หนุ่มเมืองจันท์ : เวทมนตร์ล้ำยุคของเทคโนโลยี

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

เวทมนตร์

 

วันก่อน “ทิม คุก” ซีอีโอของ “แอปเปิ้ล” ให้สัมภาษณ์เรื่อง “รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ”

เรื่องนี้มีการพูดถึงนานแล้ว

ถึงขั้นที่มีข่าวว่าไปเจรจากับ “นิสสัน” และ “ฮุนได” เพื่อเป็นพันธมิตรในการผลิตรถยนต์ไร้คนขับ

“แอปเปิ้ล” นั้นขึ้นชื่อในเรื่องการเก็บ “ความลับ” ของผลิตภัณฑ์ได้ดีมาก

ในอดีตสมัย “สตีฟ จอบส์” แทบไม่มีอะไรแพร่งพรายมาก่อนเลย

เปิดตัวแต่ละครั้งจึงฮือฮามาก

พอถึงยุค “ทิม คุก” การเปิดตัวสินค้าใหม่เริ่มไม่ตื่นเต้น เพราะนอกจากมีข่าวหลุดออกมาก่อนแล้ว

แทบจะไม่มีอะไรโดดเด่นจนเรียกเสียงกรี๊ดลั่นห้องประชุมเหมือนสมัย “จอบส์” เลย

แต่เชื่อไหมครับว่า “แอปเปิ้ล” ยุค” ทิม คุก” ทำกำไรได้สูงกว่าสมัย “จอบส์” เยอะเลย

ไม่หวือหวา

แต่แมส

ครับ แม้ว่าตอนหลังจะมี “ข่าวหลุด” เรื่องผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเป็นประจำ

แต่เรื่อง “รถยนต์” ของ “แอปเปิ้ล” ยังไม่เคยมีแผนการตลาดหลุดออกมาแบบชัดๆ เลย

ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ “ทิม คุก” ออกมายอมรับชัดเจนว่า “แอปเปิ้ล” จะทำรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแน่นอน

และอาจใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตรถยนต์ใช้อยู่

แต่ที่ผมชอบมากที่สุด คือการอธิบายถึง “เวทมนตร์” ของ “แอปเปิ้ล”

เขาบอกว่า “รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” ก็คือ “หุ่นยนต์”

“เราชอบบูรณาการฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ และบริการเข้าด้วยกัน และหาจุดร่วมระหว่างกัน”

“ทิม คุก” สรุปว่า ณ จุดที่ฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์และบริการมาบรรจบกัน

“นั่นคือจุดที่เวทมนตร์บังเกิด”

ผมชอบมากเลย

นึกถึงโทรศัพท์มือถือ “ไอโฟน” ที่ “สตีฟ จอบส์” ชูขึ้นมาในวันเปิดตัว “ไอโฟน” รุ่นแรก

เขาผสมผสานระหว่าง “เทคโนโลยี” ที่ล้ำยุคกับ” การออกแบบ” ที่เรียบหรู

และ “ความง่าย” ของการใช้งานด้วยมือเดียว

ถ้ามีแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง “เวทมนตร์” ของ “ไอโฟน” ก็จะไม่บังเกิด

ต้องผสมผสาน 3 สิ่งเข้าด้วยกัน

นี่คือเคล็ดลับความสำเร็จของ “แอปเปิ้ล”

 

ผมนึกถึงการแข่งขันฟุตบอลในวันนี้ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการตัดสินเยอะมาก

สมัยก่อน ที่เราอาศัยสายตาและดุลพินิจของกรรมการเป็นหลัก

หลังการแข่งขันเราจะได้ยินเสียงโวยเรื่อง “ความยุติธรรม”

ลูกที่ยิงเข้า…ล้ำหน้า

กรรมการไม่เป่าจุดโทษทั้งที่ฟาวล์เห็นๆ

หรือลูกบอลเข้าประตูไปแล้ว แต่กรรมการไม่เห็น

บางครั้ง “ความผิดพลาด” ของกรรมการทำให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่

ทีมที่ควรชนะกลับแพ้

นั่นคือที่มาของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตัดสิน

เช่น “วีเออาร์” ที่กลายเป็นศัพท์ฮิตของแฟนบอล

ลูกไหนไม่แน่ใจ กรรมการจะไปดูภาพช้าในจอก่อนตัดสิน

หรือ “โกลไลน์” ที่บอกว่าลูกบอลข้ามเส้นประตูไปหรือยัง

เรื่องล้ำหน้าก็เช่นกัน เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นความขัดแย้งสูงที่สุด

ลำพังแค่การใช้ตาของผู้กำกับเส้นก็จังหวะล้ำหน้าตอนที่บอลออกจากเท้า

ไม่มีทางที่จะตัดสินถูกต้องทุกครั้ง

เดี๋ยวนี้เขาใช้เทคโนโลยีเหมือนกับใช้ตัดสินนักกรีฑาตอนวิ่งเข้าเส้นชัย

ใครถึงเส้นชัยก่อนกัน

พอนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับเกมฟุตบอล

บอกได้เลยว่าความผิดพลาดน้อยลงมาก

แฟนบอลได้ “ความยุติธรรม” คืนมา

แต่ความสนุกในเกมลดลงกว่าเดิม

ดูแล้วอึดอัด

ยิงบอลเข้าประตูไปแล้ว ยังไม่กล้าดีใจเต็มที่

เพราะบางจังหวะต้องรอกรรมการเช็ก “วีเออาร์” ก่อน

หรือจังหวะล้ำหน้าก็ต้องรอให้เล่นบอลให้จบก่อน

ผู้กำกับเส้นไม่กล้ายกธงล้ำหน้า

จนกรรมการผู้ช่วยแจ้งมาว่าล้ำหน้าจึงค่อยยกธง

ทั้งที่บอลไปไหนแล้วก็ไม่รู้

เหมือนดูคอนเสิร์ตแบบดีเลย์

“เสียง” กับ “ภาพ” ไม่ตรงกัน

บางทีเล่นต่อไปตั้งนานค่อยเป่าว่าล้ำหน้า

ดูแล้วสะดุดๆ

ไม่สนุกเหมือนเดิม

 

ผมว่า “ฟีฟ่า” หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติก็คงเห็นปัญหา

รู้สึกเหมือนกับแฟนบอลทุกคน

ล่าสุด “อาร์เซน เวนเกอร์” อดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล บอกว่า “ฟีฟ่า” กำลังจะนำระบบช่วยตัดสินกรณี “ล้ำหน้า” แบบอัตโนมัติมาใช้

ระบบนี้จะเร็วกว่าเดิมมาก

ไม่ต้องรอขีดเส้นสีแดง สีอะไรเพื่อดูว่าล้ำหน้าหรือเปล่า

ระบบจะส่งสัญญาณไปที่ผู้กำกับเส้น

ถ้าขึ้น “สีแดง” ก็ยกธงล้ำหน้าเลย

“เวนเกอร์” บอกว่า ตอนนี้กว่าจะตัดสินได้ว่าล้ำหน้าหรือไม่ ใช้เวลาเฉลี่ย 70 วินาที

หรือบางครั้งก็นานถึง 1 นาที 20 วินาที

“เรื่องนี้สำคัญ เพราะเราได้เห็นการฉลองประตูหลายครั้งที่ถูกยกเลิกหลังจากสถานการณ์ที่มีความก้ำกึ่งสูงมาก”

ผมว่า “เวนเกอร์” เข้าใจดีว่าเกมฟุตบอลนั้นต้องมีทั้ง “ความสนุก” และ “ความยุติธรรม”

ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้

ถ้าเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อ “ความยุติธรรม”

แต่ทำให้เกมช้า “ไม่สนุก”

ก็ไม่ได้

หรือจะใช้ระบบการตัดสินแบบเดิมที่เกมลื่นไหลดูสนุก เห็นธรรมชาติการดีใจ-เสียใจแบบเต็มที่

ไม่ต้องดีใจกั๊กๆ แบบรอ “วีเออาร์”

แต่ “ไม่ยุติธรรม”

ก็ไม่ได้

ผมนึกถึงคำของ “ทิม คุก” เรื่อง “เวทมนตร์” ขึ้นมา

ถ้า “เวทมนตร์” ของ “แอปเปิ้ล” คือการบรรจบกันของฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ และการบริการ

“ฟุตบอล” ก็คือการบรรจบระหว่าง “ความยุติธรรม” กับ “ความสนุก”

ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้

และต้องหาจุดของ “ความพอดี” ให้เจอ

มนต์ขลังของเกมฟุตบอลจึงบังเกิด