สิ่งแวดล้อม : ‘อัมสเตอร์ดัม’ คิดใหม่ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
อาคารเมืองอัมสเตอร์ดัม ใช้ปูนชีวภาพพัฒนาโดยบริษัทเรสเพียร์ (Respyre) ปูนชนิดนี้จะกระตุ้นให้บรรดาหญ้ามอสส์เติบโต ช่วยดูดซับก๊าซพิษ เกิดความชุ่มชื้น ประหยัดพลังงาน ทำให้ภูมิทัศน์เขียวสดใสขึ้น "เฟมกี้ ฮัลเซมมา" นายกเทศมนตรีเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำแนวคิดเศรษฐศาสตร์โดนัทของ "เคต ราเวิร์ธ" มาปรับใช้กับเมืองอัมสเตอร์ดัม (ที่มาภาพ : amsterdam.nl)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

‘อัมสเตอร์ดัม’ คิดใหม่

 

สถานการณ์โควิด-19 ในบางประเทศระบาดเป็นระลอกที่ 4 ขณะที่บ้านเราเข้าสู่ระลอกที่ 3 แล้ว

เมื่อทิศทางเป็นอย่างนี้ ชาวโลกคงต้องกลับมาตั้งหลักคิดใหม่จะเปิดบ้านเปิดเมืองให้ผู้คนไปมาหาสู่ทำมาหากิน และเมื่อเกิดสถานการณ์ระบาดก็ล็อกดาวน์กันใหม่หรืออย่างไร

เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในหลายประเทศแล้วระบาดรวดเร็วขึ้น จากเดิมคนสูงวัยติดเชื้อง่าย มาวันนี้คนรุ่นหนุ่ม-สาวและเด็กๆ ก็ติดเชื้อได้ง่ายเหมือนกัน

บางประเทศอย่างเกาหลีใต้ แคนาดา ฝรั่งเศส เจอโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ มีทั้งสายพันธุ์อังกฤษ บราซิล แอฟริกาใต้อาละวาดต้องระดมกำลังป้องกันอลหม่าน

หลายประเทศในอเมริกาใต้ปั่นป่วนเนื่องจากเชื้อแพร่ระบาดเร็วมาก

คนระดับผู้นำประเทศ เช่น นายอัลเบอร์โต เฟอร์นันเดซ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ก็ยังติดเชื้อโควิดทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนมาก่อนแล้ว

ส่วนชาวบราซิลเจอเชื้อโควิด-19 เจาะไชปอดพังตายทะลุวันละ 4 พันคน โรงพยาบาลทั่วประเทศแน่นเอี้ยดไปด้วยคนป่วยโควิด

เครื่องมือเครื่องไม้ในการรักษาพยาบาลมีไม่เพียงพอ ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ผู้นำบราซิลได้แต่นั่งตาปริบๆ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร

ถ้าล็อกดาวน์ปิดประเทศ กลัวเศรษฐกิจพังมากไปกว่านี้

บ้านเรา เชื้อโควิด-19 ระบาดหนักขึ้น กระจายกว้างทะลุทะลวงเข้าสู่กลุ่มสังคมหลากหลายอาชีพ แนวโน้ม “เอาไม่อยู่”

เพราะไม่ใช่เพียงแค่พ่อค้าแม่ค้าหรือชาวบ้านทั่วไป

แต่ระดับทูต รัฐมนตรี กลุ่มไฮโซก็ติดเชื้อเหมือนๆ กัน

 

ผู้บริหารเมืองที่มีวิสัยทัศน์ไกล ต่างมองออกว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นเช่นไร

โอกาสที่ชาวโลกจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างเดิมๆ ไปไหนสบายๆ เป็นไปได้ยากแล้ว ทุกคนต้องปรับตัวใหม่

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใส่หน้ากาก พูดคุยต้องมีระยะห่าง และพกเจลแอลกอฮอล์กลายเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเดินทางข้ามประเทศ นอกจากจะมีใบรับรองการฉีดวัคซีนแล้วยังต้องจัดระบบกักตัว ติดตามตัว และเครื่องมือในการดูแลป้องกันหากนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจต่างชาติติดเชื้อหรือเจ็บป่วยเพราะโควิด

การท่องเที่ยวพักผ่อนด้วยความสบายๆ ในยุคก่อนหน้านี้ได้เปลี่ยนเป็นความยุ่งยากซับซ้อนในปัจจุบัน

เมืองใหญ่สวยๆ ของโลกซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวหันมาคิดใหม่

ในหลายเมืองเริ่มทดลองใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์โดนัท (Doughnut Economics) ของ “เคต ราเวิร์ธ” (Kate Raworth) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนชาวอังกฤษ

 

หลักการของทฤษฎีโดนัท ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเมืองและผู้คนให้มีจุดสมดุลร่วมกันระหว่างการดำรงชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อม

ทฤษฎีโดนัทไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยตัวเลขจีดีพี

แต่วัดกันด้วยความเป็นเมืองที่ผู้คนอยู่ดีมีสุข ภายใต้สังคมที่ให้การศึกษาอย่างมีคุณภาพ

มีระบบความยุติธรรมและความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกผิวสีเพศพันธุ์ มีสิ่งแวดล้อมสวยงาม อากาศสะอาด ต้นไม้เขียว แม่น้ำลำคลองใส

และทุกคนต่างมีความมุ่งมั่นป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม

ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก

เมื่อไม่นานมานี้ “เฟมกี้ ฮัลเซมมา” (Femke Halsema) นายกเทศมนตรีเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำแนวคิดเศรษฐศาสตร์โดนัทของ “ราเวิร์ธ” มาปรับใช้กับเมืองอัมสเตอร์ดัม

เขตไฟแดง (Red-light district) แหล่งบันเทิงชื่อกระฉ่อนของอัมสเตอร์ดัมซึ่งมีทั้งร้านขายกัญชา ร้านขายบริการทางเพศ มีสาวๆ นั่งอยู่ในตู้กระจกเรียงรายขนานคลองทั้งสองด้านราว 330 ร้าน นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ไปเยือนอัมสเตอร์จะต้องแวะเวียนไปสัมผัส

ณ วันนี้ “ฮัลเซมมา” ประกาศรื้อทิ้งลบภาพลักษณ์อันอื้อฉาว

ปรับภูมิทัศน์ใหม่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ มีทั้งที่พัก ร้านค้า ต้นไม้เขียวครึ้มและขยายพื้นที่สาธารณะกว้างขวางกว่าเดิม

สาวขายบริการทางเพศซึ่งเป็นอาชีพถูกกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ ได้รับการสนับสนุนจากเมืองอัมสเตอร์ให้โยกย้ายไปหากินในเขตค้ากามแห่งใหม่ชานเมือง

“ฮัลเซมมา” ต้องการปรับโฉมเมืองเพื่อสอดรับกับการท่องเที่ยวในอนาคตที่มีคุณภาพ มีกำลังซื้อสูงและยกระดับเมืองอัมสเตอร์ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

 

การยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมืองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่นั้น “ฮัลเซมมา” ใช้นโยบายสนับสนุนให้คนมีงานทำ มีอาหารการกิน มีที่พักอาศัยและสุขอนามัยที่ดี

รวมถึงการรณรงค์ปลุกสำนึกให้ร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อม

ขยะในเมืองอัมสเตอร์ดัมนำมาแปรรูปกลับไปใช้ใหม่และผู้คนในเมืองต้องช่วยกันลดปริมาณขยะให้ทุกคนทิ้งขยะน้อยที่สุด ใช้สิ่งของให้เกิดประโยชน์นานที่สุด

กฎระเบียบข้อบังคับของเมืองอัมสเตอร์ดัม แก้ไขปรับปรุงใหม่

เช่น การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ใช้ไม้แทนปูนซีเมนต์เพราะไม้ย่อยสลายได้เร็วปลูกทดแทนใหม่

ส่วนปูนซีเมนต์ต้องระเบิดภูเขาเอาหินมาบด

กระบวนการผลิตปูนทำลายสิ่งแวดล้อมและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าไม้

ผู้บริหารเมืองอัมสเตอร์ดัม ยังสนับสนุนบริษัทสตาร์ตอัพที่มีชื่อว่า “เรสเพียร์” (Respyre) พัฒนาปูนซีเมนต์ชีวภาพเพื่อใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปัจจุบัน

ปูนของเรสเพียร์เมื่อนำไปปลูกสร้างอาคารจะช่วยกระตุ้นให้บรรดาหญ้ามอสส์เติบโต

ต่อไปอาคารใหม่ๆ ที่ใช้ปูนของเรสเพียร์จะปรับโฉมภูมิทัศน์เมืองอัมสเตอร์ดัม เป็นเมืองสีเขียวเพราะปูนชีวภาพช่วยซับก๊าซพิษและปล่อยออกซิเจนได้มากขึ้น

ขณะที่มอสส์จะดูดน้ำเอาไว้เฉลี่ยแล้ว 5 ลิตรต่อตารางเมตร ช่วยลดอุณหภูมิของอาคาร ประหยัดพลังงาน

ปูนชีวภาพเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วนำกลับมารีไซเคิลกลับไปใช้ใหม่ได้อีก

 

สําหรับวัสดุชนิดอื่นๆ ในอาคารสถานที่ที่เป็นหน่วยงานของเมืองอัมสเตอร์ดัมจะได้รับการลงบันทึกข้อมูลเอาไว้ในระบบดิจิตอล เมื่ออาคารแห่งนั้นทุบทิ้ง ทางการจะนำซากวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

เมืองอัมสเตอร์ดัมสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่พร้อมๆ กับเชื้อเชิญให้ชาวเมืองร่วมกันแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ใช้แล้วหรือเหลือใช้

ทุกคนสามารถส่งข้อมูลเข้าไปในแพลตฟอร์มเพื่อแจ้งข่าวสารผ่านออนไลน์ ใครจะขอเช่าหรือให้ยืมใช้ฟรีๆ ก็แล้วแต่สะดวก

โรงงานผลิตสินค้าของเนเธอร์แลนด์ได้รับการสนับสนุนให้แลกเปลี่ยนสินค้าที่ใช้แล้วนำกลับมาแลกของใหม่

เช่น ผู้ผลิตกางเกงยีนส์ยี่ห้อ “MUD” ซึ่งใช้วัสดุรีไซเคิล ผ้าฝ้ายนำมาจากแหล่งเพาะปลูกที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง มีกระบวนการผลิตที่ใช้น้ำน้อย ไม่ปล่อยของเสีย

ในอีก 19 ปีข้างหน้าอัมสเตอร์ดัมห้ามรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลวิ่งบนถนน ยกเว้นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

ลำคลองซึ่งถือเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญของเมืองอัมสเตอร์ดัม ได้รับการรื้อฟื้นใหม่ทดลองนำเรือขับเคลื่อนอัตโนมัติมาขนลำเลียงคน สินค้าและขยะ เพื่อลดปริมาณการจราจรหนาแน่นบนถนน

ผู้บริหารเมืองอัมสเตอร์ดัมยังมุ่งมั่นสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่พื้นที่เกือบ 100 ไร่ เชื่อมกับสวนสาธารณะเดิมที่มีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ สวนเนลสัน แมนเดลา และเซ็นทรัลพาร์ก เมื่อก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์

 

วิสัยทัศน์ของ “ฮัลเซมมา” ผู้นำหญิงแห่งเมืองอัมสเตอร์ดัมวัย 55 ปี ทะลุก้าวล้ำไปไกลอย่างนี้

เมื่อหันกลับมาดูผู้นำของเราที่กำลังบริหารบ้านเมืองในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

พูดได้คำเดียวว่า “เศร้า”