คุยกับทูต ฌอง พอล เชนนิงเกอร์ ลักเซมเบิร์ก ประเทศแห่งความหลากหลาย (ตอน 2)

 

คุยกับทูต ฌอง พอล เชนนิงเกอร์

ลักเซมเบิร์ก ประเทศแห่งความหลากหลาย (ตอน 2)

 

นอกจากมีสถานะเป็นราชรัฐ มีเอกลักษณ์ที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรปซึ่งประกอบด้วยผู้คนถึง 175 สัญชาติ ทำให้มีภาษาที่หลากหลาย

แต่มีเพียงสามภาษาที่เป็นภาษาราชการคือ ภาษาลักเซมเบิร์ก เยอรมัน และฝรั่งเศส

การปกครองอยู่ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแบบมีรัฐสภา

แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก (2,586 ตารางกิโลเมตร) แต่เศรษฐกิจของลักเซมเบิร์กกลับเจริญรุ่งเรือง ขึ้นชื่อในเรื่องมาตรฐานการครองชีพของประชากรที่มีรายได้สูงและภาษีต่ำ

เป็นการยากที่จะหาคนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับการยังชีพในประเทศ

แถมยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยมากที่สุดในโลกอีกด้วย

นายฌอง พอล เชนนิงเกอร์ (H.E. Mr. Jean-Paul Senninger) เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก (The Grand Duchy of Luxembourg) เล่าว่า

“ประเทศไทยและลักเซมเบิร์กสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.1959 ส่วนวันที่ 23 มิถุนายน เป็นวันชาติของเราซึ่งเป็นวันหยุดประจำปี ชาวลักเซมเบิร์กจะออกมาเฉลิมฉลองกันกลางแจ้งเพราะอยู่ในฤดูร้อน และถือเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของกษัตริย์ลักเซมเบิร์ก (Grand Duke’s Official Birthday) ด้วย ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงจะไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดของลักเซมเบิร์ก มีวันเฉลิมพระชนมพรรษาตรงกับวันนี้ก็ตาม”

การเฉลิมฉลองจะเริ่มขึ้นก่อนหนึ่งวัน ซึ่งจะมีทั้งการเดินขบวนถือคบเพลิง การจุดพลุที่ป้อม Thüngen หรือที่เรียกกันว่า Trois Glands การสังสรรค์ของผู้คนในท้องถนน และการแสดงคอนเสิร์ต ส่วนในวันชาติจะมีการประกอบพิธีเป็นทางการ มีการเดินขบวนของทหาร

และการจุดปืนใหญ่ 21 นัด

ประเทศไทยและลักเซมเบิร์ก ไม่มีความร่วมมือทวิภาคีในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายมีข้อริเริ่มในการพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือให้แก่ประเทศที่สามภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจฯ ค.ศ.2000

“อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศนี้มีความสนใจร่วมกันหลายอย่าง เพราะไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และลักเซมเบิร์กเป็นศูนย์กลางของสหภาพยุโรป ดังนั้น ทั้งสองประเทศจึงใช้ที่ตั้งของประเทศเป็นเวทีในเชิงกลยุทธ์ สามารถเป็นประตูเชื่อมระหว่างสองกลุ่มคือ อาเซียนและสหภาพยุโรป ซึ่งช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ของไทยและลักเซมเบิร์กในกรอบพหุภาคีให้แข็งแกร่ง นับเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำงานร่วมกัน”

“ตัวอย่างในช่วงวิกฤต คาร์โกลักซ์ (Cargolux Airlines International) ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งสินค้าของเราได้ย้ายศูนย์สำหรับนักบินและเที่ยวบินในเอเชียมาเป็นที่กรุงเทพฯ แทนที่จะให้เครื่องบินของคาร์โกลักซ์บินมากรุงเทพฯ เพียง 5 เที่ยวต่อสัปดาห์อย่างที่ผ่านมา แต่กลายเป็นบินมาที่นี่มากกว่า 30 เที่ยวต่อสัปดาห์ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมาก”

“การพูดถึงโลจิสติกส์ คือการจัดระเบียบการดำเนินงานทุกด้านที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการขนส่ง การกระจายสินค้า การเก็บรักษาสินค้า รวมถึงบุคลากรและการขนส่งทางอากาศ ในขอบข่ายความร่วมมือซึ่งไทยเป็นเวทีสำคัญสำหรับเราเพราะเป็นศูนย์กลางในอาเซียน โดยมีลักเซมเบิร์กเป็นฐานสำคัญสำหรับธุรกิจในยุโรป”

คาร์โกลักซ์เป็นสายการบินขนส่งสินค้า มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองลักเซมเบิร์ก ประเทศลักเซมเบิร์ก ให้บริการขนส่งสินค้าทั่วโลก ถือเป็น 1 ใน 5 สายการบินขนส่งสินค้า (Cargo Airlines) ชั้นนำของโลก มีความถนัดในการขนส่งสินค้าในหลายๆ ประเภท ทั้งยา สารเคมี วัตถุอันตราย และสัตว์มีชีวิต มีเที่ยวบินกว่า 500 เที่ยวทั่วโลกต่อสัปดาห์ และขนส่งสินค้าปริมาณกว่า 1 ล้านตันต่อปี

โดยไทยถือเป็นจุดหมายที่สำคัญของคาร์โกลักซ์

กรณีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยและสหภาพยุโรป ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการเจรจา อะไรคืออุปสรรคสำคัญในการสรุป

“ตอนนี้คณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐบาลไทยกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อดูว่าเราจะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าเสรีอย่างไร สำหรับอุปสรรคก็มักจะมีเสมอเมื่อมีการเริ่มข้อตกลงขนาดใหญ่ แต่เมื่อสหภาพยุโรปสามารถเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามและสิงคโปร์ได้ ผมเชื่อมั่นว่า จะสามารถเจรจาตกลงกับประเทศไทยได้เช่นกัน”

ในขณะนี้ สหภาพยุโรปให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายสีเขียว (European Green Deal) และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล (digitalization) โดยจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานใหม่ๆ ออกมาอีกหลายอย่างเพื่อรองรับการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งสหภาพยุโรปจะผลักดันมาตรฐานเหล่านี้ในการเจรจา FTA รุ่นใหม่กับทุกประเทศ

ได้มีการแนะนำภาคการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้ทำการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นหลักประกันคุณภาพสินค้าจากแหล่งผลิต ป้องกันการลอกเลียนแบบ

“แต่เห็นได้ชัดว่าสหภาพยุโรปจะไม่ลงนามในข้อตกลงที่น้อยกว่าที่ทำกับเวียดนามหรือสิงคโปร์ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยที่จะกำหนดความต้องการ และเราจะดูว่าอยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่ ซึ่งจะทำให้สามารถรับข้อตกลงได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น รายละเอียดในการเจรจากันจึงมีข้อปลีกย่อยมากมาย แต่เป็นไปได้อย่างยิ่งที่การเจรจาตกลงโดยรวมระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยจะออกมาด้วยดี”

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ความตกลง FTA ที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ เปิดการเจรจา FTA กับ 5 กลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) สหราชอาณาจักร (UK) สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU)

รวมทั้งปรับปรุงความตกลง FTA ภายใต้กรอบอาเซียน 4 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

และปิดการเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ 4 ฉบับ โดยเร็ว ได้แก่ ตุรกี ปากีสถาน ศรีลังกา และ BIMSTEC

ซึ่งปัจจุบัน ไทยมี FTA 14 ฉบับ (รวม RCEP) กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ลักเซมเบิร์กเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะในฐานะศูนย์กลางทางการเงิน มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงคริสต์ทศวรรษ1970 และเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแทนเหล็กกล้า ปัจจุบัน ศูนย์กลางทางการเงินมีความเป็นสากล และหลากหลาย มีขีดความสามารถในการรังสรรค์นวัตกรรม อีกทั้งยังมีความมั่นคง

“เราเป็นที่รู้จักกันดีในด้านบริการทางการเงินในขณะนี้ แต่ไม่ควรลืมว่า มีประชากรน้อยกว่า 12-14% ที่ทำงานในบริการทางการเงิน เนื่องจากเรามีความภาคภูมิใจอย่างมากเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของเราในด้านโลจิสติกส์ระดับโลก ผมกำลังพูดถึงคาร์โกลักซ์ (Cargolux) ซึ่งเราเป็นผู้เล่นรายใหญ่ เพราะคาร์โกลักซ์เป็นบริษัทขนส่งสินค้าทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

“นอกจากนี้ เรายังเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ในการสื่อสารผ่านดาวเทียมกับ บริษัท Société Européenne des Satellites (SES) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการดาวเทียมรายใหญ่ที่สุดของโลกรายหนึ่ง”

บริษัท Société Européenne des Satellites (SES) จัดตั้งขึ้น ในปี ค.ศ.1985 จากแนวคิดริเริ่มและสนับสนุนของรัฐบาลลักเซมเบิร์ก โดยมีรัฐบาลลักเซมเบิร์กเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักจนกระทั่งบริษัท SES เติบโตเป็นบริษัทชั้นนำทางด้านกิจการอวกาศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการดาวเทียม) ของโลกและนำรายได้มาสู่ประเทศลักเซมเบิร์กอย่างมหาศาล

“รวมทั้งอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ArcelorMittal ซึ่งลงทุนในไลน์การผลิตและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์”

ArcelorMittal บริษัทผลิตเหล็กที่ก่อตั้งขึ้นจากการควบรวมกิจการของบริษัทเหล็ก Arcelor และ Mittal ในปี ค.ศ.2006 เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองลักเซมเบิร์ก

“เมื่อมองไปที่อุตสาหกรรมเคมี แน่นอนว่าเราผลิตยางจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่ยางสำหรับรถยนต์ แต่เป็นยางสำหรับเครื่องบิน ยางสำหรับเครื่องจักร ผมขอบอกว่า ยางที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกามีอยู่ในรถยนต์ของเขานั้น ผลิตในลักเซมเบิร์ก ซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่”

ตอนท้าย ท่านทูตฌอง พอล เชนนิงเกอร์ กล่าวว่า

“เช่นเดียวกับการเกษตร เราเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของผลิตภัณฑ์นม แต่ยังไม่ได้ส่งออกนมมายังประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ผมกำลังทำงานอยู่และมั่นใจว่า คนไทยจะสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพสูงมากจากลักเซมเบิร์กในกรุงเทพฯ ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้”