9 ฉากทัศน์สถานการณ์เมียนมา หลังรัฐประหาร / การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

9 ฉากทัศน์สถานการณ์เมียนมา

หลังรัฐประหาร

 

ในบทวิเคราะห์เรื่อง “Back to the Future? Possible Scenarios for Myanmar” เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เมื่อ 12 มีนาคมศกนี้

ศาสตราจารย์ Ardeth Maugn Thawnghmung ได้นำเสนอฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ 9 ฉากของสถานการณ์หลังรัฐประหารครั้งล่าสุดในเมียนมา

ซึ่งผันแปรไปตามพื้นฐานเรื่องวัตถุประสงค์ของผู้เข้าร่วมต่อสู้ขัดแย้งทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ความพยายามของพวกเขาที่จะส่งอิทธิพลต่อธาตุแท้และทิศทางการคลี่คลายขยายตัวของวิกฤต และปฏิสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์ทั้งหลายที่ฝ่ายทหารกับขบวนการประท้วงใช้ต่อกรกัน

(https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2021-30-back-to-the-future-possible-scenarios-for-myanmar-by-ardeth-maung-thawnghmung/)

โดยสรุปรวบยอดออกมาเป็นตารางดังนี้ :

ฉากทัศน์ 1A : ทหารใช้ยุทธศาสตร์ไม่ปรองดอง ขบวนการประท้วงใช้ยุทธศาสตร์ยอมตาม

ทหารปกครองนานหนึ่งปี อาจมีการยุบพรรค NLD (National League for Democracy) ตั้งรัฐบาลรักษาการคล้ายปี ค.ศ.1958 ฉากทัศน์นี้เป็นแผนแรกเริ่มเดิมทีของฝ่ายทหาร

ฉากทัศน์ 2A : ทหารใช้ยุทธศาสตร์กึ่งปรองดอง ขบวนการประท้วงใช้ยุทธศาสตร์ยอมตาม

NLD เข้าร่วมการเลือกตั้งใหม่ แต่ได้ที่นั่งในสภาน้อยลงกว่าที่ได้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 8 พฤศจิกายนศกก่อนมาก ฉากทัศน์นี้คล้ายสถานการณ์ระหว่างปี ค.ศ.2010-2015

ฉากทัศน์ 3A : ทหารใช้ยุทธศาสตร์ปรองดองเต็มที่ ขบวนการประท้วงใช้ยุทธศาสตร์ยอมตาม

หวนกลับไปสู่สถานะเดิมก่อนรัฐประหาร 1๑ กุมภาพันธ์ศกนี้ ฉากทัศน์นี้เป็นวัตถุประสงค์แรกเริ่มเดิมทีของ NLD/CRPH (หมายถึง Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw หรือคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพเมียนมาซึ่งต่อต้านรัฐประหาร)

 

ฉากทัศน์ 1B : ทหารใช้ยุทธศาสตร์ไม่ปรองดอง ขบวนการประท้วงใช้ยุทธศาสตร์กึ่งประท้วง

ทหารปกครองนานกว่าหนึ่งปี มีการกดขี่ปราบปรามทางการเมืองและร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 ฉากทัศน์นี้คล้ายสถานการณ์ใต้การปกครองของ SLORC/SPDC ระหว่างปี 1988-2004 (ชื่อย่อคณะทหารที่ปกครองเมียนมาตอนนั้น SLORC หมายถึง State Law and Order Restoration Council ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น SPDC หมายถึง State Peace and Development Council)

ฉากทัศน์ 2B : ทหารใช้ยุทธศาสตร์กึ่งปรองดอง ขบวนการประท้วงใช้ยุทธศาสตร์กึ่งประท้วง

ยอมให้เสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับจำกัดตราบที่ไม่วิจารณ์ทหาร ปล่อยตัวผู้นำสูงสุด/ผู้นำระดับต่ำลงมาของ NLD เปิดเจรจากับ NLD หรือ CRPH บ้าง ฉากทัศน์นี้คล้ายสถานการณ์ใต้การปก ครองของ SPDC ระหว่างปี 2004-2010

ฉากทัศน์ 3B : ทหารใช้ยุทธศาสตร์ปรองดองเต็มที่ ขบวนการประท้วงใช้ยุทธศาสตร์กึ่งประท้วง

หวนกลับไปสู่สถานภาพเดิมก่อนรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ศกนี้ นายพลระดับสุดยอดพากันลาออกและอาจลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน

 

ฉากทัศน์ 1C : ทหารใช้ยุทธศาสตร์ไม่ปรองดอง ขบวนการประท้วงใช้ยุทธศาสตร์ประท้วงเต็มที่

รัฐล้มเหลว บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพโกลาหลอลหม่านและอนาธิปไตย ฉากทัศน์นี้คือสถานการณ์ในเมียนมาปัจจุบันนั่นเอง

ฉากทัศน์ 2C : ทหารใช้ยุทธศาสตร์กึ่งปรองดอง ขบวนการประท้วงใช้ยุทธศาสตร์ประท้วงเต็มที่

รัฐล้มเหลว บ้านเมืองมีการบริหารปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นพร้อมกับโครงสร้างป้องกันตนเองที่หนุนหลังโดยองค์การติดอาวุธของชาติพันธุ์ต่างๆ (Ethnic Armed Organizations – EAOs)

ฉากทัศน์ 3C : ทหารใช้ยุทธศาสตร์ปรองดองเต็มที่ ขบวนการประท้วงใช้ยุทธศาสตร์ประท้วงเต็มที่

นายพลระดับสุดยอดพากันลาออก ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008 ทหารตกอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายพลเรือนพร้อมทั้งอาจมีกองทัพสหพันธรัฐและยกเลิกที่นั่งในสภาของทหาร เกิด “ระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ”

(เช่น เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการนัดหยุดงานทั่วไป, คณะกรรมการนัดหยุดงานทั่วไปของชนชาติต่างๆ, EAOs และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ The Karen National Union เป็นต้น)

อาจารย์ Ardeth Maugn Thawnghmung ยังได้ให้ข้อมูลข้อวิเคราะห์ขยายความประกอบฉากทัศน์ทั้ง 9 ที่สำคัญน่าสนใจไว้บางส่วนดังนี้ :

กล่าวในทางการเมือง ฝ่ายทหารเมียนมามีฐานสนับสนุนแคบ คือประกอบไปด้วยหุ้นส่วนพรรคพวกของทหารที่เป็นนักธุรกิจ ครอบครัวนายทหาร และเทคโนแครตพลเรือนหยิบมือเดียวเท่านั้น

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารมีฐานกว้างและหลากหลายตั้งแต่สมาชิกและผู้สนับสนุน NLD หนุ่มสาวชาติพันธุ์ส่วนน้อยกลุ่มต่างๆ บุคลากรทางการแพทย์ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ปัญญาชน องค์การประชาสังคม กลุ่มฝ่ายซ้าย ชาวนา คนงานและธุรกิจท้องถิ่น เป็นต้น

จุดแข็งของฝ่ายทหารคือกองกำลังติดอาวุธใต้การบังคับบัญชาที่ใช้มาปราบปรามเข่นฆ่าข่มขู่คุกคามควบคุมประชาชน ประกอบด้วยทหารราว 516,000 คน (ตัวเลขประเมินในปัจจุบัน) และตำรวจ 80,000 คน (ตัวเลขปี 2018)

ขณะที่กองกำลังติดอาวุธของชาติพันธุ์ต่างๆ กว่า 20 กลุ่มมีกำลังรวมกันเพียงประมาณ 80,000-100,000 คนเท่านั้น หรือน้อยกว่ากองกำลังทหาร-ตำรวจรวมกันราว 6 ต่อ 1 อีกทั้งมีอาวุธยุทธภัณฑ์ด้อยกว่ามาก โดยมีเขตเคลื่อนไหวตามบริเวณชายแดนด้านต่างๆ ของเมียนมา

ข้อได้เปรียบของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารคือรัฐบาลทหารมินอ่องหล่ายโดดเดี่ยวมากทางสากล ถูกประณามคัดค้านแทบจะทั่วโลก รวมถึงการที่นักการทูตเมียนมาในต่างประเทศพากันแปรพักตร์ไม่ว่าที่สหประชาชาติ, ลอสแองเจลิส, วอชิงตัน ดี.ซี., เจนีวา, เบอร์ลิน, โตเกียว, เยรูซาเลม ฯลฯ

แต่ปมเงื่อนสำคัญคือประเทศ/พันธมิตรใกล้ชิดอย่างจีน รัสเซียและกลุ่มอาเซียนยังจะร่วมมือช่วยเหลือต่อไปมากน้อยหรือไม่อย่างไร หรือแม้แต่เสนอตัวเป็นคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยเจรจา

เช่น ที่จีนและอินโดนีเซียพยายามทำ เหล่านี้อาจส่งผลต่อระดับความแข็งกร้าว/ยอมอ่อนข้อปรองดองของฝ่ายทหารได้

โดยเฉพาะหากทรัพยากรทางการเงินและโลจิสติกส์ของกองทัพเมียนมากระทบกระเทือน

ด้านในประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนหยุดงานเฉื่อยงานอย่างกว้างขวาง มีตำรวจกว่าร้อยนายแปรพักตร์เข้าร่วมฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร รวมทั้งนายพันตำรวจในกรุงย่างกุ้งและนายทหารยศนายร้อย

โอกาสที่ความโดดเดี่ยวและแรงกดดันเหล่านี้จะนำไปสู่รัฐประหารซ้อนในกองทัพกันเองก็เป็นไปได้ แม้ว่าจะไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในประวัติการณ์ของกองทัพนับแต่พม่าได้เอกราชก็ตาม

กล่าวได้ว่าสำหรับฝ่ายรัฐบาลทหารแล้ว ฉากทัศน์ดีที่สุดน่าจะได้แก่ 1A หรือ 1B

ส่วนฝ่ายประท้วง รัฐประหารนั้น ฉากทัศน์ดีที่สุดน่าจะเป็น 3A, 3B หรือ 3C อีกทั้งอาจเป็นไปได้ที่ในประเทศเมียนมาเดียว จะเกิดฉากทัศน์ต่างแบบผสมผเสกันในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศด้วย

ข้อสรุปท้ายสุดคงเป็นดังที่ตั้น เมี่ยน อู นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าชื่อดัง หลานของอูตั้น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติผู้ล่วงลับ ผู้เขียน The Hidden History of Burma (2019) ซึ่งคุณสุภัตรา ภูมิประภาส แปลเป็นไทยไว้ในชื่อเรื่อง ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด – ได้ทวีตบอกไว้เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ศกนี้ว่า :

“ผมศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองเมียนมามาตลอดชีวิตวัยเติบใหญ่ของผม ผมเคยอยู่อาศัยและทำงานในประเทศนี้นานกว่าสิบสองปี ผมรู้จักตัวแสดงหลักในละครตอนนี้ทุกคน และถึงกระนั้นผมก็บอกอย่างซื่อๆ ได้เลยว่าผมไม่รู้จริงๆ ว่าช่วงเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จะนำพาสิ่งใดมา”