คิดถึง… โอชิน(おしん / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

คิดถึง… โอชิน(おしん)

 

เมื่อเอ่ยถึงละครโทรทัศน์ของญี่ปุ่นเรื่องยาว “สงครามชีวิตของโอชิน” (おしん)ที่ออกอากาศในบ้านเราครั้งแรกเมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว คุณปู่ คุณย่า คุณลุง คุณป้าคงจำกันได้ว่า เป็นละครขนาดยาวมาก ที่คนดูติดกันงอมแงม ถึงเวลาฉาย คนในครอบครัวต่างพากันเฝ้าหน้าจอทีวี ไม่เป็นอันทำอย่างอื่น และในระยะหลังนำมาฉายซ้ำอีก

มีรายงานว่า สุงะโกะ ฮาชิดะ(橋田壽賀子)นักเขียนบทละครและภาพยนตร์ ชื่อดัง ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ “โอชิน” (おしん)ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่บ้านพักเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา อายุ 95 ปี

ฮาชิดะเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า “อุตส่าห์เกิดมาเป็นผู้หญิงทั้งที ก็อยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นละครย้อนยุค หรือละครแบบใด ก็อยากให้มี ครอบครัว เป็นเวทีของผู้หญิง” และ “เขียนในสิ่งที่ผู้ชายเขียนไม่ได้” เธอทำให้เห็นแล้วว่า “ละครยิ่งยาวก็ยิ่งดี”

“โอชิน” มีความยาวถึง 297 ตอน เริ่มออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอนเอชเค ของญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 1983 ถึง 31 มีนาคม 1984 ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากคนญี่ปุ่นทุกวัย มีเรตติ้ง 52.6% ซึ่งนับว่าสูงมากสำหรับละครที่ออนแอร์ตอนเช้าในขณะนั้น และยังทำสถิติเรตติ้งสูงสุด 62.9% ด้วย ยูโกะ ทานากะ(田中裕子)ผู้แสดงเป็นโอชินในวัยสาวกลายเป็นนางเอกครองใจผู้ชมด้วย

“โอชิน” คือชื่อของนางเอก ซึ่งคำว่า “ชิน” นี้เป็นการออกเสียงของคำจีนที่มีความหมายต่างๆกัน คือ “เชื่อถือศรัทธา(信じる)ความเชื่อ(信念)จิตใจ(心)แกนหลัก(芯)ใหม่(新)จริง(真)” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความหมายใด แต่ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในบุคลิก ลักษณะนิสัยของโอชินก็ว่าได้

โอชิน เกิดที่จังหวัด ยามางาตะ อยู่ฝั่งทะเลญี่ปุ่นทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู ในปีเมจิ 34 (1901) ตอนปลายของสมัยเมจิ (1868 – 1912) ชีวิตในวัยเด็กแสนแร้นแค้น ท่ามกลางอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว ครอบครัวชาวนาที่ไม่เคยได้กินข้าวที่ตัวเองปลูกอย่างอิ่มท้อง ต้องยอมขายแรงงานเป็นเด็กรับใช้ของบ้านพ่อค้าข้าวสาร โอชินทำงานด้วยความตั้งใจ ขยัน อดทน ละครช่วงนี้ก็เรียกน้ำตาจากผู้ชม คุณยาย คุณป้าไม่น้อย

โอชิน ใช้ชีวิตในวัยรุ่นสาว ผ่านสมัยไทโช (1912 – 1926) เดินทางเข้าสู่เมืองหลวง เป็นผู้ช่วยช่างทำผมแบบญี่ปุ่น ได้พบรักกับหนุ่มนักธุรกิจสำอางผู้เป็นสามี ช่วยกันทำมาหากิน โอชินช่วยสามีริเริ่มธุรกิจเสื้อผ้าเด็ก ด้วยความมุ่งมั่น อดทน ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ทุกอย่างที่สร้างขึ้นมา มลายหายไปในพริบตา

โอชินจำต้องกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของสามีที่จังหวัดซางะ เกาะคิวชูทางใต้ของญี่ปุ่น ที่นี่โอชินมีปัญหากับแม่สามี ผู้ไม่ชื่นชอบลูกสะใภ้ รักแต่ลูกสาวของตัวเอง ส่วนสามีก็ไม่เป็นที่พึ่งของโอชินเอาเสียเลย ปัญหาแม่ผัวกับลูกสะใภ้มีทุกยุคทุกสมัย ละครช่วงนี้ มีฉากเรียกน้ำตาจากผู้ชมทุกวัยอีก คือ โอชินต้องคลอดลูกเองในโรงนา และลูกเสียชีวิต ในขณะที่น้องสาวสามีซึ่งคลอดในเวลาไล่เรี่ยกัน ได้รับการประคบประหงม มีหมอมาทำคลอดถึงบ้าน

โอชินตัดสินใจทำในสิ่งที่ผู้หญิงในยุคเดียวกันไม่ทำ คือ ไม่ยอมมีชีวิตอยู่แบบพึ่งพิงสามี แต่พาลูกชายซึ่งยังเล็กอยู่ หนีมาโตเกียวอีกครั้ง พยายามทำงานหาเลี้ยงตัวเอง เธอได้เจอกับชายผู้เคยเป็นรักแรก อดีตผู้นำนักศึกษาฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง เห็นความลำบากของเธอ จึงแนะนำให้เธอไปอยู่ที่หมู่บ้านชายทะเล จังหวัดมิเอะ ทางตะวันตก เริ่มอาชีพรับซื้อปลาจากชาวประมงมาเร่ขาย โอชินพาลูกชายตัวน้อยสู้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบ จนตั้งเนื้อตั้งตัวได้… เรียกเสียงถอนหายใจโล่งอกจากแฟนๆผู้ชมได้ไม่น้อย

ตอนนี้เอง โอชินบังเอิญเจอสามีในสภาพแทบหมดตัว กำลังจะเดินทางไปแมนจูเรีย ทั้งสองปรับความเข้าใจกัน และเห็นแก่ลูกจึงกลับมาใช้ชีวิตด้วยกันอีก มีลูกชายอีกหนึ่งคน รวมทั้งลูกที่รับมาเลี้ยงอีก 2 คน ลูกๆเติบโตขึ้น ล่วงเข้าปีโชวะ13 – 19 (1939 -1945) ญี่ปุ่นทำสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ชายญี่ปุ่นถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหาร รวมทั้งลูกชายคนโตของโอชินที่รักการเรียน ก็ต้องรับใช้ชาติ จำจากคนรัก และถูกส่งตัวไปยังฟิลิปปินส์ ต่างจาก โกโบริ ในเรื่อง คู่กรรม ของทมยันตี ที่ถูกส่งมาเมืองไทยและได้พบรักกับอังศุมาลิน

แต่ไม่ว่าจะเป็น โกโบริ หรือ ลูกชายของโอชินเอง ต่างก็ไม่ได้กลับญี่ปุ่นอีกเลย…

สามีของโอชินเป็นตัวแทนของผู้คลั่งลัทธิชาตินิยม เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม เขาไม่อาจทนสู้หน้าผู้คน ด้วยความอับอาย เขาจึงปลิดชีพตัวเอง

โอชินในวัยชรา มีธุรกิจแบบร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบัน และมีหลายสาขา

เนื้อเรื่องโอชิน จบลงในปีโชวะ 64 (1989) อันเป็นปีสุดท้ายของรัชศกโชวะ (1926 – 1989) ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต (พระอัยกาของพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นช่วงเวลาครองราชย์ยาวนาน 64 ปี และเป็นช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ผู้เขียนบท ฮาชิดะ เล่าว่าเธอจงใจแต่งเรื่องให้ โอชิน เกิดปีเดียวกับปีพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต (1901 – 1989) เพราะเธอตั้งใจให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรละครนี้ (เป็นไปได้ว่าคงได้ทอดพระเนตร เพราะละครดังมาก) เป็นละครชีวิตที่มีตัวละครหญิงผู้เต็มเปี่ยมด้วยพลังใจ ใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาเดียวกับพระองค์

“โอชิน” ไม่ได้รู้จักกันภายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปแปลบทและฉายในประเทศต่างๆ ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวม 69 ประเทศทั่วโลก และในญี่ปุ่นก็มีการฉายซ้ำอีกหลายครั้ง

นอกจาก “โอชิน” แล้ว ฮาชิดะ ยังเขียนบทละครดังอีกหลายเรื่อง ล้วนเป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกหลากหลายอารมณ์ ตัวเอกผู้หญิงมีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิต ฟันฝ่าอุปสรรค มีรัก มีเศร้า มีโกรธ พบความอยุติธรรม สะท้อนชีวิตผู้คนธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าใครก็เข้าใจได้ หรืออาจมีประสบการณ์เดียวกับตัวละคร ความสัมพันธ์แม่ผัวกับลูกสะใภ้ การมีปากเสียงกันของสามีภรรยา ความน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะและกำเนิด เป็นต้น

เธอตระหนักว่าละครโทรทัศน์ย่อมเข้าไปถึงในบ้านของผู้ชมซึ่งมีหลายวัย ดังนั้น เนื้อหาของละครต้องไม่เป็นเรื่องโหดร้าย ผิดศีลธรรมที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี

บทละครของเธอจึงสร้างความหวัง ความสุขใจ รอยยิ้ม ให้บทเรียน ให้ความบันเทิง และครองใจผู้ชมทุกวัยมิรู้ลืม

ปีที่แล้ว ฮาชิดะเคยบอกผู้ใกล้ชิดว่า อยากเขียนเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่เธอก็จากไปเสียก่อน คิดถึง… “โอชิน” จึงอาลัย “สุงะโกะ ฮาชิดะ” ด้วย…