5 ระเบิดเวลา หลังสงกรานต์! ของการเมืองไทย | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สถานการณ์ประเทศไทยหลังสงกรานต์ดูจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ทั้งเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา พร้อมกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม สมทบเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองเดิมของประเทศในช่วงก่อนสงกรานต์ ทำให้หลังสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ต้องจับตามองอย่างยิ่ง

หากประมาณสถานการณ์หลังสงกรานต์แล้ว ประเด็นท้าทายที่น่าจะเป็นเสมือน “ระเบิดเวลา” ในการเมืองไทย 5 ปัญหาสำคัญ ได้แก่

1) ปัญหาวัคซีน: คงต้องยอมรับความจริงว่า รัฐบาลปัจจุบันมีปัญหาอย่างมากในเรื่องของการบริหารจัดการวัคซีน เพราะจนถึงสถานการณ์การระบาดระลอกสามแล้ว จะเห็นได้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรไทย ต้องถือว่าอยู่ในอันดับที่ต่ำมาก เพราะจากสถิติที่ปรากฏนั้น ประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว คิดเป็นอัตราส่วนเพียงร้อยละ 0.3 ของประชากร (เท่ากับอัตราส่วนฟิลิปปินส์และลาว และสูงกว่าเวียดนามและบรูไน) ในขณะที่เมียนมามีอัตราฉีดแล้วร้อยละ 1 และสูงสุดคือสิงคโปร์ที่ร้อยละ 13.3 (ข้อมูลวันที่ 7 เมษายน 2564 จากไทยรัฐออนไลน์, 9 เมษายน 2564) ซึ่งคงต้องถือว่าอัตราของไทยเช่นนี้ต่ำมาก จนกลายเป็นคำถามในเรื่องของประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล เพราะหากการระบาดของโควิด-19 ขยายตัวมากขึ้นในช่วงหลังสงกรานต์แล้ว การบริหารจัดการวัคซีนจะเป็น “ระเบิดเวลา” สำหรับรัฐบาลอย่างแน่นอน แม้การระบาดจะสามารถควบคุมได้ แต่การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในประเทศมากที่สุด คือจุดเริ่มต้นของการฟื้นประเทศในทางเศรษฐกิจและชีวิตในทางสังคม ซึ่งหากการฉีดวัคซีนยังไม่มีความรวดเร็วแล้ว การคืน “ความปกติทางสังคม” จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป

2) ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ: เราคงต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยนับจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในตอนต้นปี 2563 นั้น เศรษฐกิจมหภาคของประเทศต้องประสบกับภาวะวิกฤตอย่างเห็นได้ชัด และการระบาดของโควิด-19 ที่เป็นระลอกสองและระลอกสามเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2564 จนถึงสงกรานต์นั้น ส่งผลกระทบให้วิกฤตเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2564 การบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะพิสูจน์ประสิทธิภาพของรัฐบาล มากกว่าการขยายโครงการแจกแบบประชานิยม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการบริหารเศรษฐกิจมหภาคเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่ที่รอรัฐบาลอยู่ข้างหน้า … เศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่เป็น “ปีชวด” ก็มีอาการ “ชวด” ไปแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าเครื่องยนต์ห้าตัวหลักของประเทศถูกกระทบจากการระบาดของโควิด คือ การส่งออก การเกษตร การท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคของประชาชน นั้น กลายเป็นเครื่องยนต์ที่ “สตาร์ท” ไม่ค่อยติด และเศรษฐกิจไทยปี 2564 ใน “ปีฉลู” ก็ดูจะไม่ใช่ปี “วัวทอง” เท่าใดนัก จนน่ากลัวว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะเป็นปี “วัวติดเชื้อ” จากโรคระบาดที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และหากบริหารไม่ดีแล้ว ก็อาจเป็นปี “ล้มวัว” ได้ไม่ยาก

3) ปัญหาคนจน/คนตกงาน: การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากต้นปี 2563 จนถึงปี 2564 ในปัจจุบัน ส่งผลอย่างมากกับชีวิตของคนในสังคมไทย ที่ด้านหนึ่ง เราจะเห็นถึงปัญหา “คนตกงาน” ที่เกิดเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลจากการปิดตัวของโรงงานและสายการผลิตในระบบอุตสาหกรรมไทย ตลอดรวมถึงคนที่อยู่ในภาคบริการและการท่องเที่ยว และถือเป็นอัตราการตกงานสูงสุดในรอบ 11ปี (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2563) ผลอีกด้านคือ การขยายตัวของประชากรที่ตกอยู่ในฐานะของการเป็น “คนจน” ปัญหาสองส่วนนี้ทำให้ประเด็นเรื่อง “ความมั่นคงของมนุษย์” เป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ แม้ฝ่ายรัฐบาลจะยึดติดอยู่กับความเชื่อว่า แม้ประเทศจะเผชิญกับการระบาดของโควิด แต่อัตราการว่างงานในสังคมไทยก็ไม่สูงจนน่ากลัวเช่นในบางประเทศ แต่ในสถานการณ์ของประเทศที่รัฐบาลกำลังถูกท้าทายอย่างมากจากปัญหาต่างๆ นั้น ปัญหาคนจนและคนตกงานพร้อมที่จะเป็น “ระเบิดเวลา” ได้เสมอ

4) ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง: ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินสืบเนื่องเรื่อยมาในสังคมไทย ยังคงเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกสำคัญในการเมืองไทยเสมอ เพราะยิ่งนานวันมากขึ้น ความขัดแย้งก็ดูจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลยังต้องการคงความได้เปรียบตามการออกแบบกลไกรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้แก่รัฐบาลชุดนี้ อีกทั้งรัฐบาลกำลังเผชิญปัญหาความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ และประเด็นสำคัญอีกประการคือ ความขัดแย้งและความเห็นต่างในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่รัฐบาลใช้อำนาจในการจับกุมอย่างเข้มงวด จนกลายเป็น “สงครามระหว่างรัฐกับคนรุ่นใหม่” และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและรัฐบาลไทยอย่างมาก รวมทั้งผลกระทบต่อสถาบันตุลาการในประเด็นของการใช้กฎหมายอีกด้วย กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐอาจจะคิดว่าประเด็นเช่นนี้เป็นเรื่องเล็ก และสามารถควบคุมได้ด้วยการขยายการจับกุมคุมขัง แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ต่างกับการ “สุมไฟ” ที่รอการเคลื่อนไหวใหญ่ในอนาคต

5) ปัญหาผลกระทบจากข้างบ้าน: หนึ่งในประเด็นสำคัญของผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองก็คือ การเปลี่ยนผ่านในประเทศหนึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในอีกประเทศที่อยู่ข้างเคียง กล่าวคือ ถ้าประเทศหนึ่งล้มเผด็จการได้ อีกประเทศที่อยู่ข้างเคียงก็จะเกิดกระแสล้มเผด็จการตามไปด้วย ข้อสังเกตเชิงทฤษฎีเช่นนี้ ทำให้เกิดการคาดคะเนว่า ถ้าการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาสามารถล้มรัฐบาลทหารได้แล้ว ก็จะทำให้เกิดผลสืบเนื่องในลักษณะเดียวกันในไทย จนเกิดเป็นประเด็นว่า “ประชาธิปไตยชนะในเมียนมา ประชาธิปไตยก็จะชนะในไทย” ด้วย และในอีกด้านการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับการต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัว กลายเป็นภาพที่สร้างความกลัวให้แก่ปีกอำนาจนิยมในไทยอย่างมาก และกลัวว่าจะเกิดการเคลื่อนไหวในไทยจาก “ตัวแบบเมียนมา” ฉะนั้นการต่อสู้อย่างเข้มข้นของฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมา จึงเป็นเหมือน “ระเบิดข้างบ้าน” ที่เมื่อระเบิดแล้ว ก็อาจระเบิดต่อเนื่องเข้าในบ้านเราด้วย!