E-DUANG : สังคม ในสายธาร “กาลเวลา” เคลื่อนไหว ความคิด การเมือง

การดำรงอยู่ของ”พลัง” ไม่ว่าจะเป็นพลังในทาง”ความคิด” ไม่ว่าจะเป็นพลังในทาง “การเมือง” มากด้วยความละเอียดอ่อน

เราเคยชินกับผลสะเทือนในทาง”การเมือง”

ผ่าน “รูปธรรม” ในแต่ละรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการขยับ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของกายภาพซึ่งเป็นเงาสะท้อนในการเปลี่ยนแปลง

แต่น้อยครั้งเป็นอย่างยิ่งมักจะมองข้ามและไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพลังในทาง”ความคิด” กับพลังในทาง”การเมือง”โดยให้ความสำคัญกับประการหลังมากกว่า

นั่นก็คือ ประจักษ์ในความเป็นจริงในทาง “รูปธรรม” มากกว่า ความเข้าใจต่อกระบวนการในทาง”นามธรรม”

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ระหว่างพลังในทาง”ความคิด” กับ พลังในทาง “การเมือง”มีความสัมพันธ์ เกี่ยวเนื่องและยึดโยงต่อกันและกันอย่างแนบแน่นและมั่นคง

เมื่อพลังในทาง”ความคิด”เกิดการเคลื่อนไหวก็จะกลายเป็นระเบิดปรมาณูก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังในทาง”การเมือง”

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เห็นเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุ นายน 2475 ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เห็นเมื่อวันที่ 14 ตุ ลาคม 2516 ล้วนมีกระบวนการของมัน

เริ่มต้นก็จากการก่อรูปในทาง”ความคิด”ว่าสภาพการณ์ทางสังคมอย่างที่เห็นจำเป็นต้องมี”การเปลี่ยนแปลง”

เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงสยามก็คงไม่พัฒนาเท่าทันกับอารยะประเทศ เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยก็ต้องทนอยู่กับอำนาจแห่งระบอบ”ถนอม ประภาส”

กระบวนการในทาง”ความคิด”จึงมาจากสภาพความเป็นจริงในทางสังคม การขับเคลื่อนในทาง”ความคิด”จึงก่อให้เกิดเป็นพลังและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันเป็นเงาสะท้อนในทาง “การเมือง”

เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ยุคเมื่อปี 2475 และยุคเมื่อปี 2516

ปรากฎการณ์อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันก็มิได้ แตกต่างไปจากที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

ไม่ว่าจะเป็นบทสรุปของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เมื่อพ้นโทษ ไม่ว่าจะเป็นบทสรุปผ่านเสียงเพลงของ พี่ศุ บุญเลี้ยง ล้วนสัมพันธ์กับสภาพ ความเป็นจริงในทาง”ความคิด”และในทาง”การเมือง”

ล้วนได้มาจากการเห็นการต่อสู้ในทาง”ความคิด” ล้วนรับรู้ต่อกระบวนการต่อสู้ในทาง”การเมือง”ที่เป็นจริง