดวกเดินทาง ก็ยังสามารถมีส่วนร่วมในแบบออนไลน์ได้ ไม่เหมือนในอดีตที่จะต้องพลาดงานนั้นๆ ไปเลยแบบไม่มีทางเลือก
การจัดไฮบริดอีเวนต์จะช่วยให้แบรนด์ที่เป็นโฮสต์ในการจัดงานสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอีกด้วย
ฉันก็เห็นด้วยว่าปีกว่าๆ ที่ผ่านมา แบรนด์ได้เรียนรู้วิธีการใช้งานเครื่องมือที่จะช่วยให้จัดอีเวนต์ออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ลองผิดลองถูกรูปแบบการจัดงานแบบนี้มาจนมีความช่ำชองมากขึ้น ดังนั้น หลังจากนี้แม้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ
แต่การจัดงานออนไลน์ควบคู่ไปด้วยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่แบรนด์สมัยใหม่จะเลือกทำต่อไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องน่ากังวลอีกอย่างที่ยังมองไม่เห็นว่าจะคลี่คลายอย่างไรก็คือ เมื่อประเทศอื่นๆ ดำเนินการฉีดวัคซีนกันจนครอบคลุมแล้ว และสามารถกลับมาจัดอีเวนต์ออฟไลน์ได้แล้ว
คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการเดินทางโดยไม่มีภูมิคุ้มกันโรค
รวมถึงการที่ประเทศผู้จัดงานจะออกกฎจำกัดไม่ให้คนที่มาจากประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำสามารถเดินทางมาเข้าร่วมงานด้วยตัวเองได้ ก็จะเป็นการถ่างช่องว่างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของคนในแต่ละประเทศให้ห่างออกไปอีก ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเราซึ่งอยู่ในประเทศที่ประชาชนด่าทอเรื่องการจัดการวัคซีนของรัฐบาลกันทุกวันแต่ก็ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เห็น
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แค่การที่เราจะมีภูมิคุ้มกันช้ากว่าคนในประเทศอื่นที่เขามีการจัดการฉีดวัคซีนที่ดีกว่านี้ แต่จะทำให้เราถูกผลักให้ออกห่างจากขุมทรัพย์ความรู้และโอกาสที่เป็นประโยชน์โดยที่ไม่มีเหตุผลที่ดีพอเลย
คิดแล้วก็หดหู่ ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าถ้าฉันไม่ได้ไปทำข่าวเรื่องนวัตกรรมทันสมัยที่ต่างประเทศให้ผู้ชมชาวไทยได้ดูเพราะว่าฉันมาจากประเทศที่อัตราฉีดวัคซีนต่ำ
พวกผู้มีอำนาจและผู้ติดตามของพวกเขาทั้งหลายก็คงอดใช้งบฯ เป็นล้านๆ ไปท่องเที่ยวในนามของการ “ดูงาน” ด้วยเหมือนกัน!