พิจารณ์ พิเคราะห์ และพินิจ (ต่อ) ทัศนะต่องานและชีวิตในไทย-จีนอพยพใหม่ในไทย (29) / เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (29)

 

พิจารณ์ พิเคราะห์ และพินิจ (ต่อ)

ทัศนะต่องานและชีวิตในไทย

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ชาวจีนอพยพที่เข้ามายังไทยนั้น มีอยู่สองกลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่เข้ามาหลังจีนเปิดประเทศใน ค.ศ.1979 ได้ไม่นาน กับกลุ่มที่เข้ามาหลังจากเศรษฐกิจจีนดีขึ้นนับแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา

กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากกว่ากลุ่มหลัง เพราะส่วนใหญ่เข้ามายังไทยขณะที่มีฐานะยากจน ในขณะที่กลุ่มหลังซึ่งมีฐานะดีกว่าจะมีความคิดหรือทัศนะต่อการค้าเสรีค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่ากลุ่มแรก

ความแตกต่างของภูมิหลังนี้ทำให้ชาวจีนสองกลุ่มมีทัศนะในการใช้ชีวิตแตกต่างกันไปด้วย โดยเฉพาะทัศนะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานหน้าที่การงานที่ทั้งสองกลุ่มทำอยู่

แน่นอนว่า ทัศนะที่ต่างกันนี้ส่วนหนึ่งย่อมมาจากประสบการณ์ชีวิตทั้งที่อยู่ในจีนและในไทย

โดยกลุ่มแรกจะมีประสบการณ์ชีวิตในจีนในขณะที่จีนอยู่ในยุคสังคมนิยมที่เคร่งครัด และเคยได้ผ่านหรือแม้แต่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) มาก่อน ครั้นมาใช้ชีวิตในไทยก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ดีเท่าปัจจุบัน

อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ไทยยังมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองภายใน และสงครามในประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็นอีกด้วย

จากประสบการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้ชาวจีนกลุ่มนี้ไม่เพียงต้องต่อสู้ดิ้นรนในขณะอยู่ในไทยเท่านั้น หากยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดอันเนื่องมาจากความไม่สงบภายในไทยและเพื่อนบ้านพร้อมกันไปด้วย

 

จากเหตุนี้ เมื่อชาวจีนกลุ่มนี้มีฐานะดีขึ้นแล้ว สิ่งที่ชาวจีนกลุ่มนี้ต้องการเพื่อเขยิบฐานะของตนจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้สัญชาติไทย ที่อย่างไรเสียก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากจนมิได้แสดงออกมา

ในขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยของกลุ่มนี้ไม่ได้มีเรื่องนี้อยู่ในความคิดอีกเลย เมื่อตนมีครอบครัวและลูกที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาสูงแล้ว โดยให้ลูกซึ่งมีสัญชาติไทยเป็นผู้ใช้สิทธิ์ในการขยับขยายกิจการของตนต่อไป

กรณีเรื่องลูกของกลุ่มแรกจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อฐานะการเป็นผู้อพยพอย่างมาก เงื่อนไขที่ว่าก็คือ ประเทศที่ลูกพำนักอาศัยอยู่เป็นหลัก

ที่ว่ามีความสำคัญก็เพราะว่า หากลูกพำนักอยู่ที่จีน ชาวจีนที่เป็นพ่อหรือแม่จะไม่ขยับขยายธุรกิจการงานของตนในไทยมากไปกว่าที่เป็นอยู่ และมีความตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศจีน แต่หากลูกพำนักอยู่ในไทย ชาวจีนในส่วนนี้ก็จะให้ลูกขยับขยายธุรกิจของตนต่อไป

และตนก็จะใช้ชีวิตในไทยไปตลอดจนกว่าชีวิตจะหาไม่

 

อนึ่ง กรณีที่ชาวจีนมีลูกพำนักอยู่ที่จีนนั้นมีสองลักษณะด้วยกัน คือมีลูกตั้งแต่ที่ตนยังอยู่ที่จีน ครั้นมาไทยก็ทิ้งลูกให้พ่อ-แม่หรือญาติพี่น้องของตนเป็นผู้เลี้ยงดู ส่วนตนก็ส่งเงินกลับไปจุนเจือครอบครัวทางจีนเป็นระยะ หรือไม่ก็กลับไปเยี่ยมลูกที่จีนเป็นระยะหรือไม่ก็ในช่วงเทศกาลต่างๆ ของจีน

อีกลักษณะหนึ่ง คือมีลูกในเมืองไทย แต่ต้องการให้ลูกรักษาความเป็นจีนเอาไว้จึงส่งลูกกลับไปยังจีนเมื่อลูกโตขึ้นระดับหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็กลับไปเยี่ยมลูกดังในลักษณะแรก

กรณีเรื่องถิ่นพำนักของลูกจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกำหนดถิ่นที่อยู่ของชาวจีนอพยพไปด้วยในตัว ว่าลูกมีหลักแหล่งอยู่ถิ่นใดตนก็จะอยู่ถิ่นนั้น

 

ส่วนชาวจีนกลุ่มที่สองมีประสบการณ์ชีวิตในจีนที่แตกต่างจากกลุ่มแรกค่อนข้างมาก คือเป็นชาวจีนที่เกิดและเติบโตก่อนหรือหลังจีนเปิดประเทศไม่นาน

ชาวจีนกลุ่มนี้จึงมิได้สัมผัสบรรยากาศทางสังคมและการเมืองในช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรม

และพอเติบโตขึ้นในวัยเด็กถึงวัยผู้ใหญ่ สิ่งที่ชาวจีนกลุ่มนี้ได้สัมผัสก็คือการศึกษาที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เศรษฐกิจที่เสรีมากขึ้น และการเมืองที่ผู้นำมีวาระในการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน ไม่อยู่ในตำแหน่งจนสิ้นชีพดังก่อนหน้า

อีกทั้งยังมีเสถียรภาพจนไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ครั้นถึงวัยทำงาน ชาวจีนกลุ่มนี้ก็ได้สัมผัสกับระบบการค้าเสรีที่รัฐบาลกำลังมุ่งหน้าไป

จากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวจีนกลุ่มนี้ไม่ได้มีชีวิตที่ดิ้นรนมากเท่ากลุ่มแรก แต่ก็มีผลทำให้ทัศนะของชาวจีนกลุ่มนี้แตกต่างกับกลุ่มแรกไปด้วย

จากเหตุดังกล่าว เมื่อชาวจีนกลุ่มที่สองเข้ามายังไทย อาชีพของชาวจีนกลุ่มนี้จึงมิใช่แรงงานดังที่กลุ่มแรกเป็นโดยส่วนใหญ่ แต่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่มีความเข้าใจในกฎกติกาของการค้าเสรีดี

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยในกลุ่มนี้สามารถดำเนินธุรกิจของตนได้ด้วยดี ทั้งที่ไม่มีความรู้ภาษาไทย แต่ด้วยเหตุที่มีภูมิหลังเช่นนี้ ทัศนะต่อหน้าที่การงานของชาวจีนกลุ่มนี้จึงค่อนข้างเสรี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีปัญหาในข้อกฎหมายทางการค้าการลงทุนของไทยมากนัก

จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นว่า ไทยควรยกเลิกข้อกฎหมายที่จำกัดสัดส่วนผู้ถือหุ้นในธุรกิจบางประเภท โดยให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นผู้ลงทุนได้ร้อยละร้อย

ชาวจีนกลุ่มนี้จึงมีความคิดการค้าเสรีที่สุดโต่ง หรือหลักคิดเสรีนิยมใหม่ที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก

และจึงไม่แปลกที่ชาวจีนส่วนน้อยกลุ่มนี้จะให้เหตุผลว่า การลงทุนของตนเต็มร้อยละร้อยจะสร้างงานให้กับแรงงาน และช่วยเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น

อันเป็นเหตุผลที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจ ว่าเหตุใดไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่างมีกฎหมายในลักษณะนี้เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อสงวนให้คนในชาติตนได้เป็นผู้ลงทุนหลัก ซึ่งแม้แต่จีนเองก็มีกฎหมายนี้ไม่ต่างกัน

จากเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่จะทำให้ชาวจีนกลุ่มนี้ใช้วิธีว่าจ้างชาวไทยให้เป็นตัวแทน (nominee) ในการถือหุ้น หรือซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร

 

นอกจากนี้ ในส่วนที่มิใช่การค้าการลงทุนแล้ว ก็ยังมีในกรณีที่ชาวจีนกลุ่มนี้ให้ชาวไทยซื้อบ้านพร้อมที่ดินแทนตนอีกด้วย ทัศนะต่อกรณีนี้ไม่เกี่ยวกับปัญหาที่กล่าวไปในย่อหน้าข้างต้น แต่เป็นปัญหาที่มาจากข้อกฎหมายในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของทางการจีนเอง

ที่จำกัดเอาไว้สูงสุดไม่เกิน 99 ปีทั่วทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม การใช้ตัวแทนถือครองหุ้น ที่ดิน หรือบ้านนี้ก็มีความเสี่ยงในตัวของมันเองเช่นกัน เพราะหากชาวไทยซึ่งเป็นตัวแทนคิดจะยึดเอาทุนหรือบ้านดังกล่าวมาเป็นของตนก็ย่อมได้ นั่นก็คือ อ้างในทางนิตินัยว่าเป็นของตน ซึ่งจะทำให้ชาวจีนที่ถือครองในทางพฤตินัยมิอาจโต้แย้งได้

ปัญหาที่เป็นความเสี่ยงนี้สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวแทนชาวไทยแล้ว ชาวจีนกลุ่มนี้ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ อีกเลย

ที่น่าประหลาดใจก็คือว่า ภายใต้ความเสี่ยงดังกล่าว ผู้วิจัยได้ข้อมูลจากชาวไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อบ้านให้กับชาวจีนหนึ่งรายว่า ตนได้รับการร้องขอจากชาวจีนหลายคนให้เป็นตัวแทนในเรื่องเดียวกันบ้าง โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยรู้จักหรือแม้แต่พบกันมาก่อน

ปัญหานี้ทำให้เห็นว่า ชาวจีนที่ได้ชาวไทยผู้นี้เป็นตัวแทนในการซื้อบ้านนั้น ได้บอกต่อไปยังชาวจีนที่ตนรู้จักว่าชาวไทยผู้นี้ไว้ใจได้ จนทำให้ชาวจีนรายหลังๆ พร้อมที่จะเสี่ยงโดยที่ไม่เคยรู้จักกับชาวไทยผู้นี้มาก่อน

ดังนั้น การที่ชาวจีนยอมเสี่ยงสูงขนาดนี้จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเข้าใจได้นอกเสียจากว่า เป็นเพราะชาวจีนขาดความมั่นคงทางด้านจิตใจในเรื่องที่พักอาศัย ซึ่งประเทศจีนให้ได้สูงสุดไม่เกิน 99 ปี ในขณะที่ไทยและชาติอื่นๆ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้

ความไว้วางใจตัวแทนชาวไทยด้วยเหตุผลที่อ่อนอย่างยิ่งจึงเกิดขึ้นจนเป็นความเสี่ยง และเป็นความเสี่ยงที่ชาวจีนยอมแลกเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคงทางด้านจิตใจ” ในเรื่องที่พักอาศัย ซึ่งสำหรับชาวจีนแล้วถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในชีวิตที่มิอาจหาได้ในจีนปัจจุบัน

 

จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมพันทางนับว่ามีส่วนไม่มากก็น้อยที่ทำให้ชาวจีนมีทัศนะต่องานและชีวิตดังที่เห็น เพราะในวัฒนธรรมเดิม (ขงจื่อ) จะให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการดำเนินชีวิตเอาไว้เช่นกันว่า อะไรควรทำหรือไม่ควรทำเพราะเหตุใด

แต่เนื่องจากวัฒนธรรมเดิมได้อ่อนพลังลงในความรู้สึกนึกคิดของชาวจีน ทัศนะต่องานและชีวิตในเรื่อง “ตัวแทน” (nominee) จึงเกิดขึ้นโดยที่ชาวจีนที่คิดและทำในเรื่องนี้ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรแต่อย่างไร ซ้ำยังยอมเสี่ยงด้วยเหตุผลที่อ่อนด้อยเพื่อแลกกับบางสิ่งที่ตนมิอาจมีได้ในแผ่นดินเกิด

เหตุฉะนั้น วัฒนธรรมพันทางที่ทำให้ชาวจีนมีความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ ส่วนหนึ่งจึงมาจากสถานการณ์และนโยบายภายในของจีนเองด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป